วันพฤหัสบดี, มกราคม 12, 2566

มองสังคมไทยในวันที่เด็กและเยาวชนกล้าวิจารณ์สถาบันฯ – เผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ



การเป็นทั้ง ‘ตัวการ’ และ ‘ผู้ถูกกระทำ’: มองสังคมไทยในวันที่เด็กและเยาวชนกล้าวิจารณ์สถาบันฯ – เผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ

11/01/2566
ภาสกร ญี่นาง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

บทความนี้ จะทำการสำรวจปัจจัยที่มีส่วนทำให้เด็กและเยาวชน ที่ถือเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางในสังคม ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ยิ่งเมื่อปรากฏว่ารัฐไทยปฏิบัติกับเด็กและเยาวชนที่แสดงออกต่อต้านรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เสมือนบุคคลผู้กระทำผิดร้ายแรงหรือผู้ก่ออาชญากรรมทางความคิด การลองพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนแสดงความเห็นแบบ “ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง” อย่างที่รัฐอ้าง ย่อมสะท้อนภาพร่างของสังคมไทยและรัฐไทยที่เป็นมาตลอดได้เช่นเดียวกัน
.
ทฤษฎีร่างทางสังคม

กรอบคิดสำคัญในบทความชิ้นนี้ จะลองหยิบยืมทฤษฎีว่าด้วยร่างทางสังคม (social body) ซึ่ง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการผู้ศึกษาด้านความรุนแรงและสันติวิธีมาอย่างยาวนาน ได้เคยนำเสนอผ่านงานศึกษาที่วิพากษ์ปรากฏการณ์ “ฆาตกรเด็ก” หรือเหตุความรุนแรงที่มีเด็กเป็นผู้กระทำ งานชิ้นดังกล่าวฉายให้เห็นว่า[1] การที่เด็กคนหนึ่ง กลายเป็น “ฆาตกร” ซึ่งกล้าตัดสินใจลงมือกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่น ล้วนเกิดขึ้นด้วยปัจจัยภายนอกที่มีความสลับซับซ้อน อันตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะที่เขาต้องเป็นทั้งฆาตกร และเหยื่อในคราวเดียวกัน



ทฤษฎีดังกล่าวจะจินตนาการว่าสังคมไทยมีร่างกาย ซึ่งนอกจากร่างทางภูมิพื้นที่ที่เกิดจากผลของวิชาภูมิศาสตร์ผ่านเทคโนโลยี จำลองภาพของประเทศให้ปรากฏอยู่ในรูปแผนที่[2] ยังมีการปรากฏของร่างทางสังคม ซึ่งก่อร่างสร้างรูปขึ้นจากเรื่องราว ตลอดจนปฏิบัติการสร้างความหมายต่อความเป็นไปต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต หรือสำนึกทางประวัติศาสตร์ และในแง่นี้อาจจะอาศัยปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ เป็นหนทางพิเคราะห์ร่างสังคมไทย[3]

กรณีศึกษาที่งานดังกล่าวนำมาเป็นวัตถุแห่งการศึกษา สำหรับสะท้อนร่างทางสังคมไทย คือ เหตุการณ์ ที่ “แมว” เด็กชายอายุ 11 ปี ได้ลงมือฆ่าอำพรางศพ “ต้น” เด็กชายอายุ 4 ปี เพื่อแย่งชิงจักรยานของต้นมาเป็นของตัวเอง ซึ่งร่างทางสังคม ได้ปรากฏออกมาจากสภาพแวดล้อมหรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่แมวต้องเผชิญ เช่น ความยากจน ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว การเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดี จนทำให้ศักยภาพในการทำให้ได้มาซึ่งวัตถุบางอย่างของแมว ถดถอยลง ทำอะไรอย่างไม่ได้ นอกเสียจากการใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้มา[4]

ขณะเดียวกัน ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่แมวถูกครอบงำโดยความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ การยอมรับการใช้ความรุนแรง และวัฒนธรรมวัตถุนิยม ย่อมมีส่วนให้ความรุนแรงถูกกระทำลงโดยง่าย เนื่องจากวัฒนธรรมเหล่านั้น ได้ดำรงอยู่เป็นคุณค่าบางอย่างในใจเด็ก จนทำให้การใช้ความรุนแรงกลายเป็นการกระทำที่ถูกต้องจากการประเมินของเด็กเอง[5]

