พิธีฝังหมุดคณะราษฎร กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ข้างหลังภาพ
นริศ จรัสจรรยาวงศ์
25 พฤศจิกายน
2565
สถาบันปรีดี พนมยงค์
“การฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ชุมนุมกันกระทำ เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ เปนเหตุการณ์ที่จับใจตรึงใจประชาชนทั่วหน้า หมุดนั้นแทนดวงใจของบรรดาท่านวีระบุรุษแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเมื่อก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ฝังดวงใจไว้ในรัฐธรรมนูญ ท่านเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะก่อกำเนิด ยังตามพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ตลอดเสมอไปด้วย”
กุหลาบ สายประดิษฐ์
หมุดคณะราษฎรเมื่อครั้งทำพิธีฝังราก
จนกระทั่ง 6 ปีล่วงไปแล้ว นับแต่ “หมุดคณะราษฎร” ได้อันตรธานหายไปเมื่อต้นสงกรานต์ พ.ศ. 2560 สังคมไทยยังมิอาจหยั่งรู้ถึงชะตากรรมถาวรวัตถุสัญลักษณ์ประชาธิปไตยชิ้นประวัติศาสตร์นี้[1] นอกเหนือจากรูปภาพความทรงจำ ในแง่เอกสารยังคงหลงเหลือหน้ากระดาษลายมือสุนทรพจน์[2] ของ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรที่จุดจุดนี้ เมื่อย่ำรุ่งวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และ ณ บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 บุคคลท่านเดียวกันนี้ได้หวนกลับมาอีกครั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นประธานในพิธีฝังหมุดจารึกที่จารึกข้อความไว้ว่า
“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
สุนทรพจน์พิธีฝังหมุดฉบับเต็มนี้ได้รับการนำเสนอในหนังสือพิมพ์ประชาชาติในอีกสองวันถัดมา คือวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479 พร้อมตีพิมพ์ปาฐกถา “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวผ่านวิทยุกระจายเสียงในวันเดียวกันนั้นเองที่ยังคงพอทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงสุรเสียงอันกึกก้องอยู่ในใจราษฎรทั่วประเทศสยามยามนั้น
นอกเหนือจากสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศในวาระพิธีฝังหมุดคณะราษฎรนี้ ยังนับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ต่อจากนั้นอีกราวหนึ่งอาทิตย์ “ศรีแห่งวรรณกรรมไทย”[3] นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ นักมนุษยภาพ[4] คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้บรรจงเขียนบทความตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเมื่อวันที่ 15 ชื่อว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญ” และ 18 ธันวาคม ชื่อว่า “ความเสมอภาค” ผู้เขียนได้เอ่ยอ้างถึงหมุดคณะราษฎรลงในบทความทั้งสองชิ้นนี้ด้วยวาทะอันเพราะพริ้ง เปี่ยมด้วยสัจจะในหลักการประชาธิปไตยที่แม้เมื่อได้อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ในสมัยปัจจุบัน ยังคงความร่วมสมัยเป็นอกาลิโกมิรู้เลือน
บทความคู่นี้พบว่ายังไม่เคยถูกเผยแพร่ผลิตซ้ำนับจากกาลครั้งนั้น รวมถึงมิได้ถูกผนวกรวมเข้าไว้ในข้อเขียนการเมืองจำนวน 53 ชิ้นระหว่าง พ.ศ. 2474 - 2496 ที่เมื่อครั้งวาระ 100 ปีชาตกาลได้รับการรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นอย่างดียิ่งโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในชื่อเล่มว่า “มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ” อีกทั้งไม่ปรากฏในความเรียงและสารคดีเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์ขึ้นในวาระเดียวกันโดยบรรณาธิการท่านเดียวกันแต่อย่างใด[5]
ชุดหนังสือครั้งงานชาตกาล 100 ปี พ.ศ. 2548 โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
บริบทของงานเขียนการเมืองคู่นี้ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุบัติขึ้นภายหลังเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นไม่นาน โดยบรรณาธิการหนุ่มนักหนังสือพิมพ์ในวัยเริ่ม 31 ปีได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์อาซาฮีเดินทางไปดูงานและท่องเที่ยวเมื่อพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาราวครึ่งปี[6] ก่อนเดินทางกลับมาราวเดือนพฤศจิกายนและได้รับรู้ถึงพิธีฝังหมุดในงานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ถึงแม้จะมิได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติต่อไปอีกแล้วก็ตาม[7] แต่ยังคงเขียนบทความและนวนิยายลงในหนังสือพิมพ์แห่งนี้ โดยเฉพาะหลังจากนั้นอีกหนึ่งปีจึงได้นำบรรยากาศชีวิตช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นปรุงแต่งเป็นเรื่องประโลมใจ[8] ให้ชื่อว่า “ข้างหลังภาพ” ทยอยเผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์เดียวกันนี้โดยลงตอนแรกฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480[9] จนกระทั่งสิ้นสุดถึงตอนที่หนึ่งในบทที่ 12 ด้วยฉาก ม.ร.ว.กีรติ อำลา นพพร ณ ท่าเรือโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480 (ปฏิทินเก่า)[10] ศรีบูรพาแถลงไว้ในตอนจบภาคต่างประเทศจำนวน 12 บทของ ข้างหลังภาพ ใน ประชาชาติ ไว้ว่า
“หนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ได้เชิญให้ข้าพเจ้าประพันธ์เรื่องประโลมใจลงพิมพ์ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้นโดยทำความตกลงไว้ว่า จะประพันธ์เรื่องยาวขนาด ๖-๘ สัปดาห์ ลงในหนังสือพิมพ์นี้ ข้าพเจ้าจึงได้คิดประดิษฐ์เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ขึ้น.
