วันพฤหัสบดี, มกราคม 05, 2566

รากเหง้าปัญหา ของคำพูดเหล่านี้ "โด่เอ้ย จบอะไรมาวะ?" "เอ้ย ทำไมมันโง่อย่างงั้นวะ คุณรุ่นอะไรอะ?" "โง่เป็นควายเลยไอ้เหี้ยเอ้ย"


.....
"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
5h

มีคลิปประชุมกลุ่มข้าราชการ ที่ประธานนั่งหัวโต๊ะแล้วพูดกับผู้ร่วมประชุม(ตำแหน่งต่ำกว่า)ว่า
"โด่เอ้ย จบอะไรมาวะ?"
"เอ้ย ทำไมมันโง่อย่างงั้นวะ คุณรุ่นอะไรอะ?"
"โง่เป็นควายเลยไอ้เหี้ยเอ้ย"
===
นั่งอ่านคอมเมนต์ส่วนใหญ่ด่า
แต่มีบางคอมเมนต์บอกว่า “ธรรมดา รุ่นพี่รุ่นน้องในคณะก็พูดกันแบบนี้แหละ”
อันนี้แหละคือ ‘รากเหง้าของปัญหา’
ที่เริ่มต้นตั้งแต่ในบ้านและในสถาบันการศึกษา ฯลฯ
=====
เพราะคลิปที่ถอดคำพูดแบบข้างต้น เราจะเห็นทำนองนี้ได้อีกเพียบ
- ในรั้วโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ พูดทำนองนี้กับ ลูกศิษย์
- ในรั้วมหาวิทยาลัย รุ่นพี่ พูดทำนองนี้กับลูกน้อง
- ในที่ทำงาน หัวหน้า พูดทำนองนี้กับ ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา
- หรือแม้แต่ในบ้านที่ผู้ใหญ่พูดแบบนี้กับลูกหลาน
========
รากเหง้าปัญหาคือที่ผ่านมา
- ถูกยอมรับได้ว่า ‘เป็นเรื่องธรรมดา’
- ถูกปลูกฝังว่า “เรื่องแค่นี้ (คำพูดด่าที่หยาบหรือเหยียดหยาม) ทนไม่ได้ ต่อไปจะทนอะไรได้”
- พร้อมๆกับทัศนคติว่า “ไม้เรียวสร้างชาติ / ต้องด่าถึงจะโต ไม่เจ็บก็ไม่จำ ฯลฯ”
รวมกันจึงเป็นการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากปู่ย่า มาพ่อแม่ มาถึงรุ่นลูก ที่พอโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็ใช้วิธีการแบบเดียวกัน
====
- พอทำแล้ว “ทำได้” เพราะในที่ทำงานเป็นใหญ่แบบไม่มีใครกล้าเบรกหรือเตือน หรือเพราะเป็นสถาบันหรือองค์กรแบบอำนาจนิยมที่คนมีอำนาจสามารถพูดหรือทำอะไรได้ตามใจ
- พอทำแล้วเคยชิน แล้วเกิดความรู้สึกดีตอนมีอำนาจที่ได้ ‘กด’ เห็นลูกน้อง/ลูกศิษย์ พูดตะกุกตะกัก หวาดกลัว ฯลฯ มันจึงเริ่มติดตัว
=====
- ที่สำคัญ
คือ บางครั้งสังคมลืมปลูกฝังการคิดถึง ‘คุณค่าของเพื่อนมนุษย์’ ที่แม้เค้าเป็นลูกน้อง เป็นลูกศิษย์ ฯลฯ แล้วทำผิดหรือทำเรื่องโง่ๆจริง แต่ก็ควรจะตำหนิ จะด่า จะลงโทษแบบยัง ‘ให้เกียรติ’ กัน
ให้เกียรติ ไม่ได้แปลถึงต้องกราบต้องไหว้
แต่อย่างน้อยคือ เคารพอีกฝ่ายในแง่ความรู้สึกนึกคิดและศักดิ์ศรีของการเป็นคน
====
พอเราไม่สอนถึง ‘การให้เกียรติในฐานะคนที่เท่ากัน’
แต่เน้นให้เกียรติเพราะอีกฝั่งแก่กว่า อาวุโสกว่า
เน้นให้เกียรติเพราะอีกฝั่งยศสูงกว่า ตำแหน่งสูงกว่า
เน้นให้เกียรติเพราะอีกฝั่งเชื้อตระกูลดี อยู่ในสายเจ้าหรือสายนามสกุลดัง
พอเราไปอยู่จุดที่สูงขึ้นมา ก็จะลืมการให้เกียรติคนที่อายุน้อยกว่า ยศต่ำกว่า ฯลฯ
ลืมไปว่าตำแหน่งต่าง ยศต่าง แต่เป็นคนเหมือนๆกัน
ลืมจนสูญเสีย empathy ที่ลองนึกกลับกันว่า
เราเองก็ไม่ชอบให้ใครมาด่าแบบเหยียด ล้อ ให้อับอาย หรือ กดให้ดูไร้ค่าต่ำกว่าการเป็นคนเหมือนๆกันแบบนี้
====
ที่ใช้คำว่า 'รากเหง้า'
เพราะมันอาจไม่ใช่แค่ปัญหาตัวบุคคล แต่คือระบบในสังคมที่มีส่วนหล่อหลอมให้คนเปลี่ยนไป
แถมส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ตอนเป็นรุ่นน้องคับแค้นใจโดนว้าก รอเป็นรุ่นพี่ก็เอาคืน ตอนยศน้อยโดนเล่นงาน รอยศใหญ่โตก็ทำบ้าง
ทำให้เด็กหลายคน โตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวเคยเกลียดหรือกลัวโดยไม่รู้ตัว