วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 13, 2565

สุนทรพจน์รับรางวัล IPA Prix Voltaire ประจำปี 2022 จาก ธนาพล อิ๋วสกุล ตัวแทนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน "ผมถือโอกาสนี้มาทำหน้าที่ร้องทุกข์สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ทั่วโลก"


ฟ้าเดียวกัน
16h

สุนทรพจน์รับรางวัล
IPA Prix Voltaire ประจำปี 2022
——————

สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ขอขอบคุณคณะกรรมการเสรีภาพในการตีพิมพ์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ ที่ได้คัดเลือกให้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้รับรางวัล IPA Prix Voltaire ประจำปี 2022 อันทรงเกียรตินี้

ขอขอบคุณเพื่อนร่วมงานสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ได้ร่วมเดินทางกันมาตลอด 20 ปี หลายคนเปลี่ยนเส้นทางไปประกอบวิชาชีพอื่น หลายคนตามมาสมทบ หลายคนยังอยู่บนเส้นทางเดียวกัน แต่สิ่งที่เรายึดเหนี่ยวยังคงเดิม นั่นคือ เสรีภาพและสปิริตของการวิพากษ์วิจารณ์

ผมเชื่อว่าการที่ผมได้มายืนอยู่ ณ ที่นี้เป็นผลมาจากสถานการณ์อันไม่ปกติในประเทศไทย สิ่งที่พวกเราร่วมกันทำในฐานะสื่อมวลชน ไม่ใช่อะไรอื่นเลย แต่คือทำเรื่องอันเป็นปกติในฐานะสื่อ คือเผยให้เห็นปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยในหลากหลายมิติ

ผมถือโอกาสนี้มาทำหน้าที่ร้องทุกข์สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ทั่วโลก

สิ่งที่ท้าทายตั้งแต่ตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมาตั้งแต่ 2 ทศวรรษที่แล้ว คือบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ แต่สภาพการศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยตอนนั้นเปรียบเสมือน “ช้างที่อยู่ในห้อง” (Elephant in the Room) คือทุกคนเห็นว่าเป็นปัญหา แต่แสร้งทำเป็นมองไม่เห็นด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น มีปัญหาอื่นที่สำคัญกว่า ความกลัวมาตรา 112 และมาตรการทางสังคมอื่นๆ

ดังนั้น ภารกิจหนึ่งของเราตั้งแต่ต้นคือการผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับกษัตริย์ศึกษาเชิงวิพากษ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ทางสังคมอื่นๆ เช่น ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

สิ่งที่นำมาสู่หายนะของสื่อไทยที่เป็นรูปธรรมที่สุดคงไม่พ้นการรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 8 ปี ซึ่งนำมาสู่ความตกต่ำอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย

แต่สิ่งที่เลวร้ายไม่ใช่เพียงแค่จำนวนรัฐประหารเท่านั้น ในประเทศไทย การรัฐประหารได้ถูกทำให้เป็นหนึ่งในกลไกทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ต่างจากการเลือกตั้ง

ฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลใช่ไหมครับ ที่การรัฐประหารซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน รวมทั้งมีบทลงโทษถึงประหารชีวิต กลับกลายเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมืองไปได้

แต่ในประเทศไทย คำสั่งของคณะรัฐประหารมีผลเทียบเท่ากับกฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตราบใดที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ออกมายกเลิกคำสั่งคณะรัฐประหาร เราก็ยังจะมีคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไทย

ภายหลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ถวายคืนทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์แก่สถาบันกษัตริย์ ฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์ก่อนปฏิวัติสยาม 2475 กลับมา จนมีคนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าสภาวะ “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

ในฐานะคนทำหนังสือ เราตระหนักดีว่าปัญหาการเมืองไทยไม่ใช่แค่ปัญหานักการเมืองคอร์รัปชั่น ข้าราชการไม่มีประสิทธิภาพ หรือนายทุนจ้องจะเอาเปรียบเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายที่มีผลประโยชน์ส่วนตนที่ต้องรักษาไว้

เราจึงทำหนังสือเพื่อให้สังคมไทยตระหนักว่า เคยมีขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 โดยถืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมเป็นธงนำ, สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่เป็นเพียงสถาบันทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจที่มีผลประโยชน์ของตัวเองที่ต้องรักษา, รัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นเพียงแผนผังทางอำนาจของกลุ่มต่างๆ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสถาบันกษัตริย์ที่มาฉวยใช้แย่งชิงความหมายของรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน, ศิลปินที่บอกว่าเป็นกลางแท้จริงแล้วสมาทานอุดมการณ์ราชาชาตินิยมไปจนถึงกษัตริย์นิยมล้นเกิน (Hyper Royalism) ฯลฯ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือส่วนหนึ่งของผลงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ถึงแม้ว่าสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะโดนโจมตีทั้งจากรัฐบาลและสื่อฝ่ายขวามาโดยตลอด แต่ก็กล่าวได้ว่าเข้มข้นขึ้นในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดปรากฏการณ์พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อตั้งในปี 2561 โดยอดีตผู้ก่อตั้งและเพื่อนร่วมงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

กระแสการตอบรับพรรคอนาคตใหม่สูงยิ่งในการเลือกตั้งทั่วไป จนมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับ 3 แต่พรรคอนาตใหม่ก็มีอายุไม่ถึง 1 ปีหลังเลือกตั้ง กระบวนการนิติสงครามได้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี แต่ทั้งหมดก็มาพร้อมกับการประท้วงของคนรุ่นใหม่แทบจะทันที พวกเขาไม่เพียงโจมตีรัฐบาลประยุทธ์และองค์กรอิสระเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่พวกเขามองว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาการเมืองไทย

กระแสการประท้วงของเยาวชนยุคนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนความไม่พอใจต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมพวกเขาขึ้นมาด้วย กระแส “#ประวัติศาตร์ปลดแอก” ได้ชี้ชวนให้คนกลับไปตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์แบบเดิม และข้อเขียนเชิงวิพากษ์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่กลายเป็นที่นิยมขึ้นมานั้น ก็ทำให้เราต้องเผชิญกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหนักขึ้น มีตั้งแต่การส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจตราการขายหนังสือ การขอหมายค้นเพื่อยึดหนังสือไปตรวจสอบว่ามีข้อความใดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่

กล่าวสำหรับผม ทั้งในฐานะบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและในฐานะปัจเจกชนที่ได้แสดงความเห็นต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากจะโดนกระทำในฐานะสำนักพิมพ์แล้ว ยังมีการออกหมายจับกรณีแสดงความคิดเห็นปกติ รวมทั้งการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทจากทั้งวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร และกลุ่มทุนที่เราเคยวิพากษ์วิจารณ์กันได้เป็นปกติ

หลังจากกลับไปประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ผมต้องไปขึ้นศาลเพื่อประกันตัวคดีที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ฟ้องหมิ่นประมาท ในประเทศไทยโทษหมิ่นประมาทคือโทษทางอาญา และควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า นายชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฎีกา ปัจจุบันได้เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายแล้ว ผมขอถือโอกาสขอบคุณอีกครั้งสำหรับรางวัล IPA Prix Voltaire ประจำปี 2022 ซึ่งถือเป็นเกียรติและเป็นกำลังใจแก่พวกเราในการเดินทางต่อไปบนเส้นทางนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่าเราไม่ได้เดินไปอย่างโดดเดี่ยว

ธนาพล อิ๋วสกุล
ตัวแทนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
11 พฤศจิกายน 2565
จาการ์ตา,อินโดนีเชีย