วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 29, 2562

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ออกโรงปราม อย่านำกระเเสพระราชดำรัสให้กำลังใจรัฐบาลไปตีความเป็นพระบรมราชวินิจฉัย โยงเกี่ยวกระบวนการยุติธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยอยู่





...เรื่องการที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯเพื่อรับฟังพระราชกระแสของในหลวงในที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการให้คำแนะนำ ฝ่ายบริหารให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ในฐานะองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทยซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์มิได้อยู่เหนือกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญและทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่เเล้ว ดังนั้น จึงไม่เป็นการบังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อไป เพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะเสนอข่าวในลักษณะ คาดเดาหรือคิดเอาเองว่าเรื่องจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้เเละไม่เป็นการอันควรที่จะนำเรื่อง การที่ พระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำแก่ฝ่ายบริหารมาปะปนกับเรื่องคดีเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะประเทศประชาธิปไตยทั่วไปก็มีแนวทางและกระบวนการดำเนินไปซึ่งการเมืองการปกครองของประชาธิปไตยที่กระทำกันอยู่ทั่วโลก

การที่หลังจาก ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารนั้น นับว่าเป็นพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานพระบรมราโชวาท ให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารเพื่อเป็นประโยชน์ สุขแก่ประเทศชาติ บ้านเมืองและประชาชน ซึ่งถือเป็นพระราชประเพณีที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้มาแทบทุกสมัย ทุกรัชกาล ในโอกาสที่ฝ่ายบริหาร หรือ ข้าราชการระดับสูง บางประเภทเช่น ศาล อัยการ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชอำนาจในการอวยพรให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุข แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมถึงการที่ ครม. ชุดนี้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์พระราชทาน พระราชกระแสดำรัสไปครั้งนี้ก็เป็น โบราณราชประเพณีที่กระทำมาในหลายรัชกาลของพระมหากษัตริย์ไทยแทบทุกพระองค์ รวมทั้งการ เข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีในหลายๆ คราวที่ผ่านมา ก็มีพระราชกระแสเช่นนี้ ดังนั้นฝ่ายการเมืองและประชาชนจึงไม่บังควรที่จะนำเรื่องนี้ ไปยุ่งเกี่ยวหรือปะปนกับกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ควรจะนำไปตีความว่าพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องวิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะพระองค์จะไม่ทรงเข้ายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้

“ส่วนกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะต้องไปดำเนินการ ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีองค์กรอิสระ หรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้ส่งเรื่องไปนั้น ก็เป็นกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีกฎกติกากำหนดไว้โดยชัดเจนและเรียบร้อย เป็นไปตามระบอบการเมืองการปกครองประชาธิปไตยสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศทั่วโลกกระบวนการนี้เรียกว่าดูโปรเซส(Due process) หรือ การปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (Rule of law)ในประเทศที่ ใช้กฎหมายปกครองหรือที่เรียกว่านิติรัฐ (LegalState) คือประเทศที่ใช้กระบวนการยุติธรรม และมีกฎหมายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง ที่ชัดเจน และเป็นบรรทัดฐาน ฝ่ายการเมืองก็ดีหรือประชาชนไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์และนำเรื่องดังกล่าว ไปคาดการณ์คาดคะเนหรือ พูดคุยเป็นข่าวลือในทางที่ไม่ดีหรือเสียหายเพราะสิ่งนี้ ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งมีรัฐธรรมนูญและกฎกติกาในลักษณะของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับ เรื่องความถูกผิด ของกระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ชุดนี้และไม่ควรบังอาจไปถือเอาว่าพระมหากษัตริย์ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกผิดของการถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนี้ด้วย” นายศรีอัมพรกล่าวย้ำ


ที่มา มติชนออนไลน์
‘ผู้พิพากษาอาวุโส’ ออกโรงปรามฝ่ายการเมือง อย่านำกระเเสพระราชดำรัสให้กำลังใจรัฐบาลไปตีความ
...