วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2567

บทความ “คนชอบกินหมู” โดย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้ไม่กินหมู ด้วยเหตุผลทางศาสนา


Atukkit Sawangsuk
15 hours ago
·
ชอบอันนี้
บทความ “คนชอบกินหมู”
อ.ชัยวัฒน์ยกตัวอย่าง เกาะในนิวกินี ที่หมูเติบโตได้ดี เลี้ยงง่าย จนชนเผ่าต้องมีพิธีบูชายัญหมูทุก 12 ปี
ในมุมกลับคือแกบอกว่า การกินหมูไม่กินหมู มันมีเหตุผลรองรับ จากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน

Sarawut Hengsawad
17 hours ago
·
ชีวิตนี้มีโอกาสสัมภาษณ์ขอความรู้ผู้คนมาไม่น้อย แต่มีอยู่หนึ่งท่านที่ผมจำความรู้สึกและบทสนทนาในวันนั้นได้ไม่ลืม คือตอนควงแขนพี่หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา ไปสัมภาษณ์อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ตอนที่เกี่ยวกับความรุนแรง
จำได้ว่า แทบทุกคำถามที่ถามไปจะถูก 'ถามกลับ' หรือไม่ก็ 'ชวนคิดอีกมุม' หรือไม่อาจารย์ก็จะบอกว่า 'อาจต้องถามใหม่' รู้สึกเหมือนคุยกับนักปรัชญาที่ไม่ได้มอบคำตอบให้เราแบบผู้กุมความรู้ ทว่าพยายามกระตุ้นความรู้ของเรา
ทั้งที่รู้อยู่แล้ว นึกว่ารู้ เคยรู้มา หรือมั่นใจว่ารู้ ให้สั่นคลอนด้วยวิธีเสนอมุมมองอีกด้าน ข้อมูลอีกชุด คำถามอีกแบบให้มองโจทย์ โลก ผู้คน และตนเองในแง่มุมอื่น
ผมแทบไม่เคยเจอแขกรับเชิญแบบนี้เลย
วันนั้นช่างน่าประทับใจ สัมภาษณ์เสร็จจำได้ว่ามึนเหมือนถูกเขย่าสมองแรงๆ อยู่ชั่วโมงกว่า รู้สึกเหมือนเข้าเรียนวิชาปรัชญาหัวข้อ 'ความรุนแรง'
ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนที่ได้อ่านหนังสือสามเล่มที่นับเป็นซีรีส์ในดวงใจของอาจารย์ชัยวัฒน์ ซึ่งงามตั้งแต่ชื่อ 'ราวกับมีคำตอบ' 'มีกรอบไม่มีเส้น' 'ถึงเว้นไม่เห็นวรรค' (สนพ.สารคดี) ที่อ่านแล้วเหมือนความคิดความเชื่อถูกเขย่า เพียงแค่ด้วยลีลาที่นุ่มนวลกว่าตอนอยู่ต่อหน้าอาจารย์ อันนั้นสะเทือนจากการตอบโต้ระยะประชิด
...
จำได้ว่าพี่หนุ่มถามไปว่า "ความรุนแรงถูกสร้างขึ้นจากการสร้างความเป็นอื่นให้กับมนุษย์คนอื่น นี่คือฐานของความรุนแรงเลยไหมครับ" อาจารย์ตอบว่าใช่ แต่... "ไม่ใช่ความเป็นอื่นทุกชนิดเป็นกุญแจของความรุนแรง เพราะความเป็นอื่นอาจเป็นความเป็นอื่นที่เราชอบก็ได้...อย่างเวลาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เราก็ไปเพราะมันไม่เหมือนบ้านเรา ที่อื่นก็มีไว้ให้เราชื่นชมได้เหมือนกัน" ยิ้มแล้วบอกว่า "คำถามคุณโตมรต้องถามใหม่ว่า ความเป็นอื่นแบบใดนำไปสู่ความรุนแรง"
ผมถามต่อ "แต่ในสังคมที่ขับเน้นความเป็นอื่นแล้วเพิ่มความขัดแย้งในความเป็นอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นแบ่งสีแบ่งฝ่ายกัน จะมีส่วนเพิ่มความรุนแรงในสังคมไหมครับ" ลองฟังคำตอบของอาจารย์สิครับ
"ถ้าผมอธิบายใหม่ว่า ในสังคมมีคนที่ชอบหนังผี แล้วก็มีคนชอบหนังโรแมนติก สองค่ายนี้ก็สนับสนุนหนังที่ตัวเองชอบ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาฆ่าฟันกัน หรือไม่จำเป็นต้องเกลียดชังกัน ก็แค่ผมไม่ดูของคุณ คุณก็ไม่ต้องดูของผม แต่มันมีปัญหาตรงที่ไอ้พวกที่ชอบหนังผีบอกว่าหนังโรแมนติกไม่ควรมีโรงฉาย พวกชอบหนังผีไม่ควรได้ดู หรือมีคนบอกว่าถ้าเป็นคนไทยไม่ควรดูหนังโรแมนติก แบบนั้นแหละเป็นปัญหา ผมกลับคิดว่า ถ้าไม่มีความเป็นอื่นเลย เหมือนกันไปหมด คุณจะอยู่ไหมล่ะ สิ่งที่ควรพัฒนาคือต้องทนความเป็นอื่นได้ และเคารพคนที่เขาชอบอย่างอื่นด้วย"
...
บทความของอาจารย์ที่ผมจำได้คือ "คนชอบกินหมู"