ดังนั้น จะเห็นว่า ความรุนแรงจากเด็กที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเด็กที่สังคมมักมองว่า เด็กเหล่านั้นเป็นพวกบกพร่องในระบบสามัญสำนึกทางศีลธรรมในตัวเอง ซึ่งขณะที่เด็กกำลังตัดสินใจกระทำความผิด รัฐและองคาพยพต่างๆ ในสังคมย่อมมีส่วนร่วมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย ที่ปล่อยและมีส่วนในการสร้างระบบความเหลื่อมล้ำ และความอยุติธรรมทั้งหลาย ให้ดำรงอยู่และกำลังทำร้ายเด็กที่กลายเป็นหรือจะกลายเป็นฆาตกรในอนาคต

ถึงตรงนี้ ทฤษฎีว่าด้วยร่างทางสังคมนั้นน่าสนใจในการนำมาเป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ โดยหากตัดเอาบริบทที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฆาตกรรมออกไปทั้งหมด และหันมาพิจารณาเฉพาะเจาะจงไปที่กรณีที่เด็กและเยาวชนตัดสินใจลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล หรือระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ตลอดจนการออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนถูกถือให้เป็นการกระทำความผิดโดยกฎหมาย

คำถาม คือ ร่างสังคมของไทยจะเป็นเช่นไร สภาพสังคมหรือรัฐแบบใดที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้
.

ภาพกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ออกมาขอโทษหลังคุกคามเยาวชนที่สมัครเข้าร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จากเพจ Unme Of anarchy
.
ร่างทางสังคมไทยในบริบททางการเมือง

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นจำนวนมาก มีการปราบปรามด้วยการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยไม่มีทีท่าว่าจะสามารถสยบเสียงที่เปล่งออกมาได้ ซึ่งร่างทางสังคมไทยในบริบทการเมือง อาจพิจารณาได้จากกรณีที่เด็กและเยาวชนต้องตกเป็นจำเลยในคดีลักษณะดังกล่าวได้เช่นกัน

ทั้งนี้ อาจแบ่งอภิปรายตามปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ กรณีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ กรณีการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มม็อบดินแดง

กรณีวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

กรณีที่เด็กและเยาวชนออกมากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่า การกระทำดังกล่าว ทำให้ตนเองต้องตกอยู่สภาวะเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีและตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เห็นถึงร่างทางสังคมไทยก่อนหน้านี้ที่มีการดำรงอยู่ของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อันหมายถึง โครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม ก่อเกิดสภาวะที่ผู้มีอำนาจกำลังกดขี่และเอาเปรียบคนจำนวนมาก กล่าวคือ เป็นเวลานานมาแล้วที่ระบอบการเมือง กลไกทางกฎหมาย เครือข่ายอำนาจรัฐและการขับเคลื่อนนโยบายในมิติต่างๆ ของรัฐไทย ล้วนทำหน้าที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเคลื่อนไหวและกดทับการก่อตัวด้านจิตสำนึกของผู้คนที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่เป็นธรรม และต้องอดทนจำยอมอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้นอย่างไม่มีทางเลือก[6]

ขณะเดียวกัน จากบริบทสังคมและการเมืองในอดีต ต้องยอมรับว่า ศักยภาพของรัฐและผู้มีอำนาจ อาจยังสามารถใช้อำนาจและกลไกกฎหมายในการจำกัดความรับรู้ ผ่านปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อและการควบคุมเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารตามหน้าสื่อต่างๆ ให้ประชาชนไม่สามารถมองเห็นถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งถือเป็นการซ่อนเร้นความอยุติธรรมทั้งหลายไว้ได้อย่างแยบยล และพลังอำนาจแห่งข้อมูลนั่นเอง มีส่วนทำให้รัฐและผู้อำนาจเป็นฝ่ายที่ถือครองต้นทุนทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้เหนือประชาชนส่วนมาก จนกลายเป็นการครอบงำทางความคิดผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งกลไกกฎหมายยังต้องทำงานเพื่อรักษาสถานภาพหรือสภาวะที่ผู้มีอำนาจสูงกว่าสามารถครองอำนาจดังกล่าวไว้สืบไป

