วันอาทิตย์, พฤษภาคม 05, 2567

ชีวิตแรงงานเมียนมา ที่ซ่อนอยู่ในชุมชนและห้องเรียนภาษาไทยย่านเยาวราช “เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจวิถีคนเมียนมา 100% แต่อยากให้เมตตากันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”



STAY IN SAMPENG YAOWARAT: ชีวิตแรงงานที่ซ่อนอยู่ในชุมชนและห้องเรียนภาษาไทยย่านเยาวราช

2 พ.ค. 2567
The People

KEY POINTS
  • ที่มาของชื่อ STAY IN SAMPENG YAOWARAT เป็นการส่งเสียงว่ามีแรงงานอยู่ในพื้นที่สำเพ็ง-เยาวราช
  • สำหรับแรงงานเมียนมา ปัญหาของการใช้ชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิและสวัสดิการ แต่เป็นการรู้ภาษาที่จะทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตประจำวันได้
  • “เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจวิถีคนเมียนมา 100% แต่อยากให้เมตตากันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง” ประโยคสำคัญของ ‘ฟ้า’ อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล ผู้ดูแลโครงการ STAY IN SAMPENG YAOWARAT
‘เยาวราช’ เป็นย่านสร้างสรรค์ ย่านวัฒนธรรม และย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยร้านค้า แสงสี และอาหารรสเลิศ

นอกจากคนไทยเชื้อสายจีน และเจ้าของธุรกิจบนพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่านนี้ อีกหนึ่งกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง คือ แรงงานข้ามชาติ

เขาอาจเป็นคนเสิร์ฟอาหาร เป็นคนตั้งร้าน เป็นคนเก็บร้าน แพ็กของ ส่งสินค้าอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ แต่หลายคนอาจมองไม่เห็นพวกเขา

ปัญหาหลักของพวกเขา คือ ‘ภาษา’ และกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน เพื่อส่งเสียงว่า พวกเขาอยู่ที่นี่ และอยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจอยู่ จึงเกิดเป็นโครงการ STAY IN SAMPENG YAOWARAT ชุมชนและโรงเรียนสอนภาษาไทยให้กับแรงงานเมียนมาที่ทำงานและอาศัยอยู่ในย่ายสำเพ็ง-เยาวราช

โดยมี ‘ฟ้า’ อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล และ ไลลา ตาเฮ เป็นผู้ดูแลโครงการฯ คอยให้ความรู้เรื่องสิทธิและสวัสดิการ รวมถึงภาษาไทยให้กับแรงงานเมียนมา

เพราะมันคืออาวุธไม่กี่ชิ้นที่พวกเขามี และเป็นไม้ต่อสำคัญในการต่อยอดอาชีพเพื่อตอบรับความหวังไปพร้อมกับการดูแลตัวเองและครอบครัว

“การที่บ้านเราพัฒนาทุกพื้นที่ให้เป็นย่านสร้างสรรค์ แต่จะทำอย่างไรให้ย่านสร้างสรรค์ ไม่ลืมคนตัวเล็กตัวน้อย อาจจะไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ แต่ทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปด้วยกัน เพราะทุก ๆ ครั้งที่ย่านสร้างสรรค์มันเติบโต คนกลุ่มเหล่านี้จะถูกขับออกไปเรื่อย ๆ”

The People คุยกับฟ้าและไลลาในห้องเรียนที่พวกเธอเปิดสอน ห้องที่ไม่ได้มีอะไรนอกจากพื้นที่โล่ง หมอนรองนั่งไม่กี่ใบ และโต๊ะพับไม่กี่ตัว ตั้งแต่เรื่องชีวิตของแรงงาน การสอนภาษาไทย และมุมมองของพวกเธอที่เปลี่ยนไป


แรงงานเมียนมา ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไชน่าทาวน์ของไทย

‘เยาวราช’ ย่านสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนที่วันนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ตั้งรกราก และพื้นที่ทำมาค้าขาย แต่กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่ไม่เคยหลับใหล

แต่ใครจะรู้ว่าในย่านแสงสีนี้ บนตึกสูงจะเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติ ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของย่านนี้

