วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 29, 2562

ศาลขยับ 'กระชับกล้าม' เรียกสองนักวิชาการพบ แหม "เอาศาลไปตัดสินการเมืองมากขึ้นๆ ก็ถูกวิจารณ์เยอะ" น่ะสิ


 
ต่อกรณีที่ ศาลชั้นสูงสองแห่งเรียกนักวิชาการสองรายไปพบ เนื่องจากเห็นว่ารายหนึ่ง ผู้เขียนใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม อีกราย ผู้ประพันธ์“ละเมิดอำนาจศาล” นั้นผู้มีวิจารณญานโดยทั่วไปเห็นว่า เป็นการขยับกระชับกล้าม ตามอำนาจพิเศษที่ คสช.มอบไว้ให้

แต่ความเห็นอย่างจำเพาะเจาะจงในทาง วิชาการอดีตคณบดีนิติศาสตร์ชี้ว่า “ไม่เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล” ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนความอาญาตามมาตรา ๑๙๘ “ต้องมีการไปแจ้งความ” ก่อน “ไม่ใช่ศาลออกหมายเรียกไปไต่สวนเอง”

ด้านความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับ วิชามาร ทางการเมือง บรรณาธิการสำนักพิมพ์รายหนึ่งเชื่อว่า “นี่คือการเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมตัวเชือด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เพราะทั้งสองรายเป็นการวิจารณ์การทำงานของศาลในคดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ

ธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกัน บอกว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ไปพบเลขาธิการศาลฯ วันที่ ๓๐ เดือนนี้ “คือการขู่อย่างหนึ่ง” ส่วนที่เลขานุการศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งเรียก สฤณี อาชวานันทกุล ไปให้การวันที่ ๙ กันยา เป็นการ “เอาจริงเลย”

ประกอบกับเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหา นสพ.แนวหน้าระบุว่า คดีที่ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายธนาธรจะสิ้นสุดสภาพการเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ ม. ๑๐๑(๖) ประกอบมาตรา ๙๘(๓) หรือไม่นั้น ได้มีการประชุมกันไปแล้ว “เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย”

และจะนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไปในการประชุมครั้งถัดไป” โดยมีเสียงวิจารณ์หนาหูว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เห็นท่าจะไม่รอดแน่ ขณะที่มี ส.ส.พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์หลายคนได้ถูกร้องเรียนความผิดเดียวกันไว้ คดียังไม่ไปถึงไหน

ซึ่ง รศ.โกวิท อดีตอาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ เขียนวิจารณ์ทางหน้าทวิตเตอร์ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้อง ๓๒ ส.ส. ปมหุ้นสื่อ แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเกินคําว่า ด้าน เสียแล้ว” นั้นเลขาฯ ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่าเป็น “ข้อความวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคําที่ไม่เหมาะสม”

จึงดูเหมือนว่าการเรียก รศ.โกวิทไปพบน่าจะเพียงไปตักเตือน ในชั้นต้นเรื่องการใช้คำ ด้าน นั้น แม้นว่า จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ @Rosie_Spokedark ตอบว่า “ได้ค่ะ จะได้พูดให้ศาลฟังตรงๆ ต่อหน้าซักทีว่าเราคิดยังไงกับเธอ ทั้งพ่อเราและพี่น้องทั้ง ๔ คนด้วย”
 
แต่สำหรับรายของสฤณี นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ซึ่งนายสุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาได้ทำการ “ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล” และเสนอองค์คณะพิจารณาพิพากษาแล้วออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาสองคนไปให้การ

นั้นอ้างถึงบทความที่ตีพิมพ์ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งสฤณี “เป็นผู้ประพันธ์” ได้ “กล่าวหาว่าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ ตีความตัวอย่างเกินเลยโดยไม่คํานึงถึงข้อเท็จจริงและไม่คํานึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

และยังอ้างว่า “เป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง และเป็นการวิพากษ์โดยไม่เป็นธรรม” เช่นนี้เลขาฯ ศาลเห็นว่าบทความ “มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือ เหนือศาล

เหนือคู่ความหรือเหนือพยาน ในระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.เรื่องอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นอย่างเดียวกันกับคดีที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าว”

การใช้ถ้อยสำนวนกล่าวหาเช่นนั้นทำให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้ตอบในเบื้องต้นต่อสาธารณะว่า “ตัวเองเขียนบทความเพื่อวิจารณ์คำตัดสินที่ออกมาแล้วเท่านั้น” ที่โดยความเห็นของพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ชี้ว่าไม่เข้าข่ายความผิด

ข้อเขียนบนหน้าเฟชบุ๊คของสฤณียังพาดพิงถึง “การตีความข้อหาละเมิดอำนาจศาลโดยอนุมานว่าผู้วิจารณ์หมายถึงคดีอื่นๆ ในอนาคตด้วย อาจส่งผลให้การวิจารณ์คำตัดสินของศาลเป็นไปไม่ได้เลยในอนาคต” เพราะไม่ว่าคดีไหน กฎหมายอะไร ย่อมเกิดซ้ำได้เสมอ


ไม่เพียงเท่านั้น เสียงวิจารณ์ยังมีอีกมากหลาย อย่างเช่น วัฒนา เมืองสุข อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เอ่ยถึงมาตรา ๓๘ ของ พรป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็น “อำนาจพิเศษที่ลัดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม”

เนื่องจาก “ศาลใช้อำนาจพิเศษดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา แม้ภายหลังเสร็จการพิจารณาแล้ว” ขณะที่ อธึกกิต แสวงสุข นักวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวค่าย ว้อยซ์ให้ข้อคิดว่าถ้าหากวิจารณ์ศาลไม่ได้ “ก็ไม่มีอะไรถ่วงดุลศาล ศาลก็จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ”

เขาเจาะจงที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าเมื่อเริ่มตั้ง “ไม่มีกฎหมายห้ามละเมิดอำนาจ เพราะเป็นการพิจารณาเรื่องสาธารณะ แต่พอรัฐธรรมนูญเอาศาลไปตัดสินการเมืองมากขึ้นๆ ก็ถูกวิจารณ์เยอะ จนมาออกกฎหมายห้ามละเมิด

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่อยากให้วิจารณ์ ก็ต้องถอยจากอำนาจตัดสินการเมือง เสนอแก้รัฐธรรมนููญไปเป็นผู้ปกป้องสิทธิประชาชน เท่านั้นแหละจะมีแต่คนชื่นชม”