วันศุกร์, พฤศจิกายน 25, 2565

รัฐไทย ปราบปรามประชาชนเหี้ยมโหด ไม่เปลี่ยนแปลง

 


ธิดา โตจิราการ
2d

แลไปข้างหน้ากับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.104
ประเด็น : การปราบปรามประชาชนที่เหี้ยมโหด...ไม่เปลี่ยนแปลง!
[ใช้ความรุนแรงในระดับสูงสุด]
[ใช้ทั้งกฎหมาย – อาวุธ และวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม]
.
สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันก็มาคุยในรายการแลไปข้างหน้านี่นะคะ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ดิฉันอยากจะพูดในประเด็นที่ว่า
.
การปราบปรามประชาชนที่เหี้ยมโหด...ไม่เปลี่ยนแปลง! ฟังชื่อเหมือนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยนะคะ “แนวรบที่ไม่เปลี่ยนแปลง” สังคมไทยดิฉันดูว่าก็คล้ายกันก็เหมือนแนวรบที่ไม่เปลี่ยนแปลง แนวรบของกลุ่มเผด็จการจารีตนิยมที่กระทำต่อประชาชน ซึ่งใช้ความรุนแรงในระดับสูงสุด!
.
ความรุนแรงในระดับสูงสุด หมายถึง ใช้อุปกรณ์อาวุธในระดับสูงสุดในแต่ละเหตุการณ์เท่าที่จะทำได้ โดยไม่ได้นำพาว่าจะมีผลความเสียหายขนาดไหน อีกอันหนึ่งก็คือใช้กฎหมาย นั่นก็คือใช้ทั้งกฎหมายและอาวุธ แต่ดิฉันอยากจะเพิ่มประการที่สามก็คือใช้วัฒนธรรม “นาย-บ่าว” วัฒนธรรมแบบนาย-บ่าวแบบในระบบศักดินา ก็คือนายสั่งมาข้าต้องทำ ต้องทำให้ได้ด้วยไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้มีความผิดชอบชั่วดี ในวินาทีนั้นกฎหมายก็อาจจะยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำ เพราะว่าไม่ว่าจะทำอะไรนายก็ดูแลได้ และมันก็เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยเราจะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ 14ตุลา16, 6ตุลา19, พฤษภา35, เมษา-พฤษภา52 โดยเฉพาะ 53
.
แล้วก็เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 63-64-65 คือที่เพิ่งเกิดในวันที่ 18 พฤศจิกายน 65 มิใยว่าในการกระทำในปี 63, 64 มีการฟ้องร้องศาลแพ่ง แล้วก็มีคำสั่งศาลประมาณว่าให้ทำด้วยความระมัดระวังอะไรก็ตาม แต่สิ่งทีเกิดขึ้นก็คือยังไม่เปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับสถานการณ์แบบสงครามที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือผู้ใช้อำนาจก็ยังเป็นแบบเดิม ผู้ถูกกระทำก็คือประชาชนที่ต่อต้านการใช้อำนาจรัฐแบบเผด็จการจารีตนิยมก็ยังเป็นฝักฝ่ายที่ถูกกระทำไม่เปลี่ยนแปลงและวิธีการที่กระทำก็ไม่เปลี่ยนแปลงด้วย นี่เป็นสิ่งที่น่าอนาถที่เกิดขึ้น
.
อย่างในกรณีของเหตุการณ์ที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็มีผู้สูญเสียก็คือเสียดวงตาคือคุณพายุ แล้วก็มีผู้บาดเจ็บอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วก็ผู้ถูกจับ 25 คน นอกจากประชาชนก็มีผู้สื่อข่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวของ “The MATTER” แล้วก็ของ “รอยเตอร์” แล้วก็ผู้สื่อข่าวพลเมืองของ “The Isaan Record เพราะฉะนั้นไม่แต่เพียงย่ามใจในการปราบปรามประชาชน แต่ยังยกระดับก็คือจัดการกับผู้สื่อข่าวด้วย ซึ่งในอดีตการจะเกิดปัญหากับผู้สื่อข่าวมีน้อย แต่มันก็ถามว่าเคยเกิดขึ้นไหม? ก็มี ยกตัวอย่างเช่น อย่างในกรณีปี 2553
.
ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 18 พฤศจิกายน ในปี 2565 ที่ถนนดินสอ ทำให้ดิฉันรำลึกไปถึง 10 เมษายน ถนนดินสอเหมือนกัน แต่คนละฟากถนนราชดำเนิน ในปี 2553 ซึ่งครั้งนั้นก็ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นที่ถูกยิงกระสุนจริงเสียชีวิต ครั้งนี้ยังไม่ปรากฏการใช้กระสุนจริง แต่มีการใช้กระสุนยาง ซึ่งทำให้เกิดบาดเจ็บเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ว่าในกรณีปี 2553 นั้นใช้กระสุนจริง!
.
ดิฉันยังจะไม่เท้าความถึงรายละเอียด เอาเป็นข้อมูลนะคะ ในข้อมูลจากเพจ “ยูดีดีนิวส์ – UDD news” ที่พูดถึงการฟ้องร้องโดย “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” คือเอาว่าไม่ต้องเท้าความไปไกล เอาว่าในช่วงปี 63-64 เอาเฉพาะกรณีปัญหาการใช้กระสุนยาง ก็มีการรวบรวมเอาไว้ว่า
.
“มีผู้ชุมนุมจากปี 2563 ที่ผ่านมา หน่วยคฝ. ก็ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง นับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน (ไม่ต้องถอยหลังไปถึง 10 ปี) มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางเท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และ Mob Data Thailand จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25 ราย โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1 ราย นอกจากนี้ยังมีเยาวชนที่บาดเจ็บจากกระสุนยาง โดยมีอย่างน้อย 5 รายที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็น (คือตาบอด) จากการใช้กระสุนยางจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. จำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาแต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย”
.
คำถามก็คือว่า ไม่เปลี่ยนแปลง! เคยทำ 2563, 2564 เขาฟ้องร้อง ไม่สนใจ! คำถามก็คือว่าเมื่อมีการฟ้องร้องและมีการร้องเรียนต่อตุลาการและผู้บังคับบัญชาในปัญหาการใช้ความรุนแรง แต่ปรากฏว่ามันก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม มีแต่การบอกว่าให้ประชาชนระมัดระวังและทำตามกฎหมาย แต่ในฝั่งของตำรวจไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครถูกฟ้องร้อง ไม่มีใครถูกลงโทษ อันนี้จาก 2563 มานะ! ไม่ต้องพูดว่าจากปี 2553
.
จากปี 2553 มาจนปัจจุบัน 2565 ผ่านมา 12 ปี ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการกระทำในการสลายการชุมนุม ทำให้คนบาดเจ็บล้มตาย ตัวเลขตายซึ่งบางส่วนก็ตายในเวลานั้นทันทีและมาตายทีหลังประมาณ 100 ราย แต่ที่รวบรวมไว้ประมาณ 99 ราย และก็มีบาดเจ็บนับพัน ถามว่ามีใครต้องรับผิดชอบ? นักการเมืองก็ถูกอุ้มโดย ป.ป.ช. นายทหารผู้ใหญ่ 3ป นี่เต็ม ๆ เลย ไปไม่ถึงค่ะ และถามว่ากระทั่งนายทหารชั้นผู้น้อยก็ยังถูก “ยกฟ้อง” อันนั้นในกรณีนั้นเป็นกรณีทหาร ยิ่งง่าย! การกระทำของทหาร ขึ้นศาลทหาร “ยกฟ้อง” หมด ดังนั้น เรากำลังพิจารณาว่าจะมีข้อเรียกร้องว่า “ทหาร” ถ้ากระทำต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน
.
