ใครจะตีความเช่นไร ว่าข้อความพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
๑๐ ที่มีลายพระหัตถ์กำกับ ซึ่งเนื้อความให้กำลังใจแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
และคณะรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ เป็นความจงใจ “ร่วมมือกับประยุทธ์แก้รัฐธรรมนูญ”
การกระทำของประยุทธ์ในการขอ “พระราชทานตามที่ผมขอไป”
ไม่ใช่เพียงบิดเบือนรัฐธรรมนูญ หรือแค่แก้ไขตามอำเภอใจเท่านั้น หากแต่เป็นการ ‘ยึดอำนาจ’ รัฐธรรมนูญที่พวกตนเขียนขึ้นเองแล้วไม่ได้ผลทุกอย่างไปดั่งต้องการ
พระราชดำรัสในลายลักษณ์อักษรซึ่งประยุทธ์ใส่กรอบสีทองนำออกแสดง
หมายจะอ้างว่า “ผมไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น ผมก็เฉยๆ แต่ผมปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณ”
เป็นการเบี่ยงเบนเมื่อเกิดกรณีฝ่ายค้านยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัย
จนเมื่อ ๒๗ ส.ค. รักษเกชา แฉ่ฉาย “เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
แถลงข่าวมติที่ประชุม ปมการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๑
ของนายกรัฐมนตรี และกรณีการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา”
ว่าได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการวินิจฉัยแล้วนั้น
ส่อให้เห็นว่าปมเงื่อนดังกล่าวมิใช่ความในขอบข่ายที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องทรงรับผิดชอบเป็นธุระจัดการ
เนื่องจากเป็นประเด็นแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเท่านั้น
และไม่ได้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด
(หมิ่นรัฐธรรมนูญน่ะใช่แน่) และมิอาจ ‘โหน-อิงแอบ
สถาบัน’ อย่างย้อนยอกเช่นที่ นิติพงษ์ ห่อนาค
บิดเบี้ยวว่าเป็นความ “พยายามขยายประเด็น” เล่น “เกมการเมือง...จับผิดรัฐบาล”
แต่อย่างใด
พระราชดำรัสที่ว่า “ให้พรให้ท่านมีกำลังใจความมั่นใจ
แลฃะความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาน...เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์
โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุด” นั้นมิได้เจาะจงให้ชัดแจ้งว่าหมายรวมถึงส่วนที่ประยุทธ์ละเว้น
หรือตัดทิ้งไป
ในเมื่อไม่ได้มีการเปิดเผยว่าเนื้อถ้อยที่ประยุทธ์
‘ขอพระราชทานไป’
เป็นเช่นไร และพระราชดำรัสมิได้ระบุในประเด็นอันเป็นหัวใจของ ‘ความผิด’ ตามมาตรา ๑๖๑ คือการไม่ถวายสัตย์ว่า ‘จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ’
ฉะนั้นการกล่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงสมรู้ร่วมคิดในการละเลยไม่กล่าวคำถวายสัตย์ให้ครบถ้วนของประยุทธ์
ย่อมกระทำไม่ได้ การเช่นนี้มิได้ต่างอะไรกับการปฏิบัติเป็นปกติในรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชทานความเห็นชอบในงานราชการที่รัฐบาลกราบบังคมทูลอย่างสม่ำเสมอ
แม้กระทั่งการเสด็จออกรับคณะทหาร
คมช.เข้าเฝ้าฯ ในยามดึก
หลังจากที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในวันเดียวกันนั้น
หากประยุทธ์หรือใครๆ
ต้องการให้ประชาชนทั่วไปยอมรับว่า การละเมิดอำนาจรัฐธรรมนูญในประเด็นถวายสัตย์ขาดตกของประยุทธ์เป็นไปตามพระราชประสงค์
หรือทรงพระราชทานอภัยโทษให้ประยุทธ์แล้ว
จักต้องมีราชการอันชี้ชัดอย่างทางการกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรัฐประหารต่อรัฐธรรมนูญ
และพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานลัญจกรประทับรับรู้
เฉกเช่นที่ได้เคยปฏิบัติในรัชกาลที่ ๙ นั่นแล้ว
โดยมีกระบวนการยกเลิกรัฐธรรมนูญปัจจุบันและประกาศใช้กฎหมายสูงสุดชั่วคราวละก็ จึงจะถือว่าเป็นผลสมบูรณ์ในกระบวนการเมืองการปกครองแบบไทยๆ
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มิฉะนั้นจะเป็นเพียง พล.อ.ประยุทธ์และคณะผู้ปกครองชุด
คสช.๒ อาศัยร่มพระบรมโพธิสมภาร ละเมิดกฎหมายสูงสุดของบ้านเมืองตามอำเภอใจ