วันจันทร์, สิงหาคม 31, 2563

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ “ความรู้สึกแห่งยุคสมัย” : อวสานของอุดมการณ์ อนุรักษนิยมเผด็จการ


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

ม็อบเยาวชนปลดแอกนำสังคมไทยมาสู่สถานการณ์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยพบเคยเจอ

คำปราศรัยที่ดุเดือดของทนายอานนท์ นำภา ในวันที่ 3 สิงหาคม นำไปสู่คำปราศรัยที่ดุเดือดยิ่งกว่าในการชุมนุมอื่นๆ

ซึ่งยิ่งนานก็ยิ่งประจักษ์ชัดว่าความดุเดือดของคำปราศรัยเป็นผลจากความดุเดือดยิ่งกว่าของผู้ชุมนุม

เดือนกว่าๆ ที่เยาวชนปลดแอกปรากฏตัวคือเดือนกว่าๆ แห่งการเผยแพร่ของพลังต้านเผด็จการที่อัดแน่นในสังคมไทยมาหลายปี การชุมนุมที่เกิดขึ้นทุกวันคือหลักฐานว่ากลุ่มปลดแอกไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีแกนนำเป็นบุคคลหรือกลุ่มแค่กลุ่มเดียว และเป็นม็อบที่คนมีศักยภาพเป็นแกนนำมากเหลือเกิน

รัฐบาลเข้าใจว่าคณะเยาวชนปลดแอกและประชาชนปลดแอกคือแกนนำชุมนุม ผลก็คือการยัดคดีคนกลุ่มนี้นับไม่ถ้วน

แต่เดือนกว่าๆ ที่ทำแบบนี้กลับทำให้การชุมนุมขยายตัวขึ้นบนเนื้อหาที่ผู้ชุมนุมเรียกว่า “ยกเพดาน” ขึ้น

จนอาจพูดได้ว่าการดำเนินคดีกับคนจัดชุมนุมไม่มีผลต่อการชุมนุมเลย

ไม่ถึงสองเดือนหลังจากการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 18 กรกฎาคม พื้นที่ในการชุมนุมได้ขยายตัวสู่โรงเรียนมัธยม, สถานีรถไฟฟ้า, ห้องเรียน และกระทั่งเตียงนอน หากถือว่าความเคลื่อนไหวอย่างการดันแฮชแท็กต่างๆ เปรียบได้กับการชุมนุมออนไลน์

สามข้อเรียกร้องของกลุ่มปลดแอกมีหัวใจที่การต่อต้านเผด็จการ และด้วยการขยายตัวของการชุมนุมทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ พื้นที่ของการต่อต้านเผด็จการได้ขยายตัวจากถนนราชดำเนินไปสู่การต่อต้านในชีวิตประจำวัน

จนอยู่ที่ไหนก็แสดงออกว่าสนับสนุนประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา

ตรงข้ามกับความเข้าใจผิดของรัฐบาลว่า “ปลดแอก” คือ “ขบวนการ” ที่มี “แกนนำ” ความเป็นจริงก็คือปลดแอกเป็น “ความเคลื่อนไหว” ที่ทุกองคาพยพทำงานอย่างเป็นไปเอง ชี้นำไม่ได้ เป็นเอกเทศ แต่เกาะเกี่ยวกันตามธรรมชาติ

เพราะทุกส่วนแบ่งปัน “ความรู้สึกแห่งยุคสมัย” บางอย่างร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลอกกองเชียร์ตัวเองโดยด้อยค่าว่าผู้ชุมนุมหรือแสดงออกด้วยวิธีต่างๆ ถูกแกนนำหลอกลวง

แต่ที่จริงการยกเพดานที่ขยายตัวท่ามกลางวงล้อมของคดีความและการคุกคามแสดงถึง “ความรู้สึกแห่งยุคสมัย” ที่สั่นคลอนอุดมการณ์ซึ่งเป็นรากฐานของการยึดอำนาจปี 2557 ตลอดมา

ไม่มีความจำเป็นต้องระบุว่าอุดมการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์อ้างในวันยึดอำนาจคืออะไร

แต่ที่พูดได้แน่ๆ คือความพยายามใช้อุดมการณ์ล้างสมองประชาชนล้มเหลวแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม 12 ประการที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ภาษีประชาชนปลุกปั่น หรือแม้แต่ชะตากรรมของ “เบส อรพิมพ์”

หนึ่งในกิจกรรมต้านเผด็จการที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดคือการชูสามนิ้ว ร้องเพลงชาติ และผูกโบขาวของนักเรียนมัธยม

เพราะทันทีที่การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกบนถนนราชดำเนินจบลงในวันที่ 16 สิงหาคม ปฏิบัติการชูสามนิ้วร้องเพลงชาติและผูกโบขาวทั่วประเทศก็เกิดขึ้นจนปัจจุบัน