เมื่อจบชีวิตในโตเกียวของหม่อมราชวงษ์กีรติและนพพร ซึ่งเปนตอนที่หนึ่งของเรื่องนี้ เวลาที่ลงพิมพ์ก็ล่วงไปราว ๗ สัปดาห์ เปนการเหมาะกับกำหนดเวลาที่ได้ทำความตกลงกันไว้แต่ต้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงยุตติการประพันธ์ไว้ตอนหนึ่ง.
โครงเรื่องนี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้กำหนดไว้นั้น ยังจะต้องประพันธ์ถึงชีวิตของคนทั้งสองในกรุงเทพฯ อีกตอนหนึ่ง จึ่งจะเปนไปตามโครงเรื่องโดยบริบูรณ์.
ข้าพเจ้าต้องการจะประพันธ์เรื่องนี้ด้วยความสะดวกใจพอโดยไม่รีบเร่ง เพื่อว่าข้าพเจ้าจะได้ใช้ความประณีตในเรื่อง ซึ่งข้าพเจ้าพอใจเปนอันมากนี้ อย่างดีที่สุดที่จะทำได้.
เมื่อได้แต่งตอนที่สองอันเปนตอนจบบริบูรณ์เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจะได้มอบให้สำนักนายเทพปรีชาซึ่งพิมพ์เรื่อง ‘ความรักของเยนแอร์’ จัดพิมพ์เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ทั้งสองตอน เปนหนังสือเล่มเดียวกัน. ท่านสมาชิกของหนังสือพิมพ์นี้ย่อมมีโอกาสจะได้อ่านเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ โดยบริบูรณ์ ในหนังสือเล่มนั้น.
ผู้แต่ง
๒๕ มกร.๘๐”
เปิดตัว “ข้างหลังภาพ” ในบรรณพิภพ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480
จบตอนหนึ่ง “ข้างหลังภาพ” ประชาชาติ 26 มกราคม พ.ศ. 2480
สำนักพิมพ์นายเทพปรีชา ที่ศรีบูรพาร่วมกันกับมิตรสหายก่อตั้งขึ้นได้ผนวกรวมภาคในประเทศต่ออีก 7 บท รวมเป็นข้างหลังภาพทุกวันนี้ที่ 19 บทจบตีพิมพ์กับโรงพิมพ์พระจันทร์ในปีเดียวกันนั้นเองหากนับตามปฏิทินใหม่ พ.ศ. 2481[11] อย่างไรก็ตามต่อจากนั้นอีกราว 5 ปีใน พ.ศ. 2486 ศรีบูรพา ได้เขียนเรื่องสั้น “นพพร-กีรติ” ไว้ให้กับสำนักพิมพ์อุดมในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อว่า “ผาสุก”[12] ซึ่งพิมพ์ด้วยอักขระปฏิวัติภาษาสมัยจอมพล ป.[13]
บริบทของงานเขียนการเมืองคู่นี้ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุบัติขึ้นภายหลังเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นไม่นาน โดยบรรณาธิการหนุ่มนักหนังสือพิมพ์ในวัยเริ่ม 31 ปีได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์อาซาฮีเดินทางไปดูงานและท่องเที่ยวเมื่อพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาราวครึ่งปี[6] ก่อนเดินทางกลับมาราวเดือนพฤศจิกายนและได้รับรู้ถึงพิธีฝังหมุดในงานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ถึงแม้จะมิได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติต่อไปอีกแล้วก็ตาม[7] แต่ยังคงเขียนบทความและนวนิยายลงในหนังสือพิมพ์แห่งนี้ โดยเฉพาะหลังจากนั้นอีกหนึ่งปีจึงได้นำบรรยากาศชีวิตช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นปรุงแต่งเป็นเรื่องประโลมใจ[8] ให้ชื่อว่า “ข้างหลังภาพ” ทยอยเผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์เดียวกันนี้โดยลงตอนแรกฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480[9] จนกระทั่งสิ้นสุดถึงตอนที่หนึ่งในบทที่ 12 ด้วยฉาก ม.ร.ว.กีรติ อำลา นพพร ณ ท่าเรือโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480 (ปฏิทินเก่า)[10] ศรีบูรพาแถลงไว้ในตอนจบภาคต่างประเทศจำนวน 12 บทของ ข้างหลังภาพ ใน ประชาชาติ ไว้ว่า
“หนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ได้เชิญให้ข้าพเจ้าประพันธ์เรื่องประโลมใจลงพิมพ์ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้นโดยทำความตกลงไว้ว่า จะประพันธ์เรื่องยาวขนาด ๖-๘ สัปดาห์ ลงในหนังสือพิมพ์นี้ ข้าพเจ้าจึงได้คิดประดิษฐ์เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ขึ้น.
