iLaw
9h
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี การนำ #มาตรา112 กลับมาบังคับใช้ในระลอกปี 2563 ไอลอว์ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112” โดยเป็นการพูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองสามพรรค ได้แก่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละได้เสนอแนวทางการแก้ไขและบังคับใช้ รวมทั้งจุดยืนต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนี้
เสรีรวมไทย เสนอลดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ที่เราพูดถึงปัญหามาตรา 112 ทุกวันนี้ พระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เราจะไปบอกว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องไม่ได้เลย ประเด็นที่ผมต้องพูดในวันนี้ ก็เพราะว่าผมได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ตั้งแต่ปี 2522 เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชวงศ์ทุกพระองค์รวมทั้งรัชกาลที่ 10 ด้วย ต้องดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ต้องสาบานตนต่อพระแก้วมรกต ว่าจะซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นคำพูดใดๆ ของผมออกจากความจริงที่จะต้องพิทักษ์รักษาดูแลสถาบันฯ เอาไว้ อยากให้ทุกคนเข้าใจ เราต้องแยกสถาบันฯ ออก ที่เรามีประเทศไทยทุกวันนี้ก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์
“ตอนนี้ก็เห็นพรรคนั้นพรรคนี้จะเลิกบ้าง จะแก้บ้าง ผมก็เลยคิดว่าถ้าฝ่ายนี้ไม่อยากแก้เพราะกลัวกระทบสถาบันฯ ฝ่ายนี้อยากแก้ ผมก็จะเสนอแนวทางกลางๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและเป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯ ด้วย”
เสรีพิสุทธิ์ เริ่มอธิบายการกระทำความผิดและอัตราโทษที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญา ก่อนที่จะพูดถึงมาตรา 112 ดังนี้
๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 ปลงพระชนม์ พยายามปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุกตลอดชีวิต
๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108 ประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 16-24 ปี
๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 109 ปลงพระชนม์ พยายามปลงพระชนม์พระราชินี มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 12-20 ปี
๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ประทุษร้ายพระราชินี มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 16-24 ปี
๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 111 สนับสนุนปลงพระชนม์ ประทุษร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 16-24 ปี
มาตรา 112 บอกว่า ดูหมิ่นหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3-15 ปี พอคดีไปอยู่ในมือผู้พิพากษาถ้าผิด ก็ลงโทษต่ำกว่าสามปีไม่ได้ นอกจากนี้ ในการตัดสินโทษยังอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษา บางคนอาจตัดสิน จำคุก 15 ปี เลยก็ได้
พูดให้ชัดเจน ว่าการแก้ไขมาตรา 112 ผมอยากแยกดูหมิ่นหมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้ายออกจากกัน เพราะว่าการกระทำอาฆาตมาดร้ายใกล้เคียงกับความผิดลอบปลงพระชนม์หรือประทุษร้าย ซึ่งมีโทษจำคุก ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต แต่ดูหมิ่นหมิ่นประมาทเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากแก้ไขการอาฆาตมาดร้ายออกจากมาตรา 112 ซึ่งอาจจะให้การอาฆาตมาดร้ายมีโทษจำคุก 3-15 ปี แบบมาตรา 112 ก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้การดูหมิ่น หมิ่นประมาทก็จะมีโทษลดลงมา
ที่ยังต้องมีโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ ก็เพราะว่าพี่น้องประชาชนเองก็ยังได้รับการคุ้มครองจากการหมิ่นประมาทซึ่งมีอัตราโทษ ดังนั้นใครหมิ่นประมาทก็ต้องมีอัตราโทษเช่นกัน แต่อัตราโทษแบบไหนถึงจะเหมาะสม
สำหรับแนวคิดของพรรคเสรีรวมไทย เสนอว่าให้ตัดอาฆาตมาดร้ายออกไป ไปเป็นมาตรา 111/1 ส่วนมาตรา 112 เป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยมีอัตราโทษไม่เกินสามปี จากนี้ก็จะเป็นดุลพินิจผู้พิพากษาว่าจะให้แต่ละคนเท่าใด จะเป็น 10 วัน หรือจะ 1 ปี หรือ 2 ปี
"ตอนผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อปี 2550 ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกัน แต่พระองค์ท่าน (รัชกาลที่ 9) สั่งลงมาถึงผมและอัยการสูงสุด “ให้สั่งไม่ฟ้องให้หมด” ท่านไม่อยากให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน เพราะฉะนั้นสำนวนที่อยู่ในมือของผม ผมให้สั่งไม่ฟ้อง"
ประสบการณ์ถูกฟ้อง 112 ของเสรีพิสุทธิ์ “ปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ระบบ”
เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีคำพูดคำหนึ่งประโยคหนึ่ง แล้วมีคนคิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน แต่เมื่อตำรวจสอบสวนไปและถ้าตำรวจสอบสวนอย่างเที่ยงตรง คำพูดไม่มีหมิ่นก็สามารถมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปยังอัยการได้ ถ้าอัยการเห็นด้วยชอบก็จบ และถ้าอัยการไม่เห็นด้วยก็ฟ้องศาล กระบวนการแบบนี้ ยุ่งตรงที่ใครก็ได้มาร้องได้ ก็เลยเกิดคดีขึ้นเยอะแยะ พี่น้องประชาชนก็เดือดร้อนไปหมด
เสรีพิสุทธิ์ เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้ถึงคดี 112 ของตัวเองว่า ภายหลังการเลือกตั้งปี 2551 สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีการย้ายผมไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยัดเยียดหลายข้อหา รวมทั้งมาตรา 112 จำนวน 2 คดี แม้ผมจะเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เมื่อมีการกล่าวหาแล้ว จะมีคณะกรรมการพิจารณา ในกรุงเทพฯ ก็จะมีกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ส่วนตำรวจภูธรก็มีคณะกรรมการพิจารณาเหมือนกัน ถ้าคณะกรรมการพิจารณาชุดนี้เสร็จแล้ว ก็จะส่งคณะกรรมการระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นก่อนสั่งฟ้องไปอัยการ
เมื่อเรื่องผมไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีความเห็นว่าผมหมิ่น ตามมาตรา 112 ทั้ง 2 คดี
“ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เสรีพิสุทธิ์ ก็เรียบร้อย แต่เสรีพิสุทธิ์วิชาเยอะ ... เขาอยากจะสอบก็สอบมา อยากจะแจ้งก็ข้อกล่าวหาก็แจ้งมา เขาก็รวบรวบหลักฐานมา แต่พอเราจะให้การ เราไม่ไปให้การด้วยปากคำ เพราะมันไม่ครบถ้วน เราให้การเป็นหนังสือไป ขณะเดียวกันอ้างพยานบุคคล พยานเอกสารส่งไปให้เขา เมื่อส่งไปคณะกรรมการที่สอบสอนก็ต้องเชิญพยานต่างๆ มา ... เราก็ติดตามดูว่าดำเนินการสอบสวนไปถึงไหน ถ้าใกล้จบ ก็เอาพยานเอกสารไปเพิ่ม ... เขาจะเร่งรัดให้คดีผมเสร็จก่อนที่ พล.ต.อ.พัชรวาท จะเกษียณ (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ – อดีต ผบ.ตร.)” เพื่อให้พัชรวาทสั่งฟ้อง ผมก็มองคนเกษียณต้อง 30 กันยายน ... เพราะฉะนั้นผมต้องถ่วงให้เกิน 30 กันยายน”
สุดท้าย กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งให้ฟ้อง แต่พอถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งไม่ฟ้อง พอส่งเรื่องอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่คนไม่ได้อยู่ที่ระบบ ถ้าคนเราเป็นคนดีมีคุณธรรมมันก็ดี
“ผมรอดตัวมาได้เพราะชั้นเชิง แต่พี่น้องประชาชนไม่มีประสบการณ์เชิงไม่มี ถ้าเจอเจ้าหน้าที่ก็ดี ถ้าเจอไม่ดีกันจะเป็นแบบนี้ เป็นเรื่องผู้ปฏิบัติ เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น วิธีการก็คือใครก็ได้กล่าวหาใคร ใครก็ได้ยัดเยียดข้อหาใคร ใครก็ได้ตีความภาษาไทยไปยังไง เฉพาะฉะนั้นต้องเปลี่ยนให้สำนักพระราชวังเป็นเจ้าภาพ”
อ่านสรุปเสวนาทั้งหมดบนเว็บไซต์ https://freedom.ilaw.or.th/node/1155
iLaw Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112
Streamed live on Nov 20, 2022
iLaw Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112
มนุษย์
คุยกับตัวแทนพรรคการเมือง
.
🔵 พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
🔵 รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล
🔵 ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย
.
ดำเนินรายการโดย ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters
.
สดจากตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย