28 พฤศจิกายน 2022
ที่มา บีบีซีไทย
ชาวจีนหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมกันในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของรัฐบาล ถือเป็นการท้าทายอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 เมื่อไม่นานมานี้
ผู้ประท้วงต่างไม่พอใจกับยุทธศาสตร์รับมือโควิดของรัฐบาลจีน ที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเฉียบพลันในจุดที่พบผู้ติดเชื้อ รวมถึงการกักตัวที่ยาวนาน และการตรวจหาผู้ติดเชื้อหมู่
ความไม่พอใจที่สั่งสมมานาน ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของภูมิภาคซินเจียง เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (24 พ.ย.) หลังเกิดเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน ซึ่งประชาชนจำนวนมากมองว่า การเสียชีวิตดังกล่าว มาจากมาตรการโควิดที่ทำให้หน่วยดับเพลิงเข้าถึงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ไม่ทันการ
จากนั้น สถานการณ์ประท้วงเริ่มขยายตัวไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ในจีน โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) ประชาชนอย่างน้อย 400 คน รวมตัวกันริมแม่น้ำในกรุงปักกิ่งนานหลายชั่วโมง พร้อมตะโกนว่า “เราทุกคนเป็นคนซินเจียง สู้ต่อไปชาวจีน”
“ฉันไม่กลัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราทุกคนสู้กันอย่างหนักเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ผู้ประท้วงคนหนึ่ง กล่าว
สี จิ้นผิง : ชาวจีนลุกฮือประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ความท้าทายใหญ่ที่สั่นคลอนอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์
ซินเจียง : ชาวเมืองอุรุมชีประท้วงการล็อกดาวน์โควิด หลังเกิดเพลิงไหม้จนมีผู้เสียชีวิต
ทำความรู้จัก มอร์ริส จาง บิดาแห่งอุตสาหกรรมชิปไต้หวัน ที่เผชิญหน้าผู้นำจีนในเวทีเอเปค
ผู้หญิงชาวจีนวัย 20 ปี ระบุว่า “ฉันมาร่วมชุมนุม เพื่ออนาคตของฉัน เราต้องสู้เพื่ออนาคตของเราเอง”
“ฉันไม่กลัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราทุกคนสู้กันอย่างหนักเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”
สื่อต่างประเทศ รวมถึงบีบีซีและเอเอฟพี ที่สังเกตการณ์การประท้วงรายงานว่า ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติ มีการปราศรัยต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยมีตำรวจและรถตำรวจจำนวนมาก วางกำลังไว้ใกล้จุดประท้วงอย่างแน่นหนา รวมถึงตั้งด่านตรวจรถยนต์ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่
บีบีซีและรอยเตอร์ รายงานตรงกันว่า จนถึงเวลาประมาณ 5.30 น. วันนี้ (28 พ.ย.) ผู้ชุมนุมในกรุงปักกิ่งยังคงดำเนินต่อไป ก่อนที่กำลังตำรวจจะเข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อพยายามสลายการชุมนุม
ส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เห็นตำรวจปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วง ขณะพยายามผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนนอุรุมชี ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุม
ผู้ประท้วงปักหลักประท้วงข้ามคืนวันเสาร์ (26 พ.ย.) บางคนตะโกนว่า “สี จิ้นผิง ออกไป พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกไป” และในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคน พร้อมกระดาษขาวและดอกไม้ ออกมารวมตัวชุมนุมกันอีก
ชาวจีนออกมาประท้วงในหลายเมืองใหญ่
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในช่วงเย็นวันอาทิตย์ พร้อมปิดล้อมถนน โดยมีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงหลายคน ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันให้ผู้ประท้วงสลายการชุมนุม
“ผมไม่เคยเห็นการประท้วงระดับนี้ในนครเซี่ยงไฮ้ ตลอด 15 ปีที่ผมอยู่ที่นี่มา” แฟรงค์ ไช่ ผู้สังเกตการณ์การประท้วง บอกกับบีบีซี พร้อมเสริมว่า ช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีการประท้วงขนาดเล็กหลายหมื่นครั้ง ในประเด็นสิทธิแรงงาน และการเวนคืนที่ดิน แต่แทบไม่มีการประท้วงใดต่อต้านรัฐบาลกลางจีนโดยตรง