เมื่อจบชีวิตในโตเกียวของหม่อมราชวงษ์กีรติและนพพร ซึ่งเปนตอนที่หนึ่งของเรื่องนี้ เวลาที่ลงพิมพ์ก็ล่วงไปราว ๗ สัปดาห์ เปนการเหมาะกับกำหนดเวลาที่ได้ทำความตกลงกันไว้แต่ต้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงยุตติการประพันธ์ไว้ตอนหนึ่ง.
โครงเรื่องนี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้กำหนดไว้นั้น ยังจะต้องประพันธ์ถึงชีวิตของคนทั้งสองในกรุงเทพฯ อีกตอนหนึ่ง จึ่งจะเปนไปตามโครงเรื่องโดยบริบูรณ์.
ข้าพเจ้าต้องการจะประพันธ์เรื่องนี้ด้วยความสะดวกใจพอโดยไม่รีบเร่ง เพื่อว่าข้าพเจ้าจะได้ใช้ความประณีตในเรื่อง ซึ่งข้าพเจ้าพอใจเปนอันมากนี้ อย่างดีที่สุดที่จะทำได้.
เมื่อได้แต่งตอนที่สองอันเปนตอนจบบริบูรณ์เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจะได้มอบให้สำนักนายเทพปรีชาซึ่งพิมพ์เรื่อง ‘ความรักของเยนแอร์’ จัดพิมพ์เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ทั้งสองตอน เปนหนังสือเล่มเดียวกัน. ท่านสมาชิกของหนังสือพิมพ์นี้ย่อมมีโอกาสจะได้อ่านเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ โดยบริบูรณ์ ในหนังสือเล่มนั้น.
ผู้แต่ง
๒๕ มกร.๘๐”
เปิดตัว “ข้างหลังภาพ” ในบรรณพิภพ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480
จบตอนหนึ่ง “ข้างหลังภาพ” ประชาชาติ 26 มกราคม พ.ศ. 2480
สำนักพิมพ์นายเทพปรีชา ที่ศรีบูรพาร่วมกันกับมิตรสหายก่อตั้งขึ้นได้ผนวกรวมภาคในประเทศต่ออีก 7 บท รวมเป็นข้างหลังภาพทุกวันนี้ที่ 19 บทจบตีพิมพ์กับโรงพิมพ์พระจันทร์ในปีเดียวกันนั้นเองหากนับตามปฏิทินใหม่ พ.ศ. 2481[11] อย่างไรก็ตามต่อจากนั้นอีกราว 5 ปีใน พ.ศ. 2486 ศรีบูรพา ได้เขียนเรื่องสั้น “นพพร-กีรติ” ไว้ให้กับสำนักพิมพ์อุดมในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อว่า “ผาสุก”[12] ซึ่งพิมพ์ด้วยอักขระปฏิวัติภาษาสมัยจอมพล ป.[13]
“ข้างหลังภาพ” พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2481
ก่อนหน้า ข้างหลังภาพ นวนิยายที่ถูกผลิตซ้ำมากที่สุดของผู้เขียน ด้านบทความการเมืองปรากฏบทความจำนวนหนึ่งที่เลื่องชื่อควบคู่กับนักประพันธ์ชื่อก้องท่านนี้ เช่น มนุษยภาพ (10 ม.ค. 2474 ปฏิทินเก่า) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองราวครึ่งปีจนเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิดชั่วคราว ไล่เรียงมาถึงบทความในหนังสือพิมพ์เดียวกันอีก 4 ชิ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ สร้างสยามใหม่ในชั่วเวลา 7 วัน (5 ก.ค. 2475), สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน (9 ก.ค. 2475), ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน (12 ก.ค. 2475) และ ความเชื่อมั่นของสยามใหม่ อยู่ที่คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคล (16 - 17 ก.ค. 2475)[14] จนเมื่อคราวกบฏบวรเดชได้เขียนเรื่องสั้นในนามศรีบูรพาชื่อว่า ลาก่อนรัฐธรรมนูญ “อุทิศแด่วีรชน ๑๗ นาย ซึ่งได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อความสันติสุขของประชาชาติไทย”[15] ฉะนั้นกล่าวได้ว่า บทความคู่นี้ที่เขียนถึง “หมุดคณะราษฎร” ครั้งนั้นของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ย่อมมีความเฉิดฉายและร่วมประดับเป็นหนึ่งในบันทึกความทรงจำชิ้นสำคัญต่อการรำลึกเหตุการณ์ครั้งนั้น
ในการนำเสนอบทความครั้งนี้จึงขอคัดลอกต้นฉบับแบบคงคำสะกดและเครื่องหมายต่างๆ ไว้โดยมิได้ตัดทอน มีเพียงเน้นย้ำบางข้อความที่กล่าวถึง “หมุดคณะราษฎร” และ การปฏิเสธวิถีเผด็จการในสมัยนั้นด้วยการยกตัวอย่างสองบุคคลคือ ฮิตเลอร์และมุสโสลินี
