วันอังคาร, สิงหาคม 06, 2562

การระเบิดหลายจุดใน กทม. ประเมินความเป็นไปได้ของผู้ก่อเหตุ (ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย)





การระเบิดหลายจุดใน กทม. (ยาวนะ)
#แบบคิดเร็วๆและพยายามตัดอคติส่วนตัวออกก่อน
.
#ลักษณะทั่วไป

(1) พื้นที่ที่เลือกทำการระเบิดนั้นมีความชัดเจนว่าจงใจให้คนรับรู้ได้โดยชัดเจนว่า "นี่คือการก่อเหตุที่เน้นบ่งไปทางสัญลักษณ์นะ" เพราะทำเลที่มีการพบระเบิดทั้ง 6 จุดนั้น ศูนย์ราชการ, ตึกมหานคร ของบริษัท King Power, ซอยพระราม 9 แยก 57/1 (จุดนี้มีผู้บาดเจ็บ 2 คน), กองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, สีลม ซอย 2/1 ชัดเจนหมดเลยว่าคือ "พวกของ คสช." มาโดยตลอด

(2) อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุครั้งนี้ก็ราวกับจงใจ "จำกัดพื้นที่ของความรุนแรงไว้ให้ต่ำมากๆ" ต่ำเกินไปจนน่ารู้สึกแปลกใจเสียด้วยซ้ำ เพราะทั้งด้วยทำเลที่ก่อเหตุและระยะเวลาที่เกิดเหตุ (โดยเฉพาะช่วงเวลา 8 โมง - 9 โมงกว่า) นั้น โดยปกติแล้วเป็นเวลาที่ค่อนข้างพลุ่กพล่าน คนเข้าที่ทำงานกัน ฉะนั้นต่อให้เป็นระเบิดที่ความรุนแรงต่ำ แต่ในทำเลลักษณะนี้ หากตั้งใจจะให้เกิด "เหยื่อ" จำนวนมากกว่านี้ย่อมทำได้แน่นอน แต่นี่ดูราวกับจงใจจำกัดจำนวนเหยื่อให้น้อยที่สุดหรือพยายามตั้งใจให้ไม่มีเหยื่อเลยด้วยซ้ำ จนดูน่าประหลาดใจ

(3) บางจุดที่พบระเบิด อย่างที่กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น อยู่ในตำแหน่งการวางที่ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นประโยชน์อะไรมากนัก เหมือนวางเพื่ออยากให้เจอได้ง่ายๆ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าทำไม

(4) รัฐบาลฟันธงเร็วและทันที "อีกแล้ว"
.
#ประเมินความเป็นไปได้ของผู้ก่อเหตุ

ส่วนนี้คิดว่าทุกคนคงจะเดาได้โดยใกล้เคียงกัน ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ 4 กลุ่มหลักๆ

(1) ถ้าคิดแบบพาซื่อ (Naive) ที่สุดก็คือ เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสร้างสถานการณ์หรือตอบโต้เพราะความไม่พอใจต่อรัฐบาลอะไรต่างๆ ตามที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้าง

ความเป็นไปได้นี้มีจริงครับ แต่ผมคิดว่าไม่มากนัก เพราะหากคิดจะก่อเหตุในลักษณะนี้จริงๆ มีตัวเลือกในแง่ช่วงเวลาและสถานที่ที่ดีกว่านี้มาก ต่อให้แค่จะทำในเชิง "สัญลักษณ์ล้วนๆ" ก็ตาม เช่น ถ้าจะแค่วางระเบิดเล็กๆ แบบไม่ได้ตั้งเป้าให้เกิดคนบาดเจ็บอยู่แล้ว การก่อเหตุตอนประชุมวุฒิสภา หรือประชุมสภาที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ชัดเจนมากกว่า หรือในกรณีที่จะมีดึง "เจ้าสัว" ที่สนับสนุนหรือได้ประโยชน์จากรัฐบาลนี้มาเอี่ยวด้วย ผมก็คิดว่าตึกของซีพี, เบียร์ช้าง อาจจะเป็นทางเลือกต้นๆ มากกว่าตึกของ King Power นะ แต่เรื่องนี้สามารถมองเป็นอื่นได้

