จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในเดือนสิงหาคม 2562 ยังมีผู้ต้องขังในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วประเทศ อีกอย่างน้อย 25 คน โดยที่สถิตินี้ไม่รวมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงหรือหาประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด
กลุ่มผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว และถูกศาลทหารพิพากษาโทษรุนแรง
ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ในกลุ่มที่คดีสิ้นสุดแล้ว และรับโทษจำคุกอยู่มีอย่างน้อย 11 ราย แทบทั้งหมดถูกจับกุมและพิจารณาคดีในศาลทหารหลังการรัฐประหาร 2557 โดยแต่ละคนถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์จำนวนหลายข้อความ และให้การรับสารภาพ ทำให้เมื่อมีการพิพากษาลงโทษ ศาลทหารพิพากษาแต่ละข้อความแยกเป็นคนละกรรม และให้นับโทษแต่ละกรรมต่อกัน ทั้งยังมีการเพิ่ม “ยี่ต๊อก” หรืออัตราโทษในแต่ละกรรมเพิ่มขึ้นไป ถึงกรรมละ 7-10 ปี เกิดเป็นโทษจำคุกจากข้อหามาตรา 112 ในอัตราที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในหลายคดียังเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้จำเลยไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาได้
กรณีลักษณะนี้เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูล ได้แก่ กรณีของวิชัย พนักงานขายของบริษัทเอกชน นับได้ว่าเป็นผู้ถูกลงโทษจำคุกด้วยมาตรา 112 ที่สูงที่สุดเท่าที่ทราบในยุคของ คสช. โดยเขาถูกศาลทหารพิพากษาจากการโพสต์ข้อความ 10 ข้อความ ลงโทษกรรมละ 7 ปี รวมลงโทษจำคุก 70 ปี และลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 30 ปี 60 เดือน
กรณีของพงษ์ศักดิ์ อดีตมัคคุเทศก์จากจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 6 ข้อความ ลงโทษข้อความละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 60 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี
กรณีของศศิพิมล อดีตพนักงานโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ และคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง เป็นอีกคดีหนึ่งที่ถูกศาลทหารพิพากษาโทษอย่างรุนแรง จากการเผยแพร่ข้อความเฟซบุ๊ก 7 ข้อความ โดยยังไม่แน่ชัดว่าเธอเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ เธอถูกลงโทษจำคุกข้อความละ 8 ปี รวมโทษจำคุก 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี ปัจจุบันถูกคุมขังมากว่า 4 ปี 6 เดือนแล้ว
ภาพเรื่องราวของคดีศศิพิมล (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)
กรณีของเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด” นักธุรกิจในกรุงเทพฯ ถูกศาลทหารพิพากษาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 5 ข้อความ ลงโทษจำคุกข้อความละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 50 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี
กรณีของธารา ผู้ทำเว็บไซต์ด้านสุขภาพ ถูกกล่าวหาจำนวน 6 กรรม จากการเผยแพร่คลิปเสียงของ ‘บรรพต’ ลงในเว็บไซต์ แม้ในตอนแรกเขาจะต่อสู้คดี แต่การดำเนินคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้าในศาลทหาร ทำให้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลทหารได้พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมโทษทั้งหมด 18 ปี 24 เดือน
กรณีของบุรินทร์ ประชาชนที่ถูกจับกุมหลังร่วมชุมนุม “ยืนเฉยๆ” เมื่อปี 2559 แต่ต่อมาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากข้อความแชทที่ส่งถึง น.ส.พัฒน์นรี หรือ “แม่จ่านิว” และข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีก 1 ข้อความ ต่อมาเขาให้การรับสารภาพ ทำให้ศาลทหารพิพากษาจำคุกสองกรรมรวมกัน 22 ปี 8 เดือน ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 10 ปี 16 เดือน
‘บุรินทร์’ ขณะถูกคุมตัวมาพิจารณาคดีในศาลทหาร
