วันเสาร์, สิงหาคม 24, 2562

เสียงจากจำเลยคดีการเมืองเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในศาลทหาร






พัฒน์นรี : “...กระทบหน้าที่การงานอย่างมาก...พอเขารู้ว่าโดนคดีอะไรอยู่ก็จะไม่อยากจ้างให้ทำงาน จนต้องไปรับจ้างที่ที่ไกลบ้าน ที่ที่คนไม่รู้จัก...”
.
13 สิงหาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายที่ศาลทหารกรุงเทพโอนคดีของพลเรือนกลับสู่ศาลพลเรือน การโอนคดีดังกล่าวเป็นผลมาจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 ที่มีคำสั่งยกเลิกประกาศการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นผลให้ศาลทหารและอัยการศาลทหารไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีพลเรือนได้อีก เท่าที่ทราบศาลทหารกรุงเทพต้องโอนคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นกลับไปสู่ศาลพลเรือนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 60 คดี
.
พัฒน์นรี มารดาของสิรวิชญ์ หรือ นิว นักกิจกรรมทางการเมือง พัฒน์นรี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากตอบแชทเฟซบุ๊กส่วนตัวที่อีกฝ่ายพิมพ์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พัฒน์นรีย์ ตอบแชทไปกลับไปว่า "จ้า" จึงถือว่าร่วมกระทำความผิด และถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เล่าถึงชีวิตหลังถูกดำเนินคดี และต้องต่อสู้คดีในศาลทหารเป็นเวลากว่าสามปี จนกระทั่งศาลทหารมีคำสั่งย้ายคดีของเขาไปศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562

“...เป็นเวลากว่าสามปีที่ต้องต่อสู้ในศาลทหาร รู้สึกเหนื่อยมาก ทั้งเหนื่อยจากการเดินทางเหนื่อยจากการที่บางครั้งมาศาลแล้วพยานไม่มาศาล ทั้งยังเครียดกับการที่ต้องมาศาลเพราะคดีที่โดนเป็นคดีร้ายแรงด้วย ตัวอย่างความเหนื่อยเช่น การเดินทางบ้านแม่อยู่แถวถนนพระยาสุเรนทร์ แถวเขตมีนบุรี และเขตคลองสามวา ซึ่งเดินทางเข้ามาศาลทหารกรุงเทพนั้นไกลมาก [ระยะทางประมาณ 30 – 40 กิโลเมตร] ปกติเดินทางมาศาลทหารก็จะนั่งรถเมล์มา หรือบางวันถ้าเพื่อนว่างก็จะมีเพื่อนขับรถมาส่งบ้าง

สิ่งที่แม่ต้องเจอหลังโดนคดีเลย คือกระทบหน้าที่การงานอย่างมาก เมื่อก่อนแม่จะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นแม่บ้านให้คนแถวๆ บ้าน ซึ่งหลังจากเขารู้กันว่าแม่โดนคดีเกี่ยวกับความผิดในเรื่องนี้ คนแถวบ้านที่เคยจ้างให้ทำงานรับจ้างก็เลิกจ้างทั้งหมด จะหางานรับจ้างก็หายาก พอเขารู้ว่าโดนคดีอะไรอยู่ก็จะไม่อยากจ้างให้ทำงาน จนต้องไปรับจ้างที่ที่ไกลบ้าน ที่ที่คนไม่รู้จัก ก็พอจะมีงานให้ทำบ้าง อีกสิ่งที่ตามมาหลังจากโดนคดี คือความกังวลใจในการตอบแชท ทุกวันนี้ระมัดระวังมากในการตอบแชทมาก ไม่คิดว่าแค่การตอบโต้ข้อความว่า “จ้า” เพื่อให้บทสนทนาที่เราไม่รู้จะตอบอะไร และไม่อยากพูดคุยหยุดลง จะทำให้เกิดเป็นคดีได้

เมื่อคดีย้ายจากศาลทหารไปศาลพลเรือนแล้วแม่ก็ยังกังวลเหมือนเดิม คดีที่โดนเป็นคดีที่พิเศษกว่าคดีทางการเมืองอื่นๆ คดีของแม่โทษมันร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นศาลไหนก็ยังกังวลเหมือนเดิม ไม่ได้ทำให้สบายใจขึ้นกว่าเดิมเลย

แม่อยากฝากถึงทุกคนในเรื่องของความระมัดระวังในการตอบโต้แชทกับคนอื่น อย่าคิดว่าแชทของเราจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว คุยอะไรลงไปก็ได้ ให้คิดว่ามีคนที่จับจ้องเราอยู่ตลอดเวลา หากมีข้อความอะไรที่ไม่ดี ไม่อยากตอบโต้ ก็อย่าไปตอบโต้อะไร ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนคดีเหมือนแม่ได้…”

-------------------------------------------------------
พัฒน์นรี มารดาของสิรวิชญ์ นักกิจกรรม ถูกศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ซึ่งพัฒน์นรีได้เข้ามอบตัวกับตำรวจในวันเดียวกันนั้น พัฒน์นรีทราบหลังเข้ามอบตัวว่า เขาถูกดำเนินคดีเนื่องจากตอบแชทเฟซบุ๊กส่วนตัวที่อีกฝ่ายพิมพ์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พัฒน์นรีย์ ตอบแชทไปกลับไปว่า "จ้า" จึงถือว่าร่วมกระทำความผิด และถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนั้นในวันแรกศาลไม่อนุญาตให้พัฒน์นรีประกันตัว จึงถูกคุมขังอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และกองบังคับการปราบปรามที่ละหนึ่งคืน จนกระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารจึงอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมวางเงินประกัน 500,000 บาท

ตลอดเวลากว่าสามปีคดีของพัฒน์นรีถูกพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ และศาลสั่งให้ทำการพิจารณาคดีลับ ไม่สามารถให้คนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ และกว่าสามปีศาลทหารกรุงเทพยังสืบพยานคดีนี้ไม่เสร็จ ยังอยู่ในชั้นสืบพยานโจทก์ โดยสามารถสืบพยานไปแล้วทั้งหมดหกปาก

ติดตามความเคลื่อนไหวคดี "พัฒน์นรี: แชทเฟซบุ๊ก":https://freedom.ilaw.or.th/th/case/768


iLaw