วันอังคาร, พฤศจิกายน 08, 2565

ทำไมไทยต้องจ่าย "บอลโลก" 1.6 พันล้าน ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนจ่าย ระหว่าง 261-948 ล้าน


1.6 พันล้าน แพงไปหรือไม่? เทียบค่าซื้อลิขสิทธิ์‘บอลโลก’ ‘บิ๊ก กกท.’ต่อรอง‘ฟีฟ่า’ลดราคา

5 พฤศจิกายน 2565
สำนักข่าวอิศรา

“…แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องงบ แต่เรามีความตั้งใจจะถ่ายทอดให้ประชาชนได้ดูฟรี และแม้ว่าเราจะลงทุนหลักพันล้าน แต่ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่กลับมานั้น นอกจากสร้างความสุขแล้ว สร้างกระแสให้คนดูคน เชียร์กีฬา และเล่นกีฬามากขึ้นแล้ว การถ่ายทอดสดครั้งนี้จะสร้างรายได้ในภาคเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท…”

...................................

แม้ว่าการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ จะใกล้เข้ามาทุกขณะ

แต่ทว่าจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้ ‘ข้อยุติ’ ในการนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไปสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (อ่านประกอบ : สั่งศึกษากม.ทำได้หรือไม่! ‘กสทช.’ตีกลับข้อเสนอ‘บิ๊กป้อม’ใช้ 1.6 พันล.ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก)

ที่สำคัญมีการตั้งคำถามว่า จำนวนเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ของประเทศไทย ที่ตัวเลขอาจสูงถึง 1,600 ล้านบาท นั้น แพงเกินไปหรือไม่? เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

“ตัวเลขที่เสนอมา คือ 38 ล้านเหรียญ แต่หากรวมค่าภาษีจะเพิ่มเป็น 42 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,600 ล้านบาท) ซึ่งแพงมาก และที่เขา (การกีฬาแห่งประเทศไทย) แจ้งมา เขาบอกว่า เป็นเพราะว่าเราไปติดต่อช้า จวนจะเปิดอยู่แล้ว และฟีฟ่ามีการบังคับไม่ให้แยกแพลตฟอร์มด้วย” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)

ไตรรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งต้องติดตามว่าบอร์ด กสทช.จะอนุมัติเงินกองทุน กทปส. เพื่อสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ขณะที่การนำเงิน กทปส.ไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และไม่กระทบกับสภาพคล่องของกองทุนฯแต่อย่างใด

“กรณีนี้ถือว่าเป็นการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของ กทปส. ในการสนับสนุนการให้บริการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นเงิน USO (Universal Service Obligation) ที่ได้กันไว้แล้ว และไม่ได้กระทบกระเทือนกับกองทุน กทปส. แต่อย่างใด” ไตรรัตน์ ย้ำ

@ 3 ประเทศ‘อาเซียน’ ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 261-948 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศราได้สำรวจข้อมูลค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ของประเทศต่างๆ พบว่าเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์ที่บางประเทศจ่ายไปจะอยู่ที่ระหว่างประมาณ 56-1,285 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกอยู่ที่ ระหว่าง 261-948 ล้านบาท

เริ่มจาก สิงคโปร์ มีรายงานว่ากลุ่ม StarHub, Singtel และ Mediacorp ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ได้ที่ราคา 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 948 ล้านบาท โดยเป็นการถ่ายทอดสดผ่านสตรีมมิ่ง คิดว่าบริการ 98 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2,636 บาทต่อ 64 แมตช์ แต่จะมีการถ่ายทอดสดแบบ Free-to-Air ใน 9 แมตช์สำคัญทางช่อง Mediacorp

มาเลเซีย มีรายงานว่าสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลมาเลเซีย ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ไปด้วยเงินประมาณ 32.5 ล้านริงกิต หรือประมาณ 261 ล้านบาท และจะมีการถ่ายทอดสดฟรีทางช่อง RTM จำนวน 41 แมตช์ จากทั้งหมด 64 แมตช์ โดยเลือกถ่ายทอดสดในแมตซ์ของทีมใหญ่หรือแมตซ์สำคัญที่แฟนบอลมาเลเซียสนใจ

ส่วน เวียดนาม มีรายงานว่าสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเวียดนาม ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ด้วยเงินจำนวน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 532 ล้านบาท โดยจะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันครบทั้ง 64 แมตช์