กรณีของชญาภา อดีตพนักงานบัญชีบริษัทเอกชน ซึ่งถูกจับกุมจากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องปฏิวัติซ้อน แต่ต่อมากลับถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากข้อความอื่นด้วย รวมจำนวน 2 ข้อความ และข้อหามาตรา 116 จากอีก 3 ข้อความ หลังถูกพาตัวไปศาลทหาร โดยไม่มีการแจ้งญาติและทนายความ เธอให้การรับสารภาพ ทำให้ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 14 ปี 60 เดือน โดยลดโทษเหลือ 7 ปี 30 เดือน
กรณีของปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 2 คดีในศาลพลเรือน และเขาต่อสู้ในทั้งสองคดี คดีแรก ถูกกล่าวหาว่าโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ส่วนคดีที่สอง ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความและส่งอีเมลที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 ปี ทำให้รวมโทษจำคุกสองคดีคือ 14 ปี
ด้วยอัตราโทษจำคุกที่สูงมากเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องขังในกลุ่มนี้แต่ละราย แม้จะได้รับการลดหย่อนโทษลงบางส่วนแล้วจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเหลืออัตราโทษจำคุกอยู่อีกหลายปี ทั้งหมดจึงยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจนถึงปัจจุบัน
6 จำเลย ในคดีอ้างว่าเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for Dad
ผู้ต้องขังอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี แต่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ ได้แก่ กลุ่มจำเลย 6 ราย ในคดีที่ทางฝ่าย คสช. และเจ้าหน้าที่ทหาร กล่าวอ้างว่าเป็นการจับกุมกลุ่มบุคคลที่เตรียมจะก่อความวุ่นวายในกิจกรรม Bike for Dad ซึ่งมีกำหนดจัดในช่วงเดือนธันวาคม 2558
กรณีนี้อัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น แยกเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีของ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 5 คน (วีระชัย, วัลลภ, พาหิรัณ และธนกฤต) ในความผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวหาว่าทั้งห้าสนทนาข้อความที่หมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท จำนวน 3 ข้อความ ต่อหน้าบุคคลผู้มีชื่อจำนวน 2 คน
อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 2 คน (ณัฐพล) ในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2 กรรม โดยกล่าวหาจากการส่งไลน์หากัน และจากข้อความที่ จ.ส.ต.ประธินจดบันทึกลงในสมุด ทำให้ จ.ส.ต.ประธิน เป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีถึงสองคดีในเรื่องนี้
สองคดีนี้มีข้อกังขาในแง่ที่ว่า ในการแถลงข่าวการจับกุมและออกหมายจับมีการระบุถึงการเตรียมก่อเหตุรุนแรงในกิจกรรม Bike for Dad แต่จำเลยทั้งหมดกลับถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งล้วนไม่เกี่ยวข้องกับ Bike for Dad ตามที่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด โดยพฤติการณ์ตามคำฟ้องเป็นเรื่องการพูดคุยกันในเรือนจำ การส่งไลน์ส่วนตัว และการเขียนในสมุดบันทึกส่วนตัว
จำเลยทั้ง 6 คน ยังถูกคุมขังที่เรือนจำขอนแก่น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 ปี 9 เดือนเศษแล้ว โดยจำเลยบางรายที่พอมีหลักทรัพย์ ได้เคยยื่นขอประกันตัวมาแล้ว แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ขณะที่หลายรายก็ไม่มีหลักทรัพย์ในขอประกันตัว ทั้ง 6 คนยังเลือกจะต่อสู้คดี โดยศาลทหารเคยสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และขณะนี้มีการโอนย้ายคดีมาพิจารณาต่อในศาลพลเรือน
กลุ่ม 8 ผู้ต้องขัง คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ
ขณะที่กลุ่มผู้ต้องขังซึ่งคดีถูกตัดสินแล้ว และยังถูกคุมขังในเรือนจำ ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 อีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มผู้ต้องขังในกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นหลายจุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560 รวมทั้งหมด 8 คน
