วันศุกร์, พฤศจิกายน 25, 2565

โลกของการทำคอนเทนต์สะท้อนถึงยุคที่ทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ถูกทำให้เป็นแหล่งรายได้ งานอดิเรกต้องสร้างเงิน เมื่อแนวคิดเช่นนี้ลุกลามมาถึงการทำคอนเทนต์ชีวิตลูก - เรื่องนี้ ต้องคิดให้ดี ความดังในวันนี้ อาจเป็นภาระของเด็กในวันหน้า !


Puangthong Pawakapan
6h ·
ความดังในวันนี้คือภาระของเด็กในวันหน้า

SHIFTER
Yesterday

เราควรปล่อยให้เป็นเรื่อง “บ้านใครบ้านมัน” ไหม หากเด็กกลายเป็นคอนเทนต์ตั้งแต่ลืมตาดูโลก?
.
’ความเป็นส่วนตัว’ เป็นเรื่องถูกหยิบมาพูดถึงมากขึ้น ในยุคที่เทคโนโลยีแทบจะกลายเป็นอีกอวัยวะหนึ่งของมนุษย์และกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างแยกไม่ขาด แล้วเรื่องนี้ก็กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง จากกรณีที่ครอบครัวของดาราดังอดีตบอยแบนด์ยุคต้นปี 2000 โพสต์รูปลูกแฝดที่เพิ่งคลอดได้ไม่กี่วันคู่กับผลิตภัณฑ์ของครอบครัว โดยหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ดาราดังคนนี้ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ที่ลูกทำแบบนี้เป็นการช่วยพ่อแม่ “ครอบครัวจะได้เจริญรุ่งเรือง ลูกจะได้สบายในอนาคต” ถ้าเป็นตัวเองก็คงยินดีช่วยพ่อแม่เหมือนกัน
.
กระแสวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่หลายคนรู้สึกว่าครอบครัวดังกล่าวถ่ายทอดทุกความเคลื่อนไหวของลูกผ่านอินเตอร์เน็ตมากเกินไป จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก แต่เสียงอีกฝั่งหนึ่งที่ดังไม่แพ้กันก็เห็นเด็กแฝดเหล่านี้เป็น “ความสุขในชีวิตประจำวัน” และเชื่อว่าถ้าจะถ่าย vlog ลงยูทูปหรือไลฟ์ลงเฟซบุ๊กก็เป็นสิทธิของพ่อแม่ และเป็นการตัดสินใจของแต่ละครอบครัว “สิ่งที่เขาทำไม่ได้ยืมลูกใครมา นี่คือสิ่งที่ดีที่พ่อแม่ลูกช่วยกันทำมาหากิน” ดาราตลกชื่อดังคนหนึ่งกล่าวไว้
.
แล้วสิทธิและอำนาจในการตัดสินใจของเด็กล่ะอยู่ตรงไหน?
.
ในบทความนี้ เราจะพาไปสำรวจถึงปรัชญาของแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัว เพื่อตีแผ่ให้เห็นว่า ‘Family vloggers’ หรือวัฒนธรรมการทำคอนเทนต์จากชีวิตประจำวันของเด็กนั้นละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างไร แล้วทำไมสังคมไทยถึงพร้อมใจที่จะละเลยสิทธินี้ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนี้ถูกโยงเข้ากับเด็กและครอบครัว
.
[ ย้อนดูนิยามของความเป็นส่วนตัว ]
.
แม้การอธิบายเรื่องความเป็นส่วนตัวจะมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ จากหลากหลายมุมมอง แต่นักคิดหลายคนก็เห็นตรงกันว่าความเป็นส่วนตัวนั้นวางอยู่บนฐานของ ‘เสรีภาพ’ (freedom) ‘การควบคุม’ (control) และ ‘การกำหนดชีวิตตัวเอง’ (self-determination) ซึ่งเป็นสามสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญในฐานะปัจจัยที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดี หนึ่งในนิยามของความเป็นส่วนตัวที่ถูกพูดถึงมากที่สุดถูกเขียนไว้โดยอลัน เวสต์อิน (Alan Westin) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวอเมริกัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า:
.