จากผลสำรวจรูปแบบการทำงานของแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาในเขตสัมพันธวงศ์ของโครงการ STAY IN SAMPENG YAOWARAT ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่เข้ามาเรียนภาษาไทย ส่วนใหญ่ทำงานร้านอาหารแถวเยาวราช เป็นพนักงานขนสินค้าและแพ็กสินค้าอยู่ในย่านสำเพ็ง

อาจบอกได้ว่า แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาคือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของย่านคนไทยเชื้อสายจีนแห่งนี้

ฟ้าเล่าให้ฟังว่า รูปแบบการทำงานที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานมากกว่า 3 กะต่อวัน เรียกได้ว่า ทำงานมากกว่าพักผ่อน หรือใช้ชีวิตส่วนตัวเพื่อค่าแรงที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว

“ทำเกือบ 24 ชั่วโมง แต่มันจะมีช่วงสั้น ๆ ในการนอน เช่น ทำ 10 ชั่วโมงแรก นอนครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง แล้วก็ไปทำกะต่อไป แต่ช่วงหลังเราเห็นวิวัฒนาการของการจ้างงานในสำเพ็ง เยาวราช เช่น อยู่กะเช้า ทำงาน 08.00 น. เลิก 17.00 น. แล้วจะมีอีก 1 กะที่มาช่วยตั้งร้าน ทำ 18.00 - 20.00 น. แค่ 2 ชั่วโมง แล้วก็จบ แล้วก็มาอีกที 22.00 - 08.00 น. ก็จะรันกันไปแบบนี้



แล้วพื้นที่พักผ่อนของเขาคือห้องพักในตึกเช่าขนาด 2x2 เมตร ที่มีคนแวะเวียนเข้ามาอยู่ตลอดเวลา หมายถึงคนหนึ่งออกไปทำงาน อีกคนเข้ามานอน ห้องเช่า 1 ห้อง จึงอาจมีคนอาศัยอยู่มากกว่า 1 คน

“ในพื้นที่สำเพ็ง เยาวราช มีพื้นที่น้อยมาก แล้วก็เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มูลค่ามันสูงมาก ดังนั้น ทุก ๆ ตารางมันคือเงินมหาศาล ก็เลยถูกทำเป็นร้านค้ารันตลอด 24 ชั่วโมง แล้วคนที่มาดำเนินงานด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ ก็คือแรงงาน

“เขาจะมีที่พักอาศัยไว้เพียงแค่การนอน แต่ต้องอยู่ใกล้ที่ทำงาน เดินไปทำงานได้ ดังนั้น ไม่ว่ามันจะแพงแค่ไหน เขาก็อยากจะอยู่ วิธีแก้ปัญหาเรื่องค่าเช่าห้องแพง ก็คือการอยู่รวมกันเยอะ ๆ

“ที่เราสำรวจและเราเจอ ก็จะประมาณ 2 คูณ 2 เมตร ก็จะไม่ได้ใหญ่มาก อยู่กัน 1 ครอบครัว สมมติเช่าห้องกัน 4,500 รวมน้ำไฟประมาณ 5,000 อยู่กันประมาณ 5 คน ใครอยู่กะเช้า ก็นอนกลางคืน สลับเวลาทำงานกับเวลานอนกัน เช่น เรามี 1 พื้นที่ เราก็ปูที่นอน ปูเสร็จเราก็เก็บ เราไปทำงาน คนถัดมา กลับมาก็ปู แล้วก็นอน”

ส่วนเรื่องอาหารการกินก็เน้นอาหารรสจัดที่อยู่ได้นาน ส่วนเวลาพักผ่อนและช่วงเวลาสำหรับครอบครัวก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง ตามที่เวลางานอนุญาตให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต

“การทำอาหารเป็นครัวรวม ทำครั้งเดียว ดังนั้นการปรุงอาหาร เขาก็จะเน้นน้ำมันเยอะ ๆ หรือว่าปรุงรสที่มันเข้ม ๆ รสเค็มจัด เพื่อที่จะให้อาหารมันเก็บได้นาน สมมติเลิกงานซื้อวัตถุดิบมาแบ่งทำเป็นมื้อเช้ามือเย็น กินเหมือนกันเช้าเย็น ไม่ได้แช่ตู้เย็น แต่ถ้าเขามีครอบครัวก็จะช่วยเหลือกัน

