ชาวบ้าน-นักกิจกรรม-เอ็นจีโอ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามช่วงประชุมเอเปค ไม่น้อยกว่า 58 กรณี
23/11/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
การประชุม #APEC2022 ผ่านพ้นไป ท่ามกลางการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นการแสดงออกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการปิดกั้นการชุมนุมคัดค้านการประชุมของนักกิจกรรมและประชาชน จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุม โดยใช้ความรุนแรงและกวาดจับประชาชนดำเนินคดี นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อนและระหว่างการประชุมเอเปค จากการติดตาม #จับตาละเมิดสิทธิAPEC2022 ยังมีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้เข้าติดตามข้อมูลของประชาชน พยายามห้ามปรามการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมหรือการชุมนุมในช่วงเอเปคอย่างเข้มข้น และในระดับที่ค่อนข้างกว้างขวาง
โดยภาพรวม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานกรณีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม ไม่น้อยกว่า 58 กรณี สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ และ กอ.รมน. ได้เข้าติดตาม หาข้อมูลความเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนในประเด็นด้านฐานทรัพยากร โดยเฉพาะเครือข่ายสมัชชาคนจน, พีมูฟ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งมีรายงานการติดตามจับตากลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเคย
จังหวัดที่มีรายงานการคุกคามมีไม่น้อยกว่า 22 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ, ปทุมธานี, ลพบุรี, พัทลุง, ตรัง, ชุมพร, ภูเก็ต, นราธิวาส, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, สุโขทัย, นครสวรรค์, ลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่, แพร่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, ตาก, สกลนคร, หนองบัวลำภู, อุบลราชธานี
สำหรับรูปแบบการคุกคาม มีทั้งระดับที่เป็นการโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว สถานที่อยู่ และสอบถามเกี่ยวกับการแสดงออกช่วงเอเปค รวมถึงเตือนไม่ให้ออกไปทำกิจกรรม ระดับการไปติดตามถึงบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว เพื่อสอบถามและถ่ายรูปทำรายงาน ระดับการไปเข้าตรวจค้นบ้านหรือพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการจัดทำป้ายหรืออุปกรณ์การแสดงออก โดยไม่มีหมายค้น ไปจนถึงระดับการถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัว หรือเข้าควบคุมไปสอบสวนโดยไม่มีหมายจับแต่อย่างใด
สถิติดังกล่าวเป็นข้อมูลเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานและติดตามสถานการณ์พบเท่านั้น คาดว่ามีผู้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าคุกคามและติดตามความเคลื่อนไหวจำนวนมากกว่าตัวเลขนี้ เนื่องจากพบรูปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการจัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มที่เฝ้าระวังจับตาการเคลื่อนไหวในแต่ละจังหวัด และเข้าติดตามข้อมูลตามรายชื่อดังกล่าว ทำให้คาดได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างกว้างขวาง
ภาพโพสต์รายงานการคุกคามของเพจเหมืองแร่สกลนคร
สถานการณ์ติดตามคุกคามเริ่มมีรายงานตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม
สถานการณ์การคุกคามเกี่ยวกับการประชุมเอเปค เริ่มมีรายงานตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 โดยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ในจังหวัดพิษณุโลก มีอดีตสมาชิกกลุ่ม NU-movement อย่างน้อย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรสอบถามข้อมูลว่าได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ หรือจะมีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการประชุมเอเปคหรือไม่ บางรายยังถูกเจ้าหน้าที่ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้ไปร่วมเคลื่อนไหว อ้างว่าเป็นการประชุมที่เป็นหน้าตาของประเทศด้วย
ขณะที่ผู้ถูกคุกคามรายหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่โทรไปสอบถามข้อมูลถึงที่ทำงาน ทำให้ที่ทำงานต้องตักเตือนให้พนักงานระมัดระวังการแสดงความเห็นทางการเมือง สร้างความรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่คุกคามอย่างมาก ส่วนอีกรายถูกโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากบุคคลในครอบครัว นอกจากนั้น ยังมีนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมในจังหวัดพิษณุโลกอีกรายหนึ่ง ถูกตำรวจเข้าสอบถามข้อมูลส่วนตัวถึงหอพักด้วย
