วันเสาร์, กรกฎาคม 04, 2563
หลักประกันทางอำนาจของ คสช.และระบอบโบราณ คือ "สส สว สวะของอำมาตย์"
ส.ว.แต่งตั้ง: หลักประกันทางอำนาจของคสช.
.
หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตลอดระยะเวลากว่า 88 ปี นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก แนวคิดเรื่องวุฒิสภาไม่ได้เป็น “แนวคิดถาวร” ในการออกแบบระบบรัฐสภา เพราะมีรัฐธรรมนูญเพียง 10 ฉบับ จาก 20 ฉบับ เท่านั้นที่บัญญัติเรื่องวุฒิสภาไว้ โดยที่มาและอำนาจของวุฒิสภาก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยที่ถูกแปรผันไปตามผู้มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญ
.
ทั้งนี้ หากพิจารณาจาก “รัฐธรรมนูญ ปี 2560” ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ทำการรัฐประหารในปี 2557 ก็จะพบว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้ “วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง” เป็นหลักประกันทางอำนาจของคณะรัฐประหารที่ต้องการจะดำรงอยู่หลังการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงต้องให้อำนาจ ส.ว. ไว้เป็นพิเศษ อาทิ อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ อำนาจในการร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป และอำนาจในอนุมัติหรือยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
+ส.ว.แต่งตั้ง 1 วาระ เลือกนายกฯ ได้ 2 วาระ+
.
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง โดยมีคสช. เป็นคนสรรหาและคัดเลือก แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดที่มาของวุฒิสภาให้หลากหลาย อาทิ ให้มาจากคณะกรรมการสรรหาที่คสช. เป็นคนแต่งตั้ง หรือ มาจากข้าราชการประจำที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ และมาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ แต่ท้ายที่สุด คสช. จะเป็นคนคัดเลือกให้เหลือเพียง 250 คน
.
ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 272 กำหนดให้การแต่งตั้งนายกฯ ต้องกระทำในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หรือต้องอาศัยความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกัน จึงเท่ากับการขยายเสียงที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. ไปกดทับหรือแทรกแซงเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเสียงของ ส.ว.แต่งตั้ง คิดเป็น 1 ใน 3 ของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งมี 500 เสียง ในขณะที่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมี 250 เสียง)
.
การเขียนรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับ คสช. ในการเลือกนายกฯ เพราะอาศัยเสียงเพียงแค่ 1 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎร (125 เสียง) ก็เพียงพอจะชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ ซึ่งในการเลือกนายกฯ เมื่อ ปี 2562 ที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่า พรรคที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช. มีความได้เปรียบจากเสียงของ ส.ว. จนทำให้พรรคการเมืองที่แม้จะเคยประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ยอมกลับลำ ไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
.
อีกทั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังกำหนดด้วยว่า ให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 5 ปี ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งนี้มีนัยยะสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ด้วย เนื่องจาก นายกฯ มีวาระละ 4 ปี ในขณะที่ ส.ว.แต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี ดังนั้น ส.ว.ชุดนี้จึงสามารถเลือกนายกฯ ได้ถึงสองสมัย การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ จึงถือเป็นหลักประกันของคสช. ในการเป็นรัฐบาลสืบไป
.
+วุฒิสภา คือ ผู้ชี้ขาดเก้าอี้องค์กรอิสระ+
.
ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา โดยได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งจะมีวาระ 7 ปี ดังนั้น การที่ ส.ว. แต่งตั้งมาจากคสช. ก็เท่ากับว่า คสช. เป็นผู้แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในทางอ้อม
.
การที่ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ทั้งๆ ที่องค์กรอิสระ มีบทบาทในการตรวจสอบเกี่ยวกับความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐและตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ จึงเป็นการทำลายกลไกความเป็นอิสระและเป็นกลาง การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว จึงถือเป็นหลักประกันของคสช. ในการปกป้องคุ้มภัยหรือบ่อนทำลายศัตรูทางการเมือง
.
ที่ผ่านมาองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทางการเมือง จากการตรวจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในปี 2562 จำนวน 11 คดี พบว่า คำวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นคุณหรือเป็นผลบวกกับฝ่ายคสช. มากกว่าฝ่ายที่ต่อต้านคสช. อาทิ การวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ว่าเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. ระหว่างเข้ารับตำแหน่งนายกฯ
.
นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ส.ว. แต่งตั้ง ได้ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ไปแล้วอย่างน้อย 6 ตำแหน่ง ได้แก่ การแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2 ตำแหน่ง และ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 ตำแหน่ง
.
+ส.ว.แต่งตั้ง ตัวช่วยสำคัญในการออกกฎหมาย+
.
โดยปกติแล้ว อำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. จะแยกขาดจากกัน โดย ส.ว.จะทำหน้าที่ได้เพียงกลั่นกรองกฎหมาย กล่าวคือ ทำได้เพียงชะลอการออกกฎหมายแต่ไม่สามารถยับยั้งหรือมีส่วนร่วมในการผ่านกฎหมายได้ด้วยตัวเอง
.
แต่ทว่า ในมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจเร่งรัด และติดตามการดำเนินงานปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ให้สำเร็จ ซึ่งในหมวดนี้เองได้ระบุถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศเอาไว้ถึง 11 ด้าน ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาประเทศที่กว้าง ยากจะตีความได้ว่าอะไรไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ
.
อีกทั้ง ในมาตรา 270 วรรคสอง ยังระบุด้วยว่า ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้เป็น "การพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา" นั่นหมายความว่า ส.ว. จะเข้ามามีบทบาทในการ "ร่วมพิจารณา" กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
.
การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งในการผ่านกฎหมายของรัฐบาลคสช. เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันมีสภาพเกือบจะปริ่มน้ำ และการมีรัฐบาลผสมหลายพรรคก็ทำให้มีความขัดแย้งภายในได้ง่าย การผลักดันหรือขับเคลื่อนกฎหมายสำคัญอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมี “ช่องทางพิเศษ” ให้ ส.ว.แต่งตั้งที่มีเสียงค่อนข้างเป็นเอกภาพเข้ามาช่วยออกเสียงผ่านกฎหมาย โดยไม่ต้องสนใจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ
.
+“ส.ว.แต่งตั้ง” ยักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ+
.
ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า ในวาระที่หนึ่งการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด และในวาระที่สาม ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายก็ยังกำหนดว่า “จะต้องใช้เสียงอีกกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา” เพื่อผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ต่อให้ ส.ส.รวมเสียงเห็นด้วยได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้า ส.ว. เห็นด้วยไม่ถึง 1 ใน 3 ของวุฒิสภา ก็ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไม่ได้
.
หลังการเลือกตั้งในปี 2562 มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 7 พรรค ที่ประกาศตัวว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ซึ่งหากเอาจำนวนที่นั่งของพรรคดังกล่าวมารวมกันจะได้ 297 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ทว่า เสียงดังกล่าวก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
.
การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นหลักประกันอย่างหนึ่ง ว่าโครงสร้างอำนาจที่เอื้อประโยชน์กับคสช. ทั้งหมดที่ถูกออกแบบเอาไว้ในรัฐธรรมนูญจะไสลายไปไม่ได้ง่ายๆ แต่จะสลายก็ต่อเมื่อตัวคสช. หรือ ส.ว.แต่งตั้ง มีความยินยอมพร้อมใจในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เสียงของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีน้ำหนักน้อยกว่าเสียงที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.
...
Choosak Jungtrakul
สส สว สวะของอำมาตย์
มีทรราชเป็นนายเหนือหัว
คนมือถือสากปากถือศีลมารวมตัว
ร่วมทำชั่วรักษาระบอบโบราณ