Pavin Chachavalpongpun
18h
หลังจาก #มนุษย์ต่างด้าว ผ่านไปแล้ว ได้เอ่ยกับสำนักพิมพ์ว่า อยากเขียนหนังสืออีกเล่ม เป็นเรื่อง "ความรัก" ความรักแบบมองจากทั้งมุมนักวิชาการและมุมของความเป็นมนุษย์ทั่วไป วันนี้เป็นวาเลนไทน์ ความคิดเรื่องการเขียนหัวข้อนี้มันกลับมาอีก ความรักนี่มันมีอิทธิพลมาก ทางการเมือง มันเป็นเครื่องมือในการปกครองที่ดีเยี่ยม และมันเป็นได้ทั้งพระคุณและพระเดช ในแง่พระคุณ ความรักมันส่งผ่านความอ่อนโยน ความต้องการดูแลชีวิตประชาชน ความรักที่ตั้งบนความต้องการสร้างความสุขให้คนทั่วไป ถ้าเอาความรักชนะใจได้ ประชาชนยินดียอมตามทุกอย่าง ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงนักการเมือง อย่างช่วงปลายยุคภูมิพลมันจึงเกิดแคมเปญ "เรารักในหลวง" เป็นความรักที่ล้นเอ่อ รักจนสามารถทำร้ายคนอื่นได้ นี่แหละคือความรักในแง่พระเดช อิทธิพลของความรักมันโหดร้าย ถ้าไม่รัก ชั้นจับติดคุกหรืออุ้มหาย นอกจากนี้ ความรักแบบนี้ยังสะท้อนผ่านลัทธิชาตินิยม นั่นคือความรักชาติ ที่นี้ รักแบบพอดีจะมีส่วนช่วนสร้างอัตลักษณ์ของชาติและความสามัคคี ถ้ารักมากจนล้น มันจะกลายมาเป็นไฟแห่งชาตินิยมที่เผาไหม้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราเห็นแบบนี้มาแล้ว ทั้งต่อมุมมองที่เรามีต่อพม่าและกัมพูชา
....ความรักในครอบครัวก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เรารักพ่อ รักแม่ รักญาติพี่น้อง คนไทย (หรือคนเอเชีย) ถูกสอนให้เชื่อเรื่อง filial piety ที่มีรากเหง้ามาจากจีน คือสอนให้รักและเคารพบุพการี แต่ความรักแบบนี้มันมีขอบเขตที่ชัดเจน คนไทยไม่ได้ถูกสอนให้ตั้งคำถามแม้แต่ในครอบครัว มันจึงเป็นความรักที่ตั้งบนความเป็นเผด็จการ เมื่อใดที่เราตั้งคำถาม เราจะกลายเป็นคนอกตัญญู ไม่แน่ใจว่าพ่อแม่ยุคใหม่ยังต้องการความรักแบบนี้อีกหรือไม่ ความรักแบบนี้มันกลายเป็นยาพิษ แบ่งสมบัติไม่ลงตัว พ่อแม่รักลูกคนไหนมากกว่ากัน คนจีนรักลูกชายมากกว่าลูกสาว ส่วนลูกกะเทยยังถูกปฏิเสธความรักในหลายครัวเรือน ยิ่งถ้ามันมีการเมืองมาเกี่ยวข้อง ครอบครัวพังได้ทันที ความรักเป็นทั้งมิตรและศัตรูในครอบครัวในบริบททางการเมือง
...นี่ไม่นับความรักแบบคู่ชีวิต ที่ต้องผ่านอะไรมากมาย รักแค่ไหน รักแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ รักแบบสละชีวิตตัวเองได้ไหม รักแบบหึงหวง รักแบบใจกว้าง รักมากและรักจาง มีคนแนะว่าให้ไปดูกฎหมายครอบครัวและการหย่าร้าง การแบ่งสมบัติ การแย่งลูก มันเป็นความรักที่รุนแรงไม่แพ้กับตอนจีบกันใหม่ๆ จริงๆ
...HAPPY VALENTINE'S DAY ค่ะ