วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 24, 2565
โห ศาลปิดทางสู้ ? ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในคดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ให้จำเลยชุมนุมปฏิรูปสถาบันฯ ฝ่ายจำเลยยังยืนยันขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารทั้งหมดให้
iLaw
13h
ปิดทางสู้? ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ให้จำเลยชุมนุมปฏิรูปสถาบันฯ
คดีมาตรา 112 จำนวนหนึ่งเป็นคดีที่มีมูลเหตุมาจากการปราศรัยหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้พระราชอำนาจหรือการดำเนินการบางประการของพระมหากษัตริย์ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินและการประทับในต่างแดนหรือการใช้งบประมาณ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือพิสูจน์เจตนาในการกระทำของจำเลยเหล่านั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยเอกสารสำคัญ เช่น เอกสารบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเข้า - ออกประเทศ หรือเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานต่างๆ มาเป็นหลักฐานในการต่อสู้คดี จำเลยในคดีเหล่านั้นจึงร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานต่างๆ มาเข้าสำนวนเพื่อใช้ประกอบในการถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ แต่ปรากฎว่าศาลมักปฏิเสธการออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เหล่านั้นโดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับคดี
คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
ศาลยอมเรียกคำพิพากษาคดีกระทรวงการคลังยึดทรัพย์ร.7 แต่ไม่ยอมเรียกตารางบินร.10กับเอกสารงบสำนักทรัพย์สินฯ
คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เป็นหนึ่งในคดีไฮไลท์ของชุดคดีมาตรา 112 ที่มีมูลเหตุมาจากการชุมนุมในปี 2563 คดีนี้มีจำเลยรวม 22 คน ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในหลายข้อหารวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และในจำนวนนั้นมีเจ็ดคนที่ถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการขึ้นกล่าวปราศรัยถึงปัญหาแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างที่มีการชุมนุม
เนื่องจากจำเลยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ในคดีนี้ ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าการปราศรัยหรือแสดงออกตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการปราศรัยตามข้อเท็จจริงโดยมีเจตนาเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารรวมหกรายการ ได้แก่
1. เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่สิบ ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
2. เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่สิบ ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ บริษัทการบินไทย
3. รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณราชการส่วนพระองค์ ประจำปีงบประมาณ 2560-2563 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ หน่วยราชการในพระองค์
4. รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประจำปีงบประมาณ 2560-2564 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
5. คําเบิกความพยานโจทก์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ฟ้องรัชกาลที่เจ็ดกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ศาลแพ่ง และ
6. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ฟ้องรัชกาลที่เจ็ดกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ศาลอุทธรณ์
เบื้องต้นในการสืบพยานนัดแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ศาลแจ้งทนายจำเลยว่าที่ทนายเคยยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารเข้ามาในสำนวน ศาลมีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า เอกสารเหล่านั้นเป็นเอกสารของหน่วยงานภายนอก และไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ศาลจึงไม่อาจออกหมายเรียกให้ได้ พร้อมแจ้งกับฝ่ายจำเลยว่าการหาพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของจำเลย หลังอัยการถามความพยานปากแรกจนแล้วเสร็จทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลว่าจะขอเลื่อนการพิจารณาคดีในส่วนของการถามค้านพยานปากแรกออกไปก่อนโดยระหว่างนั้นจะพยายามไปขอพยานเอกสารมาเข้าสำนวนเพื่อใช้ในการถามค้านนัดต่อไปซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานออกไปได้ แต่เมื่อทนายความพยายามดำเนินการขอพยานเอกสารโดยไม่มีหมายเรียกพยานเอกสารที่ออกโดยศาลก็ไม่มีหน่วยงานเจ้าของเอกสารหน่วยงานใดส่งมอบเอกสารให้ บางหน่วยงานตอบปฏิเสธกลับมาส่วนบางหน่วยงานไม่ตอบอะไรกลับมา ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารให้อีก ซึ่งศาลก็ยืนยันไม่ออกให้ โดยมีความน่าสนใจว่าครั้งหนึ่งเมื่อทนายจำเลยแจ้งข้อขัดข้องเรื่องการเข้าถึงพยานเอกสารและขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ องค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีเคยแจ้งกับทนายความว่าจะขอนำเรื่องไปหารือกับผู้บริหารศาลอาญาก่อน แต่ต่อมาเมื่อทนายจำเลยไปขอพบผู้บริหารศาลเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าวกลับได้รับคำตอบว่า การออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นอำนาจของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดี ผู้บริหารศาลไม่มีอำนาจดังกล่าว https://tlhr2014.com/archives/48377
