วันพุธ, พฤศจิกายน 23, 2565

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ตั้งวงวิพากษ์ “การเมืองคนดี” จากยุค กปปส. ถึง ระบอบประยุทธ์

ธงชาติ และ นกหวีด ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในระหว่างการชุมนุม กปปส. เมื่อปี 2556-2557

กปปส. : นักรัฐศาสตร์วิพากษ์ “การเมืองคนดี” จากยุค กปปส. ถึง ระบอบประยุทธ์

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
21 พฤศจิกายน 2022

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ตั้งวงวิพากษ์ “การเมืองคนดี” ของ กปปส. ซึ่งแสดงบทบาทและพลังเหมือน “เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ” เมื่อ 8 ปีก่อน ทว่าปัจจุบันฝ่ายอนุรักษนิยมตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ จากความไม่พอใจระบอบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และปัญหาภาพลักษณ์ที่เกิดจากการ “อนุญาตให้ใช้ความชั่วได้ในนามของความดี”

วันนี้ (21 พ.ย.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนา “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหนังสือวิชาการเล่มล่าสุดของ รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

รศ.ดร. ประจักษ์ใช้เวลา 2 ปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ในระหว่างปี 2556-2557

จากความสนใจเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง นักวิชาการหนุ่มพบว่า กปปส. เป็นขบวนการแรกและขบวนการเดียวที่เคลื่อนไหวในนามภาคประชาชน แต่ใช้ความเคลื่อนไหวนั้นทำลายการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นความรุนแรงในการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ จึงนำไปสู่การศึกษาต่อไปว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อ้างความชอบธรรมอะไรในการ “ปิดคูหาเลือกตั้ง” “ทำร้ายร่างกายคนอื่น” และ “นิยามประชาธิปไตยใหม่” ผ่านวาทกรรม “รักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง”

สิ่งที่เขาพบคือ อัตลักษณ์การเมืองคนดีถูกสร้างขึ้นมาอย่างโดดเด่นมาก โดยวางอยู่บนฐานแนวคิดราชาชาตินิยม พุทธแบบไทย และการเมืองของความไม่เสมอภาค ควบคู่กับการเมืองเชิงศีลธรรม ที่ทำให้คู่ตรงข้ามกับ กปปส. อย่างรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้สนับสนุน ถูกมองว่าเป็นศัตรู ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และไม่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้ชุมนุม กปปส.

“ถ้าไม่มี กปปส. ยากมากที่จะมี ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่ดำรงมาอยู่ถึงทุกวันนี้” คือข้อสรุปของ รศ.ดร. ประจักษ์
 

รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุว่า กปปส. ทำให้เรื่องเล่าแม่บทสุดโต่งขึ้น และถูกนำมาใช้โดย “ระบอบประยุทธ์” ในการสร้างการเมืองคนดีในเวลาต่อมา

“เมื่อไม่มีกระทั่งประชาธิปไตย จะตรวจสอบการคอร์รัปชันได้อย่างไร”

เขาประกาศตัวว่าปฏิเสธการเมืองเชิงศีลธรรม เพราะไม่คิดว่าจะมีใครดีหรือชั่วล้านเปอร์เซ็นต์ แต่การเมืองสมัยใหม่วางอยู่บนฐานที่ว่าจะตรวจสอบการใช้อำนาจได้อย่างไร

“คุณอาจมีพฤติกรรมส่วนตัวที่เคร่งศาสนาและเคร่งศีลธรรม แต่พอมีอำนาจอาจใช้อำนาจออกนโยบายที่นำไปสู่ความเสียหายแก่สังคม หรือทำร้ายชีวิตคนอื่นก็ได้ มีงานศึกษาชีวประวัติผู้นำนาซีพบว่า ชอบฟังดนตรีคลาสสิก มีอารยธรรมสูงสง่า ไม่เคยฆ่าสัตว์ แต่ก็ออกนโยบายรมแก๊สฆ่าคนยิว 6 ล้านคนก็ได้ เพราะเขาเชื่อจริง ๆ ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่พลเมืองที่มีค่าควรจะใช้ชีวิตอยู่ ดังนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมส่วนตัวของคนนั้น แต่ที่สนใจคือเมื่อมีอำนาจแล้วต้องถูกตรวจสอบและกำกับได้” รศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ทว่าเมื่อการเลือกตั้งถูกทำลายลง อาจารย์ประจักษ์จึงโยนคำถามกลับไปยังนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในวันนั้นว่า “เมื่อไม่มีกระทั่งประชาธิปไตย จะตรวจสอบการคอร์รัปชันได้อย่างไร” เพราะวันนี้การเมืองคนดีภายใต้ระบอบประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันหายไป เช่นเดียวกับผู้คนที่เคยขับไล่สิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” แต่ปัจจุบันก็มี ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โหวตเลือกนายกฯ ได้ ทำไมถึงไม่มีการตั้งคำถามเรื่องเผด็จการรัฐสภาอีกต่อไป

