วันนี้ (๒๐ กุมภา) จะมีการพิพากษาคดี #มาตรา112 รายหนึ่ง ซึ่ง iLaw ชี้ว่าเกิดขึ้นเพราะ ความเห็นต่างทางการเมืองและความซับซ้อนของระบบเฟชบุ๊ค ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไปลงที่ปัญหาอันต้องแก้ไขของ ม.๑๑๒ คือ คนฟ้อง ‘มั่ว’
คดีประเภท ‘หมิ่นกษัตริย์’ นี้นับร้อย ไอลอว์ว่า “เกิดจากการแสดงความคิดเห็นต่อพระมหากษัตริย์ของประชาชนทั่วไปบนโลกออนไลน์ แต่นั่นไม่ใช่กับกรณีของสุรีมาศ หรือ จีน่า แม่เลี้ยงเดี่ยววัย ๕๒ ปี” ที่เพียงกด ‘แชร์’ คลิป
มิหนำซ้ำเนื้อหาไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่เป็นคลิปสวดคาถาสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ อันเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาคนนี้ถูกฟ้องร้องคดีซึ่งมีโทษอุกฉกรรจ์ จำคุก ๓-๑๕ ปีต่อหนึ่งกรรม
ไอลอว์อธิบายว่าเนื่องจากเพจรอยัลลิสต์ฯ “ที่ตั้งค่าไว้แบบ ‘ส่วนตัว’ และจะแสดงเนื้อหาให้เห็นเฉพาะผู้เป็นสมาชิกกลุ่มเท่านั้น” ผู้ใช้เฟชบุ๊คทั่วไปเห็นโพสต์ที่แชร์นี้แต่เฉพาะหน้าปกของเพจ “ซึ่งเป็นภาพของบุลคลมีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่สิบกำลังเล่นสไลเดอร์”
มีคนในจังหวัดกระบี่รายหนึ่งซึ่ง “มีความเห็นทางการเมืองในทางตรงข้ามกับจีน่า” เห็นภาพดังกล่าวจากการแชร์ จึงยื่นฟ้องในข้อหา “มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” เป็นผลให้มีการจับกุมตัวจีน่าเมื่อ ๗ เมษา ๒๕๖๕ และศาลนัดพิพากษาวันนี้
นี่คือความหละหลวมในหลักยุติธรรมของ ม.๑๑๒ ประการหนึ่ง ที่เปิดให้ ‘ใครฟ้องใครก็ได้’ แล้วไม่มีการไตร่ตรอง กลั่นกลองคำฟ้องและข้อกล่าวหา ให้ต้องตรงกับความเป็นจริง ว่าสมควรเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่
เราจึงได้เห็นการฟ้องร้องคดี ม.๑๑๒ มากมายที่เส้นตื้น มั่วซั่ว ไปจนกระทั่งเหลิงอำนาจ (ทิพย์) อย่างที่นักกิจกรรมโหนเจ้ารายหนึ่งยื่นฟ้องเด็กหญิงอายุ ๑๔ ปี เพราะคดีมาตรานี้มีธรรมเนียมปฏิบัติของตำรวจและตุลาการ ถ้าฟ้องมาต้องดำเนินคดีไว้ก่อน
ผู้ถูกกล่าวหาหลายรายถูกจับกุมและคุมขังอยู่นาน จนท้ายที่สุดพบว่าไม่เข้าข่ายความผิด ไม่สามารถลงโทษได้ แต่ผู้ต้องหาก็ต้องโทษไปแล้วหลายปี คดีของจีน่าจะลงเอยอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่ได้เปิดให้เห็นความบกพร่องของกฎหมายมาตรานี้
ใครที่บอกว่า “จะกลัวอะไรถ้าไม่ทำผิด” เป็นการบิดเบือนประเด็น ในเมื่อกฎหมายเช่นนี้ประดุจดัง เปิดช่องให้ประชาชนใช้ทำร้าย ทำลายกันและกัน เป็นกฎหมายที่เสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งและปั่นป่วนในชาติ เสียเอง