วันอาทิตย์, สิงหาคม 09, 2563

ทำไมอ้าง 'หลักรัฐศาสตร์' ปล่อยอานนท์และไม้ค์ ก็เมื่อหลักนิติศาสตร์เอาผิดไม่ได้

สำหรับฝ่ายอำนาจรัฐ จัดว่าสถานการณ์ คลี่คลาย แต่กับฝ่ายพลังประชาชน คืบหน้า ไปโข หมุดหมายต่อไปคือชุมนุมใหญ่ที่ราชดำเนิน ๑๖ สิงหา ไม่เฉพาะแต่ประตูท่าแพเชียงใหม่วันนี้ ซึ่งมีบริวารปรสิตออกมาตั้งแถวต้านกันแล้ว

ภารกิจทวงคืนประชาธิปไตยชูเชิดเจตนารมณ์คณะราษฎร โดยคณะประชาชนปลดแอกและอานนท์ นำภา กำลังหักโหมกันอยู่ กำลังแล่นฉิวด้วยความถูกต้องของหลักการและปณิธานคนรุ่นใหม่ จะไม่ยอมให้เผด็จการรุ่นไหนจูงจมูกได้อีกต่อไป

ระหว่างที่มีการปล่อยตัวทนายอานนท์กับภานุพงศ์ จาดนอก วานนี้ (๘ สิงหา) ด้วยวงเงินประกัน ๑ แสน แต่ยังไม่ต้องวางหลักประกันอยู่นั้น ที่บริเวณสกายว้อค แยกปทุมวัน #ประชาชนปลดแอก จัดแฟล้ชม็อบ 'ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส' มีคนร่วมไม่ต่ำกว่า ๒๐๐

นอกจากการปราศรัยสร้างกำลังใจแก่การเดินหน้าให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยพันธุ์แบบที่เรียกร้องต้องการ มิใช่ชนิดพันธุ์ทางที่ถูกหยิบยื่นให้ โดยนักกิจกรรมผู้ปรากฏรายชื่อในหมายจับร่วมกับอานนท์ ๓๑ คนแล้ว ยังมีนักกิจกรรมรุ่นพี่ ทั้ง จ่านิว และ ไผ่ ดาวดินเสริม

หากแต่ส่วนซึ่งเป็นการผลิดอกออกผลอย่างยิ่งยงในคราวนี้ มาจากการอภิปรายของว่าที่บัณฑิตหญิงคนหนึ่ง เสนอให้ทำการรณรงค์ไม่เข้าร่วมพิธีรับปริญญา ด้วยเหตุผลง่ายๆ อันตรงเผงต่อจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษยชนเสรี

“การรับปริญญาเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก” ทั้งที่มันเป็น “การแสดงความสำเร็จของเราและครอบครัว...ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในหอประชุม ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมพิธี...รับกับครู รับกับพ่อแม่ รับกับคนที่ส่งเราเรียน ดอกไม้ของขวัญไม่ต้อง เอากระดาษเปล่ามาถ่ายรูปด้วยกัน

...อยากให้แคมเปญนี้ไม่ได้ทำแค่มหาวิทยาลัยแถวนี้เท่านั้น แต่อยากส่งต่อให้กับบัณฑิตทุกคนที่กำลังจะจบ ปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป...ใครอยากรณรงค์แคมเปญนี้ต่อไป ฝากติดแฮชแท็ก #ไม่รับปริญญา” ปรากฏว่าเสียงโห่ร้องสนับสนุนยาวนาน

ตามด้วยเสียงบนไซเบอร์ผลักดันให้ ขยับเพดานบอกเหตุผลกับครอบครัว “ว่าจริง ๆ เราไม่อยากรับ และไม่อยากเพราะอะไร สุดท้ายถ้าเขาบังคับให้ต้องรับ เขาควรได้รู้ว่าเรายอมฝืนเจตจำนงค์ตัวเองเพื่อเขา เพื่ออยากให้เขาสบายใจ เพื่อความสุขของเขา เพื่อเป็นของขวัญ ฯลฯ”