ขณะที่ เนปาล ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียใต้ มีรายงาน Media Hub Private Limited บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติเนปาล ได้สิทธิ์การแพร่ภาพฟุตบอลโลก โดย Media Hub ได้ซื้อลิขสิทธิ์ต่อมาจาก Viacom18 India บริษัทโทรคมนาคมของอินเดีย ซึ่งไปได้รับลิขสิทธิ์โดยตรงมาจากฟีฟ่าอีกทีหนึ่ง ในราคา 200 ล้านรูปีเนปาล หรือ 56.55 ล้านบาท

สำหรับประเทศในยุโรป เช่น สเปน นั้น รัฐวิสาหกิจด้านกิจการโทรทัศน์ของสเปนที่ชื่อว่า TVE ชนะการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 จากบริษัท Mediapro ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในประเทศสเปนที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกโดยตรงจากทางฟีฟ่า ไปด้วยราคาประมูลทั้งสิ้น 35 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,285.16 ล้านบาท

@ย้อนดูค่าลิขสิทธิ์บอลโลก 2018 เอกชนลงขันซื้อ 1.14 พันล้าน

นอกจากนี้ หากเทียบราคาค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกของประเทศในอดีต พบว่า ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ซึ่ง บริษัท อาร์ เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 นั้น แม้ว่า อาร์ เอส ไม่ได้เปิดเผยว่าซื้อลิขสิทธิ์มาได้ที่ราคาเท่าไหร่

แต่เพื่อทำให้คนไทยได้ชมการการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 บนฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ ทั้ง 64 แมตซ์ กสทช. โดยที่ประชุม กทปส. ได้อนุมัติจัดสรรเงินกองทุน กทปส. จำนวน 427.01 ล้านบาท ชดเชยค่าเสียโอกาสให้กับ อาร์ เอส เพื่อทำให้คนไทยได้ดูฟุตบอลฟรีทั้ง 64 แมตซ์ ซึ่งเป็นดำเนินการตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 (FIFA World Cup 2018) นั้น บริษัทเอกชน 9 แห่ง ของประเทศไทย ได้ร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 1,141 ล้านบาท และมีค่าลงทุนทางเทคนิคอีกประมาณ 259 ล้านบาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท

@ ‘กกท.’เจรจาต่อรอง ‘ฟีฟ่า’ ลดค่าลิขสิทธิ์บอลโลก แต่ยอมรับไม่ง่าย

ด้าน ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ กกท. อยู่ระหว่างเจรจาต่อรองกับบริษัทตัวแทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ขอลดราคาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ลง จากเดิมที่เคยมีการเสนอตัวเลขที่ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ต้องขึ้นอยู่กับทางฟีฟ่า

“เรากำลังต่อรองขอให้ฟีฟ่าลดราคาลงมาให้มากที่สุด และเราจะพยายามทำให้ราคาสมเหตุสมผลที่สุด” ก้องศักด กล่าว และย้ำว่า “ส่วนเราต่อรองให้ต่ำกว่า 30 ล้านเหรียญได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่ทางฟีฟ่า”

ก้องศักด ยอมรับว่า เนื่องจากเวลาการเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 กระชั้นเข้ามาทุกทีแล้ว ประกอบกับฟีฟ่าเองทราบกติกาของประเทศไทยว่า จะให้มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนรับชมฟรี ยิ่งทำให้การเจรจาต่อรองทำได้ค่อนข้างยาก โดยขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าการเจรจาต่อรองจะได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 9 พ.ย.นี้หรือไม่

“แม้ว่าขณะนี้ผมจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า เราได้ไปต่อรองอะไรกับเขาบ้าง แต่ขอยืนยันว่าเรารักษาผลประโยชน์ของรัฐให้มากที่สุด และจะมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วยกันให้มากที่สุด หากเงินที่ได้จาก กสทช.ทีไม่เพียงพอ” ก้องศักด กล่าว

ก้องศักด ย้ำด้วยว่า “แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องงบ แต่เรามีความตั้งใจจะถ่ายทอดให้ประชาชนได้ดูฟรี และแม้ว่าเราจะลงทุนหลักพันล้าน แต่ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่กลับมานั้น นอกจากสร้างความสุขแล้ว สร้างกระแสให้คนดู คนเชียร์กีฬา และเล่นกีฬามากขึ้นแล้ว การถ่ายทอดสดครั้งนี้จะสร้างรายได้ในภาคเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท”

จากนั้นไปคงต้องติดตามว่าในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ กสทช. จะมีเป็นอย่างไร และหากเงินที่ กสทช. อนุมัติไม่เพียงพอกับค่าลิขสิทธิ์แล้ว กกท.จะไปหาเอกชนรายใดมาร่วม 'ลงขัน' ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในครั้งนี้?