“ดังนั้นคนที่อยู่จะเวียนกันพอสมควร มันไม่มีพื้นที่พักผ่อน เพราะห้องเราถูกใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง สมมติว่าเราเป็นพนักงานร้านทำกับข้าว บางทีเราต้องเก็บของ แล้วก็ทำงานอยู่ในห้องด้วยซ้ำ สิ่งที่ทำให้เขา relax ได้เร็วก็คือการกินเหล้า กินเบียร์ หรือถ้าใครมีเวลาว่างเยอะ เขาก็จะไปออกกำลังกายเขตอื่น ไปสะพานพุทธ แต่ถ้าคนที่ทำงาน 2 กะ ก็จะไม่ค่อยได้ออกไปไหน”



และด้วยความที่ฟ้าทำงานกับทีมปั้นเมือง ดูแลคนเมือง บวกกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีมปั้นเมืองตั้งใจที่จะทำงานให้คนอยู่ห้องเช่าเข้าถึงบริการสุขภาพ

จากตั้งเป้าเรื่องให้ความรู้ แต่ความต้องการของคนในพื้นที่ คือ การสื่อสารว่าเขาต้องการอะไร เจ็บป่วยตรงไหน และดูแลตัวเองได้

“เราไปคุยกับคนที่อยู่ในห้องเช่า ส่วนมากเป็นวัยทำงาน ตอนไม่เจ็บไม่ป่วยก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา พอคุยไปคุยมา ปัญหาหลัก ๆ ที่เขากังวลคือเรื่องภาษา เรื่องการสื่อสาร พอพูดไม่ได้ เวลาเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปบอกหมอว่าอะไร หรือต้องซื้อยาแบบไหน เวลาเภสัชเขาให้ยามาก็อ่านไม่ออก พอเราถามว่าเราช่วยอะไรได้บ้าง

“ตอนแรกเราก็พยายามทำสื่อให้ความรู้ต่าง ๆ ไป แต่เขาก็บอกว่า สอนภาษาไทยให้ได้หรือเปล่า ก็เลยเป็นที่มาของการทำห้องเรียนภาษาไทย”



ทลายความไม่ไว้ใจให้เป็นชุมชนของแรงงานเมียนมา

แม้จะอยากตั้งต้นการรวมกลุ่มให้แรงงานเมียนมามารวมตัวกัน แต่การทำงานจริงไม่ง่าย เพราะกลุ่มเป้าหมายยังไม่ไว้วางใจ และเชื่อใจว่า ทีมงานของโครงการฯ จะเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาจริง

วิธีการทำงานจึงไม่ใช่แค่การบอกข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเพื่อน เป็นคนที่พวกเขาสบายใจที่จะคุยและแลกเปลี่ยนชีวิตกัน

“ปัญหาแรก คือ เรื่องความไว้วางใจเป็นหลัก ตอนแรกก็ไม่ค่อยมีใครคุยกับพวกเรา แต่เราก็อาศัยการลงสำรวจว่ามันมีห้องเช่าอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็เข้าไปหาเขาบ่อย ๆ ทุก ๆ วันหยุด ตอนพักผ่อน มันจะมีช่วง gap สั้น ๆ หยุดช่วงวันอาทิตย์ บ่ายสองถึงประมาณบ่ายสาม มันเป็นช่วงสั้น ๆ ที่เขาจะได้เจอกัน เขาก็จะส่งคนที่คุยภาษาไทยพอได้มาคุยกับเรา”

สิ่งที่ทำได้เพื่อสลายกำแพงระหว่างกัน คือ การสร้างความไว้ใจ คอยถามถึงปัญหา และถามอย่างตรงไปตรงมาว่า เราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง

“อย่างเช่น เราไปเจอเคสที่เขาพาผู้ติดตามมา เป็นเด็ก แล้วต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา แต่ปัญหาของเขาคือ ไม่รู้ว่าจะไปโรงเรียนที่ไหน ต้องติดต่อยังไง ต้องเอาเข้ายังไง เราก็เข้าไปซัพพอร์ตตรงนั้น พอน้องเข้าเรียนได้ก็เหมือนเป็นประตูบานแรกที่ทำให้เขาบอกคนอื่น ๆ ว่า เราไม่ได้เข้าไปเพื่อหาผลประโยชน์โดยการหาเงินกับเขา เขาก็จะบอกต่อ ๆ กันให้”



หลังจากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แลกเปลี่ยนความเห็นความรู้สึก ก็ทำให้รู้ว่าการได้รับสิทธิที่ไม่เท่าเทียมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลัก คือ ภาษาสำหรับการสื่อสาร และการไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

โครงการ STAY IN SAMPENG YAOWARAT ที่ตั้งใจให้เป็นชุมชนของแรงงานเมียนมาในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ที่ครอบคลุมย่านสำเพ็งและเยาวราช พื้นที่เล็ก ๆ ในตรอกมัสยิดของถนนทรงวาดที่เปิดสอนภาษาไทยให้กับแรงงาน

วิธีการประชาสัมพันธ์จึงไม่ใช่การโพสต์ลงสื่อออนไลน์ แต่เน้นวิธีการที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ การทำโปสเตอร์แบบเขียนมือแปะตามห้องเช่า ไม่ได้เปิดรับสมัคร ไม่ต้องมีเอกสาร หากสนใจก็เดินเข้ามาเรียนรู้ไปด้วยกันได้เลย

ห้องเรียนจะเปิดสอนทุกวันอาทิตย์ช่วงบ่าย ถึงบางคนจะสนใจ แต่ทางโครงการฯ ก็เข้าใจดี หน้าที่หลักของแรงงานเมียนมาคือต้องทำงาน บางครั้งหยุดงานได้ บางครั้งหยุดไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขการจ้างงาน

“ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มาไม่อยากพัฒนาตัวเอง แต่เขาต้องทำงาน ในพื้นที่ ถ้าหยุดเกิน 3 วัน ถูกไล่ออกแล้ว หรือเลือกวันหยุดเองไม่ได้ สมมติช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ขายดีมากเลย เดิมทีคืนวันอาทิตย์ต้องปิด 22.00 - 23.00 น. เขาก็เปิดลากยาว แรงงานก็ต้องทำ หรือกินเจ รู้สึกว่าค่าแรงที่ได้ไม่คุ้มกับจำนวนเวลาที่ทำ ก็หยุดไม่ได้เหมือนเดิม ก็ต้องทำ เพราะนั่นหมายความว่า มันคือการสูญเสียงานระยะยาวด้วยเหมือนกัน”



ห้องเรียนภาษาไทยในเยาวราช

ห้องเรียนนี้มีความยาว 2 ชั่วโมง ชั่วโมงแรกจะเรียนภาษาไทย เริ่มจากตัวสะกด พยัญชนะ การผสมคำ แต่งประโยคจากคุณครูที่สอนแรงงานอยู่แล้วที่มูลนิธิเยาวชนเพื่อชนบท (มยช.) และอีก 1 ชั่วโมงสุดท้ายจะเป็นการให้ความรู้เรื่องสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ผู้เรียนอยากรู้

“เราทำมา 6 - 7 เดือน มีหลักสูตรแกนกลางที่ชวนทาง มยช. (มูลนิธิเยาวชนเพื่อชนบท) มาช่วยเราจะเรียนกันประมาณ 3 ชั่วโมง 2 ชั่วโมงแรกเนี่ยเราเรียนพวกตัวสะกด เรียนพยัญชนะ สระต่าง ๆ นานา แล้วอีก 1 ชั่วโมงสุดท้ายก็จะทำกิจกรรม รวมกลุ่ม การทำความรู้จักกัน แล้วถ้าตอนนั้นมีสถานการณ์ที่รุนแรง เช่น เป็นช่วงที่ต้องต่อบัตร เขารู้สึกว่าเขามีปัญหา หรือไปทำบัตรแล้วไม่ได้บัตร ก็อบรมเรื่องสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ให้”

ถึงจะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียนภาษาไทย แต่ฟ้าบอกว่า เป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ การสร้างพื้นที่ที่ทำให้แรงงานผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจถูกมองเห็นและมีตัวตน

“ตอนที่เรา survey พื้นที่ เราก็พบว่ามันมีการไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แยกกันอยู่ ไม่ถึงกับเกลียดกัน แต่ไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ เราเลยพยายามที่จะทำให้เขาถูกมองเห็น มีกิจกรรมร่วมกัน พยายามกำจัดอะไรพวกนี้ เพื่อที่จะให้คนในชุมชนและแรงงานข้ามชาติได้มาทำบางอย่างร่วมกัน แล้วก็แสดงความเป็นตัวเองออกมา

