ดูท่าจะ ‘นิวนอร์มอล’ ของ คสช.๒ นะ อะไรที่จวนตัว จะเข้าเนื้อ ผิดแน่ๆ แต่เป็นพวกตนเองก็ “ไม่ตอบครับ”
จะถามอย่างไรก็ไม่ตอบเสียอย่าง ซ้ำยังทำเป็นลาฉลาด เสียอีก ทนายหน้าหอ ๘ นายกฯ ๑๒
รัฐบาลปากคอเราะรานย้อนแรง “เป็นเรื่องสอดรู้”
ปมการอ่านคำถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ว่าจะอ่านข้าม
พิมพ์ตก หรือเป็นมาดใหม่ คสช.๒ ไม่ต้องปฏิบัติตามครรลองที่เป็นมาทุกรัฐบาลก็ตาม
ประโยคสำคัญสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ
ไทยๆ นี่ละ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้หายไปได้” โดยเอาคำว่า “ตลอดไป” มาปิดท้ายแทน
อันนี้อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ Panat Tasneeyanond เห็นว่าเป็นการ “จงใจละเว้น ไม่กล่าวให้ครบ” แน่นอน
เรื่องผ่านมาเป็นอาทิตย์ หลังจากที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่อภิปรายทักท้วงไว้ตั้งแต่
๒๕ กรกฎา
สื่อมากหลาย นักวิชาการมากนาย
ล้วนแต่ตั้งข้อกังขากันว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะ
แม้ว่าถ้วนหน้าตระหนักดีว่าถึงจะเปลี่ยนผ่านมาสู่เผด็จการประชาธิปไตย
มีเลือกตั้งแล้ว คสช.ก็ยังกำอำนาจล้นหลามแตะเพดานฟ้า แต่จะมักง่ายขนาดนี้ไม่ได้
กระทั่งนักวิชาการสายสลิ่มอย่าง เจษฏ์
โทณะวณิก ยังอดไม่ได้ที่จะชี้ว่าเป็นเรื่อง “ไม่น่าจะพลาดได้” จะทำให้การตั้งรัฐบาลเป็นโมฆะ
แม้นว่าปิยบุตรเจ้าของกระทู้เองที่แรกระบุว่าอาจเข้าข่ายผิดหลักการมาตรา ๑๖๑
ยังอลุ่มอล่วยให้ว่า
“ช่วยยืนยันหน่อย คือถ้าผิดก้ผิดครับ
ก็บอกว่าผิดพลาดก็คือผิดพลาด แล้วท่านก็แก้ไข
ก้ขอพระบรมราชานุญาตถวายสัตย์ใหม่...แต่ปัญหาคืออย่าปล่อยให้คลุมเครือ
แล้วเล่นไม่ตอบอย่างนี้” ใช่ หลายครั้งหลายหน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูดห้วนๆ
“ไม่ตอบครับ”
พอนักข่าวซักต่อไม่ย่นย่อ ก็ได้เนื้อถ้อยเพิ่มมาอีกหน่อย
“มันผ่านไปแล้ว หาเรื่องให้เขาเอากลับขึ้นมาพูดอีกทำไม”
นักข่าวยังเซ้าซี้อาจารย์ช่วยกล่าวให้เป็นความรู้หน่อย วิษณุใช้คำพูดแบบ ‘Smart
Ass’ เสียนี่ “ไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องสอดรู้”
โอวนี่ การถวายสัตย์รัฐบาล คสช.๒
เป็นของสูงหรือสิ่งปกปิดหรือไร สื่อถามไม่ได้ ประชาชนไม่ควรทราบงั้นสิ
ทั้งที่นักข่าวก็พยาย้ามพยายามป้อนคำถามที่จะให้ทั่นรองฯ สนองบ้าง
เช่นเป็นการเตรียมเอกสารผิดพลาดให้ทั่นนายกฯ หรือเปล่า ไรนั่น
ทั่นรองฯ กลับตอบแบบมีนัยยะในระดับเดียวกับที่อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจแล้วปล่อยให้นายทหารคนอื่นเอาไปกิน
พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน พูดไว้ในการปาฐกถาที่สถาบันพระปกเกล้าฯ เมื่อ ๒๑ มีนา ๕๕ ว่า
“คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้”
ส่วนถ้อยประวัติศาสตร์ของวิษณุ เครืองาม
เป็นว่า “แล้วสักวันจะรู้ว่าทำไมไม่ควรพูด” แหม่ ลี้ลับซับซ้อนประมาณนั้นเชียวหรือ
แต่ว่าประเทศไทยในยุคที่ประชาชนมีน้ำอดน้ำทนกับรัฐบาลของคณะรัฐประหาร คสช.มากว่า ๕
ปี มันต่างกับยุคหลังจากการครองเมืองของรัฐบาล รสช. อยู่เยอะ
ในเมื่อฝ่ายรัฐบาลทำไม่รู้ไม่ชี้
และบางคนใน คสช.๒ พูดแบบรู้มากอวดดี ประชาชนก็ต้องขวนขวายหาคำตอบด้วยตนเอง
ไม่มีจ่าเฉยอย่างเมื่อก่อนอีกแล้ว
ขอบคุณปิยบุตรอีกหนที่ขุดค้นเจอลายแทงพอให้ทำความเข้าใจกับมาดของทั่นรองฯ ได้บ้าง
@Piyabutr_FWP แจ้งว่าวิษณุ “เคยเขียนถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ของนายกฯ
ไว้ในหนังสือ ‘หลังม่านการเมือง’ หน้า ๒๕-๕๓
ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๔ โดย นสพ.มติชน” มีเนื้อความบางตอนว่า
“...การถวายสัตย์ปฏิญานนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
เป็นเรื่องของการเปล่งวาจากล่าวคำพูดแสดงความตั้งใจ
ถ้าว่าตามธรรมชาติแล้วควรเป็นเรื่องที่ออกมาจากใจ ใครจะพูดอะไรก็น่าจะได้
แต่ถ้ายอมให้ทำอย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องสับสน” เช่นที่เป็นขณะนี้
วิษณุเขียนอีกว่านายกฯ ที่ไปปฏิญานนั้นต่างกันไปบางคนพูดคล่องบางคนเหนียมอาย
จึงปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้ “ต้องเอาหลักกฎหมายมาจับ
โดยกำหนดถ้อยคำเป็นระเบียนแบบแผนเข้าไว้ ใครจะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ได้”
ทั่นรองฯ
ในครั้งนั้นคมคายในคารมไม่ด้อยกว่าครั้งนี้ เขียนถึงการปฏิญานว่าจะผิดจากโพยไม่ได้
ใครท่องจำไม่เก่ง (อย่างนายกฯ ชวน) ก็อ่านทีละวรรค “ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิมพ์ลงบัตรแข็ง
ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจำ เพราะจะไม่ผิดพลาด”
ขนาดที่ว่า “ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่าและ
คำว่าหรือ ไปสักตัว ก็อาจจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ฯ
ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ” แต่คราวนี้ที่จริงแล้วมันก็ยุ่งอยู่
เพียงแต่วิษณุใช้วิธีปัดสวะสะเปะสะปะเสียจน จะปนเปื้อนไปทั้งข้อง