"อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" ชี้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างอำนาจกลุ่มทุนใหญ่ เน้นนโยบายประชานิยม ส่งผล ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น กระทบวิถีชนบทรุนแรง นักวิชาการแนะรัฐควรเน้นนโยบายที่หลากหลาย ไม่ใช่ Universal Packet ที่ไม่ตอบสนองความต้องการชุมชน
วันนี้ (23 ส.ค.2562) ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวตอนหนึ่งในบรรยายพิเศษเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบทกับทิศทางที่ควรจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แยกไม่ออกจากการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการทำรัฐประหาร ของ คสช. ซึ่งถือเป็นการจัดความสัมพันธ์แบบของอำนาจใหม่ ที่พยายามประสาน หลอมรวมกลุ่มต่างๆ มาไว้อยู่ด้วยกัน
ศ.อรรถจักร์ กล่าวอีกว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี สะท้อนชัดเจนถึงความพยายามปกป้อง และโอบอุ้มกลุ่มทุนใหญ่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพึ่งพากลุ่มทุนผ่านนโยบายประชารัฐ ซึ่งพบว่า มีกลุ่มทุนใหญ่ให้การสนับสนุนไม่น้อยกว่า 25 กลุ่มทุน รูปแบบนี้จึงถูกเรียกว่า “รัฐบรรษัท” ส่งผลให้ในอนาคต “กลุ่มทุนจะกลายเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ”ส่วนรัฐบาลกุมอำนาจเพียงด้านความมั่นคง
ดังนั้น การที่ยุทธศาสตร์ชาติ สนับสนุนให้กลุ่มทุนเติบโต ก็เท่ากับการพัฒนาทุนนิยมไทย ทำให้จากนี้ระบบอุปถัมภ์จะเข้มแข็งขึ้น ประชานิยมจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบกับวิถีชนบท อย่างรุนแรง
ประชานิยมยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำสูง
ศ.อรรถจักร์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงกระทบต่อชาวบ้านชัดเจน คือ วิถีการทำเกษตรกรรม เพราะเมื่อพวกเขาเข้าสู่การทำเกษตรภายใต้ระบบทุน วิถีดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านซึ่งมีที่ดิน พื้นที่ปลูกพืชจำนวนมากจะเป็นผู้ถูกเลือกให้เข้าสู่ระบบ เพราะสามารถป้อนผลผลิตให้กับทุนได้มาก ส่งผลให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มีรายได้ และยกฐานะที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามกับชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ จะไม่ถูกพัฒนา ไม่สามารถรวมกลุ่มกันต่อรอง ไม่มีตลาดรับซื้อสินค้าเกษตร ที่สำคัญคือถูกปล่อยให้เคว้งคว้าง มีหนี้สิน
“ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ถูกแก้ คนจนจะยิ่งทุกข์หนักกว่าเดิม จากระบบที่กลุ่มทุนใหญ่เข้ามามีอำนาจมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี จึงอยากให้ชุมชน รวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่เข้มแข็ง”
อ่านบทความต่อได้ที่