วันศุกร์, สิงหาคม 09, 2562

“For whom the bell tolls”... It tolls for thee... เป็นการส่งสัญญาณของการสิ้นสุดแห่งชีวิตของผู้ใดผู้หนึ่งในหมู่บ้าน ชวนอ่าน ระฆังตีเพื่อใคร : วีรพงษ์ รามางกูร





ระฆังตีเพื่อใคร : วีรพงษ์ รามางกูร


8 สิงหาคม 2562
มติชนออนไลน์


ตําราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น หรือ Introduction to Economics ของศาสตราจารย์ พอล แซมมวลสัน ที่โด่งดังและใช้เป็นตำราวิชาความรู้เบื้องต้นทางเศรษฐศาสตร์กันทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย แปลโดย ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคทศวรรษที่ 1960 บทแรกขึ้นต้นโดยการยกเอาชื่อวรรณกรรมของเฮมิงเวย์ ว่า “เสียงระฆังดังเพื่อใคร?” หรือ “For whom the bell tolls.” ในสมัยโบราณเมื่อเสียงระฆังในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ดังขึ้น ก็หมายความว่าในหมู่บ้านมีคนตาย การตีระฆังเป็นการตีให้เกียรติแก่ผู้ตาย เสียงระฆังในโบสถ์จึงเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดแห่งชีวิตของผู้ใดผู้หนึ่งในหมู่บ้าน อันเป็นเวลาชั่วขณะที่คนต้องยืนสงบนิ่ง ให้เกียรติแก่ผู้ตายด้วยความเศร้าใจ แต่ก็อาจจะมีบางคนแอบดีใจ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าผู้ตายเป็นผู้ให้หรือผู้เอาจากสังคมหรือทำร้ายสังคมนั้นๆ

เมื่อมีเสียงระเบิดดังขึ้นในกรุงเทพฯก็คงจะเป็นสัญญาณทางการเมืองว่าคงจะมีใครตายทางการเมือง ระฆังในโบสถ์คาทอลิกดังขึ้นโดยคุณพ่อบาทหลวงซึ่งจะเป็นผู้ทำพิธีมิสซา ให้ศีลมหาสนิทก่อนจะนำศพไปฝังในสุสานต่อไป

เสียงระเบิดดังขึ้นในกรุงเทพฯก็เช่นเดียวกัน เพราะมีคนคนเดียวที่จะเป็นผู้ถือสายระฆัง และจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของการเมืองอันใกล้ว่า หมดเวลาสำหรับผู้นำที่ป่วยไข้แล้ว ควรจะถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผู้ที่มีอำนาจที่เข้มแข็งกว่าคนใหม่ ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากการบังคับบัญชาของรัฐบาลแล้ว หลังจากมีการเปลี่ยนสายการบังคับบัญชา ตำรวจและทหาร และได้โยกผลักคันเกียร์เข้าเกียร์ว่างเสียแล้ว เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่างก็เคยได้ยินเสียงระเบิดในกรุงเทพฯ เสมือนเสียงระฆังตีให้ตนเหมือนๆ กัน ไม่ต้องถามว่า “ระฆังตีให้ใคร” หรือ For whom the bell tolls? คงไม่ต้องไปหาว่าใครเป็นผู้สั่งให้ตีระฆัง นอกเสียจากคุณพ่อบาทหลวงเจ้าอธิการหัวหน้าบาทหลวงทั้งหลายในโบสถ์คาทอลิกแห่งนั้น

เมื่อเสียงระฆังในโบสถ์คริสต์ดังขึ้น ผู้ที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนทั้งหลาย ย่อมเข้าใจทันทีว่าเป็นเวลาที่มีผู้สิ้นชีวิต สมควรยืนไว้อาลัย ใช้นิ้วแตะที่หน้าผากและไหล่ทั้งสองข้าง เช่นเดียวกับการได้ยินเสียงระเบิดที่ดังขึ้นในกรุงเทพฯ ก็เป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เผด็จการครึ่งใบหรือประชาธิปไตยเต็มใบ นักรัฐศาสตร์ที่เข้าใจระบอบการปกครองของประเทศไทยย่อมเข้าใจกันดี ขณะเดียวกันก็เป็นการบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการลืมกล่าวประโยคสุดท้ายในการกล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้าทำหน้าที่ของคณะรัฐบาล

นักวิชาการก็ดี สื่อมวลชนก็ดี ที่ติดตามศึกษาระบบการเมืองไทย ประเพณีและวัฒนธรรมการเมืองไทย แม้จะเข้าใจก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะแปลสัญญาณเสียงระฆังว่าหมายความว่าอย่างไร แต่จะแกล้งวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานาว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายบ้าง ผู้ไม่หวังดีบ้าง หรือกระทั่งมาจาก 3 จังหวัดภาคใต้บ้าง โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของคนเหล่านั้นว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ได้อย่างไรแค่ไหน

ข่าวที่ออกมาจะเป็นข่าวที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน ขณะเดียวกันตำรวจไทยก็มีความสามารถจับผู้ต้องสงสัยเป็นเด็กอายุน้อยจากปักษ์ใต้ได้อย่างทันควัน นัยว่าได้มาจากกล้องวงจรปิด นำมาดำเนินการสอบสวน เป็นการปิดข่าว แต่ก็ไม่วายให้ข่าวว่าเป็นการวางระเบิดที่ไม่หวังจะทำร้ายใคร หรือทำลายตึกรามบ้านช่อง เป็นการทำเพื่อเป็น “สัญลักษณ์” ทางการเมืองจากฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลหรือจาก “ผู้ไม่หวังดี” กับรัฐบาล

