วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 03, 2566

'ดร.เอ้ สุชัชวีร์' ชวน ประกาศสงครามกับ ฝุ่น PM 2.5 เสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน


The Reporters
7h

UPDATE: 'ดร.เอ้ สุชัชวีร์' ชวน ประกาศสงครามกับ ฝุ่น PM 2.5 เสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 ก.พ. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจ "เอ้ สุชัชวีร์" ของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันประกาศสงครามกับปัญหา PM 2.5

" ถึงเวลาออกกฎหมายอากาศสะอาด ประกาศสงครามกับ PM2.5

วันนี้ค่าฝุ่นของกรุงเทพหนักหนามาก บางช่วงเวลาติด TOP 3 เมืองสำคัญที่อากาศแย่ของโลกไปแล้ว เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมาทั้งกรุงเทพมหานคร และประเทศไทยของเรา พบเจอกับปัญหา PM 2.5 มาตลอด จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้สักที

หลายๆ มาตรการที่ออกมา ดูเหมือนจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้กับประชาชนจาก PM 2.5 ได้ ยกตัวอย่าง มาตรการขอความร่วมมือ Work From Home การสุ่มตรวจรถควันดำ ประกาศหยุดเรียน สุ่มตรวจโรงงานและสถานที่ก่อสร้าง ถึงแม้จะบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดูไม่ยั่งยืนเท่าไร ปีถัดไปพวกเราก็คงต้องกลับมาเจอกับปัญหานี้อีก

ถ้าศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศที่เขาเจอหนักกว่าเรา แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เขาทำอย่างไร ? ถึงจะชนะสงครามกับ PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย

คำตอบคือ “กำหนดเป้าหมาย” และ “ออกกฎหมายอากาศสะอาด” อย่างจริงจัง

1. “กำหนดเป้าหมาย” หากเราไม่กำหนดเป้าหมายก็คงยากในการพิชิตสงคราม การกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้เราสามารถหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เหมือนกับหลายๆ ประเทศ
อังกฤษ ประกาศไปเลยว่า ภายในปี 2030 ค่า PM 2.5 ในลอนดอนจะต้องน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าปลอดภัย

จีน ขีดเส้นกรุงปักกิ่ง ค่า PM 2.5 เฉลี่ยไม่ควรเกิน 60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี และมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับฝุ่นให้มากขึ้นเพื่อตรวจวัดค่า PM 2.5 ได้แม่นยำขึ้น

หรือเป้าหมายระดับโลกอย่าง “Net Zero Emission” หรือการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ที่หลายๆ ประเทศในโลกตั้งเป้าหมาย วางแนวทาง เสาะหาวิธี ในการบรรลุเป้าหมายนี้กันอย่างจริงจัง

วันนี้เป้าหมายในการเอาชนะปัญหา PM 2.5 ที่แท้จริงของไทยคืออะไร? ยังไม่ชัดเจน

2. “ออกกฎหมายอากาศสะอาด” นำมาประกาศบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแล และแก้ปัญหา PM2.5 จะได้สามารถนำมาใช้เป็น “อาวุธ” ในการทำสงครามกับ PM 2.5 ถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็เปรียบเสมือนนักรบที่ไม่มีอาวุธ ต่อให้รู้วิธีในการเอาชนะสงคราม แต่ไม่มีอาวุธก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามได้ หลายๆ ประเทศที่รู้ตรงจุดนี้เขามุ่งมั่นผลักดันออกกฎหมาย ปรับแก้ บังคับใช้อย่างจริงจังจนแก้ปัญหาได้

อังกฤษเอาชนะ "Great Smog of London" ได้ด้วย Clean Air Act 1956 ซึ่งมีการปรับปรุงและแก้ไขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อที่เอาชนะเป้าหมายใหม่ที่ดีกว่าเดิม

จีนออกกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ มีแผนปฏิบัติการเมืองปักกิ่งเพื่ออากาศสะอาด ออกมาตรการระดับชาติ 10 ประการ จนวันนี้ปักกิ่งกลับมาอากาศสะอาดได้

กฎหมายจะช่วยให้หน่วยงานสามารถออกมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น

- กำหนดว่าโรงงานห้ามปล่อยมลพิษเกินค่าเท่าไร ถ้าเกินจะมีบทลงโทษ มีค่าปรับหรือสั่งปิดจนกว่าจะแก้ไข

- รถควันดำจากการดัดแปลงเครื่องยนต์ จะมีบทโทษ ห้ามนำมาใช้จนกว่าจะแก้ไขให้กลับมาสภาพเดิม

- มีการกำหนดเขตอากาศสะอาดห้ามรถควันดำห้ามเข้า ฯลฯ

กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ออกมา จะช่วยลดต้นเหตุของ PM 2.5 ได้อย่างจริงจัง ยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย

นอกจากกฎหมายออกมาจะต้องมี “คณะกรรมการอากาศสะอาด” ที่เปรียบเสมือนเสนาธิการ แม่ทัพ ซึ่งจะใช้ในการกำกับดูแล วางนโยบาย ดำเนินการ และติดตามการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งคณะกรรมการนี้ ควรประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีอำนาจจากหลายภาคส่วน มาร่วมมือกัน

ตอนนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมาร่วมกันวางเป้าหมาย ออกกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อเอาชนะปัญหา PM 2.5 #อย่างยั่งยืน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป...

#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #เอ้สุชัชวีร์ #ฝุ่นPM25