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้ได้ก่อรูปร่างทางสังคมของรัฐไทย ให้กลายเป็นสังคมที่ไม่อนุญาตให้บุคคลมีความคิดอิสระในแบบปัจเจกได้ กลับกันคือ บุคคลในสังคมไทยจำต้องมีความคิดเหมือนกัน ตามที่ผู้มีอำนาจและผู้ปกครองต้องการเท่านั้น การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางสังคมด้วยการก่อร่างความเป็นอิสระในความคิดของตนเองและมีความเห็นแตกต่างไปจากที่ผู้มีอำนาจต้องการย่อมทำให้สถานะที่เหนือกว่าของผู้มีอำนาจสั่นคลอน ตัวกลไกกฎหมายในฐานะเครื่องมือทางอำนาจของรัฐก็จะเข้ามาจัดการ โดยถือว่าการกระทำเหล่านั้น เป็นการกระทำความผิดกฎหมาย ซึ่งควรต้องถูกปราบปราม

แต่อย่างไรก็ดี ในบริบทของความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว เด็กและเยาวชน ในฐานะคนรุ่นใหม่ อาจไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำหรืออิทธิพลด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐไทย เหมือนกับคนรุ่นเก่า ส่งผลให้การจำกัดความรับรู้ของรัฐตามแบบที่เคยทำมา เสื่อมประสิทธิภาพลง ข้อเท็จจริงที่ตอกย้ำถึงความไม่เป็นธรรม ได้ปรากฏออกมาให้เห็นแก่สายตาของคนรุ่นใหม่แบบเป็นประจักษ์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่ถูกมองว่า ไม่ได้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.

.
ร่างทางสังคมไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะอิหลักอิเหลื่อ และกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พร้อมทั้งกำลังคัดง้างกับกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกราด เกิดการปะทะกันระหว่างความคิดสองรูปแบบ ด้านหนึ่งคือความคิดที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ตำแหน่งแห่งที่ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในระนาบเดียวกับประชาชน ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ การปกป้องสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสมมติเทพในตัวพระมหากษัตริย์ รวมถึงราชวงศ์ โดยเชื่อว่าเป็นระเบียบทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมกับสังคมไทยแล้ว

ปัจจัยปลุกเร้าให้เด็กและเยาวชน ตัดสินใจกระทำการละเมิดข้อห้ามที่มีมายาวนาน จนหลายคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยง และหลายคนก็ถูกคุมขังและได้รับโทษจำคุกจากการที่ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมมาจากความเชื่อส่วนหนึ่งที่ว่า สังคมไทยและคุณภาพชีวิตสามารถดีกว่านี้ได้หาก “การเมืองดี” หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสถานะหรือบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อาจเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย

อีกด้านหนึ่ง การที่ผู้คนซึ่งอยู่ในวัยเรียนต้องออกมาแสดงออกและเคลื่อนไหว ก็อาจมาจากสภาวะที่พวกเขา มองว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ตนถูกกดทับ กีดกันโอกาสในการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานของการเมืองระบอบประชาชนเป็นใหญ่และมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเคียงข้างประชาชน

การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ และการต่อต้านรัฐบาลที่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา ล้วนตั้งอยู่บนความคาดหวังที่จะก่อประโยชน์แก่ชาติและสังคมโดยรวม มากกว่าความคึกคะนองส่วนตัวหรือการกระทำที่ขาดความยั้งคิด กลับกัน เยาวชนเหล่านั้นต่างทราบกันดีว่า กำลังสู้กับอะไร และต้องใช้อะไรบางอย่างที่สำคัญที่สุดในชีวิตเข้าแลก เช่น อนาคตของตนเอง