“เราก็เลยตั้งใจจะทำงานกับคนกลุ่มนี้ แล้วก็ที่ใช้ชื่อว่า STAY IN SAMPENG YAOWARAT เพื่อบอกถึงคนที่อยู่ที่นี่ อยู่ในสำเพ็ง เยาวราช ฉันอยู่ที่นี่นะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการมองเห็น เราอยากให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในสำเพ็ง เยาวราช เพราะว่าในพื้นที่นี้มันต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ตรงที่เขาจะเป็นลูกจ้างแบบรายเล็กรายน้อย”



คำว่า ‘ลูกจ้างรายเล็กรายน้อย’ ที่ฟ้าหมายถึง คือ พวกเขาเป็นแรงงานที่ดูแลตัวเอง ไม่ได้มีใครมาดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต การต่อบัตรแรงงาน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาในด้านอื่น ๆ

“สมมติ สมุทรสาคร ก็จะมีโรงงาน มีนายจ้างชัดเจน มีคน set agenda ให้ว่า มีพัฒนาศักยภาพ มีดูแลเรื่องบัตร แต่ว่าที่นี่คือต้องดูแลตัวเอง ดังนั้นพอมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองในที่ที่เราไม่รู้ภาษา การมีบริการที่เป็นคนกลางจึงเกิดขึ้น ปัญหาคือเขารับเงินมา ดำเนินการบางอย่างแล้วส่งต่อ product สุดท้ายให้ แต่ไม่ได้อธิบายกระบวนการและสิ่งที่ควรรู้ต่าง ๆ ให้กับคนที่ใช้บริการ ดังนั้น มันเลยมีปัญหาเรื่องความรู้ เรื่องการจัดการตัวเองในการอยู่ที่พื้นที่ตรงนี้”

นอกจากนี้ ผู้เรียนของห้องเรียนภาษาไทยภายใต้ STAY IN SAMPENG YAOWARAT ก็มีความหลากหลายเรื่องอายุ วัย และความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียน

หนึ่งห้องเรียนจึงต้องมีครู 2 คน และครูผู้ช่วยอย่างน้อย 2 - 3 คน บางครั้งก็เป็นคนในโครงการฯ บางครั้งก็เปิดรับอาสาสมัครมาลองผิดลองถูกร่วมกัน แล้วพัฒนาการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์คนเรียนมากที่สุด

“สมมติว่ามีคนมาเรียน 20 คน คนที่อยู่หน้าห้อง 2 คน คนหนึ่งพูดภาษาเมียนมาได้ อีก 1 คนก็คือเป็นคนไทยที่สามารถให้สำเนียงหรือว่าอ่านประโยคที่ชัวร์ที่สุด เป็นสำเนียงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

“อีก 3 คนที่เหลือจะสังเกตว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อดูพัฒนาการ เราพยายามจะ keep คน เพราะหลักในการทำงานของเรา เป้าใหญ่เป็นการรวมกลุ่ม เราเห็นว่าการรวมกลุ่มจะทำให้เขามีระบบการช่วยเหลือกันที่มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ตอนนี้เราสอนได้ประมาณ 21 ครั้ง ช่วงปลายปีเราให้เขา reflect ว่า พัฒนาการตัวเองตอนนี้ เขารู้สึกว่ามันมีอะไรที่พัฒนาขึ้นบ้าง จากอะไร รูปแบบไหนที่เขาพัฒนาขึ้น รวมไปถึงเขาชอบเรียนแบบไหน อยากให้เราปรับปรุงอะไร จะถามกันอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้มันตอบโจทย์ห้องเรียนให้ได้มากที่สุด”



การเรียนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นักเรียนของห้องเรียนเล็ก ๆ นี้ คือ แรงงานเมียนมาที่ต่างเมือง ต่างอายุ และต่างวัย

อีกทั้งลักษณะของการอยู่อาศัย ส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ เน้นการดูแลตัวเอง ฟังก์ชันของห้องเรียนจึงเป็นการสลายกำแพงให้เกิดการรวมกลุ่มและช่วยเหลือกันมากขึ้น

