https://www.facebook.com/thai.udd.news/videos/2311586675563507/
ยกฟ้อง ‘ก่อการร้าย’ แต่บางคนยังไม่คลายอคติต่อ ‘เสื้อแดง’ ดร.เสาวนีย์ชี้วาทะ ‘โง่จนเจ็บ สร้างความวุ่นวาย ไร้การศึกษา เผาบ้านเผาเมือง’ ตอกย้ำชาวบ้านถูกกระทำ ‘สองมาตรฐาน’ เผชิญชะตากรรมหลายข้อกล่าวหาไม่รู้อนาคต ข้องใจใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองแต่ต้องมาติดคุก - แนะ ส.ส.สอบตกหลังย้ายค่าย หยุดตอกย้ำความผิดแต่ฝ่ายเดียว สะท้อนตัวเองไม่ก้าวข้ามการแบ่งขั้ว - มองผลเลือกตั้งบ่งบอกเทรนด์หนุ่มสาวต้องการความเปลี่ยนแปลง
แฟนเพจ ‘ยูดีดีนิวส์ - UDD news’ สัมภาษณ์ ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันตก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนเสื้อแดงและการเมืองไทย ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง 24 นปช. คดีก่อการร้าย จากเหตุการณ์ปี 2553
-การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 24 นปช.คดีก่อการร้าย จะเป็นผลบวกในภาพรวมกับคนเสื้อแดงหรือไม่
ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะบอกว่า นี่ไงฉันไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ถามว่าจะมีผลที่ทำให้สังคมมองคนเสื้อแดงในด้านดีไหม คิดว่าไม่นะคะ เพราะถ้าสังคมจะเปลี่ยนความคิด สังคมจะเปลี่ยนจากการที่ได้ข้อมูลข่าวสารแล้วพยายามศึกษามาก่อน
เราพบว่ามีหลายคนที่เคยคิดแบบหนึ่ง แล้วเปลี่ยนความคิดหลังรัฐประหาร ไม่ใช่เจอเหตุการณ์เดียว แต่เป็นเพราะการเปิดใจที่จะเรียนรู้หลายๆ เคสหลายๆ เรื่องแล้วเอามาประติดประต่อกัน
ฉะนั้น คำตัดสินนี้ ในเวลานี้ ไม่ใช่ตัวหลักในการที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนความคิด สังคมค่อยๆ เปลี่ยนมาแล้วจากคนที่เคยมีอคติอย่างมากก็ค่อยเปลี่ยนจากการเปิดใจรับฟังข่าวสาร ดูข้อเท็จจริง ดูเหตุดูผล
ไม่คิดว่าเป็นแฟคเตอร์สำคัญ แต่รู้อยู่ว่าค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว หรือคนมีอายุที่ติดตามการเมืองมาพอสมควร
แต่ในกลุ่มคนที่ยังมีอคติที่เยอะมากๆ ก็ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะเขาก็จะบอกว่า มีเคสอื่นอีก เช่น ถ้าเขาเชื่อว่าชาวบ้านเผาศาลากลาง เขาก็จะมองว่าเป็นคนละเรื่องกันอยู่ดี คือเป็นเรื่องยากสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงไหม ก็มีค่ะ
เริ่มเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว ดูจากผลการเลือกตั้งประกอบก็เห็นอยู่
-ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่เคยอยู่ฝั่ง ‘เสื้อแดง’ แล้วย้ายข้าง ผลเป็นอย่างไร
ตั้งแต่ไหนแต่ไร ถ้าเป็นส.ส.ที่ลงพื้นที่ คนในพื้นที่เข้าถึงได้ แล้วเขามีความรู้สึกว่าดูแลประชาชนโอกาสที่จะชนะ ก็ยังสูงอยู่ เช่น ในเคสของโคราช หรือหลายเคสที่ไปอยู่ฝั่งที่ไม่ใช่ฝั่งเดิม แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยลงพื้นที่ ไม่ผูกพันกับชาวบ้าน เราก็จะเห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าจะให้ใครลงสมัครแทน ก็แพ้การเลือกตั้ง