ล่าสุด ช่วงวันนี้ (28 พ.ย.) ทางการจีนได้วางแนวกั้นสีน้ำเงิน ตามถนนในนครเซี่ยงไฮ้ที่เป็นสถานที่ประท้วงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ส่วนบรรยากาศการประท้วงตั้งแต่ช่วงเช้านั้น เริ่มคลี่คลายลงแล้ว
กระดาษเปล่ากลายเป็นสัญลักษณ์การประท้วงในจีน
ในการประท้วงมาตราการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน ภาพของผู้ชุมนุมถือกระดาษเปล่าได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงพลังต่อต้านของประชาชนในหลายเมือง เช่น นครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถาบันที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยเข้ารับการศึกษา
การประท้วงด้วยการชูกระดาษเปล่านี้มีที่มาจากการประท้วงของชาวฮ่องกงในปี 2020 ซึ่งผู้ชุมนุมชูแผ่นกระดาษเปล่าเพื่อประท้วงการที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่เข้มงวดในฮ่องกง
การที่พวกเขาทำเช่นนี้ เพราะในตอนนั้นทางการได้ห้ามการชูแผ่นป้ายที่มีคำขวัญหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงใหญ่ในปี 2019
หลายคนชี้ว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงจะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการปิดปากกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่ยังเป็นการท้าทายรัฐว่า “คุณจะจับกุมพวกเราเพียงเพราะถือแผ่นป้ายที่ไม่มีข้อความอะไรเลยหรือ”
ผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้อธิบายให้บีบีซีฟังว่า “กระดาษว่างเปล่าไม่มีข้อความอะไรเลย แต่เราต่างรู้ดีว่ามันมีอะไรอยู่บนนั้น”
ส่วนจอห์นนี ผู้ร่วมการประท้วงวัย 26 ปีที่กรุงปักกิ่ง บอกสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กระดาษเปล่า “เป็นตัวแทนของทุกอย่างที่เราอยากพูดแต่พูดไม่ได้”
เคอร์รี อัลเลน นักวิเคราะห์สื่อจีนของบีบีซี เฝ้าติดตามการเซ็นเซอร์ของทางการจีน และพบว่ามีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดตามสื่อโซเชียลมีเดีย
เธอระบุว่า มีโพสต์ 10 ล้านโพสต์ที่ถูกกรองออกจากผลการสืบค้น...แต่ “แผ่นกระดาษเปล่า” และ “กระดาษขาว” รอดพ้นจากการเซ็นเซอร์นี้
การเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้ชาวจีนในโลกออนไลน์ที่ระบุว่า “ถ้าคุณกลัวกระดาษเปล่า ก็แสดงว่าคุณอ่อนแออยู่ข้างใน”
ด้านบริษัทผู้ผลิตกระดาษ Shanghai M&G Stationary ปฏิเสธข่าวลือว่าได้เก็บสินค้าประเภทกระดาษ A4 ออกจากชั้นขายสินค้าด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของชาติ โดยเจ้าหน้าที่บริษัทระบุว่าการผลิตและจำหน่ายยังคงดำเนินไปตามปกติ และได้แจ้งตำรวจเรื่องเอกสารปลอมที่กำลังแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นต้นตอของข่าวลือครั้งนี้
“เราหวังจะได้เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”
คนในกรุงปักกิ่งวางดอกไม้และจุดเทียนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ที่เมืองอุรุมชี
ในการประท้วงที่นครเซี่ยงไฮ้ ซิเลอร์ ซัน ซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมโฆษณาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ พวกเราจึงต้องส่งสารถึงทางการเพื่อให้พวกเขาเริ่มรู้สึกไม่สบายใจบ้าง”
เขาเสริมว่า “คุณจะใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ก็ได้ แต่คุณจะไม่มีเศรษฐกิจที่ดี และคุณจะมีเศรษฐกิจที่ดีได้ แต่คุณไม่อาจใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์”
เลมาร์ วัย 20 ปีซึ่งกำลังเรียนเป็นผู้ฝึกสอนนักมวยได้เข้าร่วมการประท้วงในกรุงปักกิ่ง เขากล่าวว่า “พวกเรามาที่นี่เพื่อ...แสดงการคัดค้านมาตรการป้องกันโรคระบาด พวกเรามีชีวิตอยู่ในโลกเผด็จการ และสิ่งที่พวกเราหวังจะได้เห็นมากที่สุดในจีนคือการมีประชาธิปไตยและเสรีภาพที่แท้จริง”
ส่วน ซัมเมอร์ เคย์ ผู้ประท้วงวัย 24 ปีในกรุงปักกิ่งบอกว่า “โรคระบาดและข้อบังคับต่าง ๆ สร้างความทรมานให้พวกเราอย่างแสนสาหัส และตอนนี้ผู้คนว่างงานกันมากขึ้น มันยังกลายเป็นอุปสรรคต่อเด็กและคนชราในการเข้ารับบริการทางการแพทย์”
เธอกล่าวต่ออีกว่า “ถ้าพวกเรายังนิ่งเงียบต่อไป ฉันคิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง...บางทีพรุ่งนี้ตำรวจอาจตามตัวพวกเราเจอจากข้อมูลที่เก็บได้ บางทีพวกเราอาจถูกจับกุมด้วยข้อหาแปลกประหลาดและหายตัวไป”
สื่อของรัฐบาลจีนไม่พูดถึงการประท้วง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายจ้าว ลี่เจี้ยน กล่าวโทษ "บุคคลที่ไม่ประสงค์ดี" ที่เชื่อมโยงเหตุเพลิงไหม้ในภูมิภาคซินเจียง กับมาตรการโควิด
"มีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีในสังคมออนไลน์ เชื่อมโยงเหตุเพลิงไหม้กับมาตรการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลท้องถิ่น"
ด้านสื่อของรัฐบาลจีน ทั้งสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาจีน แทบไม่รายงานถึงการประท้วงต่อต้านมาตรการโควิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมาเลย
ส่วนหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน คือ โกลบอลไทมส์ เผยแพร่บทความวิจารณ์สื่อชาติตะวันตกที่ปลุกเร้ากระแสความไม่พอใจต่อมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน
"อุดมคติที่ต่างกัน ทำให้ชาติตะวันตกและสื่อตะวันตกวิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จนเกือบจะเป็นสัญญาตญาณ ด้วยจุดมุ่งหมายล้มล้างระบอบการปกครองด้วยการปฏิรูป" โกลบอลไทมส์ รายงานโดยอ้างอิงคำกล่าวของนักวิชาการคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฟูตัน
ด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการโควิดที่เข้มงวด
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนออกมาตอบโต้ คำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีนว่า มี "ขุมพลังต่างชาติ" ปลุกปั่นให้เกิดความไม่พอใจในตัวรัฐบาล คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีต ทั้งการประท้วงในฮ่องกง ซินเจียง ทิเบต และภูมิภาคอื่น ๆ
โพสต์หนึ่งในเว่ยป๋อ ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์คล้ายทวิตเตอร์ในจีน ระบุว่า "มีขุมพลังต่างชาติจริงหรือ อาจจะ แต่คิดหรือว่า อำนาจต่างชาติจะจัดการประท้วงทั่วประเทศขนาดใหญ่ได้แบบข้ามคืนเช่นนี้ พวกเขาจ่ายเงินให้ประชาชนถือกระดาษขาวหรือ ถ้าคิดเช่นนั้นก็ถือว่าดูถูกเครือข่ายสังเกตการณ์ของพวกเราไปหน่อย" โพสต์นี้มีคนกดไลค์ถึง 28,000 ครั้ง
ความท้าทายต่อสี จิ้นผิง
ศาสตราจารย์ โฮ-ฟุง โห สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจีนช่วงไม่กี่วันมานี้ ถือเป็น “สถานการณ์ที่ท้าทาย” สำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
และแม้การประท้วงเป็นวงกว้างจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกมากนักในจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น “ถือเป็นบททดสอบสำคัญแรกต่อการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” เพราะผู้ประท้วงหลายคนออกมาประกาศชัด เรียกร้องให้นายสี ลงจากอำนาจ
“ประธานาธิบดีสี ต้อนตัวเองจนมุม” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้วยการเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่ชัดเจน จนทำให้คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นสูงบางคน เริ่มหมดความอดทน
ด้าน สตีเฟน แมคโดเนลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีน ระบุว่า การแสดงท่าทีต่อต้านไม่ใช่เรื่องผิดปกติในจีน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ตั้งแต่ปัญหามลพิษไปจนถึงการยึดที่ดินอย่างผิดกฎหมาย หรือการที่ตำรวจปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
แต่การประท้วงที่กำลังลุกลามขยายวงในหลายพื้นที่ของจีนนั้นมีความแตกต่างออกไป
การประท้วงในขณะนี้เกิดจากความคับข้องและเหนื่อยหน่ายใจที่ชาวจีนจำนวนมากรู้สึกตรงกัน หลายคนเก็บความอัดอั้นตันใจนี้ไม่ไหวอีกต่อไป และนำไปสู่การประท้วงเป็นวงกว้างต่อมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของทางการ
ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้สะท้อนออกมาในรูปของการทำลายแนวกั้นที่ถูกออกแบบมาเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการลุกฮือขึ้นประท้วงตามมหาวิทยาลัยและหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ กรุงปักกิ่ง และนครหนานจิง