“ความเป็นส่วนตัวคือสิทธิของบุคคล กลุ่มคน หรือสถาบันในการกำหนดว่าข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาจะถูกสื่อสารไปเมื่อไหร่ อย่างไร และแค่ไหน หากมองจากมุมของปัจเจกและการมีส่วนร่วมในสังคม ความเป็นส่วนตัวคือการปลีกตัวจากสังคมแบบสมัครใจและชั่วคราว ทั้งทางกายหรือทางใจ ซึ่งอาจเป็นการปลีกตัวมาอยู่คนเดียว อยู่ในกลุ่มเล็กๆ ที่ทุกคนใกล้ชิดกัน หรือหากอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก อาจเป็นการอยู่ในภาวะนิรนามหรือในพื้นที่ของตัวเอง”
.
ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมความเป็นส่วนตัวถึงสำคัญ อลัน เวสต์อินได้อธิบายไว้ว่า หน้าที่ของความเป็นส่วนตัวมีหลักๆ 4 อย่างคือ 1) เพื่อให้เรามีอำนาจเหนือชีวิตตัวเอง มีสิทธิเลือก และมีโอกาสพัฒนาในฐานะปัจเจก 2) เพื่อปลดปล่อยอารมณ์และพักผ่อน 3) เพื่อเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนตัวเอง บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และช่วยในการตัดสินใจ และ 4) เพื่อเปิดช่องให้เราได้สื่อสารแบบวงแคบกับคนใกล้ชิด
.
สรุปง่ายๆ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกสูญเสียความสามารถในการควบคุม ไม่สามารถกำหนดได้ว่าใครจะรู้เรื่องราวในชีวิตของเราบ้าง และไม่มีอิสระในการเลือกว่าตอนไหนอยากใช้ชีวิตอย่างสันโดษ และตอนไหนอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นั่นคือสิทธิความเป็นส่วนตัวของเราถูกละเมิดแล้ว ถ้าเราเชื่อเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและหน้าที่ของมันตามนี้ คงจะพอจินตนาการได้ไม่ยากว่าถ้าไม่มีความเป็นส่วนตัวชีวิตคนเราจะไขว้เขวหรืออึดอัดแค่ไหน
.
[ Family Vloggers - เมื่อการตัดสินใจของพ่อแม่ครอบงำการตัดสินใจของเด็ก ]
.
เมื่อกลับมาย้อนดูที่ปรากฏการณ์การบูมของคอนเทนต์ออนไลน์แนวครอบครัว ที่แบ่งปันให้โลกรู้ถึงชีวิตลูกตั้งแต่ขั้นอัลตราซาวน์ ยาวไปจนถึงวันที่ลูกเข้าโรงเรียน นี่คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เผยชัดถึงด้านมืดที่อาจตามมาเมื่อความเป็นส่วนตัวถูกกัดกร่อน
.
ทวิตเตอร์แอคเคาท์หนึ่งได้ยกประเด็นขึ้นมาว่า มีช่วงหนึ่งที่ชีวิตของเด็กแฝดอายุ 3 ขวบถูกถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคนแทบทุกวัน แม้แต่ช่วงที่ลูกทะเลาะกันเองจนคนดูเริ่มเกิดอคติต่อเด็ก ไลฟ์ก็ยังคงดำเนินต่อไป นี่ยังไม่นับวิดีโอในยูทูปอาทิตย์ละ 3-4 คลิป ที่แทบจะเห็นทุกฝีก้าวของลูกวัยสามขวบ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว พฤติกรรมงอแง ความกลัว หรือพัฒนาการต่างๆ
.
แต่ครอบครัวนี้ก็ไม่ใช่ครอบครัวเดียวที่หารายได้โดยการเผยแพร่การเติบโตของลูกสู่สาธารณะ เพราะวิถีชีวิตเช่นนี้เหมือนจะเป็นปกติของเซเลปในไทยไปแล้ว
.