สาระสำคัญในบทความ คือ การสาธยายสรรเสริญระบอบรัฐสภาอันมีตัวแทนของราษฎร รวมถึงการให้ความสำคัญต่อ “คณะการเมือง” หรือไวพจน์ของชื่อเรียก “พรรคการเมือง” ในเวลาต่อมา บทความทั้งสองชิ้นนี้ฉายภาพให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่มั่นคงแน่วแน่มิคลอนแคลนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในหลักแห่งประชาธิปไตยด้วยวัยเพียง 31 ปี
ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เคยนำเสนอบันทึกเทศนาการเมืองร่วมสมัยอีกหนึ่งคู่ของพุทธทาสภิกขุเมื่อปี พ.ศ. 2481 ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญของเรา”[16] และ “ปาฐกถาปลูกนิสัยให้รักรัฐธรรมนูญ”[17] การได้อ่านบทความรัฐธรรมนูญของกัลยาณมิตรผู้โดดเด่นทางโลกและทางธรรมของทั้งสองท่านนี้ คือทั้ง ศรีบูรพา และ พุทธทาส ที่ประพันธ์ขึ้นห่างกันเพียงสองปี แลดูจะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของราษฎรไทยยามนั้นที่มีต่อรูปแบบการเมืองระบอบใหม่ภายใต้ยุคสมัยของคณะราษฎรได้ดียิ่ง
Bangkok Post ลงข่าว กุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ได้รับเชิญไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2479
อนึ่ง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ดูเหมือนจะมีความประทับใจในหมุดคณะราษฎรจนถึงกับนำภาพสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองชิ้นนี้ประทับเพื่อเป็นภาพจำบนปกหนังสือ “เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕”[18] ได้รับการรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม พ.ศ. 2490[19] บันทึกสำคัญฉบับนี้ผลิตขึ้นภายหลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 ผู้ให้สัมภาษณ์หนังสือเล่มนี้ถึงแก่อสัญกรรมล่วงแล้วเดือนเศษ และก่อนหน้าจะมีงานฌาปนกิจของท่านเพียงค่อนเดือน
หนังสือ “เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” พิมพ์ครั้งแรก 28 มีนาคม พ.ศ. 2490
ระบอบรัฐธรรมนูญ ประชาชาติ วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2479 หน้า 5 ต่อหน้า 33 (หลังพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 5 วัน)
ระบอบรัฐธรรมนูญ
กุหลาบ สายประดิษฐ์
งานฉลองรัฐธรรมนูญ ได้ผ่านไปแล้ว เราควรจะพินิจ พิจารณาดูว่า ในวาระที่เราทำการฉลองรัฐธรรมนูญรอบปีที่สี่นี้ ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเลื่อมใสศรัทธา ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ฝังแน่นอยู่ในดวงใจของประชาชนยิ่งขึ้นเปนลำดับมา.
ในประการแรก เรามีความยินดี ที่ได้ทราบความคิดเห็นของคณะกรรมการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย ท่านรัฐมนตรี ท่านผู้แทนราษฎร ท่านข้าราชการ ทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน ในข้อที่ได้ดำริปรับปรุงงานฉลองรัฐธรรมนูญให้บังเกิดผล โดยมิใช่แต่ในทางบรรเทิงเริงรมย์เท่านั้น หากยังมุ่งหมายให้เกิดคุณประโยชน์ในทางส่งเสริมกำลังวังชาของบ้านเมืองอีกด้วย. คณะกรรมการได้จัดงานนี้ โดยยึดถือหลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎรเปนรากฐานแห่งความคิด. นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ประธานกรรมการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ กล่าวก่อนหน้าที่จะมีงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนี้ว่า “ได้มีผู้กล่าวกันว่า เมื่อมาดูงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ใคร่เกิดความรู้สึกว่ามาดูงานอะไร การจัดควรจัดให้ผู้มาดูเกิดความรู้สึกว่า เปน งานฉลองรัฐธรรมนูญจริงๆ จึงจะเหมาะ ไม่ควรจะเปนงานฉลองรัฐธรรมนูญแค่ในนามเท่านั้น ควรจะเปนไปในทางส่งเสริมรัฐธรรมนูญจริงๆ” เรารู้สึกปลาบปลื้มใจมากที่ได้ฟังถ้อยคำเช่นนี้. เมื่อเราบอกว่าเราจะทำอะไรแล้ว เราก็ควรจะทำให้ปรากฏออกมาตลอดถึงรูปกายและจิตต์ใจด้วย อย่าเพียงแต่จะให้ได้ยินแต่นามเท่านั้น.
