วันจันทร์, สิงหาคม 19, 2562

โครงการอีอีซีของ คสช.กำลังจะทำลายพื้นที่ผลิตอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์อย่างน่าเสียดาย การพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องไม่ทำลายเกษตรกรรม - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล




“อีอีซีกำลังจะทำลายพื้นที่ผลิตอาหารทะเลหลัก”

สภาที่๓ สัญจร ได้ตรวจสอบพื้นที่รอยต่อระหว่างฉะเชิงเทราและชลบุรี พบว่าโครงการอีอีซีกำลังจะทำลายพื้นที่ผลิตอาหารทะเลหลักของประเทศ

พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นบริเวณที่ลุ่ม น้ำเค็มสามารถเข้าถึงในบางเวลา จึงเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำโดยธรรมชาติ


โดยลูกปลา ปู และกุ้ง จะเข้ามาในพื้นที่ตามจังหวะน้ำทะเล และจะเติบโตในพื้นที่ ขับรถผ่านไปจะเห็นบ่อปลาเต็มไปหมด

ภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ประโยชน์จากสภาพธรรมชาตินี้มานานแล้ว จนขณะนี้ พื้นที่นี้ เป็นแหล่งผลิตพันธุ์อาหารทะเลใหญ่ป้อนทั้งแก่คนไทย และส่งออก

ข้อมูลจากพื้นที่

* 60% ของกุ้งที่ส่งออกสู่ตลาดโลกมาจากประเทศไทย และ 50% ของกุ้งไทยเป็นลูกพันธ์กุ้งจากบางปะกงและบ้านโพธิ์
* 50% ของปลาน้ำจืดที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทยมาจากแหล่งนี้
* ลูกปลากระพง 1,000 ล้านตัว/ปี
* ลูกพันธ์ปลานิล 2,000 ล้านตัว/ปี
* เป็นแหล่งปลาสลิดแหล่งใหญ่สุดท้าย 500 ตัน/ปี

แต่ขณะนี้ อีอีซี กำลังจะทำลายแหล่งผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์นี้อย่างน่าเสียดาย

ผมเองสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ต้องไม่ทำลายเกษตรกรรม

ที่ตั้งแหล่งอุตสาหกรรมนั้น อยู่ห่างทะเลไปหน่อยก็ได้ แต่แหล่งผลิตอาหารทะเล ถอยห่างจากทะเลไม่ได้

ประเทศส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้ที่ตั้งอุตสาหกรรมก่อความเสี่ยงต่อแหล่งผลิตอาหารอย่างเด็ดขาด

โครงการ อีอีซี ที่ปล่อยให้มีการรุกล้ำพื้นที่นี้ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุน แต่รังแกชาวบ้านที่อาศัยวิถีชีวิตเช่นนี้มาหลายชั่วคน

ต่อไป เมื่อชาวบ้านไม่สามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้ ธุรกิจนี้ก็จะตกไปอยู่ในมือของนายทุนด้านการเกษตรขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง

ผู้ที่สามารถคานอำนาจนายทุนเหล่านี้ ก็คือชาวบ้านในพื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ แต่อนาคตของเขากำลังจะมืดลงเพราะ อีอีซี

ผู้ที่สร้างปัญหาในเรื่องนี้คือหัวหน้า คสช.

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๔๗/๒๕๖๐
เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

“ข้อ ๔ ในระหว่างการจัดทําแผนผังตามข้อ ๓
(๑) มิให้นํากฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับแก่การจัดทําแผนผังน้ัน
(๒) คณะกรรมการนโยบายจะมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการตามนโยบายและแผนตามข้อ ๒ ในเรื่องใดไปพลางก่อนก็ได้”

คำสั่งนี้ ระงับกระบวนการจัดทำผังเมืองปกติ ระงับการปรึกษาหารือหลายฝ่าย และระงับบทบาทของพลเมืองและชาวบ้านไปโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่อ่านมาถึงจุดนี้ อาจจะพากันตั้งคำถามว่า อย่างนี้เขาเรียกว่า ‘รัฐบาลไม่ได้เอื้อคนรวย - เราดึงเขามาช่วยคนจน’ หรือเรียกว่า ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ กันแน่?

คำตอบต้องพิจารณาประเด็นอื่นประกอบกัน ซึ่งจะบรรยายในบทความต่อไป


Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล