วันเสาร์, สิงหาคม 24, 2562
รัฐทำบาน : 3 แสนล้าน มาตรการ "วาดฝัน" กระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาพจากมติชนออนไลน์
3 แสนล้าน ไม่ใช่ งบประมาณ แต่เป็นเพียงการวาดฝัน
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้าน ที่มักใช้คำว่า “งบ 3 แสนล้าน” นั้นเป็นการใช้คำที่คลาดเคลื่อนและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้มากเพราะจริงๆแล้ว 3 แสนกว่าล้านนั้นไม่ใช่งบประมาณ ถ้าคำนวณงบประมาณที่ใช้จริงๆน่าจะเป็นหลักหลายหมื่นล้านซึ่งเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำดังที่ผมวิจารณ์ไปแล้ว
แล้วตัวเลข 3แสนกว่าล้านคืออะไร
เท่าที่ดูก็เป็นประมาณการที่กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการนี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 316,813 ล้านบาทซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ส่วนตัวเลขอื่นๆนั้นเป็นการปะปนกันระหว่างมาตรการทางการคลังกับมาตรการทางการเงินซึ่งไม่สามารถเอาตัวเลขของมาตรการ 2 ประเภทนี้มารวมกันได้
มาตรการทางการคลังเช่นการหักรายจ่ายในการคำนวณภาษี การแจกเงินให้คนไปเที่ยวและการสนับสนุนต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรซึ่งกระทบการคลังหรือต้องใช้งบประมาณ ส่วนมาตรการทางการเงินเช่นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบ้าง สินเชื่อเพื่อ SME บ้างซึ่งตัวเลขสินเชื่อเป็นแสนๆล้านนี้ไม่ใช่งบประมาณ จะคิดเป็นงบประมาณก็ต้องดูจากส่วนที่รัฐบาลอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างไม่ใช่เอาวงเงินสินเชื่อทั้งหมดมารวมๆกันแล้วเรียกว่างบประมาณ
การสื่อสารเกี่ยวกับมาตรการนี้จึงสับสนคลาดเคลื่อนอยู่มาก อาจทำให้ผู้คนเกิดความหวังว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจชั่วครู่ชั่วยาม แต่ศึกษาจริงๆก็จะพบว่าหวังอะไรไม่ได้เลย
ที่สำคัญยังไม่มีมาตรการที่จะแก้ปัญหาการส่งออก การท่องเที่ยวและการลงทุนที่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการแก้ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลงอย่างมาก ยิ่งปัญหาโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันยิ่งไปไม่ถึงไหนเลยทั้งๆที่บริหารกันมากว่า 5 ปีแล้ว
ส่วนเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ความปลอดภัยจากความรุนแรงก็อย่างที่เห็นกันอยู่ คงไม่ต้องพูดถึงในตอนนี้ละครับ
Chaturon Chaisang
...
ดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเอกสารกระทรวงการคลังแล้วพบว่ามาตรการแจกคนไปเที่ยวคนละ 1,000 บาทนั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่กำหนดว่าหากผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักหรือค่าสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) โดยมีเงื่อนไขต้องใช้ app เป๋าตัง และ ถุงเงิน แสดงว่ามาตรการนี้จะใช้เงินงบประมาณมากกว่าที่เข้าใจกัน ซึ่งก็คือจะเสียหายมากว่าที่คิดกันและโดยเฉพาะในส่วนหลังผู้ได้ประโยชน์น่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เสียมากกว่า
ส่วนมาตรการแจกเงินที่คนแห่ไปเบิกเงินกันจนธนบัตรไม่พอนั้น เป็นมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ 3 มาตรการซึ่งทำเป็นระยะเวลา 2 เดือน เข้าใจว่าคงต้องการแสดงให้เห็นว่าหาเสียงไว้ก็ทำจริง แต่ผลจะเป็นอย่างไร เมื่อพ้น 2 เดือนแล้วจะทำอย่างไร ระบบระยะยาวที่จะดูแลคนจนควรเป็นอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้คนเป็นสิบล้านไม่ “อยากจน”และช่วยตัวเองได้มากขึ้น ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้น่าจะยังไม่ได้คิดครับ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ค่อยคุยกันต่อครับ
Chaturon Chaisang