วันเสาร์, พฤศจิกายน 26, 2565

ช่วยตรีนุชกันหน่อย หาหนังสือ แนะแบบเรียนวิชาใหม่ ‘ประวัติศาสตร์’ รักชาติ รักความเป็นไทย



แห่ช่วยตรีนุชหาหนังสือ แนะแบบเรียนวิชาใหม่ ‘ประวัติศาสตร์’ รักชาติ รักความเป็นไทย

25 พฤศจิกายน 2565
มติชนออนไลน์

‘ครูจุ๊ย’ เปิดแคมเปญ ช่วยตรีนุชหาหนังสือ แบบเรียนวิชาใหม่ ปวศ.เพื่อบ่มเพาะ รักความเป็นไทย ด้าน ดร.ประจักษ์ เสนอ 3 เล่ม

จากกรณีที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมออกประกาศกระทรวงให้แยก วิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกจาก กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมตาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้มอบหมาย เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษาสืบสานต่อยอด และนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบันนั้น

ล่าสุด ( 25 พ.ย.) น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย สมาชิกคณะก้าวหน้า อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้ติดแฮชแท็ก เริ่มแคมแปญ #ช่วยตรีนุชหาหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อหาหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ที่เหมาะสมสำหรับการแยกวิชาดังกล่าวตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังออกประกาศ

โดย ครูจุ๊ย เสนอ ประเดิมเสนอหนังสือเล่มแรก “6 ตุลา จำไม่ได้ ลืมไม่ลง” โดย ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

“วันนี้ รมว.ตรีนุช จะปรับแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเทียบเท่ากลุ่มสาระ แต่เวลาเรียนเท่าเดิม เพื่อให้นักเรียนรักชาติ หวงแหนวัฒนธรรมไทย

“เอาล่ะ เห็นความพยายาม เลยขอ ช่วยตรีนุชหาหนังสือเรียนประวัติศาสตร์

เล่มแรกต้องอ่านเล่มนี้ ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ที่มีคนอยู่ในนั้นจริงๆ

มาช่วยกันค่ะ”


ขณะที่ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทวิตข่าวดังกล่าว พร้อมระบุว่า “แนะนำกระทรวงศึกษา บรรจุหนังสือ 3 เล่มนี้ สำหรับวิชาประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง”

โดยเสนอ 3 เล่มที่ รศ.ดร.ประจักษ์ เสนอ ประกอบด้วย

เล่มแรก “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” โดย คริส เบเคอร์ นักประวัติศาสตร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย

เล่มที่สอง “พลเมือง กับ สังคมประชาธิปไตย” โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

เล่ที่สาม “สิทธิมนุษยชน : ความรู้ฉบับพกพา” โดย แอนดรูว์ แคลปแฮม ศาสตร์ย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ Graduate Institute of International and Development Studies มี ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล และ สุนีย์ สกาวรัตน์ แปล