วันอังคาร, กรกฎาคม 21, 2563

กระแสขับไล่คนแก่ยึดอำนาจยังร้อน ต้องเร่งตีเหล็กอย่ายั้ง อย่างพริษฐ์ (ชีวารักษ์) โอเค แต่พริษฐ์ (วัชรสินธุ) เอ่อ "พยายามอีกนิด"


อะไรมันจะรวดเร็วถึงใจ “อีนางโชว์สีลมซอย ๒” (คำของ ปวิน) ได้เพียงนี้ โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ ไปร่วมปราศรัย #ไม่ทนอีกต่อไป #ให้มันจบที่รุ่นเรา ทั้งที่อนุสาวรีย์ ปชต. และที่หน้า บก.ทบ. วันนี้ศาลฎีกาสั่ง จำคุก ๔ เดือน ปรับ ๔ พันบาท

ดีหน่อยที่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ๑ ปี และลดลงมาแล้วจากคำพิพากษาเขาและเพื่อนจำเลยอีก ๒ คน ให้จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๖ พันบาท จากคดี #ฉีกบัตรประชามติ ว่า “ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จงใจให้สาธารณะชนเห็น อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ”

คนอื่นๆ เช่นหัวโจกที่ไปประท้วงหน้าทัพบก อย่าง อานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชีวารักษ์ ที่ต่างก็มีชนักกฎหมายรัฐประหารปักต้นคอกันคนละหลายดอก จะจังหวะปะเหมาะโป๊ะเชะกันเมื่อไหร่ไม่รู้ได้ แต่ว่าตอนนี้กระแสขับไล่คนแก่ยึดอำนาจยังร้อน จึงต้องเร่งตีเหล็กอย่ายั้ง

จะเอาอย่างอีก พริษฐ์ (ไอติมวัชรสินธุ) “หนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมด้วยท่าที” อาจไม่ใช่ยุทธวิธีที่เหมาะกับสถานการณ์ก็ได้ การแสดง “อารมณ์โมโหหรือไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” เป็นเพียงข้ออ้างของอำนาจรัฐทหาร เพื่อจะ “มองข้ามความคิดที่ดีของเรา” เท่านั้น

แบบที่พริษฐ์ (เพ็นกวิน) ฉีกภาพผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวานซืน เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อสู้กับผู้ใหญ่ประเภท ไดโนเสาร์ไม่เช่นนั้นสัตว์ดึกดำบรรพ์จะเอาแต่ข่มเหงร่ำไป หรือไม่ก็ลูบหลังก่อนแล้วค่อยตบหัว ไม่เคยมีผู้ใหญ่ในการเมืองไทย ลังเลกับการรวบรัด กำอำนาจ
 
ในหลักการของพริษฐ์ (ไอติม) เสนอไว้เมื่อวานขอเอี่ยวขบวนคนรุ่นใหม่ โดยรวมแล้วใช้ได้เลย แต่ยุทธวิธีที่จะให้ได้มาตามนั้นอย่าหวัง เช่นการแก้รัฐธรรมนูญ “เป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องมี ส.ว. ๘๔ คนเห็นด้วยถึงจะแก้ได้” นั่นหมายถึงต้องไม่มีร่างทรง คสช.เหลืออยู่เสียก่อน

ใช่แล้วที่ไอติมว่า “การใช้ภาษาที่สุภาพและนำเสนอความเห็นด้วยการให้เหตุผล...เชิญชวนให้คนที่ลังเลหรือเห็นต่างกับเรา หันมาเริ่มเปิดใจรับฟังและเปลี่ยนมาเห็นด้วยกับสิ่งที่เรานำเสนอ” แต่ไม่ใช่กับพวกนักยึดอำนาจที่ไม่เคยรับฟังความเห็นต่างมาอย่างน้อยๆ ๖ ปีนี่แล้ว