และในแง่ยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าในเวลานี้ การก่อเหตุลักษณะนี้ "ไม่สร้างประโยชน์ใดๆ เลย" ให้กับฝั่งที่เกลียดรัฐบาล มีแต่ผลในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ฉะนั้นผมไม่คิดว่าคนที่วางแผนทำอะไรแบบนี้จะคิดเรื่องแค่นี้ไม่ออก

เอาเป็นว่าเราไม่สามารถตัดความเป็นไปได้นี้ออกไปได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ไม่สูงนักด้วยในสายตาผม

(2) รัฐบาลสร้างสถานการณ์เอง อันนี้หากมองในแง่ว่า "ใครได้ประโยชน์มากที่สุดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้" ผมคิดว่าหลายๆ คนก็เดาได้อยู่แล้วว่าเป็นใคร ฉะนั้นกระแสเรื่อง "รัฐบาลสร้างสถานการณ์" ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงมีไม่น้อย โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ในการ consolidate อำนาจในมือให้เข้มข้นรัดกุมยิ่งขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างองค์กรแบบ คสช. ขึ้นมาอีกครั้งได้ (ทั้งที่เพิ่งจะยุบไป)

โดยส่วนตัวเลยผมก็แอบคิดว่ามีความเป็นไปได้ไม่น้อยกับจุดนี้ มีเพียงจุดเดียวที่คาใจอยู่สักหน่อยก็คือ หากกรณีนี้เป็นจริง การก่อเหตุนี้เท่ากับมีการดึงเอา "เจ้าสัว" (อย่าง King Power) เข้ามาเอี่ยวด้วย โดยเฉพาะกับตึกมหานครที่เพิ่งลงทุนไป 14,000 ล้านบาท เพื่อซื้อมาจาก PACE ทั้งยังเป็นตึกที่ทั้งให้เช่าร้านค้า เป็นโรงแรม และคอนโดด้วย การก่อเหตุในพื้นที่นี้เลย มีผลต่อการตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของสถานที่นี้แน่ๆ โดยเฉพาะกับคนที่มีกำลังซื้อพอจะซื้อหรือเช่าที่บริเวณนี้ได้ ผมไม่คิดว่าจะเป็นเกมที่เจ้าสัวที่เน้นการแสวงหาเงิน และต่างตอบแทนด้วยเงินนั้นจะอยากลงมาเล่นด้วยนัก

อย่างไรก็ดี อย่างน้อย ณ ขณะนี้คนที่ได้ประโยชน์ในภาพรวมมากที่สุดก็ยังดูจะเป็นรัฐบาลอยู่ดี และหากพอจะตั้งข้อสังเกตอะไรได้บ้างก็คือ การก่อเหตุในครั้งนี้แอบมีความคล้ายกับการก่อเหตุ "สร้างสถานการณ์" 1 วัน หลังจากการเหตุการณ์ที่ราชประสงค์อยู่ไม่น้อย ที่พยายามอ้างว่ามีคนใส่เสื้อแดงวางระเบิดปิงปองบริเวณท่าน้ำ แล้วโยงกลับเข้าหาเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ เพื่อฟันธงในทันที (โดยรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งหน้าตาละม้ายคล้ายชุดนี้) ว่าเหตุการณ์ที่ราชประสงค์นั้นเป็นการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์โดยคนที่เกลียดชังรัฐบาล ... ผมคิดว่าโครงสร้างเรื่องในส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่อง "ลักษณะทั่วไป" คือ ระเบิดความรุนแรงต่ำและหากต้องการให้เกิดเหยื่อจำนวนมากก็ทำได้แต่เลือกที่จะไม่ให้เป็นเช่นนั้น

(3) อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ BRN แม้ผมจะคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยทีเดียว แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน ก็เกิดเหตุการณ์ที่มีความคล้ายกัน (แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว) ขึ้นมาแล้ว คือ เหตุการณ์ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางและตอนบน เหตุการณ์มีโครงสร้างบางส่วนที่ละม้ายคล้ายกันอยู่ไม่น้อย และเกิดในช่วงใกล้ๆ วันแม่เหมือนกันอีกต่างหาก (แต่กรณีในปี 2559 นั้น มันคือหลังการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 60 ด้วย)

