วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 24, 2565

7 ผลที่ตามมาหาก พล.อ. ประยุทธ์ ตีจาก พปชร.

ที่มา บีบีซีไทย

พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่ในภาวะ “ฝุ่นตลบ” ภายหลังปรากฏกระแสข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมเปิดตัวร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในปี 2566

ถึงขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการว่า พล.อ. ประยุทธ์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของ พปชร. ในการเลือกตั้งปี 2562 จะย้ายไปสังกัด รทสช. ซึ่งมีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค จริงหรือไม่

ภายหลังสื่ออย่างน้อย 2 สำนักคือ ไทยรัฐ และเครือเนชั่น รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ แจ้งลา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า พปชร. ขอไปทำงานเมืองกับ รทสช. และจะมีการเปิดแถลงข่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (22 พ.ย.) พี่น้อง 2 ป. พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตร ไม่มีโอกาสพบหน้ากัน เนื่องจากรองนายกฯ ประวิตร อยู่ระหว่างเดินทางไปประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ระหว่างวันที่ 22 -24 พ.ย. ตามที่นายกฯ ประยุทธ์ มอบหมาย

พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธจะให้ความชัดเจนในทางเมืองภายหลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยกล่าวเพียงว่า “ขอให้อยู่ในบรรยากาศความสุขก่อนแล้วกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแยกกันเดินในทางการเมืองกับ พล.อ. ประวิตร จริงหรือไม่ นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามนี้

7 ผลที่ตามมาหาก พล.อ. ประยุทธ์ ตีจาก พปชร.

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกระแสข่าว “แยกกันเดิน” ของพี่น้อง 2 ป. หลังเกิดการปะทะทางอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล-คุมฝ่ายบริหาร กับ พล.อ. ประวิตร ในฐานะผู้นำพรรค-คุมเสียงฝ่ายนิติบัญญัติ คอยบงการ-สั่งการทางการเมืองอยู่เนือง ๆ

รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย และเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นภาวะ “มังกรสองหัว” แต่เหตุการณ์ผ่านไป "ป.ประยุทธ์" ก็ยังไม่มีทีท่าจะแยกวงจาก "ป.ประวิตร" กระทั่งเกิความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้

แหล่งข่าวจาก พปชร. ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ วิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า หาก พล.อ. ประยุทธ์ ตีจาก พปชร. จริง จะเป็นผลดีกับพรรคมากกว่า พร้อมคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมาอย่างน้อย 7 ข้อ

ในพรรค

1. พรรคจะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น เพราะสมาชิกทุกคนขึ้นตรงกับหัวหน้าพรรค จากเดิมเป็น “องค์กรสองหัว”

2. สมาชิกพรรคบางส่วนอาจลาออกจาก พปชร. แล้วย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ เช่น ภาคใต้ ภาคกลาง และ กทม. แต่ “คนไปมีแค่นิดเดียว คนกลับมาเยอะกว่า”

3. “ผู้กำกับ” ต้องผันตัวมาเป็น “นักแสดง” เสียเอง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเสียงคะแนนนิยมของพรรค แม้ในการเลือกตั้งปี 2562 ผู้ลงคะแนนเสียงให้ พปชร. ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้ “ลุงตู่” กลับมาเป็นนายกฯ ไม่ได้เลือกเพราะ “ลุงป้อม” ก็ตาม

“ลุงป้อมเขาอยู่เบื้องหลังไง เป็นคนดูแลผู้สมัครทั้งหมด พล.อ. ประยุทธ์เปรียบเหมือนดารา ส่วน พล.อ. ประวิตรเป็นเหมือนผู้กำกับ เวลาหนังออกมาดี ถามว่าเป็นเพราะดารา หรือผู้กำกับละ” นักการเมืองสังกัด พปชร. ซึ่งเลือกแล้วว่าจะอยู่พรรคเดิมต่อไป กล่าว

คนการเมืองรายนี้เชื่อว่า ถ้า “ผู้กำกับ” โดดมาอยู่หน้าฉากในฐานะ “นักแสดง” เสียเอง จะไม่เป็นปัญหา เพราะ “ผู้กำกับส่วนใหญ่ก็มีความสามารถในการแสดง เคยเป็นดาราดังมาก่อนทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นจะเป็นผู้กำกับได้ยังไง”


หัวหน้า พปชร. ลงพื้นที่พบปะประชาชนชาวเหนือ

ในสนามเลือกตั้ง-สภาผู้แทนราษฎร

4. พรรคต้องเตรียมวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับผลงานของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เพื่อนำมาต่อยอดเป็นนโยบายหาเสียงของ พปชร. ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตามตัวนายกฯ ไป และพรรคอื่นไม่สามารถแย่งเอาไปได้

5. การตัดฐานเสียงกันเองระหว่าง พปชร. รทสช. และพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ที่มีรากเหง้ามาจาก พปชร. ประเมินว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะอีกฝั่งก็ตัดฐานเสียงกันเองเช่นกัน เมื่อมีการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองก็ต้องแข่งกันเต็มที่โดยไม่มีพันธมิตร

6. หากแคนดิเดตนายกฯ คือ พล.อ. ประวิตร จะทำให้ พปชร. สามารถร่วมงานการเมืองกับทุกฝ่ายได้

ในรัฐสภา

7. เสียงในวุฒิสภาอาจแตกออกเป็นสองส่วน คงไม่มีภาพการโหวตเลือกนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ของวุฒิสภาแบบในคราวเลือกตั้งปี 2562 เพราะขณะนี้ “ส.ว. ไม่เป็นเอกภาพ” และ “ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งทั้งหมด แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นน่าจะต้องเคลียร์กันแล้ว”

ลิงค์บทความเต็ม
https://www.bbc.com/thai/articles/ce70y1dlkwgo