ช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์สอบถามชาติชาย ธรรมโม ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ ต่อมายังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าติดตามหาตัวถึงที่ทำงานอีกด้วย รวมทั้งยังมีกรณีของสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในจังหวัดลำพูนถูกตำรวจไปติดตามถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามข้อมูลและถ่ายรูปรายงานการเคลื่อนไหว อีก 2 ราย
ด้านภาคอีสาน ที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 มีรายงานกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ได้ถูกตำรวจสันติบาลเรียกไปพูดคุยที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในช่วงหัวค่ำ แจ้งว่า “ส่วนกลาง” ให้มาติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหว โดยมีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีความ และความเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่โปรแตซในพื้นที่ แม้ไม่ได้สอบถามเกี่ยวกับการประชุมเอเปคโดยตรง แต่ก็คาดเดาว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การประชุมระดับประเทศดังกล่าว
ภาพเจ้าหน้าที่เข้าติดตามแกนนำเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง
ยิ่งใกล้ประชุมเอเปค เครือข่ายชาวบ้านถูกติดตามหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
สถานการณ์การติดตามประชาชนยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วง 1 อาทิตย์ก่อนการประชุมเอเปค ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 19 พ.ย. ที่การประชุมเสร็จสิ้น มีรายงานกลุ่มประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ไปร่วมชุมนุม หรือมีแผนจะไปแสดงออกคัดค้านการประชุมใดๆ ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ก็ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น
ในพื้นที่ภาคเหนือ เครือข่ายของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ได้ถูกตำรวจโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว สอบถามที่อยู่ หรีอติดตามไปสอบถามข้อมูลถึงบ้าน ในแทบทุกจังหวัด
พชร คำชำนาญ จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และภาคี #Saveบางกลอย ระบุว่ามีตำรวจทั้งโทรศัพท์มาหา และไปตามหาตัวเขาที่สำนักงานในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงที่เขาเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่มีระบุถึงข้อมูลการบินในช่วงที่ผ่านมาของเขาทั้งหมด และสอบถามทำนองว่าทำไมเขาถึงเดินทางบ่อย จนเขาตั้งข้อสงสัยว่าทางเจ้าหน้าที่เช็คข้อมูลการเดินทางของเขาทั้งหมดได้อย่างไร ละเมิดความเป็นส่วนตัวเกินขอบเขตอำนาจหรือไม่
ขณะที่สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ได้ถูกตำรวจติดตามเข้าแจ้งว่าผู้บังคับบัญชาอยากพูดคุยด้วย ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมากดดันประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ไปร่วมชุมนุมที่การประชุมเอเปค หากไปจะดำเนินการจับกุมอีกด้วย
พินิจ ทองคำ นักศึกษากลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ระบุว่าเขาถูกตำรวจในจังหวัดลำปางติดตามความเคลื่อนไหวโดยตลอด โดยระหว่างเขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำภารกิจในช่วงอาทิตย์ที่มีการประชุมเอเปค ก็ได้ถูกตำรวจขอมานั่งรถไปด้วย และขอถ่ายรูปก่อนเดินทางอีกด้วย
นักกิจกรรมหลายคน รวมทั้งคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้ถูกตำรวจติดตามให้ไปแสดงตัวหรือขอพูดคุยด้วยที่ร้านกาแฟในช่วงก่อนการประชุมเอเปค โดยมีการสอบถามการไปชุมนุมในช่วงเอเปค และขอถ่ายรูปเพื่อนำไปจัดทำรายงานด้วย
ภาพเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปรายงานความเคลื่อนไหวของฮะฟิส ยะโกะ
ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ ประสิทธิ์ หนูนวล นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ หลายหน่วยงาน ทั้งโทรศัพท์สอบถาม และมาหาที่บ้านอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนการประชุม ทั้งที่เขามีอาการป่วยอยู่ที่บ้าน โดยพบว่าไม่มีการประสานข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานอีกด้วย ทำให้เกิดการติดตามซ้ำๆ จากหลายหน่วย
ฮาฟิส ยะโกะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ก็ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสอบถามข้อมูลและถ่ายรูปที่บ้านในจังหวัดนราธิวาส เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวแทบทุกวันในช่วงการประชุมเอเปค
เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพัทลุงอีกรายหนึ่ง ที่เรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดิน ได้ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย ไปหาถึงบ้าน โดยมีการพูดคุยสอบถามความเคลื่อนไหวในช่วงการประชุมเอเปคเช่นกัน