แม้ผมจะคิดว่ากรณีผู้ก่อเหตุเป็น BRN จะมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก แต่หากจะเป็นกรณีนี้ก็ไม่แปลกใจ เพราะผมเคยย้ำมาตลอดว่าการยกระดับความรุนแรงและผลักความรุนแรงให้ใกล้ศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็น "ลักษณะปกติวิถีของการก่อการร้าย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสียงและข้อเรียกร้องของฝั่งผู้ก่อเหตุไม่ได้รับการสนใจหรือตอบรับใดๆ ฉะนั้นกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ก็ยังมีสิทธิเป็นไปได้ ทั้งข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ BRN ไม่ได้รับการแยแส, การเน้นส่งกำลังทหารลงพื้นที่ภาคใต้, รวมไปถึงเหตุรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย 2 ครั้งล่าสุดจนโคม่าหลังเข้าค่ายทหารที่เป็นประเด็นไปทั่ว แต่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงก็ยังตีมึนนั้น ทำให้ความเป็นไปได้ในส่วนนี้เป็นไปได้อยู่ ฉะนั้นการตอบโต้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความเป็นไปได้อะไรเลย

(4) อันนี้บอกก่อนว่าคิดว่าเป็นไปได้น้อยที่สุดนะครับ แต่ทุกความเป็นไปได้นั้นก็ต้องพยายามเอามาคิดให้หมด อันนี้คือมองโดยอิงกับตัว "สัญญะ" ของจุดที่เกิดเหตุล้วนๆ เลย คือ ทุกจุดที่ก่อเหตุนั้นดูจะชัดเจนในการบ่งไปถึงการ "ท้าทาย หรือส่งสัญญาณ" ถึง Network Monarchy "เก่า/รุ่นก่อน" แทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ, Rama IV, King Power, และปลัดกลาโหมกับกระทรวงกลาโหม (ที่มีท่าทีไม่พอใจนักกับการ "โดนแทรกตำแหน่ง" ตามลำดับขั้นในกองทัพ)

เอาเข้าจริงๆ การเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผมก็คิดว่ามันมีลักษณะของการส่งสัญญาณให้เห็นถึง "ความไม่เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกัน" ของอีลีตไทยอย่างที่เคยเป็นมาในรุ่นก่อนบ้างอยู่ ฉะนั้นในมุมนี้ก็คือ การ "เตือนกันเองของอีลีต" ที่สุดท้ายคนซวยคือคนธรรมดาอย่างคนกวาดถนนที่บาดเจ็บนั่นเอง

แน่นอนความเป็นไปได้อื่นๆ ที่คาดไม่ถึงก็อาจจะมีด้วย
.
โดยสรุปส่วนตัว หากให้เรียงความเป็นไปได้ ผมคิดว่า 2 > 3 >1 > 4 ครับ และบางความเป็นไปได้ผมยอมรับว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ต่ำมากๆ แต่ในเวลาที่ยังไม่มีข้อมูลอะไรชัดเจนนั้น "การคิดทุกความเป็นไปได้ออกมาให้มากที่สุด" นั้นคือเรื่องจำเป็น "ไม่ใช่การเร่งฟันธง" ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลอะไรเลย แบบที่รัฐบาลชอบทำอยู่เสมอ
(แต่หากจะมีใครบอกว่า "อิลลูมินาติ" อาจอยู่หลังการวางระเบิดได้เช่นกัน นั่นไม่ใช่ความเป็นไปได้นะครับ นั่นคือ "ความเพ้อเจ้อ")
.
อีกอย่างหนึ่งที่เราอาจจะรอดูเป็นข้อมูลได้คือ "ท่าทีในการจัดการเรื่องนี้ของรัฐบาล" โดยนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในครั้งอื่นๆ เช่น 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทั่งเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ว่ารัฐบาลที่แทบจะชุดเดียวกันนี้ จัดการกับเหตุการณ์ที่แทบจะลักษณะเดียวกัน แบบเดียวกันไหม หากไม่แล้ว มันบ่งไปทางไหน เราก็อาจจะพอได้เห็นอะไรมากขึ้นบ้าง ตอนนี้พอจะเขียนได้แค่นี้แล
.
ปล. #ขายของ อยากเก็ตไอเดียพวกนี้มากขึ้น หา #ThouShallFear #เจ้าจงตื่นกลัว (โดยมติชน) มาอ่านเพิ่มได้นะครับ