วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 24, 2565

วันนี้...ข้าวหอมมะลิไทย นางเอกตลอดกาลของเราเสียแชมป์ข้าวโลก แพ้ผกาลำดวนจากกัมพูชา ในเรื่องของกลิ่น

#สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย #หอมมะลิไทย #ข้าวผกาลำดวน
ไทยเสียแชมป์ข้าวโลก! “ผกาลำดวน” เฉือนชนะ “หอมมะลิ” l ย่อโลกเศรษฐกิจ 22 พ.ย.65

TNN Online

Nov 22, 2022

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผย "หอมมะลิไทย" พลาดท่า "ข้าวผกาลำดวน" จากกัมพูชาคว้าแชมป์โลกปี 65 เหตุกลิ่นหอมน้อยกว่า ผู้ส่งออกจี้รัฐเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้ดีขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนผลิต ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันเพื่อนบ้านไม่ได้
.....

เรื่องเล่า ข่าวเกษตร
1d

หลังไมค์แทบแตก แอดไม่ได้ขายพันธุ์ข้าว "ผกาลำดวน" นะครับ ส่วนที่ถามมาว่า..."ผกาลำดวน" ชนะข้าว"หอมมะลิ 105"เราได้อย่างไร
คำตอบคือ....ข้าวหอมมะลิ 105 แพ้ ผกาลำดวน 1 คะแนน แพ้ที่ความหอม?
นี่คือคำอธิบายจากกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นเชฟชาวสหรัฐฯ ได้อธิบายเหตุผลว่า ข้าวหอมมะลิของไทย กับ ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนนั้น มีดีเหมือนกันตรงที่ตัวคุณภาพข้าวและรสชาติดี แต่แพ้กันในเรื่องของกลิ่น ที่ระหว่างกำลังหุงนั้น ข้ามหอมมะลิผกาลำดวนนั้นจะมีกลิ่นที่หอมมากกว่า ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยกลิ่นหอมน้อยกว่า....
ยอมรับโดยดี..ข้าวบ้านเราเวลานี้ ความหอมสู้ไม่ได้จริงๆ สมัยก่อนหุงข้าวทีหอมไปสามบ้านแปดบ้าน ตอนนี้นะหรือ เอาจมูกไปดมก็ยังไม่เจอความหอมเลย
ทำไมข้าวหอมของไทยความหอมจึงลดลง พรุ่งนี้จะสืบสาวราวเรื่องกับนักวิชาการกรมการข้าวให้นะครับ...

