วันอาทิตย์, สิงหาคม 18, 2562

นี่ก็เฟคนิวส์ ‘โปรเฟ็สเซ่อ’ โฆษกบอก อีอีซีจะเป็นซิลิคอนแวลลี่ย์


เฟคนิวส์ กับ โปรปากันด้า มันห่างกันแค่เส้นยาแดง รัฐบาลเผด็จการใช้โปรปากันด้าเพื่อให้คนหลงเชื่อโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกกดขี่อยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับเฟคนิวส์ที่มาในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ผลงาน ที่ยังไม่เกิดแต่อ้างว่าจะเกิด

ทั่น โปรเฟ็สเซ่อโฆษกสำนัก คสช.๒ ปล่อยข่าว “เอกชนสหรัฐ ฯ ขานรับ EECและ “เชื่อว่า วังจันทร์วัลเลย์ (ระยอง) มีความสามารถที่จะพัฒนาเช่นเดียวกับ Silicon Valley ในสหรัฐ ฯ” ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เพิ่งแจ้ง

เรื่องของเรื่องมาจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือที่ คสช.ภายใต้หน้ากาก ไอทู้บเรียกว่า อีอีซีทำพีอาร์เชื้อเชิญใครต่อใครมาดูเผื่อจะอยากลงทุน จีนมาแล้ว ญี่ปุ่นก็มาแล้วช่วงรัฐบาลก่อน อเมริกันเพิ่งมาในนาม สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน

ย่อมมีตัวแทนบริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิก เช่น ซิสโก อะโกดา แอนด์จี เชฟร่อน เบย์เออร์ และเฟ็ดเด็กซ์ เป็นอาทิอยู่ในสังกัด “โดยก่อนเดินทางกลับประธาน USABC ได้กล่าวกับนายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสำนัก EEC” ว่าจะกลับมาดูใหม่อีก

เพื่อ “ศึกษาข้อมูลเชิงลึกและดูโครงสร้างอื่นๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการจะเข้ามาลงทุน” โปรเฟ็สเซ่อโฆษกคุยให้สื่อไทยฟังด้วยว่า อีอีซีเกิดขึ้นในจังหวะปะเหมาะที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ซึ่งหลายบริษัทกำลังมองหาลู่ทางรับมือ โดย “เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิต และ EEC เป็นหนึ่งในโครงการแนวหน้าที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท้ายสุดจะมาหรือไม่ ต้องรอดูผลต่อไป เช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น

ฉะนั้นคำอ้างของโฆษกรัฐบาล คสช.เรื่องยอดขอรับการส่งเสริมลงทุนครึ่งปีแรก ๒๕๖๒ สูงถึง ๒.๓ แสนล้านบาท โดยไปอยู่ที่อีอีซีถึง ๕๑% “มูลค่ารวม ๑๑๘,๐๕๐ ล้านบาท” นั่นก็เป็นประมาณการเพราะยังไม่มีการลงทุนในรูปธรรม ยกเว้นกิจการอสังหาริมทรัพย์ของ เจ้าสัว


คำของโปรเฟ็สเซ่อจึงไม่ได้มีคุณค่ามากไปกว่า การประชาสัมพันธ์ที่เฉียดเข้าไปในเขตแดนของโปรปากันด้า เฉกเช่นคำโฆษณาของณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ว่าครอบครัวของเขาจะลงทุน ๑.๕ พันล้านบาทก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติสำหรับนักรักบี้ในไทย

รมว.ศึกษาฯ นำเอาแนวคิดโรงเรียนพิเศษไปใช้เป็นนโยบายทางการศึกษา โดยจัดให้มีโรงเรียนสำหรับเด็กหัวกะทิ หรือ อีลีทสกูลขึ้นด้วย แม้จะเป็นแนวคิดคล้ายกับระบบการแยกนักเรียนเก่ง ‘gifted and talented’ ไปไว้โรงเรียนเดียวกันในสหรัฐ

แต่การเปิดให้แย่งชิงกันเข้าโรงเรียนอีลีทด้วยการสอบคัดเลือกล้วนๆ ก่อให้เกิดการแบ่งชั้นและเหลื่อมล้ำขึ้น ดังที่มีเสียงทักท้วง ขณะที่การคัดสรรเด็กในสหรัฐกระทำโดยครูและนักจิตวิทยา เมื่อเห็นแววเด็กในโรงเรียนประถมจึงส่งไปวัดไอคิว หากเข้าข่ายเด็กจะถูกจัดย้ายไปยังโรงเรียนพิเศษ
 
อีหรอบเดียวกันกับนโยบายประกันรายได้จากข้าวของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโครงการเก่าซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จในอดีตมาใส่ตะกร้าล้างน้ำทำใหม่ ตัวเลขอาจต่างไป เช่น ข้าวเปลือกราคาประกัน ๑ หมื่นบาทต่อตัน ข้าวสารหอมมะลิที่ ๑ หมื่น ๕ พัน เป็นต้น


ทั้งโครงการโรงเรียนชนชั้นของกระทรวงศึกษาฯ และนโยบายเก่าเอามาทำใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ ต่างก็เป็นการประชาสัมพันธ์ก่อนเริ่มโครงการ ที่ยังมองไม่เห็นผลโดยเฉพาะถ้าอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งแยก และเคยมีประวัติความล้มเหลวมาแล้ว

ในเมื่อการแจกจ่ายแบบขอไปที ไม่มีหลักประกันแท้จริงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับสติปัญญารวมหมู่ของประชากรได้ดังความหวังที่ตั้งไว้ นอกจากความรู้สึก ‘feel good’ พึงพอใจชั่วครั้งคราวแล้วละก็ จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างน่าละอายไม่ควรให้อภัย

ซ้ำไม่มีหลักประกันอันใดจะไม่เกิดเรื่องอัปยศอย่างเช่นที่เพิ่งเกิดในจังหวัดตรัง จากโพสต์ของบัญชีทวิตเตอร์ จับโป๊ะพลังประชารัฐ“วัดมอบทุนการศึกษากับเด็กในวันแม่ ๑,๐๐๐ บาท แต่โรงเรียนมาหักเงินไป ๗๐๐ แล้วให้เด็กแค่ ๓๐๐ อ้างว่าเอาไปทำบุญทอดกฐิน”

เขาถามหา “รัฐมนตรีศึกษาธิการ หายหัวไปไหนกันหมดคะ คะ คะ หรือมัวแต่คิดเรื่องเขียนโค้ดไม่ใช้คอมฯ กับทำโรงเรียนอีลิท”