ได้มีเหตุการณ์ใหม่ปรากฏขึ้นเปนพิเศษในปีนี้ ซึ่งเปนการส่งเสริม ความเลื่อมใส ศรัทธาในการปกครอง ระบอบรัฐธรรมนูญให้ตราตรึง แน่นแฟ้นอยู่ในดวงใจของประชาชนทั่วไป. เหตุการณ์ที่ว่านี้ คือ การฝังหมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ เพื่อเปนที่ระลึกถึงวันประกาศอิสสรเสรี เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕.
นอกจากสุนทรพจน์สั้นๆ อันจับใจที่เจ้าคุณพหลฯ ได้กล่าวต่อหน้าชุมนุมสหายผู้ร่วมตายของท่าน ในการทำพิธีฝังหมุดนั้นแล้ว ท่านหัวหน้าวีระบุรุษวันที่ ๒๔ มิถุนายน ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุกระจายเสียง ในค่ำวันเดียวกันนั้นอีก.
ท่านกล่าวถึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญว่า “การปกครองตามระบอบนี้ ได้ให้สิทธิเสมอภาคและเสรีภาพ แก่ประชาชนพลเมืองทั่วๆ ไป ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใดหามิได้ ดำเนินวิธีการปกครองเปนสายกลาง ไม่หนักหรือเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เปนการปกครองที่มีระเบียบแบบแผนอย่างละเอียดละออ.”
ท่านชี้นิสสัยใจคอของคนไทยว่า “พลเมืองของประเทศสยาม มีสายโลหิตสืบเนื่องมาจากคนชาติไทยแต่ครั้งโบราณกาล เปนบุคคลที่ชอบอิสสระภาพและเสรีภาพมาแต่ดั้งเดิม จึงได้ชื่อว่าเปน “คนไทย” หมายความว่า เปนคนที่มีอิสสระเสรีแก่ตัว ไม่มีจิตต์ใจเปนทาส”
สุนทรพจน์อันมีค่าของท่านผู้นำผู้นี้ รวมทั้งเหตุการณ์บางอย่าง ที่เราได้นำมากล่าวไว้แต่ข้างต้นนั้น ย่อมจะเปนเครื่องส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธาในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญให้ฝังแน่นอยู่ในดวงใจของประชาชนทั่วไป มีความมั่นคง ไม่คลอนแคลน เช่นเดียวกับหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ ที่คณะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทำพิธีฝังลงไว้แล้วฉะนั้น.
เพื่อที่จะรักษาความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ให้ยืนยงคงอยู่ชั่วกาลนาน เราคิดว่า เราควรจะช่วยชี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจชัดแจ้งในสารัตถแห่งการปกครองระบอบนี้.
เมื่อพูดถึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว เราต้องระวังอย่างยิ่งที่จะไม่เอาไปพัลวันกับการปกครองของบางประเทศ ซึ่งแม้ว่ามีรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เจ้าตำราไม่เรียกการปกครองของบางประเทศเช่นนั้นว่าปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ เช่นประเทศอิตาลีและเยอรมันนี เปนต้น เราเรียกว่าปกครองโดยระบอบเผด็จการ.
ประเทศเช่นที่กล่าวนามทั้งสองนั้น แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญก็จริง แต่ว่ารัฐธรรมนูญนั้น เขามีไว้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาธิปตัย แต่เพื่อประโยชน์ของคณะของเขาโดยฉะเพาะ. ในประเทศเยอรมันนี เมื่อท่านฮิตเล่อร์ได้อำนาจบงการ แม้ในสมัยที่ท่านฮินเด็นเบอร์กยังเปนประธานาธิบดีอยู่ คณะการเมืองต่างๆ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้. เสรีภาพของมวลชนก็วอดวายไป รัฐธรรมนูญของไวมาร์ก็สิ้นลมปราณ เยอรมันนีมีรัฐธรรมนูญใหม่จริง แต่ไร้ซสต๊ากไม่ใช่ที่ชุมนุมของผู้แทนราษฎร หากเปนที่ชุมนุมของคณะนาซี. ในประเทศอิตาลี ก็เช่นเดียวกัน สภาใหญ่ของคณะฟัสซิสต์วางอยู่บนศีร์ษะของสภา ที่มีชื่อคล้ายๆ สภาผู้แทนราษฎรของเรา. ไม่มีอาหารอะไรเลย ในรัฐธรรมนูญของประเทศทั้งสองนั้น ที่พระแม่จ้าวแห่งเสรีภาพจะเสวยเข้าไปได้พระแม่จ้าวองค์นั้นทรงเหลือแต่โครงกระดูก.