นักการเมืองที่ไม่ประสีประสาก็จะรีบให้สัมภาษณ์ประณามผู้ลงมือกระทำการ จะต้องนำตัวมาลงโทษให้ได้ การกระทำเช่นว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย พยายามวิเคราะห์ว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ใครเป็นผู้เสียประโยชน์ ผู้ที่ได้ประโยชน์นั่นแหละเป็นตัวการ และในที่สุดเรื่องก็จบลงโดยไม่มีการสืบสวนให้จบว่าเป็นฝีมือผู้ใด เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเสมอเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเกิดขึ้นอย่างไรเท่านั้น

สัญญาณทางการเมืองเกิดขึ้นเสมอ ก่อนที่รัฐบาลที่มาจากการลงคะแนนเสียงรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือรัฐบาลเผด็จการครึ่งใบ หรือรัฐบาลเผด็จการเต็มใบ แต่สำหรับกรณีหลังจะมีน้อยหน่อย เพราะระยะหลังกลุ่มบุคคลที่สั่งให้ตีระฆังส่งสัญญาณมีความเป็น “เอกภาพ” ไม่มีฝ่ายตรงกันข้าม สมกับคำพังเพยสำหรับระบอบการปกครองของไทย ที่อาจจะเขียนเป็นสำนวนได้ว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นรัฐบาล” โดยการนับจำนวนกองพันว่าส่วนมากอยู่กับใคร คนนั้นก็เป็นผู้ชนะโดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ เพียงแต่เสียค่าน้ำมันรถถังที่ออกมาจอด ณ จุดที่มีระเบิด และเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง ขณะเดียวกัน ข้าราชการก็ได้ทวีคูณในการนับอายุราชการในช่วงเวลาที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ส่วนประชาชนคนเดินดินก็รู้สึกชินชา ทำมาหากินไปตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ได้เป็นพวกใคร ทั้งผู้แพ้ที่จะไปบวชเป็นพระและผู้ชนะที่จะเป็นรัฐบาล

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็มักจะต้องมีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้ามาก่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็ดี การปฏิวัติรัฐประหารในปี 2484 ก็ดี ปี 2490 ก็ดี ปี 2500 ก็ดี หรือแม้แต่รัฐประหารปี 2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 และ 2520 เรื่อยมาจนถึงปี 2535 มาจนถึงปัจจุบัน 2557 ถ้าสังเกตให้ดีจะมีสัญญาณบอกเหตุก่อนล่วงหน้าเสมอ

สัญญาณบอกเหตุบางครั้งก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เช่นอยู่ๆ คางคกกับกบมาตีกันในคลองย่านสะพานเหลือง แต่กบแพ้คางคก เพราะคนไปช่วยคางคก จับเอากบไปกิน หรืออีกามาจิกตีกันบนหลังคาตึกไทยคู่ฟ้า หรือตัวเงินตัวทองมาโผล่ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น สื่อมวลชนก็จะเสนอข่าวว่าเป็นลางร้ายหรือเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลจะล้ม

สัญญาณบอกเหตุที่บังเอิญเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ บางครั้งก็เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน ผู้คนก็เลยคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเช่น อีกาตีกันที่ที่ทำการ คางคกกับกบยกพลเข้าตีกัน หรือตัวเงินตัวทองขึ้นบ้าน เป็นต้น

ที่เป็นข่าวอยู่หลายวันก็คือ การที่นายกรัฐมนตรีรวบหน่วยงานทางด้านความมั่นคง ซึ่งเดิมในรัฐบาลชุดก่อน นายกรัฐมนตรีให้อยู่ในความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคดีพิเศษ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งเคยจัดตั้งขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ในทำนองเป็นอนุกรรมการของคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุม สมัยป๋าใช้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เป็นสำนักงานเลขานุการแทนสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ใช้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการ ที่สำคัญคือมีผู้ที่ไม่ใช่รัฐมนตรี เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมและสามารถออกความคิดเห็นในที่ประชุมได้เอง ไม่เหมือนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้มีเวลาพอที่จะถกกันในเรื่องเศรษฐกิจที่อาจจะมีความคิดความเห็นแตกต่างกันในคณะรัฐมนตรี เป็นการช่วยให้นายกรัฐมนตรีสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เท่ากับนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจรับผิดชอบความมั่นคงทางทหาร การเมืองและเศรษฐกิจ เอาไว้ในมือตนทั้งหมดผู้เดียว น่าจะเป็นสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง

สัญญาณที่ฮือฮากันอย่างมากก็คือ คำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีต้องกล่าวนำด้วยถ้อยคำดังนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่นายกรัฐมนตรีมิได้กล่าวประโยคสุดท้ายที่ว่า “…ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ทำให้เกิดปัญหา นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะไม่กล่าวคำปฏิญาณตนในประโยคสุดท้าย ใช่หรือไม่ คำปฏิญาณจะถือว่าสมบูรณ์หรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีต้องการจะให้สัญญาณหรือไม่ ความกังขายิ่งมีมากขึ้น เมื่อนักข่าวไปถามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายแล้วได้รับคำตอบว่า “แล้วจะรู้เองเมื่อถึงเวลา” ไม่มีใครคิดว่านายกรัฐมนตรีจะเผอเรออ่านคำปฏิญาณไม่จบโดยไม่ตั้งใจ เมื่อตั้งใจไม่กล่าวก็แปลว่านายกรัฐมนตรีต้องการให้สัญญาณอะไร หรือจะเป็นการ “ตีระฆังให้รัฐธรรมนูญ” อย่างที่เฮมิงเวย์ถาม “For whom the bell tolls”

ระฆังตีเพื่อใคร
ooo