อาจารย์เปิดบทความว่าตนไม่กินหมู ด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเคยชิน และประเพณี ในมุมของคนไม่กินหมูนั้น การกินหมูเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก แล้วอาจารย์ก็พาไปทำความรู้จักกลุ่มคนที่รักการกินหมูเป็นชีวิตจิตใจ
เผ่ามาริงในนิวกีนี ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งมักจัดงานเลี้ยงล้างผลาญหมูทุกๆ 12 ปีมีการล้มหมูครั้งใหญ่ พอเสร็จพิธีก็จะทำการรบกับเผ่าที่เป็นอริกัน ระหว่างรบก็บูชายัญหมูไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งจะพบว่าไม่เหลือหมูให้บูชายัญแล้ว สงครามจะหยุดทันที แล้วสองฝ่ายก็ร่วมปลูกต้นไม้ที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วแยกย้ายกลับไปเลี้ยงดูหมูให้เติบโตขึ้นอีก
มันอาจดูบ้าบอ แต่มีเหตุผลของมันอยู่
เป็นเรื่องของการควบคุม สร้างและกำจัดเพื่อสมดุลของทรัพยากรบนเกาะ เพื่อนิเวศที่ไม่เอียงเทไปด้านใดด้านหนึ่ง ด้วยสภาพอากาศที่นี่เหมาะกับการเลี้ยงหมู หมูหาอาหารกินเองได้ เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ ฉะนั้น ใครเลี้ยงหมูได้มากก็มีเกียรติ แต่ไปถึงจุดหนึ่งหมูจะมากเกินไป แล้วจะกลายเป็น 'ภาระ' เพราะจะไปกินพืชพรรณจนเสียหาย ก็ถึงเวลาต้องบูชายัญหมู ล้มหมูครั้งใหญ่ ทำสงคราม ซึ่งก่อนทำสงครามจะเชิญแขกต่างเผ่ามางานเลี้ยง หากหมูเพียงพอก็เป็นพันธมิตรกัน เพราะถ้ามีเผ่าที่เลี้ยงดูหมูได้เยอะขนาดนี้แปลว่ากำลังแข็งแกร่ง หากหมูน้อยก็เสี่ยงต่อการถูกยึดครอง
เมื่อเล่าถึงตรงนี้ อาจารย์จึงบอกว่า ถ้าเราเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังทั้งหมดนี้ การกินเนื้อหมูอย่างคลั่งไคล้ของเผ่ามาริงนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ขึ้นมาทันที
การกินหมูของพวกเขามีระบบเหตุผลอันซับซ้อนรองรับอยู่ และตรงนี้เองที่เป็นไม้เด็ด...อาจารย์เขียนต่อไปว่า "ในทำนองเดียวกัน สำหรับบรรดาผู้ที่ไม่รับประทานหมูทั้งหลายนั้น ก็ล้วนมีระบบเหตุผลของตนรองรับอยู่เช่นกัน"
"สังคมมนุษย์มักมีปัญหาที่ความไม่พยายามจะเข้าใจผู้อื่น สิ่งใดที่ตนกระทำก็มักเห็นชัดว่าเหตุและผลของการกระทำอยู่ที่ไหน แต่สิ่งที่ผู้อื่นกระทำนั้น กลับเห็นเป็นสิ่งไร้สาระ"
...
ผมประทับใจ 'วิธี' ในการอธิบายความต่างเรื่องที่ชาวมุสลิมไม่กินหมู โดยทำความเข้าใจ 'คนชอบกินหมู' ของอาจารย์ชัยวัฒน์มากๆ
เรียบง่าย ใจกว้าง เขย่าความคิด ด้วยมิตรไมตรี
นี่คือสิ่งที่สัมผัสได้ผ่านทั้งงานเขียนบทความ การสัมภาษณ์ หนังสือที่อาจารย์เป็นบรรณาธิการ อาจารย์เปรียบเสมือนกัลยาณมิตรที่คอยสะกิดเตือนว่า "ระวังความคับแคบของความคิดและการด่วนตัดสิน"
อาจารย์โยน 'กุญแจ' สำคัญมาให้ ซึ่งกุญแจนั้นคือ 'เครื่องหมายคำถาม' โดยสิ่งที่ควรถามท้วงมากที่สุดก็คือความคิดความเชื่ออันแข็งทื่อของเรานั่นเอง
นั่นคือเหตุผลที่อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นหนึ่งในแขกรับเชิญที่ผมไม่มีวันลืม เพราะวันนั้นวันเดียว ผมได้ 'กุญแจ' กลับมาทำการบ้านเต็มไปหมด แถมด้วยปัญญาที่อาจารย์ฝากไว้ระหว่างถกเรื่องความเป็นอื่น...
"ถ้าพูดแบบเพลโตก็ต้องบอกว่า ฐานของความรักคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามเชื่อมเข้าหากัน ไม่ใช่เหมือนกัน"
ขออนุญาตกราบลาอาจารย์ด้วยรักและนับถืออย่างยิ่งครับ
---
*ขอบคุณอาจารย์ปกป้อง พี่หนุ่ม-โตมร จุง ฝ้าย แชมป์-ทีปกร แชมป์-กฤดิกร ทีมชุบแป้งทอด ที่ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้จากอาจารย์ผ่านการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นด้วยครับ