ส่วนประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิประชาธิปตัย คือถือว่าปวงชนเปนใหญ่นั้น นอกจากจะมีรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะต้องยินยอมให้รัฐสภาเปนใหญ่ด้วย แลรัฐสภาจะเปนรัฐสภายิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อมีคณะพรรคการเมืองแล้ว นี่เปนสารัตถของลัทธิประชาธิปตัย หรือสารัตถแห่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ตามความหมายที่บรรดาผู้นำในประเทศของเรา จำนงจงใจ ให้ยืนยงคงอยู่ชั่วกาลนาน แลประชาชนชาวไทยได้ฝังความเลื่อมใสศรัทธาลงไว้อย่างลึกซึ้งแล้ว.
ในลัทธิเผด็จการนั้นไม่ว่าจะในรูปใดแบบใด ย่อมถือคติที่ตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือรัฐสภาไม่ใช่เปนสิ่งสำคัญ บางประเทศก็ล้มรัฐสภาเสียเลย แลแม้ว่าจะยังคงสถิตย์อยู่. ก็เปนรัฐสภาที่ไร้กำลังวังชาด้วยประการทั้งปวง. ในลัทธิประชาธิปตัย ชีวิตของลัทธินั้นฝากไว้กับรัฐสภา รัฐสภาเปนที่สิงสถิตย์วิญญาณของประชาธิปตัย. ลัทธิทั้งสองนี้ ดำเนินการปกครองบ้านเมือง ต่างกัน ไกลกัน เปนตวันออกกับตวันตก เปนของพบกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด.
ฉะนั้น เมื่อพูดถึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว เราพึงเข้าใจโดยแจ้งชัดว่า ระบอบรัฐธรรมนูญที่ปวงชนชาวสยามเลื่อมใสบูชาอยู่ในบัดนี้ คือระบอบรัฐธรรมนูญที่ยกย่องว่ารัฐสภาเปนใหญ่ ไม่ใช่คนๆ เดียวเปนใหญ่ รัฐธรรมนูญที่ปรนปรือพระแม่จ้าวแห่งเสรีภาพให้ทรงสมบูรณ์พูลสุข ไม่ใช่ปล่อยพระองค์ไว้ให้เหลือแต่โครงกระดูก. ประเทศที่แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญ ถ้าทำลายสิ่งทั้งสองนี้แล้ว เจ้าตำราไม่เรียกว่าปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ถือว่าเปนปรปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญ.
เราทั้งหลายเลื่อมใสศรัทธาระบอบรัฐธรรมนูญที่ยกย่องว่ารัฐสภาเปนใหญ่. เราทั้งหลายมีความเห็นแน่วแน่เปนอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วในที่จะเชิดชูระบอบรัฐธรรมนูญของเรา.
ความเสมอภาค ประชาชาติ วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2479 หน้า 5 (หลังพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 8 วัน)
ความเสมอภาค
กุหลาบ สายประดิษฐ์
งานฉลองรัฐธรรมนูญเพิ่งผ่านพ้นไป จิตต์ใจของประชาชนพลเมืองยังเต็มไปด้วยความหอมหวล ในงานฉลองรัฐธรรมนูญของเรา. ความกระตือรือร้นที่จะส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ยังเต้นอยู่ในหัวอกของผู้ที่สนใจ. การฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ชุมนุมกันกระทำ เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ เปนเหตุการณ์ที่จับใจตรึงใจประชาชนทั่วหน้า หมุดนั้นแทนดวงใจของบรรดาท่านวีระบุรุษแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเมื่อก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ฝังดวงใจไว้ในรัฐธรรมนูญ ท่านเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะก่อกำเนิด ยังตามพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ตลอดเสมอไปด้วย
การส่งเสริมให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนั้น มีทางที่จะทำได้หลายทาง ทางหนึ่งที่ควรทำก็คือ พยายามชี้แจงให้คนทั้งหลาย ได้เข้าใจ กลไก ในระบอบการปกครองอันนี้ เท่าที่เราเห็นว่าอาจมีความเข้าใจผิดกันอยู่ หรือยังไม่เปนที่แจ้งชัดพอ.
ตามความเห็นของเรา เราแน่ใจว่า เปนความจำนงจงใจของประชาชนคนไทยอยู่แล้ว ที่จะร่วมมือกับบรรดาผู้นำ เชิดชูระบอบรัฐธรรมนูญของเรา แต่ว่าการเชิดชูนั้นจะมีค่ายิ่งขึ้น ถ้าได้กระทำไปด้วยความรู้แจ้ง ในสิ่งที่เรากำลังเชิดชูอยู่.