ฉะนั้น จึงมี 2 ส่วนคือ ตัวผู้นำเอง และนโยบายพรรค ซึ่งมีหลายคนเลือกนโยบายพรรค คือนิยมชมชอบกับพรรคที่เป็นพันธมิตรกับคนเสื้อแดง จึงเลือกพรรคอยู่ ไม่ว่าจะเอาใครมาลงก็ตาม
คิดว่ามีหลายปัจจัยในการอธิบายว่า ทำไมบางคนย้ายข้างแล้วแพ้ หรือย้ายข้างแล้วชนะ แต่หลักๆ คือตัวเขาเองและนโยบายพรรค
-จากการลงพื้นที่อาจารย์พบว่าข้อน่าสังเกตสำหรับปฏิกิริยาประชาชนต่อผู้สมัครส.ส.ที่ย้ายข้าง เป็นอย่างไร
ส่วนตัวลงพื้นที่หนักหน่อยที่อุบลราชธานี และในเขตอีสาน ความท้าทายในช่วงที่เราเก็บข้อมูลก็คือ คนจะรู้สึกกลัว
นี่ไม่ใช่การเลือกตั้งปกติ คนจะไม่เปิดตัว ไม่แสดงความรู้สึกความคิดเห็น เช่น บางทีเราไปฟังปราศรัย ได้ยินคนข้างหลังคุยกันก็คิดว่า คงเชียร์พรรค ก. แต่พอถามเป็นภาษาอีสานว่าใครมาแรง ไม่ได้ถามตรงๆ ว่าจะเลือกใคร เขาจะก็บอกว่า ไม่รู้
คนจะเก็บความรู้สึกมาก ฉะนั้น เป็นความท้าทาย แต่ในความท้าทายที่คนไม่พูด อันนั้นจึงน่าสนใจ เพราะการทำโพลล์ ทำได้ยากลำบาก
แต่ผลเลือกตั้งมันโชว์ คืออย่างเคสอุบลราชธานี ถ้าเราเอาคะแนนของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไทย และพรรคที่เป็นพันธมิตร ก็จะรวมได้กว่า 50% ที่เป็นเสียงสนับสนุนฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ซึ่งนั่นคือคำตอบ
ขณะที่ก่อนเลือกตั้งเราแทบจะดูไม่ออก เพราะพรรคใหญ่ก็สามารถตั้งเวทีให้คนมาเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัด แม้ภาพดูสวยเวลาถ่ายรูป แต่ผลคะแนนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แล้วผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ากับผลคะแนนวันที่ 24 มี.ค. ก็ยิ่งน่าสนใจ จากคะแนนวันที่ 24 มี.ค. ที่กระจัดกระจาย มีภูมิใจไทย พลังประชารัฐ เพื่อไทย อนาคตใหม่ 4 พรรค รวมถึงประชาธิปัตย์ ก็จะมีคะแนนค่อนข้างเยอะ
แต่ 17 มี.ค. มี 2 พรรคที่โดดขึ้นมาทิ้งห่างพรรคอื่น ก็คือ เพื่อไทย กับ อนาคตใหม่ ซึ่งจะเห็นเทรนด์ว่า คนที่เลือกโหวตวันที่ 17 มี.ค. เขาคือใคร
เขาคือคนในวัยทำงานที่ไม่สามารถที่จะไปเลือกวันที่ 24 มี.ค.ได้ เขาอาจจะเป็นคนหนุ่มสาว เป็นหลายเจนเนอเรชั่น เพราะฉะนั้น เราเห็นเทรนด์ของการพยายามที่จะเปลี่ยนให้ประเทศมีความก้าวหน้าในเชิงประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่เรามีโอกาสได้เปรียบเทียบคะแนนเหล่านั้น
-อาจารย์มองว่า อดีตส.ส.ย้ายข้างแล้วสอบตก ควรจะสรุปบทเรียนอย่างไร
ก่อนอื่นเลย เวลาหาเสียง เราก็ต้องระมัดระวังคำพูด ถ้าอยากจะบอกว่า การมีสี หรือ ความขัดแย้งใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา มันทำความบอบช้ำให้ประเทศ เราอาจจะพูดแค่นั้น ไม่ต้องไปพูดถึงขนาดว่า ใครเป็นคนไม่ดี ใครสร้างปัญหา เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่จะเลือกเราคือใคร เขาอาจจะเจ็บปวดเหมือนเราก็ได้ หรือเขาอาจจะมาฟังเราเพราะเขาต้องมา
เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร เราไม่รู้ว่าเขาจะเลือกใคร วาทะหรือคำพูดที่เราใช้ก็มีส่วน แต่ความจริงแล้ว คำพูดของเราที่เราใช้ มันก็สะท้อนความคิดความเชื่อที่มันฝังหัวของเราอยู่ เป็นอุดมการณ์ของเรามาตั้งนานแล้วด้วย แล้วมันพ่วงกับพฤติกรรมของเราในระยะที่ผ่านมาด้วยมันเป็นตัวสะท้อน
ฉะนั้น ถ้าถามประชาชนว่าทำไมไม่เลือกคนบางคน หรือกลุ่มบางกลุ่ม ชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เขาก็ดูการเมืองมาตลอดเป็นสิบปี แค่คำพูดบางคำต่อให้สวยหรูเขาก็อาจจะไม่แคร์ หรือถ้ายิ่งไม่สวยหรูแล้วไปประนามพวกเขาเอง ก็ยิ่งแย่สำหรับคนหาเสียง ถ้าคิดว่าหาเสียงเพื่อชนะ
ยกเว้นแต่จะหาเสียงเพราะคิดว่ายังไงก็ได้ ขอให้มีคะแนนเพื่อที่จะเอาไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ชนะก็ได้อยากพูดอะไรก็ได้ - ก็ได้ไง
คุณก็เลือกเอง คือกลยุทธ์ในการหาเสียง แต่ละพรรคก็คงจะมีแนวทาง วิธีการ แต่จะอย่างไรก็ตามมันพ่วงอยู่กับกติกาของการเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ
ลองเป็นกติกาแบบเดิม ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญเดิมที่เลือกส.ส.เขต 1 เสียง และเลือกปาร์ตี้ลิสต์ 1 เสียง ส่วนตัวเชือว่า ผลจะไม่ออกมาแบบนี้ด้วยซ้ำ คนจะยิ่งระมัดระวังคำพูดของตัวเองมากด้วยซ้ำเวลาออกไปหาเสียง
ยิ่งคุณมองว่า การมีขั้วทางการเมือง การมีสี แล้วคุณจะก้าวข้ามสี คุณยิ่งต้องเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย คุณต้องเห็นใจทั้ง 2 สีนะ อย่าตอกย้ำความผิดฝ่ายเดียวในความคิดของคุณ คุณเองก็เลือกข้าง คุณก็ไม่ได้ก้าวข้ามอะไร
-จากการที่อาจารย์ศึกษาเรื่องคนเสื้อแดง พบว่าข้อกล่าวหาอะไรที่ทำให้เขารู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมจากสังคม
ที่ทำให้เขารู้สึกแย่มากๆ ใช่ไหมคะ คิดว่าคงไม่ได้มีข้อกล่าวหาเดียวแต่เป็นหลายๆ อย่างมารวมกัน แต่คือในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวาทะเรื่องเผาบ้านเผาเมือง วาทะเรื่องความไม่รักประเทศชาติ ความเห็นแก่เงิน เป็นทาสของใครอะไรต่างๆ นานา เป็นพวกชอบความรุนแรง สร้างความวุ่นวาย ไร้การศึกษา วาทะเรื่องโง่ จน เจ็บต่างๆ นานาที่เห็นในสื่อ
คิดว่าสิ่งเหล่านี้รวมกัน ไม่ใช่ 1 อย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้รับความยุติธรรม หรือทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้รวมกันแล้วทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ในการเมือง จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องหรือความคับข้องใจที่เขาเรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’
คิดว่าเป็นเพราะหลายๆ อย่างไม่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่เป็นมุมมองของเพื่อนร่วมสังคมด้วยที่มีลักษณะของการสร้างอคติ
-ชะตากรรมของคนเสื้อแดงในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม จากที่อาจารย์ได้ศึกษา พบว่าเป็นอย่างไรบ้าง
แย่พอสมควร เพราะที่ศึกษาเป็นชาวบ้าน เป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมอะไรเลย เป็นคนต่างจังหวัดวัย 50-60 ปี ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบจากการถูกตั้งข้อกล่าวหาอะไรต่างๆ