“คนที่เราสำรวจเจอ แรงงานข้ามชาติยุคหลัง เป็นคนกลุ่มใหม่ เป็นวัยรุ่น ช่วงแรกยังไม่รู้จักกันขนาดนั้น ไม่คุยกัน เราก็พยายามมาจำแนกเมืองว่าใครมาจากไหนบ้าง แล้วก็สร้างคอมมูเล็ก ๆ ของเมืองแต่ละเมืองเอง ให้เขามีระบบการช่วยเหลือบางอย่างร่วมกัน ทำความรู้จักกัน

“คนที่มาเรียนเป็นคนที่มีการศึกษาในบ้านของตัวเองมาแล้ว แต่ที่บ้านส่งให้มาทำงานที่นี่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว หลาย ๆ คน เป็นครู จบปริญญา ดังนั้น สิ่งที่มาทำงานแล้วใช้แรงงานไปวัน ๆ มันทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตบางอย่างของเขามันสลายไป เราก็พยายามจะมารื้อฟื้นความเป็นวัยรุ่น รื้อฟื้นความหวังบางอย่างในการใช้ชีวิต ไม่ให้ความสนุกของเขาหายไป”

การจัดการในห้องเรียนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายและต้องบริหารความหลากหลาย ไม่จำกัดการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่คนในห้องเรียนต้องรู้ข้อจำกัดในห้องเรียน และเริ่มสร้างนอกพื้นที่ในห้องเรียน

“พอห้องเรียนเรามีความหลากหลายมาก ทั้งเรื่องของคนที่มาเรียน คนที่มาเรียนถึงจะเป็นเมียนมาทั้งหมด แต่เมียนมาก็มีหลายเมือง ภาษาก็ไม่ได้เหมือนกัน 100% แล้วก็เป็นเรื่องของช่วงอายุด้วย มีตั้งแต่เด็ก 12 ไปจนถึงอายุ 30 - 40 พัฒนาการบางอย่างมันต่างกัน เราก็ต้องใช้ความหลากหลายในกระบวนการในการทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วก็ทำพื้นที่ออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย ทำ Facebook group เพื่อให้มันเกิดการสื่อสารสองทาง”



เศรษฐกิจที่หมุนเวียน 24 ชั่วโมง หยุดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สิ่งที่ผู้สร้างห้องเรียนภาษาไทยย่านเยาวราชต้องเผชิญ คือ การต่อสู้กับชีวิตของแรงงานที่ต้องทำงานและดิ้นรนในต่างแดน

“โจทย์ที่ยากมาก ๆ ของเรา คือยากตรงที่แข่งกับการต้องดิ้นรนในการหาเงินของเขา เพราะว่ามันคือ priority หลักของเขา อย่างมากับเรา มันใช้ระยะเวลานานมากกว่ามันจะเห็นผล เขาก็เลยจะมีช่วงจังหวะที่หายไป”

แต่การที่นักเรียนหายไปอาจจะทำให้ใจห่อเหี่ยวลง แต่ก็เข้าใจในเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็พยายามสื่อสารว่า ทุกคนยังเป็นนักเรียนในห้องเรียน ยังช่วยเหลือและดูแลกัน แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน

“เราพยายามสื่อสารกับคนที่ยังอยู่ว่า เราก็ยังไม่ได้ทิ้งคนที่ออกไปแล้ว สื่อสารในออนไลน์ เราว่าในออนไลน์มันทำให้เขาน่าจะยังรับรู้ได้ว่าเราไม่ได้ลืมเขา เราก็พยายามใช้คำว่าทุกคน ก็คือทุกคนที่อยู่ในนั้น ทุกคนรับรู้ว่า เราก็หมายถึงเขาด้วย หรือเวลาไปข้างนอก เวลาเจอกันก็ทักกันปกติ ถามไถ่ว่าเป็นอย่างไร สบายดีไหม”

ถึงสุดท้าย เราจะไม่อยู่ แต่หวังให้ระบบมันไปต่อเองได้

แม้ว่านักเรียนจะไม่เต็มห้องเหมือนช่วงแรก แต่ในมุมมองเจ้าหน้าที่โครงการฯ ทั้ง 2 คน พวกเขาก็เลือกที่จะทำต่อ ด้วยความหวังว่า พื้นที่และผู้เรียนจะได้รับประโยชน์