เราเคยได้ยินกล่าวกัน ถึงเรื่องความเสมอภาคในลัทธิประชาธิปตัย หรือในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนี้. เคยมีผู้เข้าใจอยู่บ้างว่า ลัทธิประชาธิปตัย จัดให้คนเสมอกันทุกอย่างทุกประการ แลด้วยความเข้าใจเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการเรียกร้องในสิ่งที่เปนไปไม่ได้. บางท่าน ที่คิดว่าความเข้าใจเช่นนี้ เปนการถูกต้อง และเมื่อถือหลักตามความจริงที่ว่า เปนธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเสมอกันไม่ได้ ก็ลงความเห็นว่า สิ่งนี้เปนความอ่อนแอ หรือความสำคัญผิดในลัทธิประชาธิปตัย.
ผู้ที่มีความเข้าใจเช่นนี้ แม้ถึงว่ามีน้ำใจเชิดชูระบอบรัฐธรรมนูญอยู่ แต่ก็อาจจะเสื่อมถอยน้ำใจลงไปได้ ด้วยเหตุสำคัญผิดในลัทธิประชาธิปตัย โดยความเข้าใจผิด. เราคิดว่า ความเข้าใจผิดเช่นนี้อาจจะยังล่องลอยอยู่ในบางหนบางแห่ง ถ้าได้ช่วยกันปัดเป่าให้เกิดความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว ท้องฟ้าแห่งประชาธิปตัยก็จะปลอดโปร่ง ปราศจากเมฆหมอกด้วยประการทั้งปวง เราทั้งหลายก็จะแลเห็นดวงหน้า เห็นดวงใจของกันและกัน ที่มุ่งหมายจะเชิดชูรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งนั้น โดยถนัดถนี่.
ตามความจริงนั้น ลัทธิประชาธิปตัย มิได้สำคัญผิด อย่างที่อาจเข้าใจผิดกันได้ ลัทธิประชาธิปตัย มี ความเฉลียวพอที่จะไม่ประพฤติในสิ่งที่จะพร่าวิญญาณของมนุษยภาพ คือประพฤติในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ ดั่งที่ลัทธิอื่นจะพึงกระทำ แลได้กระทำมาแล้ว. ลัทธิประชาธิปตัยไม่กดขี่เบียดเบียฬบุคคล ไม่ว่าจะเปนในทางกายหรือในทางความคิดเห็น หรือในทางอื่นใด. ลัทธิประชาธิปตัยอุบัติขึ้น เพื่อที่จะต้อนรับความเปนมนุษย์ในมนุษย์ทุกคน มิใช่ต้อนรับในคนหนึ่ง และปฏิเสธในอีกคนหนึ่ง ซึ่งเคยมีอยู่ แลคงมีอยู่ ในลัทธิอำนาจสิทธิขาด. ลัทธิประชาธิปตัยให้โอกาส แต่ไม่เคยเข้าจัดแจงให้คนเสมอกันในทุกสิ่งทุกอย่าง ลัทธิประชาธิปตัยไม่จัดให้คนเสมอกันในทางฝืนธรรมชาติ เพราะว่า ไม่มีอะไรที่จะเขลาเกินไปกว่าความพยายามเช่นนี้. ความเสมอภาค ในลัทธิประชาธิปตัย ไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนจะต้องฉลาดเท่ากัน มีตำแหน่งเท่ากัน มีเงินเดือนเท่ากัน ฯลฯ หามิได้.
ลัทธิประชาธิปตัยมีระเบียบวินัย มีผู้ใหญ่ผู้น้อย มีผู้นำผู้ตาม. ความเสมอภาคในลัทธิประชาธิปตัย หมายถึงความเสมอภาคในกฎหมาย เปนต้นว่า ถ้ากฎหมายยอมให้มีการวิพากษ์เรื่องการปกครองต่างๆ ได้ หนังสือพิมพ์ทุกฉะบับก็มีสิทธิจะวิพากษ์ได้เท่าเทียมกัน.
นี่คือความเสมอภาคในลัทธิประชาธิปตัย ความเสมอกันในสิทธิ ในเสรีภาพ เท่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย มิใช่ความเสมอภาคในทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นว่าจะเข้าจัดแจงให้คนมั่งมีเท่าๆ กัน หามิได้. ลัทธิประชาธิปตัย ไม่จัดให้คนเสมอกันในสิ่งที่จะเปนจริงไม่ได้. ลัทธิประชาธิปตัยคล้อยตามธรรมชาติ ยิ่งกว่าลัทธิอื่นจะคล้อยตามได้.
