นี่เป็นยุคสมัยที่สถาบันกษัตริย์ไทยถูกตั้งคำถามจี้ติดอย่างยิ่ง ว่าตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมโลกอย่างรวดเร็วทาง ‘ดิจิทัล’ ได้หรือไม่ ประชาชนไทยรุ่นนี้ไปไกลโพ้นแล้ว ขนาดเด็กมัธยมต้นสามารถอภิปรายได้เป็นจะเป็นโกลน ว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ ของบุคคล มีความหมายล้ำลึกอย่างไร
ชนิดที่การเปิดร้านขายของเก่า #นักพูดของพ่อ ‘เบสท์’ อรพิมพ์ รักษาผล โดยกองทัพภาค ๔ ที่ว่า “ในท่ามกลางการเปลี่ยนไป...ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจที่จงรักภักดี...แบบของเรา...ยังคงรัก ปกป้อง และเทิดทูนไว้...อย่างสร้างสรรค์” เป็นได้อย่างดีแค่ ‘คลองถม’ ไปไม่ถึง ‘สกายว้อล์ค’
อรพิมพ์เป็นนักพูดโฆษณาสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกองทัพเกื้อกูลจัดอีเว้นต์ให้ไม่ขาดจนโด่งทีเดียวในปี ๒๕๕๙ แล้วตกฮวบเมื่อขอวีซ่าไปพูดอวยเจ้าในอเมริกาแล้วไม่ผ่าน เนื่องเพราะปัญหาทางเทคนิค บนพื้นฐานที่ว่าจะมีคนอเมริกันกี่มากน้อยใส่ใจอวยด้วย
กระทั่งการตั้งอดีตหัวไม้ซึ่งร่ำร่วยจากการพนันออนไลน์ไปเป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน แก้ปัญหา “บ่อนการพนันออนไลน์” ก็ไม่ทำให้พรรคฐานหลักทางการเมืองของรัฐบาล ได้แสดงถึงความคิดก้าวหน้าแต่อย่างใด ซ้ำร้ายผู้คนเป็นห่วงพรรคนี้จะเปิดมิติใหม่ไปสู่อบายมุข
แม้ในประเทศเวลานี้ มีคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่บรรดาพวก ‘เติมอวตาร’ บนเฟชบุ๊คว่า ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ไม่ต้องการตอบ เสียดายที่รายหนึ่งพระองค์เจ้าสิริวัณวลีโตไม่ทันช่วง ‘ฮิต’ เปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘รักในหลวง’ มิฉะนั้นคงทรงขึ้นป้ายเฟชบุ๊คว่า ‘ห่วงลูกหลาน’
อีกความพยายามสยบเสียงวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ จากเพจชื่อ ‘ซันนี่ ยูโฟร์’ โพนทะนาผิดๆ ว่า “การก่อสร้างอาคารที่มีพระนามของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างๆ ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์” เช่น ตึกสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่ รพ.รามาฯ
“พุทโธ่เอ๋ย...ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสักบาทเดียว” อีกทั้ง “ตึกใน รพ.ศิริราช กี่ตึกกัน ที่เป็นเงินบริจาคมาแต่สมัยพระปิตุลา สมเด็จย่า เครื่องมือทันสมัยกี่พันชิ้น ที่เป็นเงินส่วนพระองค์” ทั้งที่ร้อยทั้งร้อยใช้ทุนจากงบประมาณที่ ครม.อนุมัติให้
ดูรายละเอียดเกือบสิบแห่งที่ ‘ประชาไท’ นำมาตีแผ่ตั้งแต่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ รามาฯ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ มหิดล ศูนย์โรคหัวใจ ตึกกายภาคบำบัด ตึกจักษุวิทยา และตึกผ่าตัดรวม ศิริราช เหล่านี้ได้เงินก่อสร้างจากมติ ครม. บวกกับการรับบริจาค
และจากการอภิปรายในกรรมาธิการงบประมาณโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา ถึงการไม่ฟังคำติติงของอนุกรรมการฯ รัฐบาลยืนกระต่ายขาเดียวอนุมัติงบประมาณปี ๒๕๖๔ ให้แก่มูลนิธิ ‘ปิดทองหลังพระ’ จำนวน ๒๘๗ ล้านบาท
โดยที่มูลนิธิเคยได้รับงบประมาณอุดหนุนผ่านกระทรวงคลัง ปีละ ๓๐๐ ล้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ๑๐ ปี อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าปีหน้าไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินสนับสนุนอีกเพราะ ‘กำไรสะสม’ ของมูลนิธิ เพียงพอใช้ตามปกติไปอีกถึง ๕ ปีข้างหน้า
ธนาธรแจงว่ามูลนิธิดังกล่าวมีสถานะเป็น ‘เอกชน’ แต่ละปีใช้งบประมาณไม่หมด ดังเช่น ตามรายงานประจำปี ๖๒ มูลนิธิรับงบประมาณในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมารวม ๓ พันล้านบาท มีเงินเหลือจากรายจ่าย ๑,๒๒๓ ล้าน คำนวณแล้วเงินก้อนนี้สามารถใช้จ่ายปกติได้ ๔ ปี ๙ เดือน ไม่ต้องเติมงบประมาณใหม่
แต่สำนักนายกฯ อุทธรณ์จะเอาให้ได้ แล้วกรรมาธิการชุดใหญ่เห็นชอบ แม้นว่างานของมูลนิธินี้ “ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นของรัฐ” เช่นกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ‘สสส.’ และสถาบันพัฒนาชุมชน หากต้องการความคล่องตัวเป็นพิเศษ ก็ “สามารถใช้กลไกปกติได้” อยู่แล้ว
นอกจากจัดสรรงบประมาณเกินความต้องการ เงินไปกองสะสมโดยไม่เกิดผลิตผลแล้ว ยังมีการใช้ชื่อ ‘โครงการพระราชดำริ’ ทำการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และการประกอบอาชีพดำรงชีวิตของชาวบ้าน
วานนี้ (๒๗ สิงหา) ชาวบ้านเหมืองตะกั่ว ป่าบอน พัทลุง พากันเดินขบวนไปร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล ให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนบริเวณน้ำตกโตนสะตอ ซึ่งจะทำให้มีการบุกรุกป่าสมบูรณ์ และทำลายพื้นที่เกษตรกรรม สวนยาง ปาล์ม และสัปปะรด ของชาวบ้าน
ทั้งๆ ที่ “ได้มีการสร้างเขื่อนบริเวณข้างเคียงไว้อยู่แล้วสองเขื่อน” คือเขื่อนเก็บน้ำป่าบอน ซึ่งห่างจากน้ำตกโตนสะตอเพียงสองกิโลครึ่งกว่าๆ กับเขื่อนเก็บน้ำหัวช้าง ที่ห่างออกไป ๑๔ กิโล อันเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าป่าไม้ถูกทำลาย และทางน้ำธรรมชาติแห้งเหือด
การที่กรมชลประทานอ้างแต่ว่านี่เป็นโครงการพระราชดำริ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียและความเลวร้ายอันมีต่อระบบนิเวศ ชาวบ้านในท้องที่เดือดร้อน เป็นการปฏิบัติที่อาจเชิดชูนามธรรมความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในขณะที่รูปธรรมมีลักษณะกดขี่ข่มเหงประชาชน
(https://prakaifai.com/2020/08/28/vSiG9a6lHBvlQ3LKQv1s, https://www.facebook.com/ThanathornOfficial/photos/a.384655255271488/924366764633665/ และ https://prachatai.com/journal/2020/08/89242)