Moscow, 29.07.2019 Olga Misik pic.twitter.com/uSf8FIevJ1— Rolf Draht (@tweetedtimes) July 30, 2019
ทำไมหญิงวัยรุ่นอายุ 17 นั่งอ่านรัฐธรรมนูญกลายเป็นสัญลักษณ์การประท้วงในรัสเซีย
โอลกา มิสิก อ่านรัฐธรรมนูญต่อหน้าตำรวจปราบจลาจล (ที่มา:twitter/Rolf Draht)
2019-08-01
ประชาไท
1 ส.ค. 2562 ในรัสเซียเพิ่งมีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ไปเมื่อไม่นานนี้ โดยมีประเด็นหลักๆ คือการต่อต้านเรื่องที่รัฐบาลปูตินกีดกันนักการเมืองฝ่ายค้านออกจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ในเหตุการณ์ประท้วงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้คนมากกว่า 1,000 คน โดยที่อัยการแผ่นดินของรัสเซียขู่ว่าจะมีการโต้ตอบถ้าหากยังมี "การประท้วงที่ไม่ได้รับอนุญาตและผิดกฎหมายแบบนี้อีก" ขณะที่โฆษกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าววิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมและตั้งคำถามต่อการตัดสิทธิลงรับเลือกตั้งนักการเมืองฝ่ายค้านและนักการเมืองอิสระ 57 ราย โดยอ้างว่า "ขาดคุณสมบัติ"
อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่มีคนพูดถึงในการประท้วงครั้งนี้คือการที่วัยรุ่นหญิงอายุ 17 ปี ที่ชื่อ โอลกา มิสิก นั่งปักหลักอ่านรัฐธรรมนูญรัสเซียท่ามกลางวงล้อมของตำรวจปราบจลาจล ภาพของเธอกลายเป็นที่พูดถึงในหน้าสื่อซึ่งอิอินดิเพนเดนต์ระบุว่าเป็น "สัญลักษณ์อันทรงพลังในการต่อต้านอำนาจนิยมของประธานาธิบดี (ปูติน)"
ในภาพดังกล่าวมีมิสิกนั่งขัดสมาธิโดยมีเพียงแค่รัฐธรรมนูญรัสเซียอยู่ในมือ ด้านหลังของเธอมีหน่วยปราบจลาจลของทางการรัสเซียจำนวนมากยืนเรียงแถวอยู่โดยที่มีทั้งอาวุธกระบอง หมวกนิรภัย และโล่ครบมือ ทำให้ภาพนี้เปรียบเสมือนการที่ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นเยาว์ท้าทายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของปูตินอย่างเด็ดเดี่ยว การอ่านรัฐธรรมนูญของเธอเป็นการแสดงออกเพื่อยืนยันว่าผู้ประท้วงมีสิทธิที่จะชุมนุมอย่างสันติ โดยที่ในตอนนี้ภาพของเธอกลายเป็นสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัสเซียนำมาใช้ในการขับเคลื่อนแรงสนับสนุนท่ามกลางการถูกปราบปรามจากรัฐบาล
"ฉันแค่อยากจะย้ำเตือนให้พวกเขารู้ว่าพวกเรามาที่นี่ด้วยความตั้งใจที่มีสันติและปราศจากอาวุธ ขณะที่พวกเขาไม่" มิสิกกล่าว
"...ฉันนั่งอยู่ที่พื้นและเริ่มอ่านสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเราออกมาดังๆ เน้นย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ (คือการที่ตำรวจจับกุมผู้ประท้วง) ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" มิสิกกล่าว
นอกจากผู้ชุมนุมจะประท้วงต่อต้านการกีดกันนักการเมืองลงเลือกตั้งสภาล่างของมอสโกที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้นในรัสเซียด้วย จากการที่รัสเซียเป็นประเทศที่ถูกมองว่ามีการโกงการเลือกตั้ง
ในรัสเซียมีรัฐธรรมนูญมาตรา 31 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุม แต่รัฐบาลปูตินก็มักจะเพิกเฉยต่อสิทธิที่พึงมีของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ นั่นทำให้มิสิกบอกว่าการประท้วงในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งหรือการต่อต้านคำสั่งตัดสิทธินักการเมือง แต่ยังเป็นการชุมนุมเพื่อปกป้องสิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามถึงในรัฐประชาธิปไตย "ความอยุติธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน" มิสิกกล่าว
มิสิกมีพ่อเป็นคนที่สนับสนุนปูติน ในการประท้วงเธอเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม มิสิกเล่าว่าตำรวจปล่อยให้เธอเดินออกไปโดยไม่ทำอะไรหลังจากที่เธออ่านรัฐธรรมนูญเสร็จ แต่ในช่วงที่เธอเดินไปที่สถานีรถไฟใต้ดินเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเข้ามาจับกุมเธอ มิสิกเล่าว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้แนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรืออธิบายสาเหตุของการจับกุมแต่อย่างใด ในตอนที่เธอถูกจับกุมนั้นก็ไม่มีฝูงชนอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ทำการจับแขนจับขาแล้วก็ลากตัวไปตามถนนผ่านทางใต้ดิน เธอร้องตะโกนว่าพวกเขากำลังทำให้เธอเจ็บ แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อ้างว่าพวกเขารู้ดีกว่าเธอ
ตำรวจรัสเซียยังปฏิบัติการด้วยความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมคนอื่นๆ จากรายงานข่าวของบีบีซีระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังทำร้ายผู้ประท้วงด้วยไม้กระบองและลากผู้ชุมนุมออกจากอาคารสภา มีรูปส่วนหนึ่งจากการประท้วงที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้ชุมนุมหลายคนเลือดไหล ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 2 นายถูกฉีดสเปรย์พริกไทยใส่
ทางการรัสเซียควบคุมตัวมิสิกเอาไว้จนถึงวันถัดจากนั้นถึงปล่อยตัว โดยบอกให้เธอต้องไปขึ้นศาลภายในเดือน ส.ค. ในข้อกล่าวหาเข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้มีการแจ้งก่อนล่วงหน้า ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุม 1,000 ที่ถูกจับกุมจากการประท้วงล่าสุด โดยที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของรัสเซีย อเล็กซี นาวาลนี ก็ถูกจับกุมในการประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน
เรียบเรียงจาก
Olga Misik: Teenage girl reads constitution in front of Putin’s riot police during Moscow protests, The Independent, Aug. 1, 2019
Russia launches criminal investigations as UN decries protest crackdown, France 24, Jun. 20, 2019
Russia launches probe into 'mass unrest' at Moscow protest, BBC, Jul. 30, 2019