ขณะเดียวกัน แกนนำชาวบ้านในเครือข่ายสมัชชาคนจนในหลายจังหวัดยังได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตาม ทั้งชาวบ้านที่เขื่อนปากมูน, ชาวบ้านในจังหวัดพัทลุง ลพบุรี และแพร่ โดยสถานการณ์ยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงก่อนการประชุมไม่กี่วัน พบความพยายามเข้าสอบถามความเคลื่อนไหวในการไปชุมนุมในช่วงเอเปค สอบถามว่าจะมีการไปยื่นหนังสือหรือไม่ รวมทั้งสอบถามข้อมูลการเดินทาง ทั้งของชาวบ้านที่นครสวรรค์ ชุมพร ตรัง โดยแกนนำชาวบ้านบางรายถูกติดต่อโทรหาหลายครั้ง จนสร้างความรำคาญในชีวิตประจำวัน
ภาพเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยเข้าติดตามความเคลื่อนไหวแม่สมปอง เวียงจันทร์ ชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูน
สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ประณามการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ
เข้าตรวจค้นนักกิจกรรมเขียนป้ายผ้า-จับกุมไม่มีหมายกลุ่มนักศึกษามุสลิม
นอกจากการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล เจ้าหน้าที่ยังจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรม โดยพยายามเข้าตรวจดูการจัดทำป้ายหรือเตรียมการแสดงออก โดยกรณีนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ได้มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย พยายามเข้าขอตรวจค้นพื้นที่ที่มีกลุ่มนักกิจกรรมเขียนป้ายรณรงค์ทางสังคมอยู่ โดยตอนแรกมีการอ้างว่าติดตามคนร้ายหลบหนีมา แต่หลังการพูดคุย ก็พบว่าไม่ใช่เรื่องดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายค้นใดๆ ทำให้หลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ได้เดินทางกลับไป
กรณี “แก๊ป” นักกิจกรรมกลุ่ม 14 ขุนพลคนของราษฎร ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านที่หน้าบ้านในช่วงก่อนการประชุมเอเปค และวันที่ 14 พ.ย. 2565 ยังได้มีตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 4 เข้าไปตรวจค้นถึงบ้านของเขา ก่อนตรวจยึดป้ายผ้าที่เขาเขียนข้อความ “Anti Chinazi” โดยทางตำรวจอ้างว่าข้อความกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมมีการข่มขู่ว่าถ้าไม่ให้ยึดป้าย จะทำการเช็คกล้องวงจรปิดว่าเขาเคยไปทำกิจกรรมที่ไหนบ้าง ทำให้เขาต้องยอมให้ยึดป้ายไป ทางตำรวจยังให้แก๊ปไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้ที่สถานีตำรวจด้วย
ภาพตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของ “แก๊ป” กลุ่ม 14 ขุนพลคนของราษฎร
ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีของสามนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นห้องพักและควบคุมตัวในช่วงเช้าวันที่ 16 พ.ย. 2565 แม้จะมีหมายค้น แต่ก็ไม่ได้ตรวจค้นพบสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ได้มีหมายจับแต่อย่างใด ทั้งสามคนถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สน.หัวหมาก โดยเจ้าหน้าที่ให้ข่าวอ้างสาเหตุว่ามีข้อมูลเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบในช่วงการประชุมเอเปค เจ้าหน้าที่ยังมีการยึดอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของทั้งสามไปตรวจสอบด้วย โดยไม่ได้มีหมายศาลที่ชัดเจนในการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล ก่อนจะปล่อยตัวทั้งสามโดยไม่มีการแจ้งข้อหา
ภาพเจ้าหน้าที่ขึ้นตรวจดูขบวนรถไฟของกลุ่มนักกิจกรรมภาคเหนือ พร้อมถ่ายภาพรายบุคคล
สกัด-ตรวจสอบผู้เข้าร่วมชุมนุมค้านเอเปคใกล้ชิด
ในส่วนนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรคัดค้านAPEC2022 ยังเผชิญกับการพยายามสกัดกั้น และการติดตามในระหว่างการเดินทาง อาทิ ขบวนของนักกิจกรรมภาคเหนือ ที่เดินทางโดยรถไฟเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด และมีการเข้าตรวจดู รวมทั้งไล่ถ่ายรูปรายบุคคลในระหว่างการเดินทางด้วย
ทางภาคอีสาน ขบวนนักกิจกรรมกลุ่มราษฎรโขงชีมูนได้ถูกตำรวจเข้าสกัดรถเช่าที่เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ ตลอดทาง ตามด่านตรวจต่างๆ มีการขอตรวจบัตรประชาชน และถ่ายภาพผู้ที่เดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างไปถึงการตรวจยาเสพติด และอาวุธ รวมทั้งยังมีการขอตรวจค้นสัมภาระผู้เดินทางด้วยบริเวณด่านตรวจในจังหวัดนครราชสีมา
ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าคนขับรถตุ๊กตุ๊กในกรุงเทพฯ ที่ให้นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าใช้ทำกิจกรรม #ไล่ประยุทธ์หยุดทุนผูกขาด ได้ถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบถามข้อมูลที่สถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายเรียกใดๆ ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีรายงานหนึ่งในผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 18 พ.ย. 2565 หลังได้รับการประกันตัว ได้ถูกบุคคลต้องสงสัย พยายามติดตามระหว่างการเดินทางกลับบ้านด้วย