“พอประชาธิปไตยถูกทำลายลงไป มันไม่เหลือพื้นที่ให้แม้แต่ตัวคุณเองในการวิจารณ์สิ่งที่คุณไม่ชอบตอนนี้ ผมเชื่อว่ามีความอิหลักอิเหลื่ออย่างยิ่งในหมู่คนที่อาจเรียกตัวเองว่า อนุรักษนิยม คนดี คนมีศีลธรรมตอนนี้ เขาก็อาจไม่ชอบระบอบที่ดำรงอยู่ตอนนี้ แต่ก็รู้ว่ามีเสรีภาพให้น้อยในการวิจารณ์ คัดค้าน หรือสร้างกลุ่มออกไปเดินขบวนเคลื่อนไหว เพราะก็จะเผชิญกับการถูกปราบปรามเช่นกัน” รศ.ดร. ประจักษ์กล่าว


พล.อ. ประยุทธ์ และรัฐมนตรีของเขา รอดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ครั้ง ตลอดวาระของสภาชุดที่ 25

อย่างไรก็ตามนักวิชาการผู้ศึกษาการเมืองวัฒนธรรมเชื่อว่า วาทกรรมคนดีจะถูกหยิบมาใช้ในการเมืองไทยต่อไป ตราบที่ผู้ใช้ยังไม่มีอย่างอื่นที่จะอ้าง ไม่มีนโยบายโดนใจประชาชน ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการหันไปสู่การเมืองเชิงศีลธรรม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นในฝ่ายขวาสุดโต่งทั่วโลก เพราะ เมื่อไม่มีนโยบาย จะชนะได้ก็ต้องอาศัยการปลุกปั่น ให้เป็นเรื่องคนดี-ชั่ว ขาว-ดำ

“ศีลธรรมของ กปปส. มีสถานะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ”

ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มธ. อ่านหนังสือของ “ลูกศิษย์” จนจบ ก่อนอ่านวิธีคิด-วิธีเขียนของอาจารย์ประจักษ์ ที่มองการเคลื่อนไหวของ กปปส. เป็นการชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองที่ผิดปกติในแง่หลักการเมืองและกฎหมายเสรีประชาธิปไตย ขณะที่นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธอิสระ หนึ่งในแกนนำ กปปส. ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวก ทำต่างหากที่ผิดปกติในแง่หลักศีลธรรมและต่อชาติบ้านเมือง ต่างฝ่ายต่างพูดถึงความผิดปกติไปคนละทาง

ในทัศนะของอาจารย์เกษียร กปปส. ชะลอโลกุตรธรรมปกติ (หลักศีลธรรมเหนือโลกียวิสัย) มากดทับโลกียธรรมปกติ (หลักการเมืองและกฎหมายปกติในทางโลกย์) ถ้ามองอย่างรัฐศาสตร์ สิ่งที่ กปปส. ทำเป็นสภาวะยกเว้นในการเมืองและกฎหมายปกติ แต่ถ้ามองทางโลกุตรธรรม สิ่งที่ กปปส. ทำเป็นเรื่องปกติธรรมดาและพึงทำอย่างยิ่งเพื่อให้โลกการเมืองเบื้องต่ำที่ผิดปกติกลับเป็นปกติธรรมอย่างที่ควรเป็น กปปส. ไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสภาวะยกเว้นที่ผิดมาตรฐานทางสังคม ตรงกันข้าม พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นปกติ-อภิปกติ

“แกนนำและผู้ชุมนุม กปปส. มองว่า ศีลธรรมของกลุ่มตนมีสถานะอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติกาในระบอบประชาธิปไตย เพราะศีลธรรมของคนดีเป็นคุณค่าตัดสินความดีชั่วที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่ากฎหมายที่รัฐแอบอ้างมาปกป้องตัวเอง” ศ.ดร. เกษียรกล่าว


พระพุทธอิสระ เป็นผู้คุมเวทีแจ้งวัฒนะ ในช่วงชุมนุม กปปส.