แต่ในกรณีนี้เป็น “ตำรวจ” คำถามว่าได้มีความพยายามจะฟ้องร้อง และนี่ก็คงจะต้องมีการฟ้องร้องอีก ขึ้นศาลพลเรือนนะคะ แต่ “ทหาร” ถ้ากระทำต่อพลเรือน ก็ควรขึ้นศาลพลเรือนเหมือนกัน ดังเหตุการณ์ในกรณี 6ตุลา19 ดิฉันอยู่ในเหตุการณ์นั้นและจำได้ว่าในการขึ้นศาล เมื่อมีการสืบ มีการตอบคำถาม มีการซักของทนาย พอมันจะใกล้ให้ความจริงปรากฏมากขึ้น มันมีการเปิดเผยต่าง ๆ มากขึ้น สุดท้ายนิรโทษสองฝ่าย นั่นเป็นกรณีที่ “ตำรวจ” ขึ้นศาลพลเรือน ดังนั้นการนิรโทษสองฝ่ายใน 2516, ใน 2519 มันก็ทำให้ดูเงียบ ๆ กันไป แน่นอนผู้ถูกกระทำที่ติดคุกก็อาจจะรับกรรมน้อยลง ยกตัวอย่างเช่นแกนนำก็ติดคุกไปก่อนแล้วประมาณ 2 ปี แต่ว่าคดีความพองวดเข้า ๆ ก็ได้รับการนิรโทษสองฝ่ายเมื่อ 6ตุลา เมื่อพฤษภา35 ก็เช่นกัน
.
และแม้กระทั่งตอนนี้จาก 2563 มาถึงบัดนี้ก็ไม่เห็นตำรวจจะต้องรับผิดชอบใด ๆ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันจึงตอบคำถามว่า ทำไมพฤติกรรมมันจึงเกิดซ้ำซาก ทำไมถึงได้ “ย่ามใจ” กระทำต่อประชาชนโดยไม่เปลี่ยนแปลง และนอกจากกระทำต่อประชาชน อย่างคุณพายุ ซึ่งในขณะนี้ก็คงเป็นที่แน่นอนว่าต้องเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง แต่ดังที่ดิฉันได้บอกมาแล้วว่า การใช้กระสุนยางเป็นการใช้แบบไม่รับผิดชอบเลย ซึ่งขัดกับหลักการทางสากลในการใช้ปืนกระสุนยาง ซึ่งเขาจะยิงในส่วนข้างล่างเท่านั้น เพราะว่ามันเสี่ยง และโดยเฉพาะไม่ให้ยิงในระยะใกล้
.
แล้วปรากฏว่าเมื่อเกิดคำถาม ฝ่ายรัฐบาลมีการโวยวายว่านักข่าวที่เอาภาพมานั้นไปเอาภาพเก่ามา ซึ่งไม่จริง ไม่ว่าภาพเก่าหรือภาพใหม่มันก็เหมือนกัน เพราะพวกคุณไม่เคยเปลี่ยนแปลง คุณก็ประทับยิงตรง ๆ นั่นแหละ ไม่ได้สนใจว่ามันจะไปเข้าที่ไหน? ยิงถูกหัว ยิงถูกอก ยิงถูกท้อง เข้าตา หรืออะไร ก็อย่างที่เขาพูดว่า “กูนี่แหละของจริง” ประมาณว่า ขอโทษพูดภาษาพ่อขุนราม “พวกมึงน่ะของเล่น พวกกูนี่แหละของจริง” มันก็คือประมาณอย่างนั้น พวกกูของจริงแล้วไม่เคยต้องมีการรับผิด ไม่ต้องถูกลงโทษใด ๆ มันก็อาจจะเข้าใจได้ว่าถ้าลูกน้องถูกลงโทษ ต่อไปนายก็สั่งยาก..หรือเปล่า? อันนี้นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายง่าย ๆ ว่าทำไมถึงทำซ้ำซาก เพราะไม่เคยต้องรับผิด
.
แต่ว่าในส่วนทีเพิ่มเติมมาจากเดิมก็คือ การที่ทำความผิดต่อนักข่าว ซึ่งในกรณีนี้อย่างของ Isaan Record เขาก็พูดถึงนักข่าวเขาเป็นนักข่าวอาสา เขาใช้คำว่านักข่าวพลเมือง ก็คือคุณวรัญญู คงสถิตธรรม ก็คือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าทำร้ายนายวรัญญูและเพื่อนักข่าวอีกหลายสำนักข่าวจนได้รับบาดเจ็บ แล้วก็ถูกจับด้วยนะ
.