ชูสามนิ้วคือสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหารในสังคมไทยตั้งแต่วินาทีแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์จับคนที่ทำแบบนี้

นักเรียนที่ชูสามนิ้วคือนักเรียนที่ประกาศต้านเผด็จการเหมือนประชาชนนอกโรงเรียน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นนักเรียนที่มั่นใจว่าตัวเองมี “มวลชน” จนกล้าทำแบบนี้ในโรงเรียน

สังคมไทยสะกดจิตตัวเองว่านักเรียนคือเด็ก, โรงเรียนคือบ้าน และครูคือพ่อ-แม่คนที่สองของ “เด็กนักเรียน” แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย โรงเรียนมีมิติแห่งการเป็นสถาบันถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐ และครูจำนวนมากเชื่อว่าตัวเองมีหน้าที่อบรมสั่งสอน “เด็กๆ” ให้เชื่ออุดมการณ์ที่รัฐต้องการ

ชูสามนิ้วคือการประกาศตัวว่าเชิดชูเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ หรือพูดง่ายๆ คือหลักการเรื่อง “คนเท่ากัน”

วินาทีที่นักเรียนชูสามนิ้วจึงเป็นวินาทีที่นักเรียนประกาศตัวว่ามีความคิดบางอย่าง ซ้ำยังเชื่อมั่นในความคิดนั้นจนไม่แคร์ว่าจะครูและโรงเรียนจะคิดเหมือนหรือแตกต่างกัน

สามนิ้วคือการประกาศตัวตน นักเรียนที่ชูสามนิ้วคือนักเรียนที่กล้าบอกโลกว่าตัวเองไม่ใช่ “เด็กๆ” แต่เป็น “พลเมือง” ซึ่งคิดเป็น คิดเองได้ กล้าแสดงออกในแบบที่รู้ว่าจะถูกรัฐมองเป็นฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งไม่กลัวที่จะถูกครูหรือโรงเรียนคุกคามในกรณีที่คิดไม่เหมือนกับครูและโรงเรียน

ปฏิบัติการชูสามนิ้วและผูกโบขาวทำให้ครูจำนวนมากไม่พอใจจนตี, หยิก, ตบ, ด่าประจาน, ขู่ไล่ออก, เรียกตำรวจจับ, แคปชื่อให้เจ้าหน้าที่ ฯลฯ เพราะทันทีที่นักเรียนชูสามนิ้ว นักเรียนได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจากการเป็นเบี้ยล่างในห้องเรียนเป็นคนเท่ากันกับครูที่เห็นต่างจากนักเรียนทันที

ในสังคมที่ครูเชื่อว่าโรงเรียนมีหน้าที่ถ่ายทอดอุดมการณ์รัฐจนงานครูคือ “กล่อมเกลา” ให้ “เด็กๆ” คิดแบบที่รัฐต้องการ นักเรียนที่ชูสามนิ้วย่อมถูกครูมองเป็นศัตรูของรัฐเหมือนชนชั้นนำมองคนเสื้อแดงปี 2553 และทหารมองประชาชนปี 2557 นั่นคือมีเหตุผลที่ครูจะลงโทษนอกกฎหมายได้ทุกกรณี

น่าสังเกตว่าครูจำนวนมากทำร้ายนักเรียนทันทีที่เห็นการชูสามนิ้วร้องเพลงชาติ เพราะปฏิบัติการชูสามนิ้วร้องเพลงชาติคือปฏิบัติการที่ประกาศว่าชาติเป็นของคนที่ชูสามนิ้วเท่ากับคนที่ไม่ชู ชาติวางอยู่บนหลักเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพได้ และคนที่รัฐมองเป็นศัตรูก็คือคนรักชาติเช่นเดียวกัน

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเคยอภิปรายในสภาให้สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของ “ความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน” และปฏิบัติการชูสามนิ้วร้องเพลงชาติคือปฏิบัติการที่บอกว่าสังคมไทยมีคนที่คิดเรื่องน่า “กระอักกระอ่วน” มากจนไม่กลัวที่จะแสดงตัวออกมาอีก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นฝันร้ายของรัฐโดยตรง

การพังทลายของอุดมการณ์ที่เป็นฐานของรัฐประหาร 2557 ทำให้การต้านเผด็จการเป็น “วิถีใหม่” ของประเทศจนนักเรียนกล้าชูสามนิ้วแบบไม่กลัวครูและรัฐบาล

ขณะที่นอกรั้วโรงเรียนออกไป การพังทลายนี้นำไปสู่การต่อต้านสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ในปริมณฑลอื่นด้วยเช่นกัน