ท้ายที่สุดในเดือนมิถุนายน 2565 ศาลอาญายอมออกหมายเรียกพยานเอกสารในส่วนของคำเบิกความพยานและคำพิพากษาคดีที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องรัชกาลที่เจ็ดกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี แต่ยืนยันที่จะไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารอื่นๆที่ขอไปให้ แม้ศาลจะอนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารไปถึงศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์แต่จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ทนายจำเลยยังคงไม่ได้รับเอกสารที่ขอออกหมายเรียกไป ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ศาลอนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารถึงศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์เป็นครั้งแรก ศาลแก้ชื่อบุคคลผู้รับหมายจากที่ทนายเขียนในคำร้องให้ส่งถึงอธิบดีศาลอุทธรณ์และอธิบดีศาลแพ่ง เป็นให้ส่งถึงผู้อำนายการ สำนักอำนวยการประะจำศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ ซึ่งไม่ใช่ผู้มีอำนาจส่งมอบเอกสารดังกล่าว ทำให้เกิดเหตุขัดข้องและทนายจำเลยต้องมาแถลงข้อขัดข้องต่อศาลเพื่อขอให้ออกหมายเรียกใหม่อีกครั้ง
ข้อขัดข้องเรื่องการเข้าถึงพยานเอกสารสำคัญในคดี และการที่ศาลปฏิเสธการออกหมายเรียกพยานเอกสารส่งผลให้ทนายจำเลยจำเป็นต้องแถลงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปโดยตรงสี่ครั้ง ส่วนการเลื่อนสืบพยานโจทก์คดีนี้อีกสามนัด เป็นการเลื่อนนัดสืบพยานที่มีมูลเหตุอื่นเกี่ยวข้องด้วย
คดีการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตยและคดีทำโพลเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ยังต้องลุ้นว่าศาลจะเรียกพยานเอกสารให้หรือไม่
นอกจากคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร คดีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยที่ทนายอานนท์ นำภา เป็นผู้ปราศรัยและเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมครั้งนี้เพียงคนเดียวก็เป็นอีกหนึ่งคดีที่จำเลยประสบปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงพยานหลักฐาน ในตอนหนึ่งของการปราศรัยที่เป็นมูลเหตุแห่งคดี ทนายอานนท์พูดถึงปัญหาของออกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 โดยสนช.ที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนแต่งตั้งที่เป็นการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ทนายอานนท์ขอให้ทนายความของเขายื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในคดีซึ่งมีคำฟ้องและคำพิพากษาคดีแพ่งที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากรัชกาลที่เจ็ดซึ่งเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่จำเลยคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ยื่นขอรวมอยู่ด้วย แต่ในคดีของทนายอานนท์ เมื่อฝ่ายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้ออกหมายหมายเรียกเอกสารครั้งแรก ศาลก็กล่าวในทันทีว่าคงไม่สามารถเรียกพยานเอกสารฉบับนี้ให้กับทนายอานนท์ได้ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าหากศาลไม่เรียกเอกสารมา จำเลยเกรงว่าจะไม่สามารถขอคัดถ่ายเอกสารได้เองเนื่องจากไม่ใช่คู่ความ แต่ศาลยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องไปหาวิธีนำเอกสารมาเอง https://tlhr2014.com/archives/37856
ศาลย้ำกับทนายอานนท์และทนายความของเขาอย่างหนักแน่นหลายครั้งด้วยว่า จะไม่มีการเรียกเอกสารระหว่างศาล (ในกรณีเอกสารคดีกระทรวงการคลังฟ้องรัชกาลที่เจ็ด) มาอย่างแน่นอน เนื่องจากมีช่องทางอื่นที่จำเลยสามารถนำเอกสารมาเข้าสำนวนได้ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งศาลเริ่มสืบพยานคดีนี้ ก่อนเริ่มการสืบพยานในนัดแรกทนายจำเลยแถลงต่อศาลเรื่องที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ ซึ่งศาลตอบทนายจำเลยในข้อนี้ว่า
“ศาลก็อยากออกหมายเรียกให้นะ ถ้าให้ มันก็สามารถเอาไปใช้ได้เรื่อยๆ กับทุกสำนวน แต่ท่านเข้าใจใช่หรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
