วันอาทิตย์, พฤษภาคม 05, 2567

ความหวังผู้ฟ้อง-ข้อโต้แย้ง กกต. หลังศาลปกครองนัดไต่สวน “คดีเพิกถอนระเบียบแนะนำตัว สว.” 15-16 พค.


เลขาธิการ กกต. ระบุว่า การเชิญชวนให้ประชาชนไปลงสมัครเป็น สว. ไม่ผิดระเบียบของ กกต.

ความหวังผู้ฟ้อง-ข้อโต้แย้ง กกต. หลังศาลปกครองนัดไต่สวน “คดีเพิกถอนระเบียบแนะนำตัว สว.”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
4 พฤษภาคม 2024

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้อง “คดีเพิกถอนระเบียบ กกต.” ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามที่ผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. 2 กลุ่ม ยื่นฟ้องไป และนัดไต่สวนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก สว. จะมีผลใช้บังคับแล้ว

ในวันที่ 15 พ.ค. ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคู่กรณีคือ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ถูกฟ้องคดี

ส่วนวันที่ 16 พ.ค. ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคู่กรณีคือ นายพนัส ทัศนียานนท์ กับพวกรวม 6 คน ผู้ยื่นฟ้องคดี กับ กกต. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประธาน กกต. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

ผู้ฟ้องคดีรวม 7 คน ซึ่งประกาศตัวต่อสาธารณะว่าเป็นผู้ประสงค์สมัครรับเลือกเป็น สว. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว. พ.ศ. 2567 และขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

การลุกขึ้นมาฟ้องคดีในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังระเบียบ กกต. ซึ่งลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 26 เม.ย. และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 27 เม.ย. ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการ "ปิดล็อก" กระบวนการเลือก สว. ให้เกิดขึ้นใน “พื้นที่ปิดลับ” สำหรับผู้สมัคร ตัดการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ต่อมาวันที่ 2 พ.ค. ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเรียกคู่กรณีทั้ง 2 กลุ่มไปไต่สวน โดยหมายเรียกระบุตอนหนึ่งว่า อธิบดีศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนการโดยเร่งด่วน ตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ซึ่งต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงคดีนี้โดยการไต่สวน และให้ถือว่าวันเสร็จสิ้นการแสวงหาข้อเท็จจริง เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงตามข้อ 62 แห่งระเบียบดังกล่าว โดยไม่ต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบอีก และศาลจะกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน หลังจากวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ให้ถือว่าคู่กรณีทุกฝ่ายทราบกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกหรือกำหนดนัดอื่นที่ศาลแจ้งคู่กรณีในขณะทำการไต่สวน

ศาลยังให้ผู้ฟ้องคดีจัดทำคำชี้แจงเพื่อประกอบการให้ถ้อยคำ อย่างช้าในวันไต่สวนด้วย

ความคาดหวังของผู้ฟ้อง กกต.

บีบีซีไทยพูดคุยกับ ผู้ฟ้องคดี ทั้ง 2 กลุ่ม ถึงความคาดหวังภายหลังศาลปกครองรับฟ้องคดี

นายพนัสกล่าวว่า มีความหวัง และเห็นว่ามีช่องทางในการให้ศาลปกครองช่วยพิจารณาจึงยื่นฟ้องไป ส่วนจะสมหวังหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ผมอ่านคำสั่งก็มองรวม ๆ ว่าเป็นแง่บวกกับเรานะ ศาลท่านรับพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ยกทันที อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราใส่ไว้ในคำฟ้องมันเป็นประเด็น ถึงรับพิจารณาโดยเร่งด่วน” นายพนัส อดีตอัยการ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าว


นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต สว. ปี 2543 เปิดตัวเป็นคนแรก ๆ ว่าประสงค์จะลงสมัคร สว. 2567

ขณะที่นายเทวฤทธิ์พูดถึงความคาดหวังขั้นต่ำของเขาว่า ศาลจะช่วย “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” หากมีคำสั่งให้ กกต. ปรับแก้ระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีหลักประกันให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ไม่ถูกกีดกันออกไป

“อย่างน้อยก็ได้หืออือบ้าง จะมามัดมือมัดเท้า เราก็ต้องขัดขืนหน่อย ก็ต้องไม่ยอม” นายเทวฤทธิ์กล่าว

ในคำฟ้องของนายพนัสกับพวก ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว. รวม 5 ข้อ ประกอบด้วย ข้อ 5, 7, 8, 11 (2) และ 11 (5)