อีกคนหนึ่ง “Chalinee Thirasupa” ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ อันนี้ก็บาดเจ็บที่ตา “ที่เห็นคือเลือดออกใต้เยื่อบุตา เส้นเลือดฝอยระหว่างเยื่อบุตาและตาขาวฉีกขาด เพราะแรงกระแทกของขวดแก้วที่ขว้างจากแนวหลัง คฝ. หมอบอกให้ปล่อยมันซึมออกไปเอง หยุดกิจกรรมที่กระแทกเพรากระตุ้นให้ไหลอีก” อันนี้เป็นวัสดุ “แก้ว”
จากเฟซบุ๊ก Baramee Chaiyarat “เปา” ถูกเตะเข้าหว่างขาล้มลง แล้วถูกจ่อยิงที่ท้องหลังจากล้มลง คำถามคือ การยิงคนที่ล้มลงแล้ว นี่คือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือ?
.
คุณปฏิภัทร ที่ถ่ายภาพการยิงแล้วก็ถูกวิจารณ์ว่าไปเอาภาพเก่า เดี๋ยวเราก็จะเห็นได้ในคลิปก็คือทั้งภาพเก่าหรือใหม่มันก็ท่าเดียวกัน “ประทับยิง” แล้วก็เห็นไฟวาบมาจากปากกระบอกปืน เพราะว่าภาพเมื่อ 1 สิงหาคม 2564 ก็เป็นภาพจ่อยิงที่ คฝ. ยิงไปที่ผู้ชุมนุม แล้วพอมา 2565 ก็จ่อยิงเหมือนกัน แล้วทางตำรวจก็อ้างว่าไปเอาภาพเก่า ขอโทษ! มันก็จะมีอีก 2566, 2567, 2568 ก็เป็นภาพของการใช้อาวุธแล้วก็มีปืนเป็นประกายไฟออกมา แสดงให้เห็นก็เป็นท่ายิงตรงหรือประทับบ่ายิง อันนี้เรียกว่าคุกคามนักข่าวด้วย แล้วทางตำรวจเองก็มาโวยวายว่า นักข่าวมันเยอะ ทำไมนักข่าวมาอยู่ข้างหน้า เขาก็ต้องการได้ภาพที่ดี แล้วทำไมบางคนก็อ้างว่าเป็นยูทูปเบอร์มาตั้งสำนักข่าวเอง!
.
อย่างไรก็ตาม นักข่าวที่ถูกกระทำเหล่านี้เขามีปลอกแขนชัด เขามีเครื่องหมายชัด นี่เป็นนักข่าวของสำนักข่าวดังทั้งนั้นเลย แม้เขาจะเป็นนักข่าวออนไลน์ก็ตาม แต่สำนักข่าวออนไลน์ ขณะนี้มันเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น บางคนก็ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ “ยูดีดีนิวส์” ก็ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ตลอดเวลา ก็โชคดีที่ไม่ถูกกระทำ แต่เราก็ต้องเป็นปากเสียงให้กับสำนักข่าวอื่นและผู้สื่อข่าวอิสระที่ถูกกระทำ เขามีสิทธิ์ พวกคุณ “ตำรวจ, ทหาร” ต่างหากไม่มีสิทธิ์ รัฐไทยเป็นรัฐที่อยู่ในสหประชาชาติ ไปเซ็นรับรองอะไรทุกอย่างไว้แล้ว แต่ไม่ทำ! อย่างกระสุนยางคุณทำแบบนั้นมันไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขาก็ใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะซึ่งไม่ต้องขออนุญาตนะคะ แจ้งให้ทราบ เขาก็แจ้งว่าเขาอยู่ที่ตรงลานคนเมือง แล้วจากลานคนเมืองเขาก็จะขยับออกมาเพื่อไปยื่นจดหมายให้กับทางเวทีเอเปค เขาก็บอกชัด แล้วเขาก็เลือกเดินง่าย ๆ มาทางถนนดินสอ
.