กรณีนี้แยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวก่อนจำนวน 9 ราย ถูกดำเนินคดีแยกเป็น 4 คดี จากการก่อเหตุในแต่ละจุด 3 คดี และแยกฟ้องในศาลเยาวชนอีก 1 คดี (1 คน) ในข้อหาทั้งเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตามมาตรา 112 จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ในส่วนคดีของศาลจังหวัดพล ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 8 ราย ด้วยอัตราโทษต่างๆ กัน
ต่อมา จำเลยวัยรุ่น 6 คน ได้ตัดสินใจอุทธรณ์ใน 2 คดี และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 61 โดยพิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ทั้ง 2 คดีดังกล่าว แต่ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งหมดกระทำความผิดในข้อหาอื่นๆ ตามฟ้องแทน มีโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแตกต่างกันไปตั้งแต่ 3 ปี – 4 ปี 6 เดือน ในทั้งสองคดี รวมจำคุกตั้งแต่ 3 ปี – 9 ปี
กลุ่มที่สอง มีจำเลยอีก 2 ราย คือ นายปรีชา และนายสาโรจน์ ถูกจับกุมในภายหลัง และถูกดำเนินคดีในข้อหาเช่นเดียวกัน โดยแยกฟ้องรวม 3 คดี ทั้งสองคนให้การรับสารภาพทุกคดี และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 61 ศาลจังหวัดพลได้พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ทั้งสามคดี แต่พิพากษาลงโทษในข้อหาอื่นๆ รวมจำคุกทั้งสองคนละ 12 ปี 6 เดือน
สำหรับกรณีเผาซุ้มฯ นี้ คดีในส่วนที่จำเลย 2 ราย ที่ไม่ได้อุทธรณ์คดีนั้น หลังได้รับโทษจำคุกตามมาตรา 112 ที่ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน อยู่กว่า 2 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแล้ว ในขณะที่คดีในส่วนที่มีการยกฟ้องข้อหามาตรา 112 จำเลยยังคงต้องโทษจำคุกในข้อหาอื่นๆ อยู่ และยังควรต้องพิจารณาว่าในขั้นตอนการดำเนินคดีในกรณีนี้ เกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้ข้อหาตามมาตรา 112 อีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้มาตรา 112 กับคดีที่ยังดำรงอยู่
ควรกล่าวด้วยว่า แม้ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2561 จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการบังคับใช้มาตรา 112 ได้แก่ การพยายามไม่นำข้อกล่าวหามาตรา 112 มาใช้ในการกล่าวหาหรือลงโทษในกระบวนการยุติธรรม ทำให้แทบไม่มีคดีใหม่ๆ เพิ่มเติมในข้อหานี้ (เท่าที่ทราบ) แต่ก็ยังคงมีการใช้ข้อกล่าวหาอื่น อาทิเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ควบคุมการแสดงออกอยู่
ดูในรายงาน การเปลี่ยนแปลงของแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ในรอบปี 2561
คดีสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ได้แก่ คดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกกรณีสหพันธรัฐไท ซึ่งผู้ต้องหากรณีนี้ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ เท่าที่ทราบจนถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีบุคคลอย่างน้อย 19 ราย ในกรณีนี้มีผู้ถูกคุมขังในระหว่างการต่อสู้คดี 2 ราย เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว ทำให้กรณีนี้นี้นับเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองอีกลักษณะหนึ่ง แม้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 112 ก็ตาม
ขณะเดียวกัน คดีมาตรา 112 ในยุค คสช. อีกหลายคดี ซึ่งผู้ต้องหา/จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาคดี ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง หลังจากดำเนินคดีมาอย่างล่าช้าในศาลทหารหลายปี ในช่วงที่ผ่านมา คดีเหล่านี้ก็ทยอยถูกสั่งโอนย้ายมาพิจารณาคดีต่อในศาลพลเรือน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ซึ่งหัวหน้า คสช. ออกทิ้งทวนก่อนยุติบทบาทนี้ จึงทำให้ยังต้องติดตามจับตาการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่กลับมาอยู่ในการพิจารณาพิพากษาของศาลพลเรือนต่อไป