ความดี-ไม่ดี ที่ขึ้นอยู่กับ ผู้มีบารมีสูงสุด

ทั้งนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์เห็นตรงกันว่า การเอาศาสนาซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาไว้ในโลกการเมือง จะนำไปสู่ความสุดโต่งรุนแรง

อาจารย์เกษียรเรียกมันว่า “เอกภพแห่งพันธะธรรม” (Universe of Moral Obligation) พร้อมยกตัวอย่างว่า ในขณะที่ กปปส. นับนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือที่รู้จักในชื่อ “มือปืนป็อบคอร์น” อดีตผู้ต้องขังตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดียิงปะทะที่แยกหลักสี่ เมื่อ 1 ก.พ. 2557 อยู่ในเอกภพของตน ต้องห่วงใย ช่วยเหลือ ยกย่อง สนับสนุน แต่กลับไม่นับนายอะแกว แซ่ลิ้ว หรือ “ลุงอะแกว” พ่อค้าขายน้ำอัดลม วัย 72 ปี (ในขณะนั้น) ที่ถูกยิงในเหตุการณ์ดังกล่าวจนได้รับบาดเจ็บก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา อยู่ในเอกภพเดียวกัน

“การทำลายพวกมันเป็นพันธะและหน้าที่ที่พึงกระทำตามหลักศีลธรรม ถ้าไม่ทำ ไม่ฆ่า ถือว่าบาป เข้าทำนอง ‘ไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์เป็นบาป’ ชาวพุทธพึงทำ เหมือนฆ่าปลาไปต้มแกง เอามาตักบาตรถวายพระ ย่อมเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ทำไปแล้วก็จะได้บุญ” ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเปรียบเทียบ และชี้ว่านี่คือ “ความรุนแรงตามคุณธรรม” (Virtuous Violence)


นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือ “มือปืนป็อบคอร์น” ได้รับการอภัยโทษ 2 ครั้ง ทำให้โทษลดลงเหลือ 6 ปี 11 เดือน 14 วัน จากคำพิพากษาศาลให้จำคุก 37 ปี 4 เดือน โดยเขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อ 15 ก.ย. 2565

ขณะที่ ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นปัญหาที่มาจากแนวคิด คนไม่เท่ากัน กับ ความรุนแรง เพราะ “พอคนไม่เท่ากัน ความดี-ไม่ดี จึงไปอยู่ที่ใครคือผู้มีบารมีสูงสุดใน Moral Universe (พื้นที่ศีลธรรม)” สมัยก่อนเรื่องความรุนแรง เป็นสิ่งที่รัฐไทยพยายามกระมิดกระเมี้ยนหรือเหนียมอายค่อนข้างมากในการทำ แต่ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เขาเห็นว่า “รัฐไทยหันมาใช้ความรุนแรงในนามของความดีอย่างโจ่งแจ้งและอุจาดขึ้น”

นักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ผู้นี้มองว่า รัฐประหาร 2549 “เป็นรัฐประหารที่โน้มนำอุดมการณ์จริง ๆ” และ “เป็นการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องศีลธรรม” ซึ่งปัญหาของการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องศีลธรรม รวมทั้งระบบกฎหมายคือ เกณฑ์ objective (ภววิสัย) ที่เคยใช้ ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กลายเป็นว่า ผู้ใดอยู่ฝั่งใดถึงผิด นั่นเท่ากับว่าการโยนองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายออกไปหมดเลย

“เราโยนหลักกลาง ๆ คือมีเสมอภาคด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะสีอะไร เชื่ออะไร เราไปใช้เกณฑ์ที่ subjective (อัตวิสัย) เช่น ดูก่อนว่าทำไปเพื่อความดีไหม ถ้าลงโทษ ก็ลงน้อย หรือไม่ลงโทษเลย หรือได้ประกันก่อน คือมันมีข้อยกเว้นเยอะมาก เราก็จะเห็นว่า กปปส. เองก็ถูกลงโทษเหมือนกัน แต่ถ้าดูจากความรุนแรงที่รัฐไทยปฏิบัติต่อ กปปส. กับเสื้อแดงมันต่างกัน ถึงที่สุดของ กปปส. ที่โดนจริง ๆ คือคนเล็กคนน้อย แต่แกนนำเฉียดไปเฉียดมา มันรอดตลอด อันนี้คือปัญหา พอวาทกรรมคนดีแทรกเข้าไปในระบบกฎหมาย พอจะตัดสินอะไร ต้องไปกางดูก่อนว่านี่อยู่ใน universe (จักรวาล) เราไหม ไอ้นี่พวกเราไหม ถ้าอยู่ กฎหมายก็อุ้มหรือคุ้มครองคนดีเหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดสิ่งที่บอกว่า เป็นคนดีจะทำอะไรก็ได้ เพราะความดีคุณมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำแล้ว มันขึ้นกับว่าคุณเชื่อถูกหรือเปล่า” ดร. เข็มทองกล่าว

เขาสรุปว่า การทำให้กฎหมายเป็นเรื่องศีลธรรม จึงไม่ต่างจากการ “ให้เช็กเปล่าคนจำนวนหนึ่งไปทำอะไรก็ได้ ขอแค่อยู่ให้ถูกฝั่ง” ซึ่งสภาพเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะกฎหมายมีหลักของมัน และคุมด้วยการกระทำ ไม่ใช่อุดมการณ์ ความคิดที่ว่ากฎหมายใช้กับบางอุดมการณ์และไม่ใช่กับบางอุดมการณ์เป็นเรื่องที่ผิดและอันตราย


สุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชน กปปส. ที่อยู่ระหว่างชุมนุม "ปิดกรุงเทพฯ" สวมเสื้อสีเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดีเนื่องในวันฉัตรมงคล 5 พ.ค. 2557

เปรียบฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นเสมือน “หุบเขาคนโฉด”

ดร. เข็มทองยังมองต่อไปถึงมรดกของ กปปส. จากการ “อนุญาตให้ใช้ความชั่วได้ในนามของความดี” ทำให้สภาพของฝ่ายอนุรักษนิยมดูไม่จืด พร้อมเปรียบเปรยฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นเสมือน “หุบเขาคนโฉด”

“ถ้าคุณจะมาทำมิจฉาทุจริตในแผ่นดินไทย อย่างแรกที่สุดคุณต้องเข้าพรรคให้ถูก พอเข้าถูก คุณอยากทำอะไรก็ได้ ถึงเวลาคุณรอดอยู่แล้ว อันนี้ผมไม่ได้พูดลอย ๆ ถ้าดูที่ผ่านมา แชร์ลูกโซ่ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก (ประธานโครงการ “คืนคุณแผ่นดิน” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน) คือคนที่เคยเป็นหัวหอกของฝ่ายอนุรักษนิยม”

ในความคิดของอาจารย์เข็มทอง ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจยึดถือคุณค่าคนละแบบกับเราได้ เชื่อในคุณธรรมอะไรบางอย่างที่อาจดูเก่า แต่ควรมีความสง่างามกว่านี้

“แต่ตอนนี้เราเห็นคนอย่างคุณอานันท์ (ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี) มหาจำลอง (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่า กทม. และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ) ปนอยู่กับพุทธะอิสระ เสี่ยโป้ (นายอภิรักษ์ ชัชอานนท์ จำเลยคดีชักชวนเล่นพนันฯ) หรือ เคร้อยล้าน เขาอาจจะมีวิกฤตจริง ๆ ถึงยอมจับมือกับคนพวกนี้ มันทำให้ดูเละเทะไปหมด ในสภาก็กวาดคนมาเยอะแยะ มันทำให้ตัวเองเป็นคนปากว่าตาขยิบ ในขณะที่ตัวเองยังพูดถึงคุณธรรมเก่า เชื่อถือความเป็นไทย แต่สิ่งที่ทำขัดกับที่พูดมาทุกอย่าง และมีหลักฐานด้วย มันเลยทำให้คนรุ่นใหม่เวลาพูด ‘คนดี’ กลายเป็น ‘คนกี’ ‘คนดีย์’ กลายเป็นเรื่องชวนหัวไป” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็น