นี่เปนคำชี้แจงโดยย่อของเรา ถึงเรื่องความเสมอภาค ที่มีอยู่ในลัทธิประชาธิปตัย เราคิดว่าถ้าคนทั้งหลายได้เข้าใจชัดแจ้งดั่งนี้แล้ว ก็คงจะไม่เห็นความเสมอภาคในลัทธิประชาธิปตัย เปนของอ่อนแอเปนแน่ ตรงกันข้าม คงจะชื่นชมเปนความเข้มแข็ง เปนความเฉลียวฉลาด ซึ่งลัทธิอื่น นอกจากประชาธิปตัยแล้ว จะจัดแจงให้ได้ส่วนสัดอันงดงามถึงปานนี้หามีไม่.
ถ้าเราเข้าใจลัทธิประชาธิปตัย หรือการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญโดยถูกต้อง โดยชัดแจ้งแล้ว ไม่ว่าเราจะพลิกดูเหลี่ยมไหน ในระบอบนี้ก็จะเห็นแต่ความเหมาะสม แก่การสรรเสริญเยินยอของเราทั้งหลาย เหมาะสมแก่อุปนิสสัยใจคอของชนชาติไทยโดยแท้.
หมายเหตุ :
- บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)
- บางอักขระสะกดตามเอกสารชั้นต้น
[2] ดูรายละเอียดสุนทรพจน์ชิ้นนี้ใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน, พ.ศ. 2564, (มติชน). น. 8-11.
[3] รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน, ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2548 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาติกาล, (สำนักพิมพ์วิชญา).
[4] สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บทกล่าวนำ ใน การหนังสือพิมพ์ของฉัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ความเรียงและสารคดีเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก, 31 มีนาคม พ.ศ. 2549, (คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ), น. 20.
[5] สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บทกล่าวนำ ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ กุหลาบสายประดิษฐ์ ข้อเขียนการเมืองในฐานะนักหนังสือพิมพ์รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก, 31 มีนาคม พ.ศ. 2548, น. 20.
[6] รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน, ตามศรีบูรพาไปเที่ยวญี่ปุ่น, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาติกาล, (สำนักพิมพ์วิชญา).
[7] สุภา ศิริมานนท์, ความทรงจำ : ชีวิตและการต่อสู้ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์, ใน คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา, น. 125.
[8] กุหลาบใช้คำนี้ในตอนจบของ “ข้างหลังภาพ”
[9] ควรเน้นย้ำว่าเป็นปี พ.ศ. 2480 มิใช่ พ.ศ. 2479 ดังปรากฏการอ้างอิงต่อๆ มา อีกทั้งประโยคแรกของ “ข้างหลังภาพ” ในบรรณโลก “จนกระทั่ง ๓ วัน ล่วงไปแล้ว” แต่ฉบับต่อๆ มากลับกลายเป็น “๒ วัน” อ่านต้นฉบับได้ที่ประชาชาติ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480 หน้า 9 จุดเชื่อมต่อนี้ http://digital.nlt.go.th/items/show/3442
[10] อ่าน “ข้างหลังภาพ” จบตอนแรกในประชาชาติ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480 (ปฏิทินเก่า) ตามจุดเชื่อมต่อนี้ http://digital.nlt.go.th/items/show/346
[11] ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), คำแถลงของผู้แต่ง ข้างหลังภาพ, ประชาชาติ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2249 วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480, น. 35.
[12] เชิด ทรงศรี, สงครามชีวิต-ข้างหลังภาพ ข้อเขียนต่าง “หญ้าแพรกกับดอกมะเขือ” บูชาครู “ศรีบูรพา” ในคืออิสสรชน คือ คนดี คือ ศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาล, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 (โรงพิมพ์กรุงเทพ), น. 354.
[13] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม : ให้ใช้เลขสากลแทนเลขไทย และเบื้องหลังการปฏิวัติภาษาไทย พ.ศ. 2485 - 2487 เข้าถึงได้จาก https://facebook.com/thepeoplecoofficial/photos/a.1040280779477779/2071400336365813/
[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, กุหลาบ สายประดิษฐ์กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ชุดเชื่อมต่อ http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/suthachai001.pdf
[15] ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), ลาก่อนรัฐธรรมนูญ ใน เทอดรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2476, (โรงพิมพ์สยามพณิชยการ), น. 285-299.
[16] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, “รัฐธรรมนูญของเรา (พ.ศ. 2481)” เทศนาเทอดระบอบใหม่ ของ พุทธทาสภิกขุ
[17] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปาฐกถาปลูกนิสัยให้รักรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ของ พุทธทาส
[18] กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียบเรียง, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490, (จำลองสาร).
[19] บันทึกนี้ทยอยเผยแพร่ครั้งแรกลงหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2484 รวมทั้งสิ้น 16 ตอน จนเกิดข้อพิพาทกับทางรัฐบาลขณะนั้น