การต่อรองหรือการอยู่ในกระบวนการเพื่อต่อสู้ มันส่งผลกระทบไม่ใช่แค่พวกเขา แต่เป็นครอบครัว เช่น ภรรยา ลูก หรือ สามี และคนที่อยู่รอบตัว
คือคนจนในสังคมไทย เวลาที่ต้องตกอยู่ในสภาพถูกกล่าวหา หรือ มีปัญหาทางกฎหมาย คนจนจะเสียเปรียบเสมอ เรายังไม่ต้องพูดเรื่องความยุติธรรม หรือไม่ยุติธรรม เพราะในกระบวนการเราเห็นตัวอย่างเยอะอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เคสของคนเสื้อแดง แต่ลักษณะที่เกิดขึ้นมันคล้ายๆ กัน
แล้วที่หนักที่สุด ก็คือ การที่สังคมได้ด่วนตัดสินไปก่อน ตัวจักรใหญ่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ด้วย ก็คือ สื่อ เรื่องบทบาทสื่อ เรื่องคำพูดที่สื่อใช้
การสร้างภาพที่ทำให้มีการตัดสินพวกเขาไปก่อน ทั้งๆ ที่ตามหลักแล้วควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการและรายงานข้อเท็จจริง
แต่สื่อก็มีการใช้คำเรียกเพื่อให้เกิดสีสันฉูดฉาด ยิ่งปั่นทำให้คนที่มีอคติอยู่แล้วยิ่งหนัก
เพราะฉะนั้น ในผลกระทบของเขาจากการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ในกระบวนการก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งการถูกตั้งข้อกล่าวหาใหญ่ๆ หนักๆ ทำให้เขาไม่สามารถได้รับการประกันตัว ออกมาทำมาหากินไม่ได้ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สังคมมองไปแล้วว่าพวกเขาผิด ซึ่งหลายเคสเราก็พบว่า ไม่ได้เป็นแบบนั้น
ฉะนั้น คนเสื้อแดงจึงเหมือนคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่โดนสังคมกระทำ ในระหว่างที่พวกเขาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม และมันไม่ใช่แค่คนเสื้อแดง แต่รวมถึงคนที่ต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินในภาคต่างๆ ด้วย คนที่ต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย เคสต่างๆ มีร่วมกันมากมาย เป็นการตัดสินของสังคมในระหว่างที่เขาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม
สังคมควรจะมีสติมากกว่านี้ เวลาเราพูดเรื่องการเมือง เวลามีการต่อสู้ทางการเมือง แน่นอนต้องมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ามันมีเหตุที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นเคสอะไรก็ตาม หวังที่จะเห็นคนในสังคม พยายามหาข้อเท็จจริง หาข้อมูลดูจากหลายๆ ด้าน
เรายังตัดสินใจไม่ได้ แต่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปก่อนแล้วอ่านหนังสือหาความรู้ฟังให้มากๆ มากกว่าการพยายามใช้อคติตัวเองในการด่วนตัดสินคนไปก่อน
แน่นอนมันยากที่จะทำ แต่นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องกลับมาตั้งสติในการเสพข่าว คือทำความรู้จักคนในข่าวในฐานะคนที่เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง แรงจูงใจในการที่เขาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เหตุอะไรก็ตาม การใช้ถ้อยคำในข่าวอาจจะทำให้เกิดการด่วนตัดสินคน
-ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง 24 นปช. คดีก่อการร้าย อาจารย์เห็นข่าวนี้แล้วนึกถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในคดีไหนบ้าง
ทันทีที่มีข่าวออกมา คนหลายคนที่สนับสนุนแกนนำ ก็จะดีใจแล้วแชร์ข่าวว่านี่ไงเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย นั่นคือสิ่งที่เราพยายามพูดตั้งแต่ปี 2010 บนเวที เป็นสิ่งที่เขาพยายามบอก
คือ คนอาจจะรู้สึกดีใจทันที พวกเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เราเป็นพลเมืองที่มาเรียกร้องสิทธิของเรา แต่คิดว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความรู้สึกทั้งหมด ที่มีความสับสนวุ่นวาย ไม่ใช่ว่าพอบอกว่า ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแล้ว คนที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ หรือแกนนำระดับจังหวัด หรือชาวบ้านที่เป็นมวลชนที่ต้องขังอยู่เขาจะรู้สึกดี เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้หรือเปล่า
แต่สิ่งที่เรารู้คือ แต่ละเคส มันไม่เหมือนกันเลย อย่างเคสที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ไม่ได้เรียกว่าก่อการร้ายอะไร จะเป็นลักษณะว่าทำผิดในคดีอาญา คือไม่ได้มองเป็นเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง
ตอนนี้ชาวบ้านที่ถูกขัง รวมทั้งที่ถูกปล่อยออกมา ก็ยังต้องต่อสู้ในคดีแพ่งอีก ที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐฟ้องเขาเป็นร้อยกว่าล้าน
ฉะนั้น การที่แกนนำหลุดในคดีก่อการร้าย ก็ไม่ได้หมายความว่า คนเสื้อแดงมีคดีเดียว เพราะมีอีกหลายคดี แล้วตัวชาวบ้านเองโดนหลายคดี เมื่อรวมโทษก็ 30 กว่าปี ฉะนั้น เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามีความหมายอะไร
บางคนอาจจะรู้สึกดีที่ยังมีความยุติธรรมอยู่ แต่บางคนก็อาจจะรู้สึกว่า ในอนาคตยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าจะโดนอะไร
เพราะชาวบ้านที่ไปชุมนุมปี 53 ก็เป็นชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ไปแล้วใครจะไปคิดว่าจะโดนคดีเหล่านั้น
ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับความรู้สึกของประชาชนที่มีแต่จะแตกแยกกันไปเรื่อยๆ หากจะมองว่าตั้งข้อหาแรงแล้วหลุด ก็ต้องถามกลับว่า ตั้งข้อหาแรงตั้งแต่แรกทำไม แล้วไม่ได้ตั้งข้อหาเดียว ต่อให้หลุดก็ไม่ได้หลุดจริงๆ คำว่าสองมาตรฐานสำหรับหลายคนก็ยังมีประสบการณ์อยู่ จนทุกวันนี้เป็น 10 ปีแล้วก็ยังอยู่
-ที่อุบลราชธานีเคสที่อาจารย์ติดตามต้องเผชิญอะไร
ที่หนักในความรู้สึกของพวกเขาก็คือ พวกเขามีความรู้สึกว่าเขาแค่เรียกร้องทางการเมือง หลายคนยังรู้สึกว่า ฉันมาติดคุกได้ยังไง
เขาบอกว่า เขาไม่ได้ทำ เขาไม่ได้ผิด แล้วจะต้องโดนแบบนี้ เป็นความเจ็บปวดที่จะต้องตามเขาไปตลอด
แล้วไม่ใช่แค่ 1-2 ปี บางคนออกมาแล้วชีวิตไม่เหมือนเดิม ต้องมาทำมาหากินประกอบอาชีพอิสระ เพราะมีประวัติ ถ้าไปทำงานที่ไหนก็อาจจะโดนตั้งข้อรังเกียจ แต่ก็อาจจะมีลูกค้ามาพูดว่าทำไมทำอย่างงั้น ทำไมทำอย่างงี้