ในการสืบพยานนัดดังกล่าวทนายอานนท์ในฐานะจำเลยแถลงต่อศาลว่าเขาประสงค์ที่จะขอหารือกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อสอบถามเรื่องเหตุผลที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานจำเลยให้ ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาคดีในนัดแรกให้ https://tlhr2014.com/archives/50207 จากนั้นในการสืบพยานนัดต่อมาศาลให้ทนายอานนท์ยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารเข้ามาใหม่โดยจะต้องระบุให้ชัดว่าเอกสารที่ขอออกหมายเรียกมาจะใช้นำสืบในประเด็นใดบ้าง โดยในระหว่างที่ศาลพิจารณาคำร้องก็ให้สืบพยานไปเลย หากเป็นพยานโจทก์ที่จำเป็นจะต้องสืบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอกสารก็ให้ทนายรอไปถามค้านหลังจากได้เอกสารไปแล้ว แต่หากเป็นพยานโจทก์ปากที่ไม่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่รอการออกหมายเรียกก็ให้ทนายจำเลยสืบพยานไปเลยเพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีล่าช้า คดีของทนายอานนท์จึงยังต้องติดตามต่อไปว่าในที่สุดศาลจะออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ทนายอานนท์หรือไม่
นอกจากคดีของทนายอานนท์แล้ว อีกคดีหนึ่งที่จะต้องจับตาเรื่องการออกหมายเรียกพยานเอกสาร ได้แก่คดีของ "ใบปอ" และ "บุ้ง" นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังที่ถูกดำเนินคดีจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ "เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย” ที่บริเวณสกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสวนจตุจักรเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อถึงวันนัดสืบพยานที่ศาลกำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ศาลจะออกหมายเรียกพยานเอกสารรวมหกรายการ https://tlhr2014.com/archives/50209 ได้แก่
1. ต้นฉบับหรือสำเนาฉบับรับรองถูกต้อง สำนวนคดีทั้งหมดของศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลังโจทก์ กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
2. รายงานการใช้งบประมาณโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ Sirivannavari ซึ่งเอกสารมีอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์
3. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2565
4. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
5. รายการและรายละเอียดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินในพระองค์ และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565 และ
6. งบประมาณของสำนักพระราชวังในปี พ.ศ. 2561 – 2565
มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นโทษ - ไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง พยานเอกสารจึงไม่เกี่ยวข้อง?
แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทรวมอยู่ด้วย แต่ก็มีความต่างในสาระสำคัญเรื่องเหตุยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด ในกรณีของกฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 กำหนดบทยกเว้นความผิดไว้ว่า การแสดงความคิดเห็นที่เป็นไปโดยสุจริต เพื่อการปกป้องตัวเองหรือส่วนได้ส่วนเสีย การแสดงออกในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ การติชมด้วยความสุจริตหรือเป็นธรรม หรือเป็นการแจ้งข่าวการดำเนินการในศาลหรือในการประชุม ให้ถือว่าไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ขณะที่มาตรา 330 ก็กำหนดเหตุยกเว้นโทษไว้ว่า หากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทเป็นเรื่องจริง ผู้ถูกดำเนินคดีก็ไม่ต้องรับโทษ แต่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นส่วนตัวไม่ได้ แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีการกำหนดบทยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้ ศาลจึงอาจเห็นว่าการพิสูจน์ว่าสิ่งที่จำเลยแสดงออกเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นในคดี จึงฏิเสธที่จะออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ อย่างไรก็ตามทนายจำเลยคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ก็โต้แย้งประเด็นนี้ไว้ด้วยเหตุผลสองประการ
ประเด็นแรกแม้มาตรา 112 จะไม่มีบทยกเว้นโทษ แต่ตามรัฐธรรมนูญศาลต้องเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อให้จำเลยได้พิสูจน์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ และประเด็นที่สอง แม้การพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่ต้องคำนึงถึงการพิสูจน์ว่าสิ่งที่จำเลยพูดหรือแสดงออกเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ในคดีนี้นอกจากข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว จำเลยยังถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย ซึ่งองค์ประกอบความผิดของกฎหมายดังกล่าวคือต้องเป็นการกระทำที่ไม่ได้อยู่ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ถ้าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตก็จะไม่มีความผิด การพิสูจน์ความจริงจึงยังมีความจำเป็น และฝ่ายจำเลยยืนยันขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารทั้งหมดให้
อ่านบนเว็บไซต์ https://freedom.ilaw.or.th/node/1154