เพราะไม่ว่าอย่างไร ภาษาก็เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้ผู้เรียนนำไปต่อยอดเส้นทางอาชีพของตัวเอง

“เป้าหมายของพวกเขา คือ มาเรียนภาษา เพราะถ้าพูดไม่ได้ งานหลักที่จะได้ทำคืองานแรงงาน การจัดร้าน ตั้งร้าน เก็บของอยู่ในโกดัง แต่ตราบใดก็ตามที่เราได้ภาษา เราจะได้ขยับมาอยู่หน้าร้าน ได้ไปส่งของ ซึ่งมันจะมีงานให้เลือกเยอะขึ้น”

หลังจากดำเนินงานมาอย่างน้อย 7 - 8 เดือน อาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากอยู่บ้าง ทั้งเรื่องทรัพยากรและความต้องการของพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินการทำงานในอนาคต



ถึงจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่การไปต่อ นั่นคือการทำเพื่อคนในชุมชนและผู้เรียนทุกคน

“มันต้องประเมินหลายสิ่ง อันดับแรกคือทรัพยากร อันดับสองคือพื้นที่ ความต้องการของพื้นที่ ถามว่า เฟลไหม เราเฟล แต่ว่ามันเป็นการเฟลที่พยายามตามหาเหตุและผลของมัน ถามว่าเราจะทำมากขึ้นไหม ถ้าเรามีทรัพยากรพอ เราก็ทำ

“จริง ๆ มันไม่ใช่การให้เขามากันเยอะที่สุด เพราะเราได้งาน เรารู้สึกว่า มันทำให้พื้นที่ได้ประโยชน์ ถ้าเกิดเขาได้ประโยชน์ เราก็อยากจะทำ ระยะยาวเขาจะได้ใช้ แล้วมันเป็นเรื่องที่ติดตัวไปเรื่อย ๆ เราเลยรู้สึกว่า ยังอยากจะทำมันอยู่”

เพราะจริง ๆ แล้ว เป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ ทำให้สิ่งนี้ยังอยู่ต่อ แม้สารตั้งต้นอย่างฟ้าและไลลาจะไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้วก็ตาม
“สิ่งที่จะรับมือต่อไป เราก็คิดว่า คนที่เรียนกับเรามาตั้งแต่ต้นและยังอยู่กับเรา ทำอย่างไรให้เขาลุกขึ้นมาเพื่อที่จะสามารถช่วยในการสอนคนอื่น ๆ ต่อ แล้วเพื่อนที่มาเรียนใหม่ เขาก็จะได้สร้างคอมมูนิตี้ร่วมกันกับคนเก่าได้อีก แล้วเราก็หวังว่า ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้แล้ว ระบบมันจะยังรันต่อไปได้”

ไม่ต้องเข้าใจ 100% แต่เมตตากันในฐานะมนุษย์

แม้วันนี้จะเป็นบุคคลที่เข้าใจแรงงานข้ามชาติเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง แต่เมื่อถามย้อนกลับไปถึงวันแรก ๆ ที่ทั้งสองคนมาเที่ยวหรือเดินมายังสถานที่แห่งนี้

คำตอบที่ตรงกันของฟ้าและไลลา คือ พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามหรืออยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

มองกลับไป ณ วันนั้น ปัญหาอยู่ตรงหน้าพวกเขาแล้ว แทนที่จะมองข้าม พวกเขาเลือกที่จะลงมือทำเรื่องเล็ก ๆ ให้กับสังคม



สำหรับไลลา เรื่องแรงงานข้ามชาติถือเป็นเรื่องใหม่ พวกเขามีอยู่ แต่ไม่ทันสังเกตเห็นเท่านั้น และเมื่อลงทำงาน เธอก็เข้าใจความเป็นมนุษย์และเข้าใจแรงงานข้ามชาติในมุมมองที่เปลี่ยนไป

“ปกติมาเดินเที่ยวในพื้นที่นี้อยู่แล้ว เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า เขาอยู่ที่ไหนกัน หรือตึกที่เราเห็นในซอกหลืบเล็ก ๆ มันถูกใช้ทำอะไร ทำไมมันทรุดโทรม มีคนอยู่หรือเปล่า เราไม่เคยเห็นคนเดินเข้าออกเลย เราก็เห็นว่าเขาทำงาน แค่นั้นเลย แล้วพอมาทำงาน มันทำให้เราต้องเดินเข้าไปหาว่าเขานอนที่ไหน ทำอะไร ก็เลยเจอไปเรื่อย ๆ แล้วก็เข้าใจชีวิตและวิถีชีวิตเขามากขึ้น”