ทั้งๆ ที่เขาอาจจะโดนฟ้องคดีเผาศาลากลาง แต่ท้ายที่สุดออกมา อาจจะแค่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือทำความวุ่นวาย แต่ภาพคนในสังคมมองไปแบบนั้นแล้ว
นั่นคือสิ่งที่เขาจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต แล้วถ้าคุณอายุ 40-50 ปี คุณยังเหลือชีวิตที่จะต้องอยู่ต่ออีกเยอะเลย คุณจะต้องเจอสิ่งนั้นไปเยอะเลย จากชาวบ้านธรรมดา
แล้วยังจะต้องมาเจอหลายคนที่สมน้ำหน้าเพราะเป็นเสื้อแดง เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง คือวาทะแบบนี้จะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ถ้าจะมองว่า เมื่อติดคุกแล้วจบไหม ก็ไม่จบ คือในระหว่างติดคุกครอบครัวก็ลำบากเดือดร้อน ออกจากคุกแล้วบางคนก็ไม่สามารถที่จะไปต่อกับชีวิตได้เลย บางคนเข้าไปอายุมากแล้วเจ็บป่วยออกมาก็มี คือมันพังไปหมด
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า แล้วเขาเปลี่ยนวิธีคิดไหม หลายคนที่เราสัมภาษณ์ที่เราตาม เขาก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะนั่นคือความเจ็บปวดที่เขาได้รับ ก็คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาพูดถึงความไม่ยุติธรรม ที่ยังตามพวกเขาไปอยู่
-ชะตากรรมการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แตกต่างจากคนเสื้อสีอื่นอย่างไร
สิ่งที่เหมือนคือ ในเรื่องอุดมการณ์ แน่นอนถ้าเราทำอะไรตามอุดมกาณ์ก็ต้องเชื่อว่ามันดี ถูกต้อง ชอบธรรม ไม่ว่าเราจะเสื้อสีไหนก็ตาม นั่นคือสิ่งที่เหมือน
สิ่งที่ต่างก็คือ อุดมการณ์บางอย่าง สำหรับคนเสื้อแดงรู้ว่าสังคมยังไม่ยอมรับ ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับ แล้วไม่ใช่เมนสตรีม คือความที่ตัวเองถูกมองว่าต่ำต้อย ไม่ชอบธรรม เป็นคนที่ต่อสู้เพื่อเงินทอง ถูกจ้างมาเท่านั้น บวกกับภาพของความที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้มีภาพของคนที่มีการศึกษาที่นั่งเครื่องบินไปชุมนุม จึงยากที่จะต่อสู้ เพราะโครงสร้างสังคมเรา เป็นโครงสร้างที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
ภาพในอุดมคติของสังคมไทยเรา ค่อนข้างจะยอมรับความเหลื่อมล้ำนั้นแล้วก็โทษไปว่าเป็นเวรเป็นกรรมไป เป็นบุญเป็นวาสนาไป เป็นเรื่องชนชั้นไป คนต่ำต้อยไม่ควรจะมีสิทธิมีเสียง
เพราะฉะนั้น ความแตกต่างหลักก็คือ การที่คนเสื้อแดง จะต้องต่อสู้กับชุดความคิดที่มีมาก่อน ที่ค่อนข้างจะเห็นชอบกับความเหลื่อมล้ำในสังคม
ในขณะที่ตัวเองพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พยายามที่จะบอกว่า ไม่ว่าฉันจะเป็นใครก็ตาม ในทางกฎหมาย ในความเป็นพลเมือง เราก็ต้องเท่าเทียม นั่นคือความต่างหลักๆ เลย
แต่ในความต่างนั้น น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขายังคงความเป็นเสื้อแดงอยู่ เพราะถ้าอยากจะเปลี่ยนให้สังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น คุณก็ยอมไม่ได้ หยุดไม่ได้ แต่จะไปต่ออย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)