ขณะที่คำฟ้องของนายเทวฤทธิ์เขียนบรรยายปัญหาในภาพรวมของระเบียบ กกต. ศาลจึงขอให้ระบุความไม่ชอบด้วยกฎหมายของระเบียบพิพาทให้ชัดเจน หากประสงค์จะเพิกถอนระเบียบบางข้อ ให้จัดทำคำแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องยื่นต่อศาล ทั้งนี้นายเทวฤทธิ์เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนระเบียบ 4 ข้อ ประกอบด้วย ข้อ 7, 8, 11 (2) และ 11 (5)

ขอให้รื้อกฎข้อไหน เพราะอะไร

ระเบียบ กกต. ที่บรรดาว่าที่ผู้สมัคร สว. ในฐานะผู้ฟ้องคดี มองว่า “มีปัญหาทางกฎหมาย” และต้องการให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอน มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ข้อ 5 ให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกสามารถแนะนำตัวตามระเบียบนี้ได้นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ผู้ฟ้องมองว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ให้อำนาจ กกต. ออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของ “ผู้สมัคร" เท่านั้น แต่ กกต. กลับออกระเบียบครอบคลุมถึง "ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก" จึงเป็นการตราขึ้นโดยปราศจากฐานอำนาจตามกฎหมาย เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

ข้อ 7 การใช้เอกสารแนะนำตัวของผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารไม่เกินขนาดเอ 4 (ขนาด 210 X 297 มิลลิเมตร) สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า การแจกเอกสารแนะนำตัว จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้

ผู้ฟ้องมองว่า การกำหนดให้แนะนำตัวผ่านกระดาษขนาดเอ 4 ไม่มีความสมเหตุสมผล และจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุ ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอนุญาตให้ กกต. จำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้

นอกจากนี้การไม่ให้เขียนเนื้อหาอื่นที่มีความสำคัญกับการทำหน้าที่ สว. เช่น จุดยืนในการออกกฎหมาย จุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแนวทางการเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งที่เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของ สว. เป็นการ “บีบบังคับให้ผู้เตรียมตัวสมัคร สว. มีภารกิจในการตามหาผู้สมัครคนอื่น ๆ ในอำเภอเดียวกันและกลุ่มอาชีพเดียวกันด้วยตัวเอง”

การแนะนำตัวในพื้นที่ปิดลับ “เอื้อต่อการฮั้ว หรือเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่นด้วยหรือไม่” ตามมุมมองของผู้ฟ้อง และชี้ว่า ระบบปิดนี้จะส่งผลให้กระบวนการคัดเลือก สว. เปิดโอกาสให้คนที่มีอิทธิพลหรือมีเครือข่ายในพื้นที่สามารถจัดตั้ง รวบรวมคน ไปเป็นผู้สมัครได้


ตัวอย่างบัตรลงคะแนนระดับอำเภอ ด้านซ้าย เป็นการเลือกภายในกลุ่มอาชีพ ด้านขวา เป็นการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มภายในสายเดียวกัน

ข้อ 8 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น

ผู้ฟ้องมองว่า ขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. ย่อมไม่อาจมี "ผู้สมัครอื่น" ที่จะให้เผยแพร่การแนะนำตัวของผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกได้ ส่งผลให้ “ระเบียบไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และเห็นว่า การไม่สามารถแนะนำตัวแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครได้ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนที่เลขาธิการ กกต. ระบุว่า กกต. จะเผยแพร่รายชื่อผู้สมัครและเอกสารแนะนำตัวผ่านแอปพลิเคชัน “สมาร์ทโหวต” และเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ภายหลังปิดรับสมัครนั้น นายพนัสวิจารณ์ว่า เป็นวิธีการที่แทบไม่มีความหมายและไม่ช่วยอะไรเลย “สุดท้ายวิธีการแบบนี้คือให้คนสมัครกับคนเลือกเดาสุ่มกันไปเท่านั้นเอง”

ข้อ 11 (2) นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. มีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

ผู้ฟ้องมองว่า เป็นการกำหนดมาตรการที่จำกัดเสรีภาพในการแนะนำตัวเกินสมควรแก่เหตุ เป็นอุปสรรคแก่การประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ

ข้อ 11 (5) นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. มีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

ผู้ฟ้องมองว่า การออกระเบียบเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้เตรียมตัวสมัครไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ทำให้สื่อมวลชนไม่กล้ารายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือก สว. ที่จะเกิดขึ้น กระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชน

นายพนัสหยิบยกคำให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ กกต. มาตั้งเป็นประเด็นเพิ่มเติมที่บอกว่า สิ่งที่ไอลอว์และคณะก้าวหน้าทำคือเชิญชวนให้คนมาลงสมัคร สามารถทำได้ ถ้าให้ไปโหวตอย่างเดียว ไม่เลือกตัวเองหรือเลือกใครเป็นพิเศษ แต่เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. ประกาศใช้ ถามว่าไอลอว์กับคณะก้าวหน้าจะยังทำแบบเดิมหรือไม่ เพราะระเบียบเขียนว่าห้ามออกสื่อ

เช่นเดียวกับกรณีเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า สื่อมวลชนสามารถทำข่าวได้ตามปกติ แต่ในเมื่อผู้สมัครห้ามให้สัมภาษณ์สื่อ ถ้าสื่ออยากสัมภาษณ์ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่และต้องรับความเสี่ยงเอง

“ถ้าผมผิด คุณ (สื่อมวลชน) ก็ผิด เป็นอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี แม้ไม่เป็นผู้สมัคร แต่มาสัมภาษณ์ ทางกฎหมายจะถือเป็นผู้สนับสนุน” นายพนัสกล่าว


นายพนัส ทัศนียานนท์ นำทีมผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อ 30 เม.ย.

ฉากทัศน์หลังวันไต่สวน

นายพนัสบอกว่า ในสัปดาห์หน้า จะปรึกษาหารือกับผู้ฟ้องคดีร่วมอีก 5 คน ประกอบด้วย นายไพรโรจน์ บุญศิริคำชัย แพทย์, นายถนัด ธรรมแก้ว นักเขียนเจ้าของนามปากกา “ภูกระดาษ”, น.ส.ชลณัฏฐ์ กลิ่นสุวรรณ พิธีกร, นายศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ นักร้อง และนายนิติพงศ์ สำราญคง นักเขียน รวมถึงทนายความผู้รับมอบอำนาจ ว่าควรให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมอย่างไร, ศาลต้องการรู้อะไรจากผู้ฟ้อง และ กกต. ได้ชี้แจง/ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงแนวปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. อย่างไร เพื่อจัดทำเอกสารเพิ่มเติมยื่นต่อศาลต่อไป

นักกฎหมายวัย 82 ปี ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวด้วยว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น และศาลได้ฟังคำชี้แจงของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ศาลอาจเอาไปดูต่อ 1-2 วันก็ตัดสินได้เลย โดยศาลอาจวินิจฉัยโดยรวม หรือวินิจฉัยเป็นรายประเด็น ซึ่งจะส่งผลให้คำตัดสินแตกต่างกันไป ดังนี้
  • กรณีผลออกมาเป็นลบ: ศาลอาจสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุผลที่ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 36 ให้อำนาจ กกต. ในการออกระเบียบอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของ กกต. ส่วนผู้ฟ้องจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่นั้น ต้องขอดูคำสั่งก่อน “แต่กว่าจะตัดสิน การเลือก สว. ก็จบหมดแล้ว ได้เป็นกันหมดแล้ว”
  • กรณีผลออกมาบวก: ศาลอาจพิจารณาบางประเด็นที่เห็นด้วยกับผู้ร้อง และบางประเด็นไม่เห็นด้วยกับผู้ร้อง ก็จะมีคำสั่งเป็นรายประเด็นไป โดย กกต. ก็ต้องแก้ไขระเบียบตามที่ศาลสั่ง
ส่วนการมีผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. แยกกันยื่นฟ้องคดีเพิกถอนระเบียบ กกต. เป็น 2 กลุ่ม จะส่งผลดี-ผลเสียต่อคดีอย่างไรนั้น นายพนัสให้ความเห็นว่า “คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า ถ้าคุณเทวฤทธิ์ สมมุติของเขาหลุด ก็ยังมาติดที่ผม ถึงอย่างไรไม่มาขัดแย้ง เพราะต่อให้เป็นประเด็นเดียวกัน แต่เหตุผลในคำฟ้องไม่เหมือนกัน การพิจารณาของศาลจึงไม่จำเป็นต้องลงเหมือนกัน”


ผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. รายนี้ระบุว่า ในระหว่างการไต่สวนคดีที่นายเทวฤทธิ์ยื่นฟ้อง กกต. วันที่ 15 พ.ค. จะทำให้เห็นแนวทางการจัดทำคำชี้แจงของ กกต. โดยผู้ฟ้องคดีชุดที่ 2 จะได้นำมาประกอบการยื่นหลักฐานเพิ่มเติมในวันนัดไต่สวน 16 พ.ค. ต่อไป

ข้อโต้แย้งจาก กกต.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. บรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทของผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต. คาดหวัง” ในการสัมมนาเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือก สว. เมื่อ 22 เม.ย.