ส่วนฟ้าบอกว่า ก่อนหน้านี้แรงงานข้ามชาติก็เป็นกลุ่มคนที่เธอมองว่าทำงานด้วยยาก แต่เมื่อทำงานแล้ว โรงเรียนภาษาไทยเป็นหนึ่งแรงซัพพอร์ตในฐานะที่เธอจะทำได้



“เรารู้สึกว่ามันยากมากเลยกับการที่จะไปยุ่งกับคนกลุ่มนี้ เราต้องใช้ความพยายามเยอะมากแน่ ๆ เราไม่สู้ดีกว่า เรารู้สึกว่าทำงานกับคนไทยที่อพยพมาอยู่ในกรุงเทพฯ ดีกว่า แต่พอสุดท้าย เหมือนเราก็มาฟังปัญหาในพื้นที่จริง ๆ เราก็รู้สึกว่ามันต้องทำ ไม่งั้นมันคือการ ignore ปัญหาบางอย่าง ซึ่งตอนแรกเราก็เป็นคน ignore ตรงนั้นเหมือนกัน

“รู้สึกว่า ถ้าคนกลุ่มนี้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นเท่ากับว่า เราเองก็ดีขึ้นไปด้วย ทำให้รู้สึกว่า ถ้าไม่ support เขาตอนนี้ จะ support ตอนไหน ช่วงชีวิตที่เราแย่มาก ๆ มันย้อนกลับคืนมาไม่ได้ แต่มันจะทิ้งแผลบางอย่างไว้ เรารู้สึกว่า การที่เขามาช่วย support บ้านเมืองเรา เราไม่อยากให้เขามีแผลติดตัวไปเรื่อย ๆ”

ทั้งสองคนรู้ดี การเปิดใจหรือทำความเข้าใจคนที่แตกต่างจากเราเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้ลองเปิดใจและเปิดพื้นที่ยอมรับแรงงานเมียนมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ไลลาบอกว่า การมองกันในฐานะมนุษย์ คือ การมองอย่างไม่ตัดสิน ไม่มองด้านลบ แต่พยายามเข้าใจกัน

“เราไม่เข้าใจว่าทำไมเวลาคนเห็นว่าพูดภาษาไทยไม่ชัด เขาก็จะมองลบ มันก็เหมือนเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราคิดว่า มันไม่ใช่ภาษาไทยเขาใช้มาตั้งแต่เกิดเหมือนเราที่จะพูดให้ชัด เขาก็พยายามอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่รู้สึกว่า พอเขาพูดไม่ชัดแล้วเราก็ไปแสดงท่าทีด้วยสีหน้าที่ไปทางลบ”

ส่วนฟ้าบอกว่า การเข้าใจแรงงานเมียนมาอาจไม่ใช่ความรู้หลัก แต่สิ่งที่เราควรมี คือ ความเมตตากันในฐานะมนุษย์กับมนุษย์

“ถามว่าต้องเรียนรู้ไหม ไม่เรียนรู้ก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่า เราทุกคนควรมี คือความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน ไม่ได้ focus ว่าคุณสัญชาติไหน คุณเป็นใคร แต่คุณคือมนุษย์คนหนึ่ง ทำงานก็ควรจะได้เงินตามสิ่งที่เราทำงาน มีสวัสดิการบางอย่าง ไม่ต้องเข้าใจ 100% ก็ได้ แค่เมตตาว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

“ถ้าวันใดวันหนึ่ง เราเปิดใจที่จะเรียนรู้เขา ตอนแรกเราก็ไม่ได้เปิดใจ แต่พอวันหนึ่งที่เราเปิดใจที่จะรู้ในวันที่เราพร้อม เรารู้สึกว่ามันสนุกมากเลย การเจอเพื่อนที่เติบโตมาคนละแบบกับเรา มันก็เห็นหลายสิ่งอย่างที่สนุก”

ภาพ : กัลยรัตน์ วิชาชัย

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

https://www.thepeople.co/social/little-big/53423