อย่างที่ดิฉันได้บอกไปแล้วว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” คนเหล่านี้ใช้เงื่อนไขความรุนแรงสูงสุด! เพราะคุณต้องเปรียบเทียบนะว่าถนนดินสอมันแคบ ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันแคบ และมันเป็นการควบคุมที่ง่ายมาก แล้วถ้าคุณเปรียบเทียบกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็ไม่มาก นักข่าวก็อาจจะมากสักหน่อย แปลว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ไม่คับขันใด ๆ ไม่มีอะไรเสี่ยงภัยเลย ศูนย์ประชุมก็อยู่ไกลโน่น ตรงนี้อยู่ห่างมาก แต่อาจจะมีกระแสว่าตอนเย็นอาจจะมีการใช้ถนนราชดำเนิน ซึ่งที่จริงถ้าคุณให้เวลาและเกรงว่าอาจจะมีปัญหา ก็ให้เขาเดินไปเลย บอกเลยว่าผมให้คุณ 1 ชม. เดินให้พ้นถนนราชดำเนิน แล้วก็ไปว่ากันข้างหน้า ตามหลักเขามีสิทธิ์ เขาก็แจ้งล่วงหน้าแล้วว่าเขาจะไป แต่ถ้าไปตรงไหนแล้วคุณคิดว่ามันจะไปคุกคามการประชุมหรือมีอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด คุณก็สามารถคุยกันได้ แต่เท่าที่ดิฉันดูในเฟซบุ๊กไลฟ์วันนั้น ดิฉันไม่เห็นผู้บังคับบัญชาที่เป็นนายตำรวจระดับสูงอยู่ตรงนั้นเลย มันต้องเจรจาคุยกัน มันไม่ใช่ให้ลูกน้องที่ออกมาบอกว่า “กูนี่แหละของจริง” แล้วนายอยู่ไหนล่ะ? เขากล้าพูดอย่างนั้นได้ตรงนั้น แปลว่าตรงนั้นไม่มีนายอยู่ แต่ว่าพวกกูของจริงทั้งนั้น ประมาณว่าอย่างนั้น
.
เมื่อเราคำนึงถึงกติกาสากลในการชุมนุมและการสลายชุมนุม ประเทศไทยผิดหมดมาตั้งแต่ต้น ดิฉันไม่อยากจะย้อนไปว่าเราไปรับรองสนธิสัญญาที่ไหน ๆ เมื่อไหร่ แต่เราไม่เคยสนใจ สนใจเวทีระหว่างประเทศก็คือให้ได้หน้าได้ตา ถ้าเขามาก็นี่ไงเขายอมรับผม เขาถึงมาประเทศไทย ดังนั้นพวกเอ็งอย่าได้หือหรืออะไรประมาณนั้น แต่ไม่รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันไม่ใช่คุยกันตามมารยาท แต่มันเป็นการนับถือด้วยจริงใจ การนับถือด้วยจริงใจนั่นก็คือผู้นำชอบธรรม มาอย่างชอบธรรมและปกครองอย่างชอบธรรม คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ กติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการชุมนุมและการสลายการชุมนม
.
โดยปกติดังที่ดิฉันได้บอก ในอดีตใช้อาวุธจริงด้วย เช่นใน 6ตุลา19 หรือในกรณีพฤษภา53 ซึ่งคุณทำไม่ได้ คุณจะยิงคนที่เขาไม่มีอาวุธ ต่อให้เขาเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยิงไม่ได้ เขาไม่มีอาวุธ เขามือเปล่า แต่ถามว่าทำไมถึงกล้ายิง ขนาดพวกกันเองเอามือตบหัวว่าเฮ้ยอย่ายิง ยังยิงเปรี้ยง ๆ เลย ถามว่าเพราะอะไร เพราะในเชิงความคิดก็คือ กูนี่แหละของจริง! ประมาณนั้น คือเป็นผู้ปกครองที่ถาวร เป็นนายที่ถาวร พูดง่าย ๆ ว่าพวกมาประท้วงเนี่ย ถ้าแตกต่างจากนายไม่เชียร์นายก็คือเป็นไพร่ถาวร มีหน้าที่ที่ว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งและจะทำอะไรก็ได้เหมือนกันทั้งสิ้น
.
