วันเสาร์, สิงหาคม 24, 2562

7 ไอเดียของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองชีวิตดีดีที่ลงตัว’





7 ไอเดีย สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองชีวิตดีดีที่ลงตัว’

หากวันนี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่ได้มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่อยู่อาศัย คำถามคือเราจะเปลี่ยนมหานครแห่งนี้ให้เป็น ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว’ ได้อย่างไร

ดร.ชัชชาติ บอกว่า เขามีไอเดีย…





“ถ้าเป็นไปได้ นโยบายพวกนี้น่าจะช่วยให้เรามี Healthy Bangkok ได้”

ดร.ชัชชาติ เริ่มต้นที่ เมืองเดินได้ โดยยกตัวอย่างงานวิจัยที่พูดถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับสภาพการจราจรบนถนน ว่ายิ่งถนนมีการจราจรหนาแน่นมากเท่าไหร่ คนจะยิ่งปฏิสัมพันธ์น้อยลงเท่านั้น

ดังนั้น เมืองที่มีคุณภาพควรเป็นเมืองที่สามารถเดินไป เพราะการเดินจะช่วยให้ผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะนำมาสู่การติดต่อสื่อสาร ซื้อขาย สร้างงาน สร้างธุรกิจ รวมถึงสร้างสุขภาพจิตที่ดีที่เกิดจากการพบปะสนทนา

แต่เมืองจะเดินได้จริง ต้องทำฟุตบาทและทางสัญจรให้เป็นมิตรต่อคนทุกระดับ และมีร่มเงาป้องกันแดด ด้วยการสร้างทางแบบ Walk Way ที่มีหลังคา หรือปลูกต้นไม้สองข้างทาง

“ผมว่าต้นไม้สำคัญ อย่างที่ถนนในซอยสุขุมวิท 26 …เป็นถนนที่สวยมากๆ แล้วผมไปเดินในซอยก็สบาย เพราะมันร่มเย็น แถมต้นไม้ยังแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นมลพิษอีกด้วย”



ถนนในซอยสุขุมวิท 26 (Photo: estopolis.com)


ต่อมา เมืองแบ่งปัน ดร.ชัชชาติ มองว่ามีที่ดินจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เช่น ที่ดินใต้ทางด่วน และที่ดินในหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างในสนามเป้าที่มีที่ดินเป็นร้อยไร่ ถ้าทลายรั้วให้คนได้เข้าไปใช้ คุณภาพชีวิตคนก็จะดีขึ้น

โดยยกตัวอย่าง สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เปิดให้คนภายนอกได้เข้าไปปั่นจักรยาน และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้คนทั่วไปได้เข้าไปชื่นชมธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว


พื้นที่สีเขียวในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Photo: chula.ac.th)


จากเมืองมาสู่หน่วยย่อย ด้วยการสร้าง งานใกล้บ้าน บ้านใกล้งาน และ เรียนใกล้บ้าน ทั้งหมดจะเกิดได้ต้องย้ายความเป็นเมืองไปอยู่ที่เขตนอกเมืองมากขึ้น เช่น


“รัฐให้สิ่งจูงใจในการสร้างออฟฟิศออกไปแถวมีนบุรี ปากเกร็ด หรือที่อื่นได้ไหม …เพราะเทรนด์ในอนาคตต้องกระจายเมืองออกไป แล้วก็สร้างคอมมูนิตี้ เพื่อให้คนไม่ต้องเข้าไปในเมืองมากขึ้น”
เมื่อสถานที่เหล่านี้อยู่ใกล้บ้าน คนก็สามารถเดินไปได้ แล้วเมื่อได้ขยับร่างกาย สุขภาพที่ดีก็จะตามมา แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมคนอยู่ไกลที่จำเป็นเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ตรงนี้ ดร.ชัชชาติ เล่าถึงประสบการณ์ตอนทำงานเป็นผู้บริหารว่า

“ผมเป็นคนไปทำงานเช้า ถึงออฟฟิศหกโมงครึ่ง แต่มีคนที่มารออยู่แล้ว ใครรู้ไหม แม่บ้านครับ ผมถามแม่บ้านว่าอยู่ไหน อยู่รังสิต คลองสี่ เพราะอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ มันแพง เพราะฉะนั้น แม่บ้านต้องออกจากบ้านตีห้า ถึงบ้านสามทุ่ม แทบไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว


“ผมถามว่าเฮลตี้ไหมแบบนี้”



สภาพการจราจรถนนเพชรบุรีในช่วงหัวค่ำ (Photo: Roberto Schmidt / AFP)


ฉลาดพอเหมาะ พอพูดถึงเรื่องนี้ ดร.ชัชชาติ ก็เปิดสไลด์ป้ายจราจรอัจฉริยะ “คือไม่ต้องฉลาดมากนะครับ ผมว่าเรากำลังเห่อสมาร์ทซิตี้ ผมว่าอย่าไปเห่อเทคโนโลยี มันต้องมีทั้งสามกรณี คือต้องมีเทคโนโลยี ธุรกิจ และคนต้องการใช้ด้วย เราจะเห็นสมาร์ทเยอะแยะเลยครับ แต่ไม่ตอบโจทย์ เช่น แท็กซี่อัจฉริยะ แต่มันช่วยยังไง” นี่คือคำถามที่ ดร.ชัชชาติ ทิ้งไว้





สุดท้าย ลดการใช้รถ คำตอบของประเด็นนี้ ดร.ชัชชาติ มองว่า “รถสาธารณะสำคัญที่สุด” แต่รถไฟฟ้ายังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

“รถไฟฟ้าไม่ตอบโจทย์นะครับ ตอบได้ระดับหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าหัวใจคือรถเมล์ เพราะปัจจุบันคนใช้เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับบีทีเอสและเอ็มอาร์ที รถเมล์เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย เข้าถึงทุกพื้นที่ ฉะนั้นรถเมล์ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะตอนนี้รถเมล์มีใช้เยอะ แต่สภาพทรุดโทรม และต้องกระจายไปทุกหย่อมหญ้า”


(Photo: Roberto SCHMIDT / AFP)


เมื่อลดการใช้รถ เงื่อนไขหนึ่งต้องลดการสร้างถนน และเพิ่มปริมาณรถสาธารณะให้มีคุณภาพและทั่วถึง ส่วนจะทำอย่างไร ดร.ชัชชาติบอกมีกรณีศึกษาจำนวนมากเป็นตัวอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่ยังขาดคือ “เรากล้าเริ่มไหม?”

ถึงตรงนี้ ดร.ชัชชาติ เปลี่ยนสไลด์เพื่อยกตัวอย่างปัญหาเล็กๆ ชวนให้คิด



“ที่จอดรถพารากอน เรากล้าเลิกไหม อยู่ใจกลางรถไฟฟ้าเลยครับ ผมไปคุยกับตำรวจจราจรแถวนั้น ถามว่าอะไรคือสาเหตุรถติดแถวปทุมวัน ตำรวจบอก “ห้าง” เพราะคนเข้าที่จอดรถ แล้วติดจนออกมาข้างนอก ส่วนคนจะออกก็ออกไม่ได้ รถติด ทั้งที่อยู่ตรงกลางของบีทีเอส


“เราเลิกที่จอดรถได้ไหม เพราะไปสร้างดีมานด์ ไม่ต้องมี แล้วให้คนมาใช้รถไฟฟ้าแทน”

คำถามวนกลับมาอีกครั้ง เรากล้าเริ่มไหม?

กรุงเทพฯ จะดีได้ อยู่ที่ ‘เรา’ ทุกคน

ไอเดียการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งอนาคต ที่ ดร.ชัชชาติ พูดถึงตลอดการบรรยาย คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นจริง

แต่กรุงเทพฯ จะเป็นแบบที่ฝันได้ ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากคนทุกฝ่ายร่วมมือกัน


“ภาครัฐเข้ามา วิชาการต้องช่วย ธุรกิจสำคัญที่สุด เพราะธุรกิจได้ผลประโยชน์ แล้วก็ประชาชน สี่ส่วนนี้ต้องประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ในการช่วยผลักดันกรุงเทพให้เป็น Healthy Bangkok”


ถามว่าประชาชนจะทำยังไง ดร.ชัชชาติ ไม่พูดแต่เปิดสไลด์ใหม่


อ่านบทความเต็มได้ที่

https://becommon.co/world/chatchart-bangkok/?fbclid=IwAR0FucgW7QEAzFGUX8O7Vuf3CrPECgjl-BnS4JMqK9Ayy5UJZ7BJy_Xxz1E