วันพุธ, สิงหาคม 26, 2563

เจ้าหน้าที่รัฐหรือโจร? ดูพฤติกรรมลับๆล่อๆ ดูที่มาของหัวหน้า... โจร ชัววววร์....



iLaw
Yesterday at 7:06 AM ·

เจ้าหน้าที่รัฐหรือโจร?

อาจเป็นคำถามที่ฟังดูแล้วเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มันเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังเห็นพฤติการณ์ของบุคคลที่พอจะระบุตัวได้ว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อคนที่แสดงออกทางการเมืองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

วิ่งไล่กวด - เดินตามติดนักกิจกรรมอ้างมีคนให้มาดูแล

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 สหภาพนักเรียน นิสิตและนักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎรที่สกายวอล์คปทุมวัน หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมพริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ได้เข้าห้างมาบุญครอง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินตามเข้าไปด้วย ต่อมาเมื่อพริษฐ์และปนัสยาแวะทานเคเอฟซี เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็ยังตามเข้าไปด้วยอีกและบอกกับพริษฐ์ว่า ไม่ต้องกลัว พี่เป็นตำรวจเขาให้มาดูแลเฉยๆ นอกจากนี้ยังกล่าวย้ำอีกว่า จะตามไปส่งถึงรถ

หลังทั้งสองออกจากพื้นที่ พริษฐ์โพสต์ข้อความว่า หลังจากที่ทั้งสองขับรถออกจากห้างมาบุญครองยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขับรถติดตามไปด้วย ก่อนจะโพสต์ข้อความแจ้งข่าวอีกครั้งในเวลาต่อมาว่าพวกเขาปลอดภัยแล้ว

อีกกรณีหนึ่งในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พริษฐ์และปนัสยา ประกาศแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมตามหาวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่สกายวอล์ค ปทุมวันเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 สำหรับการทำกิจกรรมอารยะขัดขืน พริษฐ์และปนัสยาประกาศว่าพวกเขาจะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าอาคารสถานีตำรวจปทุมวันหลังใหม่ ทั้งสองจอดรถไว้ที่ตลาดสามย่านซึ่งห่างจากจุดนัดหมายออกไปประมาณ 700 เมตร หลังทำกิจกรรมเสร็จสิ้นทั้งสองรีบกลับไปที่รถ แต่ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งอ้างตัวว่า เป็นฝ่ายสืบสวนสน.ปทุมวัน (เหตุที่ทราบเนื่องจากผู้สังเกตการณ์ได้มีการแนะนำตัวและพูดคุยกับตำรวจนายดังกล่าวก่อนแล้ว) วิ่งไล่ตามไป และมีบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดอีกประมาณ 5 นายวิ่งไล่ตามหลังไปด้วยโดยไม่มีการแสดงตัวต่อทั้งสองว่าเป็นใคร สังกัดหน่วยงานใดและต้องวิ่งตามไปเพื่ออะไร

เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่วิ่งไล่ตามพริษฐ์และปนัสยา เพื่อนๆและประชาชนที่มาให้กำลังใจขณะที่ทั้งสองทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จึงได้วิ่งตามไปที่รถด้วย ท้ายที่สุดทั้งพริษฐ์และปนัสยาสามารถออกจากพื้นที่ไปได้อย่างปลอดภัย จนถึงทุกวันนี้ไม่สามารถทราบได้ว่า ในวันนั้นเจ้าหน้าที่วิ่งไล่ตามทั้งสองไปด้วยเหตุอันใด

พฤติการณ์ลับๆล่อๆ ก่อนทำการจับกุมนักกิจกรรม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนว่าความให้ลูกความที่ศาลอาญา ตลอดทั้งวันมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบปรากฎตัวบริเวณศาลจำนวนมาก คล้ายรอทำการจับกุม โดยมีบางส่วนวนเวียนดูห้องพิจารณาคดีที่อานนท์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ หลังว่าความเสร็จในเวลาประมาณ 17.00 น. อานนท์ได้มารออยู่บริเวณในรั้วหน้าศาลอาญา เพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะทำการจับกุม แต่ก็ยังไม่มีดำเนินการใดๆในขณะนั้น

รอบๆบริเวณศาลยังมีบุคคลที่คล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกหลายนายกระจายตัวอยู่แต่ยังไม่ได้มีการแสดงตัว อานนท์ซึ่งไม่แน่ใจในความปลอดภัยเพราะชายฉกรรจ์ที่ยืนอยู่นอกบริเวณศาลไม่ได้แสดงตัวจึงไม่ยอมออกจากบริเวณศาล เมื่อใกล้เวลาปิดทำการของศาลผู้อำนวยการศาลอาญาได้มาพูดคุยกับอานนท์ขอให้ออกจากบริเวณศาล ในเวลา 19.10 น. เมื่ออานนท์และคณะทนายเดินออกจากรั้วศาล กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับของศาลอาญาต่ออานนท์จากกรณีปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในกิจกรรมเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 หลังทำการจับกุมเจ้าหน้าที่นำตัวอานนท์ไปยังสน.ชนะสงครามซึ่งท้องที่เกิดเหตุ