บีบีซีไทยพยายามโทรศัพท์ติดต่อนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อขอความเห็นต่อกรณีที่ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อ ขณะนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ประธาน กกต. จะเดินทางไปศาลปกครองเพื่อให้การด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการแทน

อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยได้รับคำยืนยันว่า ฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจงเพื่อประกอบการให้ถ้อยคำในคดี โดยจะระบุถึงอำนาจของ กกต. ในการออกระเบียบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 36, วัตถุประสงค์ในการออกระเบียบ, หลักเหตุผลต่าง ๆ โดยมั่นใจว่า “สามารถชี้แจงได้ แต่บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ร้อง”

สำหรับแนวทางในการจัดทำคำชี้แจงต่อศาล จะเป็นไปตามที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เคยให้ข้อมูลต่อสาธารณะไปแล้ว

บีบีซีไทยขอสรุปประเด็นสำคัญ ๆ จากคำให้สัมภาษณ์แบบต่างกรรมต่างวาระของเลขาธิการ กกต. ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. ถึงต้นเดือน พ.ค. ดังนี้
  • รูปแบบและวิธีการเลือก: ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561
  • ระเบียบการแนะนำตัว: ไม่ได้ทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอยู่บนหลักการ 3 ประการคือ 1. เพื่อให้ได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ 2. เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิเดินมาสมัครด้วยตัวเอง ไม่มีการจัดตั้งการบริหารจัดการอยู่เบื้องหลัง 3. หวังดี คุ้มครองผู้สมัคร
  • เสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพสื่อที่ลงสมัคร: สามารถทำหน้าที่การงานได้ตามปกติ แต่อย่าไปพูดแนะนำตัวว่าสมัคร ส.ว. มีประวัติ หรือประสบการณ์อย่างไร
  • เสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าว: สามารถเสนอข่าวได้ตามปกติตามหลักวิชาชีพ อาทิ รายงานข่าวในที่เลือกตั้ง ใครสมัครในกลุ่มสาขาอาชีพใด วิเคราะห์ จัดเวที เสนอข้อเท็จจริง สัมภาษณ์ผู้สมัครเกี่ยวกับเรื่องอื่นได้ “แต่ต้องไม่เกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สัมภาษณ์”, “ให้พึงระวังเรื่องกฎหมายอื่นที่อาจมีการหมิ่นประมาทได้”, “ต้องไม่เป็นการช่วยเหลือการแนะนำตัวผู้สมัครรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ” พร้อมย้ำว่า ระเบียบนี้ออกมาเพื่อใช้บังคับกับผู้สมัคร ไม่ได้ใช้บังคับกับสื่อ
  • ประชาชนไม่มีส่วนร่วม: ถ้าดูรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. “ยอมรับว่าไม่ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการเลือก แต่นั่นเป็นเพียงอย่างเดียวที่ประชาชนถูกตัดสิทธิไป” แต่ประชาชนมีสิทธิติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ภายหลังปิดรับสมัคร โดย กกต. จะนำรายชื่อผู้สมัครทุกคน ประวัติ และประสบการณ์ เผยแพร่ทางแอปพลิเคชัน “สมาร์ทโหวต” และเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.
  • การแนะนำตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ “ปิดล็อก” ให้แนะนำตัวในหมู่ผู้สมัครเท่านั้น: รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ “แต่ผู้สมัครต่างติดต่อกันได้ทางช่องทางอีเมลและไลน์ ซึ่งระบบนี้เพียงพอ”

ตามร่างปฏิทินในการเลือก สว. ที่สำนักงาน กกต. เสนอต่อที่ประชุม ครม. เมื่อ 23 เม.ย. คาดการณ์ว่า พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. จะมีผลใช้บังคับ 13 พ.ค. นี้ และการประกาศผลเลือก สว. จะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ “กฎเหล็ก กกต.” จะบังคับใช้กับผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือในการแนะนำตัวอย่างเข้มข้น หากใครฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้นี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และให้ศาลสั่งเพิกภถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี



https://www.bbc.com/thai/articles/ce7rwjj886eo