ดร. เข็มทองเป็นอีกคนที่ชี้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อจากการที่ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้สะท้อนภาพที่ดีที่สุดตน มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ “แล้วใครจะอยากยึดความดี ถ้าคนที่พูดเรื่องความดี หน้าตาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้”

“ผี” กปปส. กับ เรื่องเล่าแม่บท

ท่ามกลางคำจำกัดความของ “คนดี” ที่แตกต่างกัน ศ.ดร. เกษียรเห็นว่า วาทกรรมคนดีของ กปปส. ได้แสดงบทบาทและพลังเหมือนเรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ โดยกลายเป็นหลักการ/ความหมายสำคัญสูงสุด และกำกับและกดทับวาทกรรมรองอื่น ๆ พร้อมยกตัวอย่างวาทกรรมของคนดีที่ไปกดทับวาทกรรมชุดอื่น ๆ ไว้ ดังนี้
  • วาทกรรมศีลธรรม : ธรรมราชา
  • วาทกรรมชาติ : ราชาชาตินิยม, ความเป็นไทย ซึ่ง ศ.ดร.เกษียรบอกว่า มีประโยคหนึ่งของ กปปส. ที่ทำให้เขาตกตะลึงคือ “คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย”
  • วาทกรรมประชาธิปไตย : ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
  • วาทกรรมกฎหมาย : ราชนิติธรรม, ราชธรรมนูญ
  • วาทกรรมจิตเวช : กรณีนายทิวากร วิถีตน สวมเสื้อยืดที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถูกหาว่าป่วยเป็นโรคจิต ถูกจับไปส่งโรงพยาบาลโรคจิต แต่กรณี “เคร้อยล้าน” ผู้มีชื่อจริงว่านายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา ได้รับการปล่อยเป็นอิสระ มันทำให้ความหมายของจิตเวชเปลี่ยนไป
  • วาทกรรมจริง/เท็จ : กรณีมีการแชร์ภาพและข้อความที่อ้างว่า ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 พร้อมข้อความบรรยายว่า “มหาราชผู้ยิ่งใหญ่’ ที่ไม่เคยสู้รบกับใคร แต่สามารถทำให้ทุกคนยกย่องสรรเสริญได้ ทั่วโลกยอมแพ้ได้ มีแค่คนเดียว คือ คิงภูมิพล" ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจนขณะนี้ก็ยังไม่อาจตรวจสอบแหล่งอ้างอิงที่แน่ชัดได้ แต่คนบางส่วนเชื่อว่า “น่าจะจริงได้ รออีกหน่อยก็จะจริง แค่ยังไม่จริงเท่านั้นเอง”
  • วาทกรรมประวัติศาสตร์ : ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน



ศ.ดร. เกษียรชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงความหมายของวาทกรรมปกติ เกิดจากการบังคับทางกฎหมาย และความรุนแรงของรัฐและภาคที่ไม่ใช่รัฐ ทำให้ “คนในสังคมเดียวกัน เข้าใจดี-ชั่ว จริง-เท็จ ผิด-ถูก ไม่เหมือนกัน สังคมไทยหลังผ่านประสบการณ์ กปปส. มาแล้ว ก็เจอกับภาวะแบบนี้และยังตกค้างกับสภาวะแบบนี้”

นักรัฐศาสตร์อาวุโสยังเปรียบเปรยปฏิบัติการที่ กปปส. ทำว่าเป็นความสุดโต่งที่ปรากฏมาเหมือน “ผี” ที่เคยอ่านในนิทาน จึงไม่ขอประเมินในแง่ดีว่าจะไม่มี “ผี” ตนอื่นปรากฏกายขึ้นมาอีกหลังจากนี้

“ผมคิดว่าแต่ก่อนอนุรักษนิยมไทยสติดี แต่หลังจาก กปปส. ผมว่ามันหายไปหมดเลย... แต่ในแง่กลับกัน มองว่าอะไรที่ขาดพร่องไป ผมคิดว่าการเชื่อในความดีอย่างยิ่งของอำนาจแบบสมัยรัชกาลก่อน การเชื่อในความดีอย่างยิ่งของอำนาจว่าเป็นไปได้ รักษาไว้ได้ มันไม่น่าจะมีอีกแล้ว ผมคิดว่ามันเปลี่ยนแปลง เมื่อความเชื่อในความดีอย่างยิ่งของอำนาจมันลดน้อยถอยลง ก็อาจจะทำให้ความสุดโต่งน้อยลงได้ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ” ศ.ดร. เกษียรกล่าว

“อาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี”

ในวงเสวนาวันนี้ ศ.ดร. เกษียรเปิดฉากสนทนาด้วยการอัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) ที่พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อ 11 ธ.ค. 2512 มาฉายขึ้นจอภาพ

"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"

ศ.ดร. เกษียรระบุว่า ได้ยินพระบรมราโชวาทนี้บ่อยมากในช่วงหลังเหตุการณ์ พฤษภา 2535

ทว่าถ้าย้อนไปก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 มีประกาศสำนักพระราชวังเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อเวลา 22.44 น. ของวันที่ 23 มี.ค. 2562 โดย ร.10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังอัญเชิญพระบรมราโชวาท ร.9 เมื่อ 50 ปีก่อน มาให้ประชาชนในชาติได้ทบทวนและตระหนักถึงพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ “เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นการเตือนสติ ให้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสมัครสมานสามัคคี ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และความสุขของประชาชน”


หลังจากนั้นผู้ใช้งานทวิตเตอร์ได้ทวีตและรีทวีตข้อความในคืนก่อนวันเลือกตั้งจนถึงวันเข้าคูหา 24 มี.ค. 2562 ทำให้แฮชแท็ก #โตแล้วเลือกเองได้ และ #คนดี ขึ้นเป็น 2 ใน 5 เทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยม


ทีวีพูลเผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อ 23 มี.ค. 2562

น่าสนใจว่า การปรากฏขึ้นของพระบรมราชโชวาทในจังหวะสำคัญทางการเมืองส่งผลต่อการรับรู้และเข้าใจเรื่อง “คนดี” และ “คนไม่ดี” ในสังคมไทยอย่างไร

ศ.ดร. เกษียรอธิบายว่า เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จไม่เคยเบ็ดเสร็จเต็มร้อย และสิ่งที่ประกอบเรียกว่าความเป็นไทย ก็ไม่ได้มีมาจากเบื้องบน และก็ไม่ได้มีแต่พุทธศาสนาเท่านั้น ต่อให้เป็นกระแสหลักของความคิดและความหมายที่อยากให้ทุกคนเดินตามแม่บทนั้น แต่ถ้าไม่ตอบสนองประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วงและแต่ละรุ่น มันย่อมไม่กินใจพวกเขา และเขาย่อมแสวงหาเรื่องเล่าอื่นหรือความหมายอื่นที่กินใจเขามากกว่าหรือตอบเขามากกว่า

นักรัฐศาสตร์ ผู้เป็นอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 2519 เล่าว่า ภายหลังรัฐประหารโดย คสช. ได้ไม่นาน เขามีโอกาสพบปะพรรคพวกคนเดือนตุลา และเชิญ ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และอดีตอาจารย์กลุ่ม “นิติราษฎร์” มาร่วมงานด้วย ซึ่งภายหลังรัฐประหาร อาจารย์วรเจตน์ถูกกดดันมาก ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

“วันนั้นเราได้อภิปรายความรู้สึก สภาพบ้านเมืองอะไรต่าง ๆ พอถึงตอนจบ ผมได้รับมอบหมายให้พูดอะไรบางอย่างให้อาจารย์วรเจตน์ ผมนึกอะไรไม่ออกในบรรยากาศตอนนั้น ผมนึกออกอย่างเดียวว่าอาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี... อาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี ไม่มีใครสามารถผูกขาดความหมายของคำว่าคนดีและความดีได้ต่อไปผู้เดียว ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนที่ผมพูดประโยคนี้เสร็จ อาจารย์วรเจตน์น้ำตาไหล” ศ.ดร. เกษียรย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน


ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อดีตแกนนำคณะนิติราษฎร์ บอกว่า "ไม่เสียใจ" แม้การขับเคลื่อนให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน ยังไม่สำเร็จ ระหว่างร่วมงานเสวนาเมื่อ 13 พ.ย. 2565

