วันศุกร์, สิงหาคม 23, 2562

"Gossipสาสุข" ตรวจสอบแล้ว งบ “บัตรทอง” หายจริง 676 ล้านบาท ไม่ใช่ Fake News "นฤมล" ว่าไง ?





ตรวจสอบแล้ว
งบ “บัตรทอง” หายจริง 676 ล้านบาท
ไม่ใช่ Fake News


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล ถือโอกาสชี้แจงหลังมีข่าวว่า รัฐบาลตัดงบโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไป 676 ล้านบาท เพื่อเอาเงินไปสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน ด้วยการบอกว่าเป็น “Fake News”

เพราะในรายละเอียดจริงๆ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกองทุน “บัตรทอง” ของปี 2563 ไป 1.91 แสนล้านบาท โดยเพิ่มกว่าปี 2562 ไปมากกว่า 6,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งกลุ่ม “คนรักหลักประกันสุขภาพ” ผู้เปิดประเด็นนี้อย่าง นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ออกมายืนยันว่ามีการ “ตัดจริง” โดยเป็นส่วนของงบในกองทุนนอกเหมาจ่ายรายหัว เช่น “กองทุนโรคไต” ที่เสนอก่อนเข้า ครม. ที่ 9,405 ล้านบาท

แต่เมื่อเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณกลับเสนองบที่หายไป 300 ล้านบาท หรือกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เงินหายไป 49.87 ล้านบาท จากที่ตกลงกันไว้เดิมที่ 1,025 ล้านบาท กลับเหลือเพียง 975 ล้านบาท

สำทับด้วยข่าว “วงใน” ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขขณะนั้น ได้พยายามต่อรองกับ ครม.แล้วว่าให้ยึดตัวเลขเดิม และขู่จะถอนวาระนี้ออกจาก ครม.หาก ครม.ดึงดันตัดงบตามที่สำนักงบประมาณเสนอมา

แต่เรื่องใน ครม.ก็จบลงที่อนุมัติตัวเลขตามที่เสนอเข้า ครม.ไป แต่ยังเปิดว่า หลังบ้านให้ สปสช.และสำนักงบเจรจาต่อรองกัน

ซึ่งสำนักงบก็ยังคงยืนยันตัวเลขที่จะตัดงบนอกงบเหมาจ่ายรายหัวลงไป 676 ล้านบาท แต่ สปสช.นำโดยประธานบอร์ดสปสช.ขณะนั้น คือ หมอปิยะสกลไม่ยอม กระทั่งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บอร์ดสปสช.ก็ออกประกาศหลักเกณฑ์ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ครม.อนุมัติ

กระทั่งมีรัฐบาลใหม่ สำนักงบประมาณ ซึ่งยังไม่ยอมให้ตามที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว ก็ถูกภาคประชาชนมองว่า อาศัยจังหวะที่เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แม้จะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหน้าเดิมหลายคน ยืนยันจะตัดงบนอกเหมาจ่ายรายหัวลงให้ได้

นิมิตร์ เทียนอุดม พร้อมกับเครือข่ายผู้ป่วย จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าวหน้างานรับฟังความเห็นสิทธิบัตรทองประจำปี 62 เพียง 1 วัน หลัง รมว.อนุทิน ประกาศว่า ระบบบัตรทองจะยังคงอยู่ต่อไป และไม่มีร่วมจ่ายแน่นอน

เดือดร้อนถึง นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช. ที่ต้องออกมายืนยันว่างบบัตรทอง ไม่ได้ถูกตัด หรือถูกลดลง แต่ขีดเส้นใต้ไว้ว่า ยังอยู่ในกรอบที่ให้ไว้คือ 2 แสนล้านบาท

ส่วน 676 ล้านบาทที่หายไปนั้น ยังไม่มี “ข้อสรุป” และเชื่อว่ายังต่อรองได้ เพราะยังต้องใช้โอกาสนี้ “ดีเฟนด์” งบประมาณ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

เท่ากับหมอศักดิ์ชัย ยอมรับว่าเงินหายไปจริง..

พร้อมกับยืนยันว่า สปสช.พร้อมจะยืนยันหลักการเดิม คือไม่ให้มีการตัด 676 ล้านบาทดังกล่าวออกไป รวมถึงได้รายงานให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. รับทราบ เพื่อไป “ไฟท์” ต่อด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่อง “เงินหาย” จึงไม่ใช่ “Fake News” แต่มีเงินที่ถูกปรับลดลงไปจริง จากที่เสนอขอไปเบื้องต้น เพราะเงินในกองทุนเฉพาะหายไป ทำให้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ควรจะได้ในปี 2563 หายไปด้วย

เรื่องนี้ จึงเท่ากับว่าโฆษกรัฐบาล “ไม่รู้เรื่อง” เพียงพอ โดยนำงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2562 มาเทียบ แทนที่จะเอางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2563 ที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ มาเปรียบเทียบ

เป็นการเถียง “คนละเรื่องเดียวกัน”

นั่นทำให้บรรดาองคาพยพที่เกี่ยวข้องอย่าง หมอศักดิ์ชัย เลขาธิการสปสช. ต้อง “พยักหน้า” เออออตามไปด้วย ว่าไม่ได้มีการปรับลด

กลายเป็นว่า สปสช.ยินดีให้รัฐบาล “ยืมมือ” ดิสเครดิตภาคประชาชน เพื่อยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็น Fake News ทั้งที่ไม่ใช่..

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้สัมพันธ์ขาดสะบั้นกับบรรดาเอ็นจีโอ ที่ต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการ “อุ้ม” สปสช.ไว้ ก็จำเป็นต้องปลอบว่า เงินที่หายไป 676 ล้านบาทนั้น ยังสามารถขอคืนมาได้ ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว

ส่วนการที่นิมิตร์ บอกว่า เงินหายไป 676 ล้านบาท โดยไปงอกในงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแจกให้คนไปเที่ยวนั้น ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการ “ประชดประชัน” ทำนองว่า แจกเงินให้คนไปเที่ยวได้ แต่งบรักษาผู้ป่วยกลับจะตัดลง

ว่ากันตามจริง ที่ผ่านมา งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เพิ่มขึ้นแทบทุกปี จากจำนวนประชากร “คนป่วย” ที่เพิ่มขึ้น การขยาย “สิทธิประโยชน์” ให้มากขึ้น ทั้งการรักษา ทั้งยาใหม่ๆ รวมถึงการปรับงบกองทุนให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับทั้งสปสช. บอร์ดสปสช. รวมถึง รมว.สาธารณสุขขณะนั้นแอคทีฟขนาดไหน รวมถึงรัฐบาลมีเงินเหลือในแต่ละปีมากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมา “งบบัตรทอง” นั้น แม้จะเพิ่มขึ้นทุกปี จนล่าสุดทะลุไปถึงเกือบ 2 แสนล้านแล้วนั้น ก็รู้กันดีทั้งในและนอกวงการสาธารณสุขว่า ถึงอย่างไรเงินที่ลงมาก็ไม่พอ

เพราะจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคค่าใช้จ่ายสูง บ้านเรา กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประเทศเข้าใกล้สังคมผู้สูงโดยสมบูรณ์ คือมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% และเกิน 65 มากกว่า 14% ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงสถานะประเทศที่น่ากังวลอย่างมาก คือ แก่ก่อนรวย ดังที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่าไทยจะกลายเป็นประเทศใหญ่ที่แก่ก่อนจะมีโอกาสร่ำรวย คือมีปัญหาแบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่

ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มขึ้นในแต่ละปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ควรนำมาอวดอ้างเป็น “บุญคุณ” เพราะตราบใดที่ยังต้องการรักษาระบบนี้ไว้ ถึงอย่างไร ก็ต้อง “เคาะ” งบประมาณให้เพิ่มขึ้นทุกปีอยู่ดี

ส่วนจะเพิ่มมาก เพิ่มน้อย ก็ต้องว่ากันด้วยเนื้อหาสาระ ทั้งในแง่ “แนวคิด” ว่าผู้ที่ใช้ระบบนี้ ยังขาดอะไร มีอะไรต้องพัฒนาอีกบ้าง หรือมีสิทธิประโยชน์อะไรที่ควรเพิ่ม

และการบริหารจัดการเงินกองทุน ที่ สปสช. ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ นั้น ทำได้ดีพอหรือไม่

แต่วิสัยทัศน์ที่ต้องการมากกว่าก็คือ จะทำอย่างไร ให้ระบบนี้เกิดความยั่งยืน มีเงินเติมสม่ำเสมอ จะได้ไม่ต้องบ่นกันทุกปีว่า “ขาดเงิน” หรือ “เงินไม่พอ” หรือจะทำให้ประเทศนี้ “ล้มละลาย”

ส่วนหลังจากนี้ 676 ล้านบาท จะได้รับการทวงคืนมาหรือไม่หรือ 1.91 แสนล้านบาท จะถูกปรับลดอีกหรือไม่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แล้วสิ่งที่ สปสช.รับปาก จะสามารถทำได้จริงไหม

สุดท้าย หวยอาจออกข้างไหนก็ได้ทั้งนั้น...

#งบเหมาจ่ายรายหัว #กองทุนบัตรทอง # FakeNews


Gossipสาสุข

(https://www.facebook.com/gossipsasook/photos/a.347034632506292/509239779619109/?type=3&theater)