เนชั่นถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐในการโจมตีพลังประชาธิปไตยมานาน แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์เรื่องแบนสปอนเซอร์เนชั่นแสดงว่าพลังฝ่ายประชาธิปไตยมีมากจนบางสินค้าถอดโฆษณาจากเนชั่นไปแล้ว เช่นเดียวกับการแบนพิธีกรที่ด่านักเรียน-นักศึกษาจนถูกปลดจากรายการ

อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนปัจจุบันเคยเป็นทหารที่ชำนาญในการใช้สื่อเพื่อปราบปรามประชาชนปี 2553 แต่เมื่อต้องแสดงบทบาทเดียวกันในปี 2563 วิธีโฆษณาชวนเชื่อแบบที่ทำ Big Cleaning Day หลังฆ่าเสื้อแดงกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการโจมตีคนเรียกร้องประชาธิปไตยว่าไม่รักชาติไทย

รัฐบาลที่ดีต้องตอบได้ว่าดำรงอยู่เพราะอะไร แต่ในการประชาสัมพันธ์เพื่อต่ออายุรัฐบาล ช่อง 11 กลับสื่อสารว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการคือฝ่ายทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวทั้งหมด

รัฐไม่สามารถหาเหตุผลในการอธิบายคุณค่าของรัฐได้มากกว่าโจมตีว่าคนวิจารณ์รัฐคือคนทำลายครอบครัว

ในสังคมที่คนคิดเหมือนรัฐเผด็จการ การโจมตีคนต้านเผด็จการว่าทำลายครอบครัวอาจมีน้ำหนักในการทำให้คนสยบยอมต่อไป แต่ในสังคมที่คนหันหลังให้รัฐเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ การโจมตีแบบนี้คือบัตรเชิญให้คนส่วนใหญ่สมเพชความอับจนทางปัญญาของฝ่ายประชาสัมพันธ์เผด็จการ

ไม่ว่าจะมองไปทางไหน สังคมไทยวันนี้เต็มไปด้วยหลักฐานว่า “ความรู้สึกแห่งยุคสมัย” บางอย่างได้ก่อตัวขึ้นจนเผชิญกับอุดมการณ์ของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐไม่สามารถสร้างความยอมรับนับถือได้

ทำได้แค่ยัดคดี, ด่า, ตบ, ขู่ ฯลฯ แบบเดียวกับครูกระทำต่อนักเรียนและตำรวจทำกับประชาชน

หัวใจของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในโลกคือการจรรโลงจารีตประเพณีโดยปรับตัวหาโลกสมัยใหม่แต่สิ่งที่พลังอนุรักษนิยมในสังคมไทยทำคือใช้ทหาร และระบอบอำนาจนิยม ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

ความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อการใช้กำลังของฝ่ายต้านการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

ปี2563 เป็นปีที่คนจำนวนมากเห็นว่าสังคมไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่เคยมีใครเคยพบเคยเห็นมาก่อน และถึงแม้จะยังไม่มีใครตอบได้ชัดๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นคืออะไร สัญญาณทางการเมืองทั้งหมดชี้ว่าอุดมการณ์อนุรักษนิยมในสังคมได้พังทลายลงจนเหลือแต่ลมหายใจรวยริน

อุดมการณ์คือรากฐานของการปกครองเท่ากฎหมายและพละกำลัง เมื่อใดที่รัฐคุมอุดมการณ์ไม่ได้ การปกครองย่อมมีโอกาสพังทลาย ทางเลือกของรัฐเผด็จการในระยะสั้นจึงได้แก่การใช้กฎหมายและกำลังควบคุมประชาชนรุนแรงขึ้น แต่กำลังที่ปราศจากการยอมรับย่อมทำให้รัฐเป็นทรราชทันที

กลุ่มปลดแอกสะท้อนความเร่าร้อนทางอุดมการณ์ที่ไม่เคยมีในสังคมไทย และด้วยการควบแน่นของพลังอนุรักษนิยมกับเผด็จการ คนส่วนใหญ่ได้เลือกข้างประชาธิปไตยแทบเด็ดขาดไปแล้ว ชนชั้นนำที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงจนยอมเปลี่ยนผ่านคือกลไกประคับประคองสังคมไม่ให้มุ่งสู่ความรุนแรง

สังคมไทยใกล้จะมีการเปลี่ยนแปลง และด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทุกฝ่ายทำกันอยู่ในปัจจุบัน โอกาสที่สังคมจะชุลมุนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่อลหม่านย่อมมีมากขึ้นไปด้วย

ไม่เคยมียุคไหนที่คนซึ่งรักประเทศจริงๆ จากทุกฝ่ายต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศมากเท่าในยุคปัจจุบัน