วันศุกร์, สิงหาคม 28, 2563

มูลนิธิปิดทองหลังพระ : อีกหนึ่งโครงการตามแนวพระราชดำริ ที่ควรถูกตัดจากงบประมาณ 64 (“ฉันเกิดในสมัยที่คนกล้าพูดถึงความไม่ดีของโครงการในพระราชดำริ" )


Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

[ มูลนิธิปิดทองหลังพระ: ภารกิจและงบประมาณที่ซ้ำซ้อนไม่สอดรับกับการบริหารราชการแผ่นดิน ]
.
สำนักนายกรัฐมนตรีได้ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงานของ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” สำหรับปีงบประมาณ 2564 เป็นจำนวนเงิน 287 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณรายการนี้ถูกตัดไปในชั้นอนุกรรมาธิการอบรมสัมมนาฯ เมื่อวานนี้ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขออุทธรณ์เพื่อไม่ให้ตัดงบสนับสนุนมูลนิธิปิดทองหลังพระ
.
งบประมาณรายการนี้ ผมเห็นว่ามีปัญหาทั้งในเชิงรายการและเชิงระบบ ผมจึงยืนยันให้ตัดงบรายการนี้ตามการนำเสนอของอนุกรรมาธิการ แต่ที่ประชุมกรรมาธิการงบชุดใหญ่เห็นชอบตามคำอุทธรณ์ คืนงบประมาณให้มูลนิธิปิดทองหลังพระ ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ขอแต่แรก
.
มูลนิธิปิดทองหลังพระคือมูลนิธิที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2552 เพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ เป็นแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศ
.
-ในปี 2554 รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้อนุมัติเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมูลนิธิปิดทองหลังพระ ระยะที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 ปีละ 300 ล้านบาท เท่าๆกัน
-ในปี 2559 รัฐบาลคุณประยุทธ์ที่มาจากการทำรัฐประหาร ได้อนุมัติเงินอีก 1,500 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการของมูลนิธิในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2559-2563 ปีละ 300 ล้านบาท เท่าๆ กัน
.
รวมสองระยะ มูลนิธิได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีประชาชนไปแล้ว 3,000 ล้านบาท
.
ในปีงบประมาณ 2564 มีการขอเงินสนับสนุนมูลนิธิปิดทองหลังพระ 287 ล้านบาท จากเดิมที่ขอปีละ 300 ล้านบาท ผมเข้าใจว่ามาจากการขอตัดลดเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงโควิด
.
แต่ผมก็ยังไม่เห็นด้วยกับงบประมาณรายการนี้ และขอยืนยันการตัดสินใจตัดงบประมาณรายการนี้ในชั้นอนุกรรมาธิการ ด้วยเหตุผลดังนี้:
.
ข้อแรก หน้าที่ของมูลนินี้ธิซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นของรัฐ การให้เงินสนับสนันเพื่อภารกิจ มีโครงสร้างรูปแบบกองทุนหรือองค์กรมหาชนที่รองรับอยู่แล้ว เช่นกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) หรือ สถาบันพัฒนาชุมชน เป็นต้น หากต้องการบริหารจัดการเรื่องใดเป็นพิเศษและคล่องตัว รัฐบาลสามารถใช้กลไลปกติได้ ไม่จำเป็นต้องให้มูลนิธิที่มีสถานะเป็นเอกชนมาจัดการงบประมาณจำนวนมากติดต่อกันเป็นสิบปีเช่นนี้
.
มูลนิธิดังกล่าวมีสถานะเป็นเอกชน กรรมการมูลนิธิเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์และข้าราชการระดับสูง โดยกรรมการสถาบันที่ขับเคลื่อนนโยบายของมูลนิธิส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการระดับสูง ไม่ต่างอะไรกับการตั้งกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาล
.
กล่าวโดยง่ายก็คือ มูลนิธิมีภารกิจเหมือนหน่วยงานรัฐ, ใช้เงินภาษีประชาชนเหมือนหน่วยงานรัฐ, หน่วยปฏิบัติการใช้หน่วยงานราชการของรัฐผ่านข้าราชการระดับสูง แต่สถานะเป็น “เอกชน”
.
หากงบประมาณก้อนนี้ ถูกนำไปให้กับหน่วยงานของรัฐ, คณะกรรมาธิการพิจาราณางบประมาณฯ หรือ ส.ส. สภาผู้แทนราษฎรก็จะสามารถตรวจสอบความโปร่งใส, ประสิทธิภาพของการใช้ และการตอบสนองกับความต้องการของประชาชนได้ แต่เมื่อนำงบประมาณส่วนนี้ให้กับมูลนิธิที่มีสถานะเป็นเอกชนแล้ว ตัวแทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการใช้ได้เลย
.
ไม่ใช่แค่หน้าที่หรือภารกิจอย่างเดียวที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยราชการอื่น งบประมาณก็ซ้ำซ้อนเช่นกัน รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่แล้ว โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2550 มีงบประมาณทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท, ในช่วงปี 2551-2557 มีจำนวนปีละ 2,300 ล้านบาท และในช่วงปี 2558-2564 มีจำนวนอีกปีละ 2,500 ล้านบาท
.
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐอื่นยังมีการของบประมาณที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกเป็นจำนวนมาก ที่นอกเหนือจากงบประมาณข้างต้น และมีหน่วยราชการ “สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ กปร. ซึ่งมีหน้าที่คอยกำกับและประสานโครงการทั้งหมด ซึ่ง กปร. เองก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณอีกในปี 2564 จำนวน 965 ล้านบาทเพื่อกำกับ-อุดหนุน-ประสานงานดังกล่าว
.
ผมเห็นว่าเงินและทรัพยากรอื่นที่รัฐจัดสรรให้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งในส่วนของงบกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มให้เอกชนทำอีก
.
ข้อที่สอง มูลนิธิมีเงินสดเพียงพอที่จะจัดกิจกรรมตามกรอบค่าใช้จ่ายเดิมอีก 5 ปี โดยไม่ต้องของงบประมาณจากภาษีประชาชน
.
อ้างอิงจากรายงานประจำปี 2562 ซึ่งเป็นรายงานล่าสุด ใน 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิใช้เงินที่ได้รับจากรัฐไม่หมด โดยมูลนิธิได้รับไปแล้ว 3,000 ล้านบาท มีรายรับมากกว่ารายจ่ายสะสม 1,223 ล้านบาท(หากเป็นบริษัทเอกชน รายได้มากกว่ารายจ่ายสะสมเรียกว่ากำไรสะสม) ซึ่งจำนวนนี้ หลักๆ เป็นเงินสด 114 ล้านบาท และเงินลงทุนชั่วคราว(เงินฝากและลงทุนระยะสั้น) 1,046 ล้านบาท บริษัทมีหนี้สินทั้งระยะสั้นและยาวเพียง 19.7 ล้านบาท
.
ในสี่ปีล่าสุด มูลนิธิมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 320 ล้านบาท (เงินสนุบสนุนจากรัฐบวกด้วยดอกเบี้ยรับ ไม่มีรายได้จากการบริจาคหรือจากที่อื่นที่สำคัญ) มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อปี 241 ล้านบาท มูลนิธินี้ใช้เงินไม่หมดหรือไม่ทันทำให้รายรับมากกว่ารายจ่ายเฉลี่ยปีละ 79 ล้านบาท
.
หากนำรายรับที่ใช้ไม่หมดในระยะสิบปี 1,200 ล้านบาทเป็นตัวตั้ง หารด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสี่ปีหลังสุด 241 ล้านบาทต่อปี จะได้จำนวน 4.9 ปี
.
พูดง่ายๆ ก็คือ มูลนิธิสามารถใช้เงินเท่าเดิม ดำเนินการได้อีก 5 ปี โดยไม่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เงินสะสมที่ใช้ไม่หมดจากการทำงาน 10 ปีที่ผ่านมานั้น เพียงพอสำหรับการทำงานไปอีก 5 ปี
.
ข้อที่สาม การพิจารณางบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อประสิทธิภาพและด้วยความเป็นธรรม เพื่อนกรรมาธิการ คุณหมอเอกภพ เพียรพิเศษ ได้ยกตัวอย่างกรณีสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนเหมือนกัน มีเงินสะสมเพียงพอต่อการดำเนินการเหมือนกัน แต่กลับถูกตัดงบสนับสนุน แล้วหลักการมาตรฐานของการพิจารณางบประมาณนั้นเป็นแบบไหนกันแน่? ทำไมองค์กรที่มีสถานะเงื่อนไขคล้ายกันทางด้านงบประมาณแต่ถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน?
.
ผมเห็นว่ามูลนิธิปิดทองหลังพระรวมถึงโครงการในพระราชดำริอื่นไม่ควรเป็นข้อยกเว้นและได้รับการปฏิบัติเหมือนกับงบประมาณรายการอื่นๆ เพื่อปกป้องไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ
.
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ผมจึงยืนยันการพิจารณาของอนุกรรมาธิการที่ให้ตัดลดโครงการนี้ในปีงบประมาณ 2564 และในปีต่อๆ ไป
.
อนึ่ง ผมจำเป็นต้องออกตัวในที่นี้ ว่ากิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ของมูลนิธิจะมีประโยชน์ใช้เงินจากภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหรือเหตุผลที่ผมเสนอตัด โครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผมไม่อาจตอบได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอได้
.
#ประชุมสภา #งบ64 #มูลนิธิปิดทองหลังพระ