วันเดียวกันหลังอานนท์ถูกจับกุม สุวรรณา ตาลเหล็ก สมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ติดตามไปให้กำลังใจอานนท์ ที่สน.ชนะสงคราม เมื่อแน่ใจว่า อานนท์จะไม่ได้ประกันตัวในคืนนั้นสุวรรณาเดินทางไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อให้กำลังใจบารมี ชัยรัตน์ แกนนำสมัชชาคนจนที่ถูกจับกุมในคดีเยาวชนปลดแอกในช่วงค่ำวันเดียวกัน ระหว่างที่จะขึ้นรถส่วนตัวมีชายกลุ่มหนึ่งประมาณ 5 คนตะโกนเรียกสุวรรณาและชายคนหนึ่งในกลุ่มดังกล่าวกระชากตัวเธอลงจากรถ ระหว่างนั้นเพื่อนที่มาด้วยกันตะโกนส่งเสียงขอความช่วยเหลือ ชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวจึงปล่อยตัวสุวรรณา

จากนั้นชายอีกคนหนึ่งในกลุ่มถามสุวรรณาว่าจะไปสน.สำราญราษฎร์จริงหรือไม่ เมื่อเธอตอบว่า จริง ชายกลุ่มดังกล่าวพยายามโน้มน้าวให้เธอไปกับพวกเขา แต่สุวรรณาไม่ยินยอมเนื่องจากชายกลุ่มดังกล่าวไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่และไม่ได้แสดงหมายจับ จากนั้นจึงขึ้นรถไปที่สน.สำราญราษฎร์ เมื่อมาถึงที่หน้าสน. ชายฉกรรจ์กลุ่มเดิมเข้ามาแนะนำตัวอย่างเป็นทางการว่า พวกเขาเป็นชุดจับกุม
และแสดงหมายจับให้เธอดู

ระหว่างที่พนักงานสอบสวนดำเนินการทางคดีกับสุวรรณาบน สน. เจ้าหน้าที่ชุดเดิมเข้ามาหาสุวรรณาในท่าทีที่เป็นกันเองมากขึ้นและกล่าวขอโทษต่อเธอ สุวรรณาไม่รับคำขอโทษพร้อมถามกลับว่าทำไมถึงต้องกระชากเธอ เจ้าหน้าที่คนที่กระชากตัวเธอตอบว่า ถ้าจะทำงานใหญ่ต้องไม่ใส่ใจเรื่องเล็กน้อย เธอจึงตอบกลับไปว่า "เรื่องเล็กของคุณแต่ไม่ใช่เรื่องเล็กเพราะมันคือการคุกคาม" ตำรวจนายดังกล่าวชี้แจงว่า ที่ต้องทำเพราะเหมือนเธอจะหนี แต่สุวรรณายืนยันว่า เธอไม่เคยคิดหนี

อีกกรณีคือ วันที่ 23 สิงหาคม 2563 ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในเวลา 22.40 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 5 นาย วนรถมาชะลอที่หน้าบ้านของเขา ขณะที่ณัฐชนน พยัคฆพันธ์ เพื่อนของภาณุพงศ์ระบุว่า มีข่าวว่าจะมีการจับกุมภาณุพงศ์ในคืนวันที่ 23 หรือเช้าวันที่ 24 สิงหาคม แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นข่าวการจับกุมในคดีใด

ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2563 เวลา 15.18 น. ที่ตลาด 100 เสา ระหว่างที่ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยรอชูป้ายแสดงออกต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี แต่ยังไม่ทันเจอหน้าพลเอกประยุทธ์ ตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้าสกัดกั้น จากนั้นตำรวจในเครื่องแบบแสดงหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และข้อกล่าวหาอื่นๆ จากการปราศรัยภายในงานธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยจะคุมตัวไปที่สภ.บ้านเพ ระยอง เพื่อทำบันทึกการจับกุม

ปฏิกิริยาของสังคมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่ 16 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 20.00 น. ก่อนการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกจะสิ้นสุด ประชาชนจำนวนมากได้ทยอยเดินทางกลับผ่านลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 500 นายกำลังตั้งแถวรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคาดว่า เป็นเรื่องการวางกำลังในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนที่มุ่งหน้าจะกลับบ้านหยุดยืนมอง บ้างตะโกนสอบถาม บ้างเสียดสีเช่นว่า “นายสั่งมา” , “ขุ่นพรี่มาทำอะไรกันคะ”,“ไปจับไวพจน์ที่เดินเพ่นพ่านอยู่ในสภาโน่น” และ “ถอดเครื่องแบบออกมาชุมนุมกับนักศึกษายังมีราคากว่าอีก” บริเวณดังกล่าวมีประชาชนสะสมสูงสุดอยู่ประมาณ 100 คนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นปฏิกิริยาที่สะท้อนกลับไปยังการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ประชาชนเห็นว่ามีลักษณะไม่ชอบมาพากลและบางกรณีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุเพื่อปรามหรือสร้างความกลัวให้กับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ

ทั้งนี้ความไม่พอใจหรือหวาดระแวงของประชาชนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะการชุมนุมในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา แต่อาจเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยที่คสช.ยังอยู่ในอำนาจและมีการใช้วิธีการสร้างความกลัวเช่น เรียกตัวผู้เห็นต่างไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปที่บ้านของประชาชนที่เคยเข้าร่วมหรือประกาศจะเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านคสช.หรือเคยโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะต่อต้านคสช. ซึ่งแนวปฏิบัติเช่นการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามประชาชน "ผู้เห็นต่าง" เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุครัฐประหารต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาล "ประยุทธ์ 2"

Sirachai Shin Arunrugstichai ...


Vinoi Pioenoedpi
🚩เยาวชนปลดแอก #ขอให้จบที่รุ่นเรา
22h ·
จริงด้วย