เรื่องเล่า ข่าวเกษตร
13h

ทำไมข้าวหอมมะลิไทยไม่หอมเหมือนในอดีต เจาะกลางใจ โดยขุนพิเรนทร์
.
คลื่นสึนามิใหญ่ตามมาหลังจากที่ปีนี้ข้าว "หอมมะลิ" ของไทย แพ้ "ผกาลำดวน" ไปแบบเฉียดฉิวเพียงหนึ่งคะแนน และแพ้เพราะความหอมที่น้อยกว่า "ผกาลำดวน" เกิดอะไรขึ้นกับ ข้าวระดับตำนานของไทย แพ้อะไรไม่แพ้ แพ้เพราะหอมน้อยกว่า ทั้งๆที่สมัยก่อนเราหุงข้าวทีได้กลิ่นไปสามบ้านแปดบ้าน
.
เมื่อมีประเด็นสังคมสงสัยและแคลงใจเรื่องนี้เลยต้องเสาะหาคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกรมการข้าว เอาให้สุดและอย่าได้หยุดเรื่องการพัฒนา แพ้ในวันนี้ไม่ใช่วิกฤติแต่เป็นสิ่งที่ภาคการผลิตต้องร่วมมือกัน
.
ข้าวหอมมะลิไทยที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมากที่สุด คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 รองลงมาคือ กข15 โดยเฉพาะนางเอกตลอดกาล คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ครองความนิยมในใจของผู้บริโภคมานาน 60 ปี นับตั้งแต่ผ่านการรับรองพันธุ์
.
นอกจากรูปลักษณ์ที่เป็นข้าวสุกขาว นุ่มแล้ว ยังมีเสน่ห์ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ แม้มีพันธุ์ข้าวหอมใหม่ๆ รับรองพันธุ์ แต่ก็ยังไม่อาจเทียบเท่า ทว่าในระยะหลังปัญหาข้าวหอมมะลินั้น มักจะมีคำถามว่า “ทำไมข้าวหอมในปัจจุบันน้อยลง?” จนสาวลึกไปจนถึง “เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกมีคุณภาพดีเหมือนเดิมหรือไม่?”
.
ในเรื่องนี้ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้ไขข้อข้องใจ ดังนี้
ประเด็นแรก คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในปัจจุบัน กรมการข้าวมีงานวิจัยเรื่องความหอมข้าวขาวดอกมะลิ 105 ยืนยันแล้วว่าพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมล็ดพันธุ์แท้จากกรมการข้าว ไม่พบว่ามีความแปรปรวนของลักษณะสรีระและทางพันธุกรรม รวมทั้งลักษณะทางการการเกษตรแต่อย่างใด และได้พิสูจน์ความหอมแล้วยังมีความหอมเหมือนเดิมไม่น้อยลง
.
ประเด็นที่สอง ปัญหาความหอมของข้าวที่ลดลง จากงานวิจัยที่ทำการศึกษา พบว่าคุณภาพเมล็ดทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และความหอมของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีความแปรปรวน โดยเฉพาะความหอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการในแปลงนาและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
.
นั่นเป็นเพราะพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกจากพันธุ์พื้นเมืองที่ปรับตัวได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ต้นสูง ฟางข้าวอ่อนล้มได้ง่าย
.
ดังนั้น จึงเหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ดินทรายมีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ในช่วงข้าวออกดอกซึ่งเป็นระยะที่ข้าวสะสมแป้งน้ำในนาจะซึมลงใต้ดิน ทำให้น้ำไม่ขังแปลง เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการสร้างสารหอมระเหย 2 AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) จึงทำให้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีความหอมมาก อีกทั้งในช่วงข้าวสะสมแป้งเป็นช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น หากปีใดมีอากาศเย็น (อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส) ในช่วงระยะเวลายาวนานจะทำให้สารหอมระเหยในข้าวจะคงอยู่ในเมล็ดข้าวได้มาก ผลผลิตข้าวปีนั้นจะหอมมากกว่าปีที่มีอากาศร้อน
.
แล้วเราจะมีการจัดการปลูกข้าวหอมให้มีคุณภาพและความหอมที่ดีที่สุดอย่างไร เรื่องนี้ ท่านอธิบดีกรมการข้าว มีคำตอบว่า
1.การจัดการน้ำ การระบายน้ำออกจากแปลงนาหลังระยะออกดอก 7 วัน จะทำให้การสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น คุณภาพการสี และคุณภาพหุงต้มรับประทานดีขึ้น
.
2. การจัดการธาตุอาหารในดิน ธาตุหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตสเซียม และธาตุรอง ได้แก่ แคลเซียม ซัลเฟอร์ แมงกานีส และแมกนีสเซียม ที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุดดิน จะทำให้ข้าวสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น
.
3. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยรักษาความหอม ต้องเก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง คือระยะ 25-30 วันหลังออกดอก
.
4. การจัดการเก็บรักษาข้าวสารเพื่อช่วยรักษาความหอมข้าวให้นานขึ้น โดยสภาพปกติเก็บควรเก็บข้าวสารไม่เกิน 5 เดือน หากเป็นไปได้เก็บในที่ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ยาวนานกว่าสภาพปกติและคงคุณภาพที่ดีกว่า
.
ใขข้อข้องใจเรื่องความหอมแล้ว มาดูสถานการณ์ปัจจุบัน อธิบดีกรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่อยู่ในพื้นที่ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการปลูกข้าวหอมมะลิให้ได้คุณภาพ ตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ จนกระทั่งถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อปัจจัยความหอมของข้าวทั้งสิ้น
.
ส่วนคำถามว่าสถานการณ์ผลิตข้าวหอมมะลิปัจจุบันนี้ เอื้อต่อการรักษาคุณภาพความหอมหรือไม่ เนื่องจากมีข้อสังเกตว่ากระบวนการผลิตข้าวในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากในอดีตหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเครื่องเกี่ยวนวดมาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ทำให้ข้าวที่เกี่ยวได้มีความชื้นสูงกว่าการเกี่ยวด้วยมือและตากให้แห้งก่อนนำเข้าโรงสี ในขณะที่ข้าวที่ได้จากเครื่องเกี่ยวนวดจะต้องนำไปลดความชื้นอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงจะทำให้คุณภาพที่ดีได้มาตรฐาน
.
ดังนั้น ความหอมของข้าวหอมมะลิในปัจจุบันต้องผ่านกระบวนการอบลดความชื้น จึงทำให้มีโอกาสที่จะมีแนวโน้มทำให้ความหอมน้อยลงไปจากกระบวนการผลิตข้าวแบบดั้งเดิม
.
ในปี 2566 กรมการข้าว ได้มอบหมายให้กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ผลผลิตข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เฉลี่ยเพียง 353 กิโลกรัมต่อไร่ สาเหตุหนึ่ง มาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เองหลายรอบ มีคุณภาพต่ำลง การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดี มีปัจจัยหลายอย่างทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี
.
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ปัญหาสำคัญที่พบและเป็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบันเพราะมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพข้าวไทย ก็คือ ชาวนาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีชาวนามักจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ใชเองต่อเนื่องกันหลายปีส่งผลให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพต่ำ จากสาเหตุมีข้าวแดงและพันธุ์อื่นปนทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
.
กรมการข้าว จึงเห็นสมควรส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ผลิตและจำหน่ายโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
.
วันนี้...ข้าวหอมมะลิไทย นางเอกตลอดกาลของเราแพ้ผกาลำดวน แต่แพ้แค่วันนี้เท่านั้น กรมการข้าวพร้อมที่จะสนับสนุนให้ชาวนาได้ผลิตข้าวคุณภาพออกสู่ตลาดเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