วันจันทร์, พฤศจิกายน 28, 2565

มองจุดยืน 112 เพื่อไทย ผ่าน ขัตติยา สวัสดิผล


iLaw
18h

RECAP เสวนา Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของ #มาตรา112
เพื่อไทย มอง 112 โทษสูงไป ใครฟ้องก็ได้
ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจุดยืนว่า มาตรา 112 คือกฎหมายที่ต้องการไม่ให้มีใครมาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้แต่ตัวเราเองที่เป็นบุคคลธรรมเราก็ยังมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นการที่จะมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในการตีความของคำว่าหมิ่นประมาท ตรงนี้ที่เราต้องมาพูดคุยกัน รวมถึงอัตราโทษที่กำหนดขั้นต่ำไว้ 3-15 ปี ตรงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างแถบยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์บางประเทศ มีการยกเลิกกฎหมายทำนองนี้ไปแล้ว หรือถ้ามีอยู่ก็มีการกำหนดโทษจำคุกที่ต่ำมาก เช่น หลักเดือน หรือประมาณ 1-2 ปี หรือประเทศญี่ปุ่นกับมาเลเซียก็ยกเลิกไปแล้ว สำหรับประเทศไทยถ้ามีโอกาสที่จะได้คุยกัน เรื่องโทษก็เป็นเรื่องที่น่าคุย เพราะว่าการกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 ปี ทำให้ศาลไม่สามารถใช้ดุลยพินิจที่จะกำหนดโทษต่ำกว่านั้นได้เลย
เรื่องถัดมาคือ ขั้นตอนในการกล่าวโทษ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ใครก็ได้อยู่ที่ไหนก็ได้ที่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พอให้ใครร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ สมมติถ้าเราไม่ชอบใครในโซเชียลมีเดีย แล้วคนนั้นชอบโพสต์ถากถาง ซึ่งมันอาจจะไม่ผิดมาตรา 112 แล้วสมมติบ้านเราอยู่อำเภอสุไหงโก-ลก (จังหวัดนราธิวาส) เราก็อาจจะไปฟ้องมาตรา 112 กับตำรวจ
เมื่อเผือกร้อนไปอยู่ในมือของตำรวจ คือ ถ้าเกิดตำรวจทำคดีแล้ว เห็นว่าบางทีหลักฐานอาจจะอ่อนไป แต่ด้วยความที่เป็นคดี 112 ซึ่งมีความอ่อนไหวทางการเมืองและสังคม อาจทำให้ตำรวจเกิดความกดดันในการที่จะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาว่า เราควรให้ดุลพินิจแก่ตำรวจเพียงผู้เดียวหรือไม่ และเมื่อตำรวจสั่งฟ้องไปแล้ว บางทีระหว่างการสอบสวนไม่ให้สิทธิในการประกันตัว พอเรื่องไปอยู่ในมืออัยการ ก็ถูกสั่งขังในชั้นอัยการอีก เพราะว่าเป็นคดีมาตรา 112 จึงถูกกดดันจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองไปหมด ตรงนี้จึงมีปัญหาในการบังคับใช้ เพราะผิดตั้งแต่ตอนที่คุณให้ใครก็ได้เป็นไปร้องทุกข์กล่าวโทษ
พอคดีมาตรา 112 อยู่ในมือตำรวจการที่จะตีความว่าพฤติการณ์ใดเป็นการดูหมิ่นเป็นการหมิ่นประมาทหรือเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย มันตีความได้กว้างมาก แล้วก็ตีความตามใจฉัน แล้วแต่เจ้าหน้าที่คนนั้น ดังนั้นถ้าไม่มีการจำกัดคำนิยามของคำว่านี้ให้อยู่ในกรอบ การที่จะสั่งฟ้องหรือดำเนินคดีกับประชาชนมันยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง
เมื่อมีการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 คนที่ได้ประโยชน์หรือคนที่เสียประโยชน์ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่อัยการ แต่คือสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องได้รับผลลัพธ์ในความรู้สึกที่ไม่ดีจากประชาชน ถ้าเกิดว่าเราใช้มาตรา 112 กับคนที่เห็นต่าง คนที่เสียหายก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรานี้มันไม่ใช่มาตราที่จะเอาไว้แสดงความจงรักภักดี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 มีการใช้มาตรานี้มากขึ้น ซึ่งเป็นการจงรักภักดีผิดวิธี
จุดยืนเพื่อไทย ปรับวิธีการบังคับใช้ ม.112
ขัตติยา กล่าวว่า ถ้าเกิดจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขมาตรา 112 สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ วิธีการบังคับใช้ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แล้วถ้าการแก้ไขมาตรา 112 เข้าไปอยู่ในสภา พรรคเพื่อไทยมองว่า ต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหานี้มีความหลากหลายทางความคิด มีทั้งคนที่อยากให้ยกเลิก มีทั้งคนอยากให้แก้ไข มีทั้งคนไม่อยากให้แก้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเราต้องเรียกทุกฝ่ายมาคุย เพื่อหาบทสรุปที่ถูกต้องที่สุด
“พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญในการคุยกันแล้วก็หาจุดตรงกลาง สถานการณ์การเมืองนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกฎหมายบางฉบับทำให้เรามีประสบการณ์ว่า การที่เรานำเสนอไปโดยไม่ฟังเสียงคนข้างนอกเลยฟังเสียงคนในกลุ่มเดียว มันทำให้เราล้มเหลวมาแล้ว การที่กฎหมายบางฉบับผ่านสภาฯ แต่ไม่ได้ผ่านสถานการณ์ข้างนอก มันทำให้นำไปสู่การรัฐประหารและความรุนแรง เช่น การนิรโทษกรรม ได้”
เพื่อไทย เสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112
ขัตติยา กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน จึงปล่อยให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงสามารถไปกล่าวโทษได้ ดังนั้นถ้าจะใช้มาตรานี้ต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น สำนักพระราชวังเป็นคนร้องทุกข์ หรืออาจจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกลั่นกรองคดีเหล่านี้เมื่อไปอยู่ในมือของตำรวจ ซึ่งในสมัยพรรคไทยรักไทยเราเคยคณะกรรมการกลั่นกรองแบบนี้ ตอนนั้นการใช้มาตรา 112 ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่คณะกรรมการชุดนั้นก็ถูกเลิกไป
"ทีนี้ คนในสังคมก็อาจตั้งคำถามว่า “กรรมการชุดนี้จะมีความเป็นกลางได้ยังไง” เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นพวกเจ้าหน้าที่รัฐใช่หรือไม่ เพราะว่าที่ผ่านมาก็มี รอง ผบ.ตร. นั่งเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง ดังนั้นการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องให้สภาเป็นคนเลือก ถ้าสภาเป็นคนแต่งตั้ง หมายความว่าสภาจะต้องมีอำนาจประชาชนอยู่เต็มสภา เราถึงจะสามารถแต่งตั้งบุคคลที่มีความเป็นกลางเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งคนก็อาจจะตั้งคำถามต่อว่า “จะดีเหรอ” แน่นอนว่าก็ดีกว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลยเหมือนที่ตอนนี้กำลังทำอยู่ ที่ตำรวจโยนเผือกร้อนออกไปให้อัยการ แล้วก็โยนต่อไปให้ศาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็พูดมาตลอดว่า ต้องมีกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาชุดหนึ่งในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง"
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความจริงใจในการที่จะแก้ปัญหารวมถึงรับรู้สถานการณ์อย่างแท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย เพื่อที่จะได้มีความละเอียดรอบคอบในการที่จะมีคำสั่งในคดีนั้นออกมา ก่อนไปสู่ในชั้นอัยการ
ในส่วนของน้องๆ พี่ๆ ที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือว่าผู้ได้รับโทษแล้ว ซึ่งจริงๆ นักโทษทางความคิดไม่ควรที่จะอยู่เรือนจำ นักโทษทางความคิดจะต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพข้างนอกเรือนจำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนเงื่อนไขในการประกันประกันตัว จริงๆ แล้วไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะว่า ความคิดและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถูกบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริง คือมีคนได้สิทธิและคนไม่ได้สิทธิ และน้องๆ พี่ๆ กี่คนที่ต้องเสียโอกาสเสียอนาคต เสียครึ่งหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จริงๆ เขาคือผู้กล้าออกมาแสดงความเห็นแทนใครคนที่ไม่กล้าออกมา แต่สุดท้ายเขาต้องเอาอนาคตเขาไปไว้ในเรือนจำ เพราะฉะนั้น สิทธิในการประกันตัวควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ยกเว้นคดีร้ายแรงจริงๆ เข้าองค์ประกอบความผิดแล้วก็มีความเสี่ยงที่อาจจะมีการหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐานตามที่เขียนไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง
ส่วนการติดกำไล EM ควรจะติดเฉพาะคนที่ได้รับโทษแล้วออกมาเพราะได้รับการพักโทษ ไม่ควรจะติดในคดีที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด
อ่านสรุปเสวนาทั้งหมดบนเว็บไซต์ https://freedom.ilaw.or.th/node/1155