วันศุกร์, สิงหาคม 30, 2562

คำชี้แจงต่อสาธารณชน การก่อตัวของการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน





คำชี้แจงต่อสาธารณชน
การก่อตัวของการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน

29 ส.ค. 2562

ผมขอสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมจากการชี้แจงของ รศ. สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต ที่ได้โพสต์ข้อความลงใน facebook พูดถึง การหารือของภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรประชาธิปไตย ผู้นำทางการเมือง ซึ่งท่านอาจารย์สมชัย และ ผมได้ร่วมหารืออยู่ด้วย และที่ประชุมได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานคณะทำงานเตรียมการเพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายภาคีเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน” การชี้แจงของผมต่อสาธารณชนครั้งนี้เป็นไปเพื่อแสวงหาความร่วมมือประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งหลายจะได้ร่วมกันผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตและปากท้องที่ดีขึ้นของประชาชนผ่านการร่วมกันสร้างกติกาสูงสุดใหม่หรือรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

แนวทางการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องสร้างฉันทามติในสังคมร่วมกันในการเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการสร้างฉันทามติในการทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 (ฉบับประชาชน) เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจึงต้องไม่วางเฉยต่อภาวะหรือการกระทำใดๆที่ทำให้ประเทศไทยต้องถอยหลังทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม การร่วมกันรณรงค์และเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญต่ออนาคตของประเทศและลูกหลานของเราทุกคน และ จำเป็นต้องอาศัยความเสียสละ อาศัยทัศนะเชิงสร้างสรรค์และปรองดองสมานฉันท์ อาศัยความเปิดกว้าง ของทุกภาคส่วน

องค์กรภาคีเครือข่ายพร้อมหารือกับคณะผู้บริหารประเทศและสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านอิสระ ฝ่ายรัฐบาลอิสระ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการเปิดช่องทางในการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้อำนาจเป็นของประชาชน ทำให้เสียงของประชาชนมีความหมาย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขด้วยกรอบคิดทางด้านรัฐศาสตร์ ไม่ติดกรอบทางด้านนิติศาสตร์หรือกับดักที่ คณะ คสช ได้วางแผนการสืบทอดอำนาจเอาไว้ ในเบื้องต้นได้มีการหารือในที่ประชุมภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรประชาธิปไตย ผู้นำทางการเมืองจากหลากหลายพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีข้อสรุปเบื้องต้น คือ

เสนอให้จัดตั้งองค์กรประสานงานทุกภาคส่วนในรูปแบบองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อให้ทำงานร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปจากระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่จะได้ช่วยกันร่างขึ้น โดยในเบื้องต้น ที่ประชุมได้เสนอให้ รศ. ดร. โคทม อารียา เป็นประธานองค์กรภาคีเครือข่ายที่จะจัดตั้งขึ้น โดยให้ผมเป็น ประธานคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งองค์กรภาคีเครือข่ายและกำหนดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงแรก

ประสานความร่วมมือมายังองค์กรและเครือข่ายต่างๆที่มีจุดยืนร่วมกันเพื่อประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สื่อสารเพื่อให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆและปัญหาเศรษฐกิจ

ประสานองค์กรตามกฎหมายให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ Roadmap ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประกาศเอาไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

คณะกรรมการชุดนี้จะรณรงค์ว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนไหนค่อยหารือกันภายหลังหลังจากมีการเปิดช่องและเปิดกว้างให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แล้ว และ การแก้ไขมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่

ผลักดันให้เกิดการลงประชามติ (หรือ มติประชาชน) ในการแก้ไขมาตรการที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ใช้รูปแบบ สสร ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 (แต่ครั้งนี้หลายภาคส่วนเสนอว่าให้ สสร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน) โดยให้มีการกำหนดกรอบเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นอย่างชัดเจน

กิจกรรมการรณรงค์ทั้งหลายก็เพื่อให้กำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนตามสัญญาประชาคมและรัฐบาลจะแก้ปากท้องไม่ได้ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะติดขัดจากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจากระบบการเลือกตั้งที่บิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชน

จึงขอชี้แจงต่อสาธารณชนเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

ด้วยความเชื่อมั่นต่อหลักการประชาธิปไตยและเคารพต่ออำนาจของประชาชน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ

ประธานคณะทำงานเตรียมการเพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายภาคีเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน”
...

เรื่องเกี่ยวข้อง จาก FB


Somchai Srisutthiyakorn

ภาคประชาสังคมจับมือ สร้างภาคีเครือข่ายแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่าเมื่อวันที 27 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ และแกนนำพรรคการเมือง โดยผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ดร.โคทม อารียา นายกษิต ภิรมย์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ น.ส.สมศรี หาญอนันทสุข ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย (อันเฟรล) เครือข่าย we watch เครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น อาทิ คุณนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง

ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นปัญหาต่อประเทศ เป็นการร่างขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้กลุ่มอำนาจฝ่ายหนึ่งสืบทอดอำนาจต่อไป และจะไม่สามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ดังนั้นปัญหาความเดือดร้อน ปัญหาปากท้องของประชาชน จึงมีรากฐานที่มาจากการออกแบบในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ผู้มีอำนาจยังปิดตายวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ต้องมี ส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งมากับมือ จำนวน 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด หรือ 84 คน ต้องให้ความเห็นชอบในวาระหนึ่งและวาระสามของการประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ยังต้องผ่านการลงประชามติ หากต้องการแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระอีก

การผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือผลักดันอย่างจริงจัง โดยจะดำเนินการทั้งในช่องทางรัฐสภาและการผลักดันผ่านความคิดเห็นจากภาคประชาชนภายนอก โดยได้เริ่มต้นจากการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางของการเคลื่อนไหว และมีคณะกรรมการชุดเล็กเพื่อไปกำหนดรายละเอียดวิธีการทำงาน การขยายภาคีเครือข่าย การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายการเมือง และภาคเอกชน โดยให้ ดร.โคทม อารียา เป็นประธานคณะกรรมการชุดใหญ่ และ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็น หัวหน้าคณะทำงานชุดเล็ก โดยจะมีการนัดหมายเพื่อกำหนดรายละเอียดของแผนงานที่เป็นรูปธรรมในเดือนกันยายน 2562 นี้