จะเรียกว่าบทปรับทุกข์หรือเบิกเนตรก็สุดแท้แต่ ข้อความสนทนาบนกระดานสื่อสังคมจาก Chotiros Lookkaew Naksut ที่ Netiwit Chotiphatphaisal นำมาแบ่งปันแสดงให้เห็นเบื้องลึกในจิตสำนึกของคนรุ่นนี้ อันสะท้อนความจริงที่ต้องยอมรับ

“ผู้ใหญ่ก็อาจไม่ได้ใจแคบ...บางทีเขาก็ไม่ได้รู้บริบทปัจจุบันอย่างที่เรารู้ เราเองก็ต้องกล้าเปิดใจอธิบาย...เขาควรได้รู้ว่าเขาฝืนใจเราอยู่ บังคับเราอยู่ ไม่ใช่ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้อยากลากจูงเราไปอย่างไรก็ได้” นี่คือบริบทที่ปรับได้เหมาะเจาะกับภาวะการณ์สังคมและการเมืองโดยรวมในไทย

มันยังสะท้อนไปถึงเหตุการณ์ตำรวจสำราญราษฎร์จับกุมอานนท์และภานุพงศ์ อย่างมั่นหมายที่จะกักขังควบคุมตัวเอาไว้อย่างน้อยๆ ๑๒ วัน บางคนวิเคราะห์ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อานนท์ไปร่วมชุมนุมที่เชียงใหม่ในวันนี้ ด้วยหัวข้อ “การขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์”

การอภิปรายหรือเสวนาในประเด็นเช่นนี้ ดังที่อานนท์ได้ปราศรัยมาแล้วครั้งหนึ่งที่ราชดำเนิน เป็นสิ่งที่แทบทุกคน รวมทั้งพวกต่อต้านรู้ดีว่าไม่ใช่การก้าวล่วงแต่อย่างใดในหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งไม่สามารถจัดหาตัวบทกฎหมายมา หาเรื่อง ได้ด้วย

เช่นนี้จึงสร้างความกระอักกระอ่วนต่อ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในการแถลงอธิบายเหตุซึ่งจำต้องปล่อยตัวอานนท์และไม้ค์อย่างเฉไฉว่า “ใช้หลักรัฐศาสตร์” ในการตัดสิน บางคนตีความว่าหลักนิติศาสตร์ในกรณีนี้ไม่ยุติธรรม ผู้พิพากษาถึงต้องเลี่ยง

แต่ผู้รู้กฎหมายอย่างอดีตคณบดีนิติศาสตร์ เช่น อจ.Panat Tasneeyanond วิจารณ์ว่าหากใช้ “หลักนิติศาสตร์สั่งยกคำร้องของตำรวจก็ได้นี่ครับ “หลักความยุติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” ก็เป็นส่วนหนึ่งของนิติศาสตร์อยู่แล้ว

“เพราะการชุมนุมสาธารณะก็ดี การกล่าววิพากษ์วิจารณ์ผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ที่มีอำนาจเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองก็ดี ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ศาลในฐานะอำนาจตุลาการมีหน้าทีตามกม.รธน.ต้องรับรองคุ้มครองให้ประชาชนทั้งสิ้น”

Burapa Lekluanngarm น่าจะเป็นผู้รู้อีกคน เพราะอธิบายให้เข้าใจจนร้องอ๋อได้ “อธิบดีฯ ใช้หลักนิติศาสตร์ตามที่ควรจะเป็นก็พอแล้ว ถ้าทำแบบนั้นการออกหมายจับคดี ม.๑๑๖ แบบเหมาเข่ง ๓๑ คนจะทำไม่ได้ เพราะ ม.๑๑๖ ต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำผิด”

ไม่แต่เท่านั้น “กรณีพนักงานสอบสวนขอฝากขัง ถ้าใช้หลักนิติศาสตร์ก็ต้องยกคำร้อง เพราะไม่มีเหตุตาม ป.วิ อาญา ที่จะขังผู้ต้องหาได้ ไม่เห็นต้องมาแถลงข่าวให้ดูน่าเชื่อถือเลย ผมอยากให้ศาลไปทบทวนตัวเองใหม่ว่ากำลังทำหน้าที่ตามหลักนิติศาสตร์อย่างเที่ยงตรงหรือไม่”

อ่า...สุดแท้แต่พระเดชพระคุณจะพิจารณา ล่ะนะ