อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที)***
ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงอันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (hyper-legalism -
ขอขอบคุณอาจารย์เข็มทอง ตันสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประดิษฐ์คำนี้มาอธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน) บวกกับภาวะ “อำนาจนิยมล้นเกิน” (hyper-authoritarianism) ในสังคมไทย ซึ่ง 2 กระแสนี้ยังพัดแรงหลังการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562
ตัวอย่างหนึ่งของอันตรายจากทวิภาวะนี้ที่ผู้เขียนยกมาสาธิตในตอนที่แล้ว คือ กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งถอนชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.สกลนคร จากพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ในเดือน มี.ค. 2562 โดยตีความอย่างน่าตกใจว่า ลำพังการมีคำที่เกี่ยวกับกิจการสื่อมวลชน เช่น “กิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์” อยู่ในรายการวัตถุประสงค์ของกิจการ (แบบฟอร์มมาตรฐานในการยื่นจดทะเบียนตั้งบริษัทซึ่งระบุกิจการหลายสิบประเภทเอาไว้ ทั้งที่ไม่ได้ทำจริงๆ) แปลว่า ผู้สมัคร ส.ส. “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
ผู้เขียนเห็นว่าการตีความเช่นนี้มักง่ายและอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากตีขลุมเหมารวมว่า “วัตถุประสงค์” เท่ากับ “การประกอบกิจการจริงๆ” โดยไม่ดูทั้งข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ถ้าตีความมักง่ายขนาดนี้ ก็ไม่มีอะไรเลยที่จะป้องกันไม่ให้เลยเถิดไปตัดสิทธิผู้สมัครที่ซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุนรวมที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เพราะบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากก็ระบุเรื่องกิจการสื่อไว้ในรายการวัตถุประสงค์ของบริษัทเช่นกัน ทั้งที่บริษัททำแต่ธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสื่อ อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ต
ถ้าตีความมักง่ายขนาดนี้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาก็จะผิดกฎหมายไปโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น เราก็ตีความได้ว่าลำพังการมีมีดทำครัวอยู่ในบ้าน เท่ากับการเอามีดไปจ้วงแทงคนอื่น ดังนั้นการมีมีดในบ้านจึงผิดกฎหมาย
คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในกรณีข้างต้น จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” คือใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ ตีความตัวบทอย่างเกินเลยโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย
คำถามต่อไปก็คือ “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” ในกรณีนี้คืออะไร?
กฎหมายข้อนี้ยัง “ใช้ได้” หรือไม่อย่างไร ในยุคโซเชียลมีเดีย?
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีบทเรียนมากมายของการแทรกแซงสื่อโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้มีอำนาจเป็นเจ้าของหรือมีอิทธิพลในกิจการสื่อ สื่อเจ้านั้นก็ไม่สามารถทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ กลายเป็นแค่ส่วนขยายของโฆษกรัฐบาลเท่านั้น
ในเมื่อความเป็นอิสระของสื่อสำคัญอย่างยิ่งในสังคม(ที่อ้างว่าอยากเป็น)เสรีประชาธิปไตย ที่รัฐต้องยอมรับการตรวจสอบตลอดเวลาจากประชาชน และสื่อก็มีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชน เจตนารมณ์ที่จะ “แยก” นักการเมืองออกจากสื่อเพื่อคุ้มครองเสรีภาพสื่อ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และประเด็นนี้ก็ปรากฎเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 48 ระบุห้ามไม่ให้ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม”
ต่อมาอีก 10 ปี รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ยกระดับความเข้มงวดขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการบัญญัติการ “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” เป็น “ลักษณะต้องห้าม” ของผู้สมัคร ส.ส. ในมาตรา 98(3)
คือห้ามถือหุ้นสื่อตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งเลยทีเดียว ยังไม่ต้องรอให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อน
ผู้เขียนเห็นว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 ถึงแม้จะหวังดีและเข้าใจได้ แต่ “วิธีการ” ที่เลือกใช้ คือห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและต่อมาก็รวมผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อนั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ “ผิดฝาผิดตัว” มาตลอด และเอาเข้าจริงๆ ก็แก้ปัญหาการแทรกแซงสื่อของนักการเมืองไม่ได้