การปราบปรามเด็กและเยาวชนที่เคลื่อนไหวและแสดงความเห็นต่างไม่ว่าจะในทางกายภาพหรือทางกฎหมาย ก็ไม่ต่างจากกระจกเงาที่ยังคงสะท้อนภาพร่างทางสังคมที่ไม่อนุญาตให้ปัจเจกบุคคลมีความคิดเป็นอิสระแตกต่างจากความปรารถนาของผู้ครองอำนาจรัฐ ซึ่งผลลัพธ์ ก็คือ กลายเป็นว่า การปราบปรามในทุกๆ ครั้ง ได้เผยโฉมอำนาจแห่งการบีบบังคับของรัฐอย่างโจ่งแจ้งและความพยายามฝ่าฝืนธรรมชาติของสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนทำให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์มากขึ้น และกัดเซาะความชอบธรรมของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา

สื่อต่างประเทศได้ทำการวิเคราะห์และชี้ว่า[7] การแสดงออกทางการเมืองของเด็กและเยาวชน ตอกย้ำถึงจุดที่ไม่มีวันหวนกลับของสังคมไทย ระเบียบทางสังคมแบบดั้งเดิมที่เป็นมาถูกท้าทายอย่างหนัก ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีความพยายามในการปลูกฝังความว่านอนสอนง่ายให้แก่คนรุ่นใหม่ ทุกเช้า นักเรียนจะต้องร้องเพลงที่มีเนื้อหาของค่านิยมไทย 12 ประการ ซึ่งรวมถึงความมีระเบียบวินัยและความกตัญญูกตเวที ในวันเด็ก เด็กๆ จะถูกพาดูรถถังและเครื่องบินรบในค่ายทหาร แต่แทนที่เด็กรุ่นใหม่ของไทยจะเชื่อฟัง พวกเขากลับออกไปประท้วงบนท้องถนนเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์
.

.
กรณีปรากฏการณ์ม็อบดินแดง

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เรื่อยมาจนถึงปี 2564 การชุมนุมทางการเมืองได้กลายเป็นการกระทำที่รัฐเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วนผ่านมาตรการที่ไร้ความละมุนละม่อม จนปรากฏเป็นภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอ้างว่า ตนมีอำนาจตามกฎหมายกำหนด กระทำต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่การชุมนุมของเยาวชน เนื่องจากรัฐบาลพร้อมจะตีตราว่า การชุมนุมของพวกเขาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต้องถูกจัดการและเข้าแทรกแซงให้การชุมนุมยุติลงโดยทันที แต่ปัญหา คือ รัฐไม่เคยพยายามทำความเข้าใจว่า เพราะเหตุใดผู้ชุมนุม ซึ่งบางกลุ่มเป็นเพียงเยาวชน ถึงกล้าตัดสินใจออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว ด้วยวิธีการที่รู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรง เพราะรัฐมักมองการชุมนุมของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไม่สงบและสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ

ร่างทางสังคมที่สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านปรากฏการณ์เช่นนี้ อยู่ในงานวิจัยเรื่อง “การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564”[8] ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้เก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ม็อบดินแดงอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ด้วยความสำคัญที่ว่า ม็อบดินแดงเป็นการชุมนุมทางการเมืองของเด็กและเยาวชนที่เน้นการเผชิญหน้า การปะทะและการตอบโต้กลับเจ้าหน้าที่รัฐโดยวิธีการหรือรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้

งานวิจัยดังกล่าว เสนอให้เห็นภาพว่า[9] กลุ่มม็อบดินแดง ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานชนชั้นล่างสุดของสังคมที่มีต้นทุนติดลบในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวคือ เป็นเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความเปราะบางทางอาชีพและที่อาศัย เป็นเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากการศึกษาในโรงเรียนไม่ตอบสนองต่อการเอาตัวรอดในสังคมและการทำมาหากิน จนต้องออกมาเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ตลอดทั้งยังเป็นเยาวชนที่เคยผ่านประสบการณ์ถูกกระทำ การกดขี่ และการล่วงละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง

ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ เยาวชนลูกหลานชนชั้นกลาง ที่เห็นว่าการเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์และแนวทางสันติวิธีใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ในการจะสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลง และหันไปใช้วิธีการปะทะ เผชิญหน้า และตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐแทน ด้วยความหวังว่าผู้มีอำนาจจะรับฟังและกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้