จับกุมนักข่าวบีบีซี
บีบีซีรายงานว่า หนึ่งในทีมข่าวที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมในจีน ถูกตำรวจทำร้ายและจับกุม ระหว่างการทำข่าว โดยบีบีซีออกแถลงการณ์ว่า “บีบีซีวิตกกังวลอย่างมากต่อการปฏิบัติต่อนักข่าวของเรา เอ็ด ลอว์เรนซ์ ที่ถูกจับกุมและใส่กุญแจมือ ระหว่างติดตามทำข่าวการประท้วงในนครเซี่ยงไฮ้”
ลอว์เรนซ์ เป็นผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ประจำอยู่ในประเทศจีน โดยตำรวจได้ควบคุมตัวเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง บีบีซีระบุในแถลงการณ์ว่า ในช่วงเวลาที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ตำรวจได้ทำร้ายและเตะเขา ก่อนที่จะปล่อยตัวในเวลาต่อมา
“การที่นักข่าวของเราถูกทำร้าย ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก” บีบีซี กล่าวในแถลงการณ์
“ทางการจีนยังไม่ออกมาชี้แจงหรือขออภัยต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่ออกมาอ้างว่า จับกุมนักข่าวของเราเพื่อความปลอดภัยของเขาเอง เพราะอาจติดโควิดจากฝูงชนได้... ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นคำชี้แจงที่มากเพียงพอ”
นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ทวีตข้อความแสดงความ “วิตกกังวลอย่างยิ่ง” ต่อการจับกุมผู้สื่อข่าวบีบีซี โดยระบุว่า “เสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพการประท้วงจะต้องได้รับการเคารพ ไม่มีประเทศใดได้รับการยกเว้น...ผู้สื่อข่าวต้องทำงานได้โดยไม่ถูกข่มขู่คุกคาม”
ด้านนายแกรนต์ แชปป์ส รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลด้านธุรกิจของสหราชอาณาจักร ระบุว่า รัฐบาลค่อนข้างกังวลกับการจับกุมผู้สื่อข่าวบีบีซีครั้งนี้
เขาให้สัมภาษณ์กับช่องสกายนิวส์ของอังกฤษว่า “ไม่อาจมีข้อแก้ตัวใด ๆ ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งซึ่งรายงานข่างการประท้วงจะถูกตำรวจทำร้าย และนี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก”
ขณะที่นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนไม่ได้ชี้แจงกรณีที่ผู้สื่อข่าวซึ่งได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวการประท้วงถูกตำรวจใช้ความรุนแรงและจับกุม
เขาระบุเพียงว่า “ข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในเซี่ยงไฮ้บ่งชี้ว่า เขา (เอ็ด ลอว์เรนซ์) ไม่ได้แสดงตนเป็นผู้สื่อข่าว และไม่ยอมแสดงบัตรสื่อมวลชนของเขา”
นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน
ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มปรับใช้นโยบายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 แต่จีน ยังคงดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” อย่างเข้มงวด ด้วยเหตุผลว่า เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน เพราะหากควบคุมการระบาดไม่ได้ จะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นอันตราย
มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนค่อนข้างต่ำ นับแต่เกิดการระบาดใหญ่ โดยยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่กว่า 5,200 คน หรือเฉลี่ยแล้ว มีผู้เสียชีวิตราว 3 คน ต่อประชาชน 1 ล้านคนในจีน
จีนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์มายาวนาน
ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำจีน วิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนเองดูเหมือนจะประเมินกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่ำเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เป็นสิ่งที่นายสีเพิ่งประกาศจะยึดถือต่อไปโดยไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคคอมมิวนิสต์จะหลุดพ้นจากปัญหาที่ตนเองสร้างขึ้น
เป็นเวลา 3 ปีมาแล้วที่จีนเตรียมเปิดประเทศจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด แต่แทนที่จะสร้างหน่วยดูแลผู้ป่วยอาการวิกฤต หรือไอซียูเพิ่ม และเน้นการให้วัคซีนต้านโควิดแก่ประชาชน แต่จีนกลับทุ่มเททรัพยากรมหาศาลไปกับการตรวจคัดกรองโรคเป็นวงกว้าง การสั่งล็อกดาวน์ และการทำศูนย์กักโรค เพื่อทำสงครามกับเชื้อไวรัสที่ไม่มีวันจะหมดสิ้นไป