ถึงอย่างไรเป็นที่น่ายินดี คนรุ่นใหม่ที่เคยมีพื้นฐานของชนชั้น อภิสิทธิ์คิดได้อย่างนั้น หากพยายามอีกนิดทำความเข้าใจจิตสำนึกของผู้เจ็บช้ำ ซึ่ง “ปลดปล่อยความไม่พึงพอใจ หรือการสร้างอารมณ์ร่วมในกลุ่มคนที่คิดเห็นตรงกัน” เสียหน่อย จะเข้าขบวนกับเขาได้


อีกคนในสาย อยู่เป็นและเคยออกแนวซ่าหริ่มมาบ้างเหมือนกัน เป็นนักวิชาการกฎหมายที่อาจจะเพิ่งดวงตาเห็นธรรม (อาจยังไม่สว่างนัก) จากที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ กกต.ไว้ที่ New Consensus Thailandคือ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีฯ นิด้า
 
ว่า “จะแก้ปัญหาของ กกต.ในระยะยาวได้ ผ่านการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่...ต้องขยายการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน ให้สามารถมีสิทธิในการเข้าไปดำรงตำแหน่ง กกต.ได้ ไม่ใช่จำกัดเฉพาะข้าราชการหรือนักวิชาการระดับสูง”

เขาต่อความไปถึงเรื่องการสรรหา กกต.ให้ถูกต้อง “มีความสัมพันธ์กับการออกแบบวุฒิสมาชิก ซึ่งในที่สุดแล้วตนเสนอว่าควรยกเลิกวุฒิสมาชิกไปเลย เพราะ...วุฒิสมาชิกมีประโยชน์น้อยมากในแง่ของพัฒนาการทางการเมือง”

พิชายเสนอให้มี สภาพลเมือง มาแทนที่ สว. “ไม่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติ ไม่ต้องกลั่นกรองกฎหมาย ให้มีหน้าที่เพียงประเมินผลการทำงานของรัฐบาลและ ส.ส. และอาจจะเป็นผู้รับรององค์กรอิสระด้วยก็พอ” เป็นลักษณะองค์กรตรวจสอบ

แต่ “องค์กรเหล่านั้นต้องถูกองค์กรอื่นตรวจสอบได้ด้วย ต้องทำเป็นวงจรการตรวจสอบ อย่าตั้งเป็นองค์กรเทวดาที่ตรวจสอบไม่ได้ เพื่อที่จะไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไป จนเแตะต้องไม่ได้อย่างที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้” นึกออกไหมว่าใคร (ตลก.)

ในส่วนของ กกต.ชุดปัจจุบัน แม้นว่าพิชายจะไม่กร้ำกรายไปถึงทำงานตามที่นาย (คนตั้ง) สั่งหรือไม่ เขาชี้ “ตอนนี้ประชาชนมีเครื่องมือในการสร้างพลังกดดันการทำงานของ กกต.ไม่น้อย ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ การเปิดเผยสู่สาธารณะ”

เขาแนะ “ประชาชนต้องเข้าไปกระตุ้น เข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไปในอนาคต รวมถึงในการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตด้วย ประชาชนต้องซ้อมมือสำหรับอนาคต อาจจะทำที่สมุทรปราการต่อก็ได้”


จะเห็นว่าเป็นแนวคิดที่จุดติดแล้วในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังทำกิจกรรมกันอย่างขมักเขม้น โดยพื้นฐานเป็นหลักการปฏิรูปที่อย่าว่าแต่จะทำสำเร็จ หากแต่ถูกใช้เป็นวาทกรรมลวงโลก ไม่เคยได้ทำอย่างจริงจัง แต่เด็กรุ่นนี้เอามาทำในลักษณะ ปฏิวัติ

พวกเขาจึงไม่ได้ อ่อนน้อมถ่อมตน อย่างที่ ไอติม ต้องการ เพราะไม่จำเป็น มิฉะนั้นจะเป็นการปฏิรูปลวงโลกอย่างเคย