ดังนั้น ร่างทางสังคมที่เผยออกมาจากการกระทำของผู้ชุมนุมม็อบดินแดง จะเห็นว่า[10] สังคมและรัฐไทยกำลังปล่อยหรือกระทำซ้ำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ทวีความเลวร้ายลงยิ่งกว่าที่ผ่านมาก เพราะเยาวชนม็อบดินแดงได้ให้เหตุผลไปในทางเดียวกันว่า แม้จะอยู่ในฐานะชนชั้นล่างสุด แต่ก็ยังสามารถต่อสู้กับสภาวะความไม่เป็นธรรมให้ยังพอลืมตาอ้าปากได้ ทว่าในช่วงปี 2563 – 2564 การบริหารจัดการนโยบายเกี่ยวกับวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาล ได้ดึงให้พวกเขาต้องกลับลงไปสู่จุดต่ำสุดอีกครั้ง[11] รวมทั้ง การไม่ประนีประนอมและการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐต่อข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปของขบวนการเคลื่อนไหวในปีก่อนหน้า ยังเป็นปัจจัยกระตุ้น ให้เยาวชนตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมได้ง่ายขึ้น[12]

การหันมาใช้วิธีการปะทะ เผชิญหน้า และตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ยังเกี่ยวข้องกับกรณีที่เยาวชนม็อบดินแดงได้ประเมินแล้วว่า การต่อต้านด้วยวิธีการนี้เป็นการอารยะขัดขืนรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ โครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่เป็นธรรมและกดทับให้คนกลุ่มหนึ่งต้องตกอยู่เป็นเบี้ยล่าง ซึ่งต้องถูกขูดรีดและขูดรีดตัวเองอย่างหนัก เพื่อเอาตัวรอด ยังมีส่วนในการกำกับรูปแบบการจัดการความขัดแย้งของคนกลุ่มดังกล่าวให้ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ไม่มีโอกาสในการจัดการ เจรจาต่อรองกับปัญหาที่เผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะผู้มีอำนาจมักจะเพิกเฉย ไม่รับฟังปัญหาหรือข้อเรียกร้อง ส่งผลให้การใช้วิธีการเผชิญหน้า ปะทะ ตอบโต้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยความหวังว่าผู้มีอำนาจจะยอมรับฟัง

ท้ายที่สุด การออกมาเคลื่อนไหวของเยาวชนม็อบดินแดง ได้ชวนให้ตระหนักด้วยว่า รัฐไทย เป็นรัฐที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียม เป็นรัฐที่มักเพิกเฉยต่อปัญหาความอยุติธรรมที่ผูกมากับโครงสร้างทางสังคมที่กลุ่มผู้มีอำนาจได้ประโยชน์ ทั้งยังเป็นรัฐที่พร้อมจะใช้มาตรการความรุนแรงต่อประชาชนได้ตลอดเวลา ไม่มีข้อยกเว้นว่าเป้าหมายจะเป็นใคร จะเป็นเด็กและเยาวชนหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หากกระทำของบุคคลใด ประชาชนกลุ่มใด ได้สร้างความสั่นคลอนต่อสถานะของผู้มีอำนาจ ฝ่ายรัฐที่กุมอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและความรุนแรงไว้ ก็มีความชอบธรรมในการเข้าปราบปรามโดยทันที
.

.
รูปร่างหน้าตาของรัฐและสังคมไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน

บริบทการเมืองร่วมสมัยของรัฐไทย ได้มีเด็กและเยาวชนเป็นเสมือนตัวละครสำคัญในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็น เสนอข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจและรัฐบาล เพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในบ้านเมือง ในแง่ระบอบการเมืองที่เป็นธรรม ทุกคนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย พร้อมกับขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม บนฐานความคิดที่ว่า ปัญหาบ้านเมืองและคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ สามารถถูกแก้ไขได้หาก “การเมืองดี” แต่การกระทำเหล่านั้น ก็ถูกรัฐบาลและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตีความให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และพยายามใช้กฎหมายกดปราบการแสดงความเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเด็กและเยาวชนอย่างเข้มงวด