ในกรณีของหลักสากลในการชุมนุมและการสลายการชุมนุม มาในตอนนี้เขาก็มีหลักเกณฑ์ ไม่ว่าจะใช้กระสุนยาง ใช้แก๊สน้ำตา ใช้น้ำ แต่ถามว่าเคยสนใจไหม? ไม่เคยสนใจ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุทั้งสิ้น แล้วมาถึงในขั้นนี้ก็ยังพยายามจะโบ้ยว่ารูปภาพไม่ตรง เป็นรูปเก่าบ้าง แล้วก็ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงบ้าง ดิฉันอยากจะเรียนว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี วิธีคิด แล้วก็.. ดิฉันไม่อยากใช้คำรุนแรงที่ว่าการกระทำเป็นนิสัยหรือสันดานของผู้ปกครองไม่เปลี่ยนแปลง ประชาชนนั้นเปลี่ยน โลกก็เป็นพลวัตร ขนาดอากาศยังเปลี่ยนเลย แต่ทำไมผู้ปกครองเผด็จการจารีตนิยมไทยไม่เปลี่ยน
.
คุณอยากจะให้เกิดภาพแบบ 10เมษา53 โอเคประชาชนยังไม่ชนะ แต่ 10เมษา ก็ถนนดินสอ ในปี 2553 คุณใช้ความรุนแรง คุณยิงหัวประชาชนจากพลซุ่มยิง แล้วในที่สุดก็เกิดระเบิดในกลุ่มทหาร อันนั้นมันเป็นผลที่ตามมาซึ่งยังไม่มีใครรู้ ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนที่ให้ความชัดเจน แต่โยนไปว่าคนเสื้อแดงและผู้ชุมนุมในเวลานั้นมีอาวุธ มีชายชุดดำ และในที่สุดก็อ้างเป็นเหตุผลในการใช้กระสุนจริงยิง/ฆ่าประชาชน
.
ตอนนี้กลุ่มที่เคลื่อนไหวในวันนี้เป็นกลุ่มเยาวชนและชาวนาชาวไร่ คุณไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าคนพวกนี้เป็นไพร่พลของพรรคการเมือง ของนายทุนคนใด เขามาเพราเขาต้องการต่อสู้เรื่องทรัพยากร เรื่องผลประโยชน์อยู่กินของเขา และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนเยาวชนก็เป็นการกระทำซึ่งมีความต่อเนื่องจาก 2563-2564 ในการที่จะผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ให้มีการปฏิรูปในทุกปริมณฑลดังที่เราได้ทราบอยู่แล้ว
.
ดังนั้น การกระทำความรุนแรง คุณทำความรุนแรงกับคนเสื้อแดงได้ แล้ว “ย่ามใจ” ใช่ไหม? ตอนนี้คุณกำลังทำความรุนแรงกับประชาชนคนรุ่นใหม่ กับแกนนำคนรุ่นใหม่เหมือนที่เคยทำกับแกนนำคนเสื้อแดง แล้วคิดว่าไม่มีอะไร มีนะคะ มันอยู่ในใจ แล้วมันก็ถ่ายทอดส่งต่อมา เพราะคนไทยอย่างไรก็รักประเทศ เขาไม่ได้ต้องการทำร้ายประเทศด้วยการใช้ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธ ก็คือไม่ได้มีนิสัยสันดานเหมือนกับผู้นำที่มีอำนาจที่ปกครองที่กระทำต่อเขา แต่ว่าความเคียดแค้นและความเจ็บแค้นที่ถูกกระทำ มันไม่ได้หายนะ มันจะยกระดับทางปริมาณ และเมื่อไหร่มันเข้าสู่คุณภาพใหม่ คุณรับไม่ไหวนะคะ เพราะว่าขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน ประชาชนก็เปลี่ยน แต่ผู้นำแบบเก่ายังไม่เปลี่ยน
.
ดิฉันคิดว่าสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่เปลี่ยน สถานการณ์จะเปลี่ยนคุณค่ะ
.
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ

November 22

(ทีมงาน)
แลไปข้างหน้ากับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.104
การปราบปรามประชาชนที่เหี้ยมโหด ไม่เปลี่ยนแปลง!
[ใช้ความรุนแรงในระดับสูงสุด]
[ใช้ทั้งกฎหมาย – อาวุธ และวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม]