วันจันทร์, สิงหาคม 24, 2563

จุดยืนและข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
7h · 

[ จุดยืนและข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล ]
.
ในสถานการณ์ปัจจุบัน พรรคก้าวไกลมีจุดยืนและข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 3 ประการ ได้แก่ (1) ตั้ง สสร. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ (2) ปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ม. 269-272 และ (3) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ม. 279 เพื่อยกเลิกการรับรองให้ประกาศคำสั่ง คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
.
1) การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ไปจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง จะเป็นทางออกอย่างสันติให้สังคมไทยสามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน
'
พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วหนึ่งฉบับเพื่อแก้ไข ม. 256 ให้มีการตั้ง สสร. แต่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อด้วย เนื่องจากไปกำหนดไว้ว่า ห้าม สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และ 2 พรรคก้าวไกลเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวยิ่งไปสร้างความเข้าใจผิดในสังคม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการแก้ไขบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามแต่อย่างใด และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของไทยมีการจำกัดขอบเขตอยู่แล้วว่า การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ม. 255
.
ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะไปอภิปรายเพื่อขอแก้ไขประเด็นดังกล่าวเมื่อการพิจารณาเรื่อง สสร. เข้าสู่การประชุมของรัฐสภา ด้วยเรายืนยันในหลักการที่ว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญหรืออำนาจสูงสุดในการเขียนรัฐธรรมนูญนั้น เป็นของประชาชน เมื่อประชาชนเลือกตั้ง สสร. ไปจัดทำรัฐธรรมนูญแล้ว สสร. ต้องแก้ไขใหม่ได้ทั้งฉบับ สสร. เช่นนี้จะสามารถสะท้อนและโอบรับเจตจำนงของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ไม่ปิดกั้นความคิดและความฝันของประชาชนกลุ่มใด สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาอย่างไรผ่านเวที สสร. และการลงประชามติ
.
2) การยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาล ม. 269-272 เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันในลำดับถัดไปให้ทันในสมัยประชุมนี้ เพราะ ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้งมาและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร หากเราสามารถยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ได้เมื่อไร ประเทศก็สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ไม่ว่าด้วยการลาออกของนายกฯ หรือการยุบสภา ให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ
.
3) พรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ม. 279 เพื่อมิให้มีการรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายไปตลอดกาล เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองตรวจสอบประกาศ-คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องได้
.
การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อ (2) และ (3) นั้น จำเป็นจะต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของ ส.ส. ที่มีอยู่ ซึ่งเท่ากับ 98 เสียง ปัจจุบันพรรคก้าวไกลมี ส.ส. อยู่เพียง 54 เสียง ดังนั้น เราจะพยายามขอเสียงจากพรรคการเมืองอื่น เพื่อยกเลิกหัวใจสำคัญในการสืบทอดอำนาจ คสช. ให้ได้ทันภายในสมัยประชุมนี้
.
ด้วยความเชื่อมั่นในอำนาจสูงสุดของประชาชน
...


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
8h ·

[ ปิยบุตร ยัน #แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ควรล็อคหมวด 1,2 ยิ่งมีเงื่อนไข ยิ่งสร้างทางตัน ]

บ่ายวันนี้ 23 สิงหาคม 2563 มีการบรรยายพิเศษ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้สนใจร่วมฟังการบรรยาย ทั้งนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ปิยบุตร กล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับ คือ ธรรมชาติของสถาบันพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วกับโลกสมัยใหม่ ความล้าสมัยคือ 1) การเอาอำนาจสูงสุดไปอยู่ไว้ที่คนๆ เดียว 2) คนๆ นั้นสืบทอดมาตามสายเลือด 3) การไม่แบ่งแยกเรื่องสาธารณะกับเอกชนออกจากกัน แต่เหตุใดหลายๆประเทศยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อยู่
หากเราไปดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้
เมื่อกลับมามองประเทศไทย เรารู้จักคำว่า Constitutional Monarchy ครั้งแรกก็เมื่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 หน่วยอำนาจเดิมกับหน่วยอำนาจใหม่ก็ขัดแย้งกันเป็นปกติ ตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ก็มีการมองต่างกัน ว่าพระองค์จะมีส่วนในอำนาจบริหารด้วย หรืออำนาจทั้งหมดควรอยู่ที่รัฐบาล ความเห็นต่างในส่วนนี้ขับเคลื่อนมาเรื่อยๆจนกระทั่งพัฒนาการมาเป็นคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน และหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ถูกผลิตซ้ำมากขึ้นทุกวัน
ความเห็นต่างนี้ ยังสะท้อนให้เห็นในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ในเรื่องของการจะเปิดให้มีการแก้ หมวด 1, หมวด 2 ได้ด้วยหรือไม่ด้วย ยืนยันว่าหมวด 1, หมวด 2 มีการแก้ไขมาโดยตลอด ต่อให้แก้อย่างไรก็แก้โดยเปลี่ยนระบอบไม่ได้ มันล็อคเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ถ้าวันหนึ่งเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จะต้องทำอย่างไร
อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญปี 2560 หลังผ่านการประชามติ ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการแก้หมวด 2 มาจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้รัฐบาลต้องไปหาทางที่จะแก้ไขในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 เองก็ระบุไว้ว่าแก้ได้แต่ต้องไปผ่านประชามติ คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้วมีการล็อคไปห้ามไม่ให้แก้แล้วจะต้องทำอย่างไร?
“บางทีผมก็อึดอัดคาใจ ว่าคนที่ด่าผมเรื่องไม่จงรักภักดี ผมพยายามหาวิธีการมันไม่มีการปะทะขัดแย้งกัน เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ไปสู่ทางตัน เขียนนล็อคไว้ว่าหมวด 1, หมวด 2 แก้ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆคุณจะทำอย่างไร? เขียนรัฐธรรมนูญคุณบอกหมวด 2 ต้องไปประชามติ แลวถ้าเกิดมีการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมาตามพระราชกระแสรับสั่งแล้วคุณเอาไปประชามติ แล้วคุณคุมได้เหรอประชามติ? กลายเป็นว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญเป็นพวกวิธีคิดแบบล้นเกิน คุณล้นเกินไปหมดทุกเรื่องตั้งแต่คำว่า “อันมีฯ” ใครไม่พูด “อันมีฯ” กลายเป็นคนที่คิดอะไรอยู่ เป็นเรื่อง เท่ากับล้มล้าง ไม่ห้ามแก้หมวด 1, หมวด 2 เท่ากับจะแก้ มันล้นเกินไปหมด ป้องกันตัวเองจนกลัวไปหมด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง” ปิยบุตร กล่าว
[ ย้อน Timeline จาก Constitutional Monarchy สู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีฯ” ชี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำให้กลายเป็นเรื่องคลุมเครือ-ไม่เป็นแบบประชาธิปไตยสากล ]
ถ้าเราลองไปดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญมา การถกเถียงกันถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาโดยตลอด ผู้ที่ถกเถียงก็เป็นระดับเจ้าพระยา ขุนนางระดับสูง เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นกลุ่มกษัตริย์นิยม เคยมีการพูดชัดเจนถึงขั้นว่าเราจะจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย
เรื่องนี้เราเคยมีการพูดกันในสภามาโดยตลอด มาระยะหลังจึงเริ่มไม่พูดกัน ทุกวันนี้กลายเป็นว่าใครพูดเป็นเรื่องแหลมคม ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดด้วยซ้ำ หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเราต้องพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ
เราเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร เป็นประชาธิปไตย มาตรา 1 ยืนยันเรียบร้อยแล้วว่าเราเป็นราชอาณาจักร มาตรา 2 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ มีประชาธิปไตยเป็ยระบอบการปกครองและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมึขของรัฐ ของราชอาณาจักร การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เรากำลังพูดกันราวกับว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่เขาเป็นกันในโลก ไม่ใช่แบบที่ Constitutional Monarchy เป็นกัน
สิ่งที่เรียกร้องมาเสมอต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือขอนิยามที่ชัดเจนแท้จริงของคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หน่อย แต่ก็ไม่เคยมีใครนิยามให้เราเห็นได้เลย ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลีกเลี่ยงไม่เคยพูดถึงเลย แต่กลับทำให้มันคลุมเครือจนกลายเป็นว่าใครพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เลย พัฒนาการไปจนถึงขั้นว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ต้องนิยามอะไรเลย
“ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ก่อน 2475 จนถึงวันนี้ เขาจะชอบที่จะใช้วิธีคลุมเครือแบบนี้ เพราะถ้าคุณยืนยันว่าตรงไหนที่เป็นพระราชอำนาจ ผ่านลายลักษณ์อักษร มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แก้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณคลุมเครือผ่านประเพณี ผ่านความคิด ผ่านความเชื่อ คุณแก้มันในชั่วข้ามคืนไม่ได้ คุณต้องใช้เวลา ดังนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาถึงชอบจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ เขาไม่ชอบกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร” ปิยบุตร กล่าว
โพสต์และเรียบเรียงโดยทีมงาน
ชมคลิปเต็ม https://www.youtube.com/watch?v=SGppehMF6wg 
.....

 

LIVE หนึ่งความฝัน : รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระมุข

Streamed live 13 hours ago

คณะก้าวหน้า - Progressive Movement

บรรยายพิเศษ "หนึ่งความฝัน : รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ “นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง”

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

อาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม เวลา 13.30 – 15.30 น. 

📌 ห้องประชุม LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมจัดโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ #CommonSchool #คณะก้าวหน้า