ประการแรก นักการเมืองมีวิธีแทรกแซงสื่อมากมายโดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียว เช่น สั่งให้ธุรกิจในเครือตัวเองถอนโฆษณาถ้าสื่อค่ายนั้นวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ยอมเชียร์ วิธียอดฮิตอีกวิธีคือการพานักข่าวไปปรนเปรอเพื่อสร้างความสนิทสนมกลมเกลียว สื่อจะได้อยากเชียร์โดยไม่ต้องจ้าง
และถึงแม้ตัวเองไม่ใช่เจ้าของ แต่ถ้ามีสามีหรือญาติพี่น้องเป็นเจ้าของสื่อ ก็สามารถใช้สื่อในมือสร้างกระแสชี้นำ โจมตีคู่แข่งได้สบาย ดังที่เราได้เห็นในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ประการที่สอง แนวคิดเรื่องการห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อนั้น เกิดขึ้นกว่า 10 ปีที่แล้วตอนที่โซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลายเหมือนกับในปัจจุบัน การเป็นเจ้าของสื่อต้องใช้เงินมหาศาล แต่วันนี้ “ทุกคนเป็นสื่อได้” ในความหมายว่าสามารถใช้เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้ฟรีๆ ในการสื่อสารแลกเปลี่ยนกับคนอื่น นักการเมืองทุกคนก็ใช้สื่อเหล่านี้ได้ ไม่จำเป็นต้องถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของกิจการสื่อแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นชัดว่าไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. มีโอกาสได้ใช้กิจการสื่อมวลชนของตัวเองหรือสื่อที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย เพื่อชี้นำประชาชนในฤดูหาเสียงเลือกตั้ง แต่ผู้สมัคร ส.ส. ทุกวันนี้สามารถสื่อสารกับประชาชนได้เองอยู่ดีผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการกำหนดการถือหุ้นสื่อเป็น “ลักษณะต้องห้าม” ของผู้สมัคร ส.ส. จึงล้าสมัยและไม่จำเป็นเลย
ถ้าหากเรากลัวว่านักการเมืองจะใช้สื่อในทางที่ไม่ถูกต้อง เราก็มีกฎหมายเลือกตั้งและประกาศ กกต. ที่เข้มงวดอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 กำหนดห้ามผู้สมัคร “หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม”
ประการที่สาม ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร 2557 เสรีภาพสื่อไม่ได้ถูกลิดรอนโดยนักการเมือง หากแต่ถูกลิดรอนด้วยคำสั่งต่างๆ นานาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการสื่อ เซ็นเซอร์สื่อที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. ถึงขั้นสั่งให้ “จอดำ” นานนับสัปดาห์ก็มี
การคุ้มครองเสรีภาพสื่อวันนี้จึงขึ้นอยู่กับการเรียกร้องให้ กสทช. ทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และเรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งต่างๆ นานาที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ ไม่ใช่การไปห้ามไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อ
ประเด็นทั้ง 3 ประการที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นบ่งชี้ว่า การห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อนั้น ทั้งไม่ได้แก้ปัญหา(การแทรกแซงสื่อ) ล้าสมัย(ในยุคโซเชียลมีเดีย) และไม่ช่วยคุ้มครองเสรีภาพสื่อ(เพราะปัญหาอยู่ที่ กสทช. และ คสช.)
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ห้ามผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ในตัวมันเองจึงนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของอาการ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” ในสังคมไทย ก่อนที่จะถูกยกระดับความล้นเกินไปอีกขั้นด้วยการตีความกฎหมายมาตรานี้อย่างมักง่ายและ“อำนาจนิยมล้นเกิน”
หมายเหตุ: ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของคอลัมน์ “ประชาชน 2.0” ที่จะตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ผู้สนใจสามารถติดตามคอลัมนี้ได้ต่อไปบนเว็บไซต์ The Momentum (www.themomentum.co)
*** ชื่อเต็ม: อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที): กรณี “หุ้นสื่อ” ของผู้สมัคร ส.ส.
ที่มา
...
ไม่เห็นด้วยกับที่พูดว่า วิจารณ์ศาลได้หากทำในเชิงวิชาการ— bact' (@bact) August 28, 2019
ทำไมถึงวิจารณ์ได้เฉพาะทางวิชาการครับ
อำนาจตุลาการมีผลถึงประชาชนทุกคน ถ้าผมคิดได้ แต่พูดในภาษาวิชาการไม่ได้ สิทธิพลเมืองของผมต้องลดลงหรือครับ
ประชาชนทุกคนต้องวิจารณ์อำนาจทุกอำนาจได้ อำนาจยิ่งสูงยิ่งต้องถูกวิจารณ์ได้มาก
"Sans la liberté de blâmer, il n'est point d'éloge flatteur." - "ปราศจากเสรีภาพในการตำหนิติเตียน ก็ไม่มีซึ่งคำสรรเสริญเยินยอ"— Piyabutr Saengkanokkul (@Piyabutr_FWP) August 28, 2019
Figaro ตัวเอกจาก Le Mariage de Figaro บทประพันธ์ของ Beaumarchais
สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ @Fringer คุณสฤณี ครับ