นั่นหมายความว่า เมื่อพ่อแม่ยึดอำนาจในการตัดสินใจว่าจะถ่ายและโพสต์คอนเทนต์แบบไหนลง และบ่อยแค่ไหน โดยมีความต้องการของ ‘แฟนคลับ’ ลูกค้า และกลไกเรื่องอัลกอริธึมของโลกออนไลน์เป็นแรงผลักดัน กลายเป็นว่าเด็กไม่มีสิทธิในการกำหนดว่าส่วนไหนบ้างของชีวิตเขาที่จะถูกเปิดเผยกับสาธารณะ พื้นที่ส่วนตัวที่ควรช่วยให้เด็กได้เติบโตอย่างปราศจากคำตัดสินหรืออิทธิพลที่มากเกินไปของคนภายนอกกลับถูกยุบรวมกับพื้นที่ส่วนรวม ใครจะเข้ามาสอดส่องชีวิตเขาเมื่อไหร่ก็ได้
.
ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดลงโซเชียลมีเดียก่อนที่เด็กจะรู้ว่าผลของการมีตัวตนในพื้นที่นั้นคืออะไร พ่อแม่อินฟลูเอ็นเซอร์ทั้งหลายอาจจะอ้างว่าลูกเต็มใจอยากถ่าย หรืออยากให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการหาเงินด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก แต่เด็กช่วงวัยไม่ถึงสิบขวบเหล่านั้นรับรู้ได้จริงไหมว่า ทุกอย่างที่เขาทำ ไม่ว่าจะน่ารักหรือน่าอายแค่ไหน จะอยู่บนโลกนี้ตลอดไปในรูปแบบ digital footprint ใครๆ ก็ย้อนกลับมาขุดคุ้ยได้ และหากเขารู้สึกเสียดายที่เรื่องราวของเขาถูกแชร์ในอดีต เขาก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว และตัวตนของเขาก็อาจจะถูกสร้างและนิยามไปแล้วด้วยสิ่งที่พ่อแม่เลือกเผยแพร่
.
ดาราฮอลีวู้ดหลายคนถึงกับให้สัมภาษณ์ว่าเสียใจที่ตัวเองมีชื่อเสียงในวัยเด็ก ตัวอย่างเช่น เดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliff) นักแสดงชายผู้เป็นที่จดจำจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ซึ่งอายุเพียง 11 ปีตอนที่เขาเริ่มแสดง ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ชื่อเสียงโด่งดังที่มากับการอยู่ในวงการบันเทิงนั้นควรหลีกเลี่ยงทุกกรณี” และถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากให้ลูกต้องเติบโตมากับชื่อเสียงอย่างเช่นเขา อย่างที่เราก็รู้กันดีว่าสิ่งที่ติดสอยห้อยตามมากับชื่อเสียงคือสายตาของสื่อและคนแปลกหน้าที่จับจ้องราวกับคนดังเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตในสวนสัตว์ “ในกรณีของผม วิธีที่เร็วที่สุดที่จะลืมว่าคุณกำลังถูกจับจ้องอยู่คือต้องเมาแบบสุดๆ” เดเนียลกล่าวถึงช่วงเวลาที่เขาต้องหันไปพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อช่วยรับมือกับอาชีพในวัยเด็ก
.
ในฐานะอินฟลูเอ็นเซอร์ เด็กไม่สามารถเลือกหรือตัดสินใจได้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับ “อาชีพ” ของตัวเอง พวกเขาจึงไม่ต่างอะไรกับสินค้าและทรัพย์สินภายใต้การดูแลของพ่อแม่ที่ยอมปล่อยให้บทบาทของ “นักธุรกิจ” ขึ้นมานำหน้าความสัมพันธ์อื่นๆ ที่มีกับคนเป็นลูก และคิดถึงผลประโยชน์เรื่องเงินก่อนผลกระทบเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมาจากการเปิดประตูบ้านให้คนนับล้านเข้ามาจับจองพื้นที่
.
เพราะฉะนั้น คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าในกรณีของ Family vloggers อำนาจและสิทธิเหนือตัวเองของเด็ก โดยเฉพาะสิทธิเรื่องความเป็นส่วนตัว จึงถูกเสียสละไปเพื่อแลกกับเงินและสถานะทางสังคมของพ่อแม่
.
[ ความเป็นส่วนตัว: สิ่งแปลกปลอมในสังคมไทย ]
.
ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายเรื่องการพยายามทำให้ลูกตัวเองเป็นดาราในโลกออนไลน์ คนไทยจำนวนมากพร้อมที่จะมองข้ามข้อความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กอย่างง่ายดาย แต่อะไรล่ะที่ส่งผลให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้?
.
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัฒนธรรมการอยู่แบบรวมกลุ่ม (Collectivist Culture) ซึ่งให้คุณค่ากับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากว่าการอยู่แบบปัจเจก และมุ่งบ่มเพาะความแน่นเฟ้นในครอบครัวและอัตลักษณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนอื่นในสังคม การทำตามเป้าหมายของส่วนรวมเป็นเรื่องที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมนี้ ซึ่งลดทอนความสำคัญของการใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันที่ทุกคนมีอิสระในการสร้างความเป็นตัวตนของตัวเอง
.
วัฒนธรรมเช่นนี้แสดงตัวเด่นชัดในการเติบโตของคนไทย พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่ตัวเองจะต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับทุกๆ ความสัมพันธ์ของลูก การที่ลูกนอนห้องเดียวกับตัวเองจนโตไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หรือถ้าเขยิบออกไปหน่อย ญาติหรือป้าข้างบ้านก็ไม่รู้สึกเขินอายที่จะถามไถ่ว่าลูกเรียนที่ไหน จะสอบเข้าอะไร ได้เงินเดือนเท่าไหร่ เหมือนกับว่าเรื่องของเด็กเป็นเรื่องของตัวเอง ความเป็นส่วนตัวจึงกลายเป็นเรื่องหายากอยู่แล้วในสังคมไทย
.
ผนวกกับแนวคิดเรื่องความกตัญญูที่ฝังรากลึกไม่แพ้กัน หน้าที่และความคาดหวังที่คนเป็นลูกต้องแบกรับทันทีที่ลืมตาดูโลกคือ ‘การเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า’ หลายคนมีมุมมองเรื่องการมีลูกไม่ต่างกับการวางแผนการเงินวัยเกษียณ เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวถูกออกแบบมาเช่นนี้ เท่ากับว่ายิ่งลูกช่วยพ่อแม่หาเงินได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งได้รับการยกย่องชื่นชมมากเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กแฝดที่ดังที่สุดในไทยตอนนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “อภิชาตบุตร” และการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็กจึงถูกปัดไปเป็นเรื่องรอง
.
[ เมื่อทุกการเคลื่อนไหวคือเงิน และการหาเงินคือการตอบแทนบุญคุณ ]
.
โลกของการทำคอนเทนต์สะท้อนถึงยุคที่ทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ถูกทำให้เป็นแหล่งรายได้ งานอดิเรกต้องสร้างเงิน เมื่อแนวคิดเช่นนี้ลุกลามมาถึงการทำคอนเทนต์ชีวิตลูก เราควรกลับมาตั้งคำถามได้หรือยังว่า โครงสร้างสังคมเราบิดเบี้ยวถึงขนาดที่อิสระ การควบคุม และอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเองของเด็กต้องถูกลิดรอน เพราะ “ลูกต้องช่วยพ่อแม่หาเงิน” แล้วหรือ?
.
การเลี้ยงดูเด็กควรเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐ เพื่อให้เด็กได้เติบโตมาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าไหม?
.
ในสังคมยุคดิจิทัลที่ความเป็นส่วนตัวแทบจะไม่หลงเหลือ คงจะเป็นการดีกว่า หากทุกคนสามารถเลือกที่จะรับความเสี่ยงในการมีตัวตนอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตตลอดกาล เมื่อเขาพร้อมและเข้าใจความอันตรายของมันจริงๆ
.
Writer: Preeyanun Thamrongthanakij
Graphic Designer: Chutimol k.
.
#TheDarkSidesOfPrivacy #Privacy #FamilyVloggers #OnlinePrivacy
.
อ้างอิง
บทความ History of Privacy (Jan Holvast) https://bit.ly/3VgTmpj
Daily Mail: https://bit.ly/3hVryZ1
Science Direct: https://bit.ly/3UKzV8l
คมชัดลึก: https://bit.ly/3EfVbMc; https://bit.ly/3UU5tIT