อาจารย์เกษียรเสนอว่า ในจังหวะที่เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จเดิมไม่ตอบประสบการณ์ใหม่ มันไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องเล่าเบ็ดเสร็จชุดใหม่ได้ทันที แต่ต้องใช้เวลาสั่งสม บางทีเป็นแค่ความรู้สึก เสียงบ่น การแสดงแปลก ๆ เช่น ใส่ชุดไดโนเสาร์ออกมาเต้นรำ เป็นต้น แต่มันคือจังหวะเต้นของหัวใจที่ไม่ยอมสยบ และต้องให้เวลากับมัน โครงสร้างความรู้สึกแบบนี้ก็จะค่อย ๆ หล่อหลอมอย่างเป็นระบบมากขึ้น รอให้คนมาจัดมันให้เป็นข้อคิด แนวคิด วาทกรรม ข้อเสนอที่เป็นระบบ ดังนั้นเราต้องให้โอกาสกับความคลุมเครือ และความพยายามสร้างเรื่องเล่าแม่บทใหม่ในสังคม

เกษียรไม่มีปัญหากับ “สลิ่มกลับใจ”

ในช่วงชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร/ราษฎร” เมื่อปี 2563-2564 มีอดีตแนวร่วม กปปส. ออกมาขอโทษที่เคยร่วม “เป่านกหวีด” และนำไปสู่รัฐประหาร 2557 ทำให้เกิดคำถามว่าปรากฏการณ์ “สลิ่มกลับใจ” ส่งผลให้นิยาม “คนดี” เปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร

ส่วนตัวของ ศ.ดร. เกษียรบอกว่าไม่ได้มีปัญหากับตัวบุคคล คิดว่าบุคคลเปลี่ยนความคิดได้ แต่มีปัญหากับบุคคลที่ยึดติดกับอำนาจ ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด แล้วใช้อำนาจนั้นทำร้ายคนอื่น

“เวลาคุณทำร้ายคนด้วยอำนาจ โดยเฉพาะใช้ความรุนแรงในการทำร้าย คำขอโทษคืนความเป็นคนที่คุณทำร้ายลงไปไม่ได้ และคำขอโทษ ผมไม่แน่ใจว่าคืนความเป็นคนที่คุณทำลายลงไปเองเวลาคุณทำร้ายคนอื่น มันจะคืนได้หรือเปล่า” ศ.ดร. เกษียรกล่าว


ศ.ดร. เกษียร (บนจอภาพ) บอกว่า ศัตรูที่ทำให้สังคมไทยไม่ก้าวหน้าคือ อำนาจ กับ ความคิด
....
คลิปเกี่ยวข้อง


ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย: รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

PITVNEWS

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ดิเรกเสวนา "ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : ศีลธรรม ความรุนแรง และการเมืองวัฒนธรรมขวาไทย"

ผลงานของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง "ให้คนดีปกครองบ้านเมือง" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องแนวคิด “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แนวความคิดนี้มิได้เพิ่งก่อตัวขึ้นในยุควิกฤตการเมืองปัจจุบัน แต่มีรากฐานย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารในสมัยทศวรรษ 2500 - 2510 ที่ชนชั้นนำจารีตและกองทัพประดิษฐ์สร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักในการกล่อมเกลาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจรวมทั้งให้ความชอบธรรมกับระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉ้อฉล รุนแรง และขาดความชอบธรรม 

จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ณ ห้อง ร.102 (ชั้น1) วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565


ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย: ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ

PITVNEWS

Nov 21, 2022

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิเรกเสวนา "ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : ศีลธรรม ความรุนแรง และการเมืองวัฒนธรรมขวาไทย"

ผลงานของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง "ให้คนดีปกครองบ้านเมือง" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องแนวคิด “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แนวความคิดนี้มิได้เพิ่งก่อตัวขึ้นในยุควิกฤตการเมืองปัจจุบัน แต่มีรากฐานย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารในสมัยทศวรรษ 2500 - 2510 ที่ชนชั้นนำจารีตและกองทัพประดิษฐ์สร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักในการกล่อมเกลาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจรวมทั้งให้ความชอบธรรมกับระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉ้อฉล รุนแรง และขาดความชอบธรรม

จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ณ ห้อง ร.102 (ชั้น1) วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565


ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย: ศ.สายชล สัตยานุรักษ์


ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย: ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง