วันจันทร์, พฤศจิกายน 07, 2565

คอบอลไม่สนถูกโก่งราคา ขอความสุขกับการดูบอลมั่งเถอะ สั้นๆก็ยังดี - เวียดนามซื้อลิขสิทธิ์ 14ล้านเหรียญหรือ 500 กว่าล้านบาทเท่านั้น ไทยเราจะซื้อราคาแพงพิเศษกว่าคนอื่นในราคา 1,600 ล้าน


Atukkit Sawangsuk
7h

กฎ Must Have เป็นกติกาอุบาทว์ ก้าวก่ายตลาดเสรี แต่ถูกใจคนไทย (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด แค่คอบอล แต่ดันเสียงดัง)
จากอดีตที่มีเอกชน เช่นเคเบิลทีวี ช่อง 3 ช่อง 7 หรือบริษัท ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด หาโฆษณาหรือเก็บค่าสมาชิก
กสทช.กลับออกกฎว่า คนไทยทุกคนต้องได้ดูบอลโลก ลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาทำธุรกิจ ต้องให้คนไทยได้ดูฟรี
ก็เลยไม่มีใครซื้อ
รัฐบาลต้องเข้ามาซื้อ โดยใช้เงิน กสทช. พันล้าน ซื้อแพงกว่าเพื่อนบ้าน
แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
เอกชนซื้อ ต่อรอง มองความคุ้มค่า ขาดทุนก็ไม่ซื้อหรือซื้อแค่บางคู่
ถ้าเห็นท่าว่าจะเจ๊ง ก็ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องดู ต้องยอมรับกัน
แต่นี่มันกลายเป็นรัฐบาลถูกบังคับ
ต้องซื้อให้ทุกครั้ง ไม่ซื้อก็โดนด่า
ซื้อแล้วก็ได้หน้า ได้คะแนนเสียง
:
วันก่อนฟังวิทยุกีฬา
ถกเรื่องนี้ที่มีคนแย้งว่า พันล้านเอาไปช่วยคนจนดีกว่าไหม
เขาบอกว่า มันเงิน กสทช. ไม่ใช่กระทรวงที่จะเอาไปช่วยคนจน เงิน กสทช.เก็บมาจากประมูลวิทยุทีวี ต้องใช้ด้านนี้อยู่แล้ว
ตรรกเข้าถูดี คอบอลประเทศนี้เสียงดัง
:
ปุจฉา ถ้าคนไทยไม่ได้ดูบอลโลกนี่ จะเป็นจะตายลุกฮือไล่ตู่ไหม
.....
แฉไทยโดนเอเย่นต์ฟีฟ่าโก่งราคาลิขสิทธิ์บอลโลกแพงเพราะรู้ว่ามีกฏ ‘มัสต์แฮฟ’ เอาใจสายชอบดูฟรี

แฟนบอลไทยยังต้องลุ้นลิขสิทธิ์ฟุตบอล 2022 ยังไม่ได้ข้อสรุป กสทช.นัดอนัมัติงบฯ 9 พฤศจิกายน กรอบวงเงิน 1,600 ล้านบาท ที่ใช้ซื้อลิขสิทธิ์ ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เผยราคาข้อเสนอจากเอเยนต์ฟีฟ่าที่ได้รับมา ถือว่าค่อนข้างสูง และเวลานี้ยังมีการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความยุติธรรมในเรื่องราคามากที่สุด ยันเดดไลน์การเจรจาซื้อสิทธิ์สามารถทำจนถึงก่อนเกมฟุตบอลโลก 2022 นัดเปิดสนามจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยความคืบหน้า กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กำชับ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เร่งดำเนินการประสานงาน กสทช. ให้คนไทยได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน- 18 ธันวาคมว่า ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือชี้แจงการร้องของบประมาณจาก กกท. แล้ว ซึ่งสำนักงานกำลังพิจารณารายละเอียด เพื่อจัดทำวาระการประชุมเสนอให้ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาอนุมัติ หรือ ไม่อนุมัติ ในวันพุธ ที่ 9 พ.ย.นี้

ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเรื่องของความแน่ชัดการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 อาจต้องรอถึงสัปดาห์หน้า ซึ่งเราก็จะทราบว่างบที่มีการทำเอกสารเป็นกรอบวงเงิน 1,600 ล้านบาท จะได้อนุมัติหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่ทางเอเย่นต์ของฟีฟ่ารู้ว่าบ้านเรามีกฎ กติกา เรื่องลิขสิทธิ์แบบนี้ จึงเรียกราคามาค่อนข้างสูง จึงยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และต้องเป็นราคาที่ประเทศไทยไม่ถูกเอาเปรียบจนเกินไป

“ต้องยอมรับว่าค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ถือเป็นรายการแข่งขันใหญ่ ดังนั้นมูลค่าจึงสูงกว่ารายการกีฬาใดๆ ซึ่งในการดำเนินการตอนนี้ เรายังมีการเจรจากับทางเอเยนต์ของฟีฟ่าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วันที่ 9 พฤศจิกายน ก็จะได้ข้อสรุปในเรื่องขอกรอบวงเงินที่เราจะนำไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับอนุมัติเป็นจำนวนเท่าใดจากกรอบที่มีการตั้งเอาไว้ มากน้อยเพียงพอที่้จะใช้ในการดำเนินการหรือไม่อย่างใด ส่วนภาคเอกชน เรายินดีหากจะเข้ามาร่วมสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการ แม้ใกล้การแข่งขันเข้ามาแล้ว แต่เรายังมีเวลา ซึ่งเส้นตายในการดำเนินการเจรจาซื้อขายนั้นสามารถทำได้จนถึงก่อนการแข่งขันนัดเปิดสนามจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน” ดร.ก้องศักด กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับประเทศไทยนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกกฏ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ระบุว่า 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก ซึ่งกฎดังกล่าวทำให้ไม่มีภาคเอกชนกล้าลงทุนทำให้ทุกๆ วงรอบ 4 ปีรัฐบาลต้องหาเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูของฟรี

ที่มา มติชนออนไลน์
5 พฤศจิกายน 2565