การพิจารณาถึงการกระทำที่รัฐจัดว่าให้เป็นความผิด ทฤษฎีร่างทางสังคม ได้ชี้ให้ตระหนักว่า การกระทำเหล่านั้นล้วนเกิดจากปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่คอยกระตุ้น บีบคั้น และปลุกเร้าให้บุคคลตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีและถูกปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจากกรณีศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้น ย่อมเห็นว่า การกระทำของเด็กและเยาวชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐในการชุมนุม ได้ถูกกำหนดโดยความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยถูกแก้ไข และยังเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ หากมองแบบผิวเผิน อาจจะเห็นเพียงมุมที่เด็กและเยาวชนเป็นเสมือนตัวการหรือผู้กระทำ แต่ถ้ามองอย่างรอบด้าน โดยไม่ละเลยต่อประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมที่อยู่ในรูปของโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในมิติต่างๆ ระหว่างประชาชนกับรัฐที่ไม่เป็นธรรม ย่อมเห็นว่า ด้านหนึ่ง เด็กและเยาวชน กำลังตกเป็นเหยื่อและถูกกดทับจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่

การใช้กฎหมายกดปราบเด็กและเยาวชน เผยให้เห็นว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่พยายามรักษาเอกภาพทางความคิดที่ต้องการให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีความคิดเหมือนกันอย่างที่รัฐปรารถนาเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง ความเห็นที่แตกต่างจากนั้น อาจสร้างผลสะเทือนต่อความมั่นคงรัฐ แต่อีกด้านหนึ่ง การใช้กฎหมายกดปราบลักษณะดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถเห็นต่างกันได้เป็นเรื่องปกติ พร้อมทั้งยังเป็นตัวนำพาให้รัฐไทยเข้าสู่วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม และอาจบ่มเพาะให้เกิดความรุนแรงในสังคมที่ทวีคูณความเลวร้ายขึ้นไปอีก

สุดท้าย สิ่งที่รัฐไทยพึงต้องกระทำ คือ ต้องยอมให้ความคิดเห็นที่แตกต่างจากฝ่ายผู้มีอำนาจได้มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของเด็กและเยาวชน ในฐานะกลุ่มที่ความชอบธรรมมากที่สุดในการเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงตามกฎของเวลาย่อมเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การฝ่าฝืนย่อมทำให้ร่างทางสังคมไทยต้องตกอยู่ในสภาวะอิหลักอิเหลื่อ วนเวียนอยู่กับที่ จนอาจต้องกลายเป็นรัฐที่ล้าหลังและหลักสิทธิมนุษยชนต้องเสื่อมถอย

สิ่งที่เด็กและเยาวชนจะรับมือกับปัญหานี้ได้ คงเป็นการทำทุกวิถีทางให้ตนได้ออกไปจากประเทศ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในรัฐที่ตอบสนองการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้ ซึ่งตรงนี้ ย่อมสร้างผลเสียและเป็นอันตรายต่อประเทศชาติมากยิ่งกว่า เพราะทรัพยากรสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศอย่างทรัพยากรมนุษย์ได้ขาดหายไป
.
.
อ้างอิงท้ายบทความ

[1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ทั้งเป็น “เหยื่อ” และ “ฆาตกร”: สู่ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยความรุนแรงในสังคมไทย, อาวุธมีชีวิต ?: แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2549), 81 – 114.

[2] เรื่องเดียวกัน, 94.

[3] เรื่องเดียวกัน.

[4] เรื่องเดียวกัน, 105

[5] เรื่องเดียวกัน, 106 – 108.

[6] Johan Galtung, Cultural Violence, Peace by Peaceful Means: Peace and Conflict, Development and Civilization. (Oslo: International Peace Research Institute ,1996), 197 – 198.

[7] “สื่อต่างชาติวิเคราะห์ เนื้อหาการประท้วงของเยาวชนในไทย “ได้ข้ามจุดที่หวนกลับไปไม่ได้แล้ว””, 15 สิงหาคม 2563, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/international-53781952 (สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565)

[8] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์, การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง” ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564, (กรุงเทพฯ: โครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน, 2565)

[9] เรื่องเดียวกัน, 76 – 78.

[10] เรื่องเดียวกัน.

[11] เรื่องเดียวกัน.

[12] เรื่องเดียวกัน.