วันจันทร์, พฤศจิกายน 07, 2565

‘แมสโตดอน’ เป็นคำตอบ สำหรับชาวทวิตภพที่ไม่ทนรับพฤติกรรมห่ามๆ อีลอน มัสค์ เจ้าของคนใหม่

สื่อสังคม หรือ ‘Social Media’ ในบ้านเรา เป็นการสื่อสารมวลชนแห่งยุคสมัยที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจาก ไลน์ เฟชบุ๊ค อินสตาแกรม แล้วยังมี ทวิตเตอร์ ที่ใช้สื่อสารรายวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมลักษณะสื่อจริงๆ

แต่ทวิตเตอร์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังจาก อีลอน มัสค์ มหาเศรษฐีอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอีเล็คโทรนิค ยานอวกาศ และเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังแสงแดด เข้าซื้อกิจการแล้วเริ่มปรับวิธีดำเนินการตามแนวคิดส่วนตนทันที

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาไล่ออกพนักงานทุกระดับ ราวครึ่งหนึ่งของทั้งหมดกว่า ๗ พันคน รวมทั้งแผนกต่างๆ ที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื้อหาสาระ และการบิดเบือนข้อมูล แต่เขาคุยว่าตนเองเป็นสุดยอดแห่ง นักเสียงเสรี(Free-speech absolutist)

ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากเห็นว่านั่นเพียงเขาต้องการเบี่ยงเบน ไปจากเสียงวิพากษ์ในเรื่องการประพฤติห่ามๆ ของเขา รวมทั้งการโอบอ้อมกับกระบวนการบิดเบือนข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่ออุดมการณ์การเมืองขวาจัด เข้าไปสิงสถิตย์ในทวิตเตอร์

ทันทีที่มัสค์กลับไปซื้อทวิตเตอร์ ในราคา ๔๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ บุคคลชั้นนำของโลกที่แสดงความยินดีแก่เขา ได้แก่ ดิมิทรี่ เม็ดเวเดฟ คนสนิทของประธานาธิบดี วราดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งปูตินใช้สลับขาทางการเมืองให้ไปเป็นประธานาธิบดีบ้าง นายกฯ บ้าง

อีกคนที่คาดว่าทวิตเตอร์ของมัสค์จะโอบรับเชิญกลับไปรื้อฟื้นเปิดบัญชีอีกครั้งคือ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ดอแนลด์ ทรั้มพ์ ทว่ามัสค์ยังอมพะนำเรื่องนี้อยู่ แม้นว่าทรั้มพ์ได้ไปตั้งสื่อโซเชียลแห่งใหม่ชื่อ สังคมความจริงหรือ ‘Truth Social’ หลังจากถูกทวิตเอตร์ขับออก

ทรุธโซเชียลจัดทำเสร็จเรียบร้อย ทดลองปฏิบัติการแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดสาธารณะ แม้แต่ทรั้มพ์เองก็ยังไม่ได้เปิดบัญชีสมาชิก อาจจะเป็นเพราะปัญหาลักลอบใช้ฐานปฏิบัติการ หรือ ‘platform’ ของสื่อโซเชียล Mastodon จนกำลังจะโดนฟ้อง

แมสโตดอนยับยั้งการยื่นฟ้องไว้ เมื่อทรุธโซเชียลยอมเปิดเผยว่าใช้ฐานปฏิบัติการของตนอย่างทางการ และแมสโตดอนนี่เอง เป็นสื่อโซเชียลที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์กำลังแห่ย้ายกันไปสิงสถิตย์ mashable.com แจ้งว่าขณะนี้มีสมาชิกใช้ประจำอยู่ ๖๕๕,๐๐๐ ราย และเพิ่มอย่างรวดเร็ววันต่อวัน

แมสโตดอนเป็น an open-source projectที่เปิดดำเนินการมาแล้ว ๖ ปี โฆษณาตัวเองบนทวิตเตอร์ว่า “ไม่มีวันที่จะขายให้แก่ใคร แล้วยังมอบอำนาจจัดการให้แก่ผู้ใช้” บ้างบอกว่านี่เป็นสื่อสังคมฝ่ายซ้าย และที่ส้องสุมข้อมูล “พิษภัยน้อยกว่าใคร”

บทความที่ แมสชาเบิ้ลอีกชิ้นเขียนแนะนำผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ผิดหวังกับการเข้าไปครอบครองของอีลอน มัสค์ และกำลังมองหาแหล่งใหม่ จัดให้ Mastodon เป็นฐานปฏิบัติการเหมาะที่สุด วิธีเล่นก็คล้ายคลึงกัน แมสตาดอนใช้การ์ตูนรูปช้างเป็นสัญญลักษณ์

เรียกการเขียนไทม์ไลน์ว่า ทู้ต(toots) ถ้าแชร์หรือรีทวี้ต เรียกว่า “แฟ้ฟ” หรือ “บู๊สต์” (‘fav-ed’ or ‘boosted’) แมสโตดอนต่างกับทวิตเตอร์ตรงที่เนื้อหาไม่ได้รวมศูนย์ แต่กระจายไปอยู่ตามเซิ้ร์ฟเวอร์ต่างๆ ที่ผู้ใช้จะเลือกสังกัดได้

อย่างไรก็ดี มีเทร็นด์ใหม่ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ คือแทนที่จะหาทางย้ายฐานกัน กลับปักหลักที่จะเกาะอยู่ ดูความฉิบหายของทวิตเตอร์ภายใต้มัสค์ คนเหล่านี้มีเหตุผลต่างๆ กัน บ้างฮึดสู้ เช่น จ๊อร์จ ทาเกอิ ดาราดังฮอลลิวู้ดเชื้อสายญี่ปุ่น บ้างหลงรักจนติดหนึบ ไปไหนไม่พ้น

(https://mashable.com/article/i-was-going-to-quit-twitter-but-elon-musk-takeover, https://www.marketwatch.com/story/free-speech-absolutist-elon-musk-cracks-down-on-parody-accounts-targeting-him-11667781449, https://mashable.com/article/trump-social-media-mastodon, https://mashable.com/article/how-to-leave-twitter-guide-elon-musk, https://mashable.com/article/mastodon-twitter-alternative-elon-musk และ https://www.huffpost.com/entry/elon-musk-twitter-future-cesspool-civility_n_63683465e4b024c301954919)